ช่วงนี้.. เมื่อถามคนรอบตัวว่า “เป็นไงบ้าง?” หลายคนตอบตรงกันว่า.. เหมือนชีวิตวนอยู่กับความไม่แน่นอนอย่างไม่รู้จบมาสองปีแล้ว หลายคนถึงกับบอกว่าก็ใช้ชีวิตไปวันๆ และไม่กล้าฝันถึงอนาคต
นอกจากวิกฤตด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจตกต่ำ และสังคมที่สุดจะเหลื่อมล้ำที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ เป็นสิ่งที่บดขยี้ความหวังของคนส่วนใหญ่ในประเทศแล้ว ‘สุขภาพจิต’ ก็น่าจะเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่สังคมเรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้และจะส่งผลกับสังคมเราไปอีกระยะใหญ่
เพราะแม้รัฐจะเพิ่งประกาศให้กลับมาล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง แต่ด้วยความหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววัน หลายๆ คนก็ยอมกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ทำงานแบบ Work From Home รวมถึงเด็กๆ หลายคนก็เรียนออนไลน์มาตั้งนานแล้ว ประชาชนยกการ์ดสูงกันมาร่วมสองปี แต่การแก้ปัญหาที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ ก็ตอบแทนพวกเขาด้วยความสิ้นหวังอย่างไม่รู้จบ
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘ความรู้สึก’ แต่มีการศึกษาอย่างจริงจังจากนักประสาทวิทยาว่า การแยกตัวจากสังคม (Social Isolation) ส่งผลกระทบกับ ‘สมอง’ เราทุกคน
เรากำลังเสียสมดุลของความสมดุล
การศึกษาด้านชีววิทยาสอนเราว่า มนุษย์เรา.. รวมถึงสัตว์หลายๆ ชนิด วิวัฒนาการมาให้มีความต้องการสังคมและกลุ่มฝูง ไม่ว่าจะเพื่อปกป้องตนเองจากผู้ล่า รวมตัวกันล่า เพื่อการสืบพันธุ์ หรือว่าเพื่อการเติมเต็มทางจิตใจ สมองของเราจึงพัฒนาให้มีระบบบางอย่าง ที่ทำหน้าที่ในการวัดระดับความสัมพันธ์กับผู้อื่น และคอยปรับให้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสมดุลทางสังคม’ (Social Homeostasis) คือเราจะโหยหาการพบปะหรือเกี่ยวโยงกับผู้คนในระดับที่ไม่มากจนต้องแก่งแย่งแข่งขัน หรือน้อยเกินไปจนไม่บรรลุวัตถุประสงค์
‘ความสมดุลทางสังคม’ ที่ว่านี้ ถูกประเมินและสั่งการจากสมองหลายส่วน แต่ ‘ระบบการให้รางวัล’ ของสมอง (Brain Reward System) นับเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดในการกำกับดูแลระบบนี้ เราคงพอเคยได้ยินมาบ้างว่าระบบของสมองนี้ เป็นระบบที่ผลักดันให้เราเกิดพฤติกรรมบางอย่างจากสิ่งเร้าที่น่าพึงพอใจ เช่น อาหาร เซ็กส์ แอลกอฮอล์ และทำให้เราออกห่างจากสิ่งที่เจ็บปวด ในทำนองเดียวกัน ณ วันเวลาที่เราถูกแยกจากสังคมเพราะการล็อคดาวน์ ต้องอยู่แต่บ้าน ไม่ได้พบเจอใคร เราย่อมโหยหาการพบปะพูดคุยกับคนรอบข้าง เหมือนกับตอนที่เราต้องการอาหารเวลาเราหิว
แน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์คงไม่สามารถมาขอแงะสมองพวกเราไปดูตอนช่วงล็อคดาวน์ได้ แต่อย่างที่บอกว่าสัตว์หลายชนิดก็มีความต้องการสังคมเช่นเดียวกัน ทำให้มีลักษณะของสมองและระบบประสาทที่เหมือนกับเราอยู่ นักวิทยาศาสตร์จึงได้ทดลองแยกพวกมันออกจากกลุ่มฝูง และเฝ้าดูสัตว์ทดลองเหล่านั้น
ผลที่ออกมาอย่างชัดเจน คือความเครียดและวิตกกังวล
ที่ปรากฏในสมองของสัตว์ทดลอง ซึ่งก็คงไม่ต่างจาก
ที่เราหลายคนรู้สึกกันอยู่ในเวลานี้
หลายการทดลองบอกเราว่า เมื่อเราแยกสัตว์ทดลองออกจากกลุ่ม พวกมันจะมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความวิตกกังวลและมีระดับฮอร์โมนความเครียด (คอร์ติซอล) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน การศึกษาวิจัยในมนุษย์ที่ผ่านมาก็ยืนยันถึงสิ่งนี้เช่นกัน แม้ไม่ใช่การจับเอาไปขังหรือแยกในเชิงกายภาพ แต่ลองสังเกตดูได้ว่า เวลาที่คนที่ถูกแบนหรือกีดกันจากกลุ่ม ก็จะมีความเครียดและวิตกกังวลแบบนี้
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเรากำลังเสียสมดุลใน ‘ความสมดุลทางสังคม’ ไป ยิ่งเมื่อมันเกิดขึ้นแบบซ้ำๆ ไม่รู้จบ ก็น่ากังวลเหมือนกันว่าความเครียดและวิตกกังวลนั้น จะวิวัฒนาการไปเป็นอะไรที่เลวร้ายยิ่งกว่า
การเรียนรู้และความทรงจำที่สูญหาย
อีกส่วนหนึ่งของสมองที่เกี่ยวโยงกับความสมดุลทางสังคมคือสมองส่วนฮิปโปแคมปัส หรือสมองส่วน ‘การเรียนรู้และความทรงจำ’ การอยู่ในสังคมที่ได้พบเจอกัน ทำให้เราได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เช่น เรียนรู้ที่จะร่วมมือกัน เรียนรู้ที่จะไม่เห็นแก่ตัว หรืออย่างน้อยก็แยกแยะความเป็นมิตรเป็นศัตรูได้
แต่กฏอย่างหนึ่งของสมองส่วนนี้ ที่แต่ละวันต้องรับและประมวลผลข้อมูลขนาดมหาศาล คือเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่ได้ใช้สิ่งนั้น สมองก็จะจัดการทิ้งมันไป เช่นเดียวกับการล็อกดาวน์หรือแยกจากสังคม ที่อาจลดทอนความสำคัญของการเรียนรู้จะอยู่ร่วมกันไป
งานวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้แต่การทดลองแยกจากสังคมในช่วงสั้นๆ ก็อาจทำให้คนๆ หนึ่งสูญเสียความทรงจำบางอย่าง เช่น ลืมหน้าคนที่เราเคยรู้จัก ลืมว่าเราเคยรู้สึกกับคนๆ นั้นอย่างไร หรือแม้แต่ถ้าไม่ได้ทำอะไรนานๆ เราก็อาจลืมได้ว่าสิ่งนั้นต้องทำอย่างไร เช่น การกลับมานั่งทำงานหรือเรียนร่วมกันในห้องเดียวกัน แถมสิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ในช่วงเวลาอันสั้น งานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันแล้วว่า คนที่มีเพื่อนน้อยหรือแวดวงสังคมแคบ ยังมีโอกาสที่จะสูญเสียการรับรู้หรือความทรงจำในบั้นปลายชีวิตสูงด้วย
การกลับมาเจอกันอีกครั้ง
ต่อให้คิดว่าเราจะอินโทรเวิร์ตอะไรแค่ไหน แต่คงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า การมีสังคมและการได้พบเจอมนุษย์คนอื่นนั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงอยู่ของเราทุกคน และต่อให้ไม่มีงานจัยด้านประสาทวิทยามารองรับ แต่เราทุกคนก็รู้ดีว่า.. การที่เราต้องแยกจากผู้คนที่เราเคยคิดว่าจะเดินไปหาหรือนัดเจอกันได้อย่างไม่มีทางเลือก มันกำลังทำร้ายและทำลายจิตใจและสมองของเรา
แม้จะยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัด แต่การศึกษาในสัตว์ทดลองก็บอกเราว่า การกลับมาเจอกัน ย่อมซ่อมแซมและคืนสมดุลในสมองที่เราสูญเสียไปตอนแยกจากกัน แต่ทั้งหมดนั่นก็ต้องใช้เวลา จึงไม่แปลกที่หากวันนึง.. เราสามารถออกไปทำงานหรือเจอเพื่อนๆ ได้ ระยะแรกเราอาจจะรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือกระอักกระอ่วนเหมือนตอนที่เราถูกแยกให้อยู่แต่บ้าน แต่ด้วยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ นักประสาทวิทยาก็เชื่อว่าสมองของเราจะปรับตัวให้คืนสมดุลกลับมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ปล. นักจิตวิทยาหลายคนจึงแนะนำว่า การพบเจอกันในแบบ Virtually อาจจะพอเป็นตัวช่วยให้เราพอจะรู้สึกว่าไม่ถูกแยกจากกันขนาดนั้นได้ ก็ลองนัดเจอกันดูบ้างนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก