มนุษย์เลี้ยงแมวมานาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราเข้าใจมันดีแล้ว ปริศนา ‘พฤติกรรมแมว’ ยังมีอยู่อีกเพียบ ที่วิทยาศาสตร์ยังแงะความลับนั้นไม่ออก
ธรรมชาติออกแบบแมวมาพร้อมกับความน่ารัก สันโดษ และขี้สงสัยจนน่าประหลาด แม้แมวบ้านที่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงของมนุษย์ตลอดชีวิต ก็ยังต้องการเอกสิทธิ์และพื้นที่ส่วนตัวอยู่ไม่น้อย ราวกับว่า ‘มันไม่ต้องการมนุษย์เลย’ อ่าว! แล้วกัน
ความรักสันโดษและไม่เรียกร้องอะไรจากพวกเรามาก ทำให้มนุษย์อดไม่ได้ที่จะเชื้อเชิญแมวให้มาเป็นสมาชิกภายในบ้าน
ปัจจุบันประชากรแมวมีจำนวนมากกว่าสุนัข ความนิยมแมวไม่เคยจางหายไปจากอารยธรรมมนุษย์ สายใยความผูกพันธุ์ระหว่างมนุษย์และแมวมีรากฐานยาวนานร่วม 10,000 ปี มีผลพิสูจน์ทาง DNA ที่เผยให้เห็นว่า ‘แมวบ้าน’ เริ่มแยกสายอย่างชัดเจนจาก ‘แมวป่า’ ก็ราว 10,000 ปีที่แล้วพอดิบพอดี ในพื้นที่แถบตะวันออกกลาง
ในปี 2014 งานวิจัยของ Michael J. Montague จากมหาวิทยาลัย Washington ใน St.Louis สามารถบ่งชี้กลุ่มยีนสำคัญที่มีส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากแมวป่านักล่าสู่การเป็นแมวบ้านที่ขี้อ้อนได้สำเร็จ กลุ่มยีนเหล่านี้เชื่อมโยงกับการแสดงออกทางพฤติกรรม การเรียนรู้สภาพแวดล้อมใหม่ หวาดวิตกลดลงเมื่อต้องอยู่ในสังคมมนุษย์ อิทธิพลของยีนล้วนช่วยให้แมวปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้และยอมถอดเขี้ยวเล็บจนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน (ที่เห็นความสำคัญเราบ้างเป็นบางครั้ง)
รู้จักหมา ไม่รู้จักแมว
มนุษย์ศึกษาพฤติกรรมสุนัขค่อนข้างทะลุปรุโปร่ง ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมที่เปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ๆ และความกระตือรือร้นที่จะสร้างสัมพันธ์ของสุนัข ตรงข้ามกับแมวอย่างสิ้นเชิง พวกมันไม่ยอมเปิดใจให้ศึกษาได้ง่ายๆ การนำแมวมาศึกษาพฤติกรรมใช้เวลาและความอดทนสูง ทำให้รูปแบบพฤติกรรมและระดับสติปัญญาของแมวยังคงเป็นปริศนาสำหรับวิทยาศาสตร์
ทำไมเราต้องพยายามศึกษามันนักล่ะ?
การไขพฤติกรรมแมวได้ เท่ากับลดข้อพิพาทระหว่างมนุษย์และสัตว์เลี้ยง บางครั้งพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์ต่อกันจะนำมาซึ่งปัญหาการปรับตัวทางสังคมต่อสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ เกิดเป็นปัญหาเชิงสังคมและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง
ในมิติของสุนัขนั้น พวกมันเป็นนักล่าและสัตว์กินซากโดยสัญชาตญาณ บรรพบุรุษสุนัขรุ่นแรกๆ เดินทางข้ามทวีปด้วยระบบฝูงและการออกล่าเป็นทีมเวิร์ค ทำให้สุนัขต้องกระตือรือร้นที่จะ ‘สื่อสาร’ ตลอดเวลา ซึ่งคุณสมบัติในการเอาชีวิตรอด
แต่ความท้าทายในการศึกษาพฤติกรรมแมวล้วนมาจากธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ แมวกลับเป็นนักล่าที่สันโดษ พฤติกรรมนี้ส่งผ่านจากแมวป่าสู่แมวบ้าน แต่แมวก็พยายามปรับตัวนะ แต่เฉพาะเจาะจงกับผู้เลี้ยงเท่านั้น ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้ส่งต่อไปให้กับแมวตัวอื่นๆ กลายปัจจัยที่ทำให้งานวิจัยแมวเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะเกิดรูปแบบพฤติกรรมที่ไม่แน่นอน
มีงานศึกษาของ Adam Miklosi และทีมงานวิจัยพบว่า แมวสามารถเรียนรู้สัญญาณชี้นิ้วไปยังถาดอาหารได้ แต่ความตลกที่พบคือ ถาดอาหารต้องเดินไปได้อย่างสะดวก หากอยู่เกินเอื้อมจนต้องใช้ความพยายามมากไป มันก็จะไม่ทำ ตรงข้ามกับสุนัขที่ยังกระตือรือร้นเพื่อจะไปถึงอาหาร โดยการอ้อนวอนให้มนุษย์ช่วย
“แมวพยายามจะแก้ปัญหาด้วยตัวมันเอง แต่ถ้ามันล้มเหลว มันก็แค่เดินหนีไปเฉยๆ” นักพฤติกรรมสัตว์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ (Anthrozoology) อย่าง John Bradshaw จากมหาวิทยาลัย Bristol ในอังกฤษเขียนรายงานในการเฝ้ามองพฤติกรรมแมว เมื่อมันเผชิญหน้ากับปัญหา
ปัจจัยอีกอย่างที่นักวิจัยไม่ค่อยนิยมศึกษาแมว เพราะควบคุมมันลำบากในห้องทดลอง หากคุณนำแมวออกมาจากบ้านไปทดลองนอกสถานที่ พวกมันจะสติแตก เนื่องจากความไม่คุ้นชินสภาพแวดล้อมต่างถิ่น และมันจะแสดงพฤติกรรมอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้งานวิจัยแมวส่วนใหญ่มีขอบเขตเพียงเฝ้าติดตามพฤติกรรมแมวในบ้านของคนเลี้ยง แทนที่จะเป็นสภาพแวดล้อมที่ควบคุมปัจจัยสิ่งเร้าได้อย่างในห้องทดลอง
อะไรที่เรารู้แล้วจากแมวบ้าง
เสียงฟี้อย่างแมว (Purr)
นักวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์พบว่า แมวใช้เสียงฟี้ในหลายวัตถุประสงค์ เพื่อบ่งบอกสถานะความรู้สึกในช่วงเวลานั้นๆ เช่น กำลังมีความสุขหรือความเครียด เสียงฟี้ยังใช้แสดงออกในภาวะฉุกเฉิน อย่างการร้องขออาหาร หรือพยายามบอกว่าร่างกายได้รับบาดเจ็บ
ร้องเหมียว (Meow)
โดยทั่วไปแมวจะไม่ร้อง “เหมียวๆ” กับแมวด้วยกัน พวกมันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้เพื่อใช้สื่อสารกับมนุษย์ เสียงร้องเหมียวสามารถบ่งบอกสถานะความสัมพันธ์กับเจ้าของ ซึ่งปกติคนเลี้ยงจะรู้ว่าแมวของเขาร้องเหมียวๆ เพราะต้องการอะไร แต่มักไม่รู้จากแมวตัวอื่น
หู (Ears)
หูที่ลู่ไปด้านหลังบ่งบอกถึงภาวะความเครียดและพร้อมต่อสู้ แต่หากหูลู่ไปด้านหน้าแสดงว่า เจ้าเหมียวกำลังสนใจอะไรอยู่
หาง (Tail)
หางที่เหยียดตรง แสดงถึงแมวมีความผูกพันธุ์กับผู้เลี้ยงและมันยอมให้คนเป็นใหญ่กว่าในบ้าน แต่หากหางชี้ขึ้นบนและพองฟู แสดงว่ามันกำลังฉุนเฉียว ไม่สบอารมณ์ หางที่คดกลับไปในหว่างขา หมายถึง แมวรู้สึกไม่ปลอดภัยและอยากจะเผ่นออกไปจากตรงนั้น
ถูหัวและก่ายบนสิ่งของ (Rubbing head)
แมวมีต่อมกลิ่นหลายจุด ที่บริเวณมุมปาก ระหว่างตา หู และใต้คาง พวกมันใช้ต่อมกลิ่นเพื่อบ่งบอกอาณาเขต นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากลิ่นเป็นสัญญาณที่สื่อสารถึงความเสน่หาด้วย
นอนหงาย เปิดพุง (Lying back)
แมวไม่นิยมเปิดเผยพุงหากไม่จำเป็น แต่หากมันนอนหงายด้วยท่านี้ แสดงว่าแมวกำลังผ่อนคลายสุดๆ และเชื่อใจคุณ
ทำท่านวด (Kneading)
ลูกแมวจะทำท่านวดเพื่อกระตุ้นน้ำนมของแม่แมว แต่หากแมวโตกำลังพยายามนวดให้คุณ แสดงว่ามันมอบความเป็นใหญ่ให้ แสดงถึงความเป็นแม่ การนวดเป็นพฤติกรรมเชิงบวก แสดงออกถึงความผูกพันที่ดี
เลีย (Licking)
แมวที่มีขนาดใกล้เคียงกันจะเลียให้กันเอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและลดความขัดแย้งกันในอาณาจักร ซึ่งการแสดงออกด้วยความรักใคร่เป็นคุณสมบัติทางพฤติกรรมที่สำคัญของแมวที่ใช้สื่อสารกับแมวตัวอื่นๆ
แม้การศึกษาพฤติกรรมแมวนั้นยากและท้าทาย แต่เรายังมีพื้นที่ความรู้ที่ยังไม่ได้จากเจ้าเหมียวตัวดีอยู่อีกมาก รักน้องแมวมากๆ ดูแลกันดีๆ นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก