“รู้ไหมที่นี่ใครคุม ฉันรู้จักกับผู้ใหญ่ เดี๋ยวฉันจะเล่นงานแก”
พวกเรามักขู่ฟ่อโดยเอาอะไรใหญ่ๆ มาบังไว้ก่อนเสมอ ความสัมพันธ์ของคุณกับผู้คนที่อยู่รอบกายล้วนเคลือบไปด้วยพื้นที่ทางอำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่ ยิ่งในพื้นที่ทางการเมืองก็ล้วนต้องปะชะดะราวสารคดีเข้มข้นที่ต้องให้ เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (David Attenborough) มาบรรยายให้จะได้ความรู้สึกดิบเถื่อน งดงาม และอดตั้งคำถามกับธรรมชาติที่น่าทึ่งไม่ได้ว่า ทำไมถึงสร้างสรรค์ให้พวกเรามีพฤติกรรมแบบนี้
นักวิทยาศาสตร์มีข้อสันนิษฐานว่า ‘พฤติกรรมวางอำนาจ’ เป็นโจทย์สำคัญทางด้าน cognitive challenge ที่น่าหาคำตอบ เราอาจจะพบเห็นบ่อยในมนุษย์ แต่ไม่ใช่มนุษย์หรอกที่เบ่งเก่ง ในโลกกว้างของสัตว์โลกก็ยังพบเห็นได้เกือบทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าทุกชนิดพันธุ์บนโลกก็ว่าได้ล้วนเบ่งเพื่อประเมินการต่อสู้ ซึ่งสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเป็นเครื่องมือบางอย่างในการตัดสินใจว่าจะ ‘สู้หรือถอยหนี’
นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพฤติกรรมแสดงออกเช่นนี้มานาน ส่วนใหญ่เป็นการเฝ้าดูพฤติกรรม แต่ในระดับที่ลึกลงไปถึงการตระหนักรู้นั้น อะไรที่ทำให้เรามักงัดไม้นี้มาใช้บ่อยๆ เมื่อจวนตัว จนเป็นกลยุทธ์สำคัญในการมีชีวิตรอด เรามาหาคำตอบจากกันว่า การเบ่งครั้งต่อๆ ไปของคุณหรือคนที่คุณต้องเผชิญมีที่มาที่ไปในเชิงวิวัฒนาการอย่างไร
กฏข้อแรก : ไม่มีใครอยากเจ็บตัว
ในสารคดีสัตว์โลกนั้นเต็มไปด้วยภาพการต่อสู้แอ็กชั่นมากมายที่สัตว์แต่ละชนิดพยายามประหัตประหารกันด้วยกำลัง แต่ในความเป็นจริงนั้นสารคดีที่คุณดู 1 เพียงชั่วโมง อาจมาจากการรอคอยบันทึกภาพนานนับเดือนๆ หรือเป็นปี เพื่อรอให้เกิดแอ็กชั่นสำคัญระดับน่าตื่นตา เอาเข้าจริงสัตว์เองก็ไม่ได้ยากเจ็บตัวบ่อยๆ หรอกถ้าไม่จำเป็น หากพวกมันหลีกเลี่ยงได้ก็จะเลือกไม่เผชิญหน้า หรือเลือกขู่กันไปก่อนเพื่อประเมินกำลังฝ่ายตรงข้ามเป็นการ ‘วางเชิง’ จะได้ไม่ต้องเจ็บตัวแบบเลือดตกยางออก สัตว์ในธรรมชาติล้วนแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร อาณาเขตหากิน และหาคู่เพื่อการสืบพันธุ์ บ่อยครั้งที่ทุกอย่างดำเนินไปได้โดยไม่มีใครเจ็บตัว อาจมีการสูญเสียบาดเจ็บล้มตายบ้างเพียงแต่เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า
สัตว์เองจึงต้องมีข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามในการประเมินเชิงอำนาจ คู่แข่งมีพละกำลังมากไหม มีเขี้ยวเล็บอะไรต่อกร แต่มนุษย์มีทักษะการเรียนรู้ที่รวดเร็วกว่าหน่อย เราจับจุดได้ฉับไวว่า ‘จะสู้หรือถอย’ เรามักไม่พยายามสู้กับคนที่ตัวใหญ่กว่า ในการทดลองภายในห้องปฏิบัติการนั้นเคยมีการทดสอบว่า มนุษย์เพศชายมีความสามารถประเมินกำลังของฝ่ายตรงข้ามเพียงได้ยินเสียงสนทนาและเห็นภาพถ่ายร่างกายของอีกฝ่ายเพียงชั่วครู่ ก่อนนำไปสู่การประเมินกำลังที่ใช้เวลาเพียง 50 มิลลิวินาทีเท่านั้นในการตัดสินใจ ทักษะอันเอกอุนี้สะท้อนไปถึงความสามารถที่ถูกเคี่ยวกรำจากวิวัฒนาการ ซึ่งเราแชร์ความสามารถนี้ร่วมกันกับสัตว์อื่นๆ
Display Of Force
การแสดงออกเชิงอำนาจมักเกิดขึ้นก่อนการปะทะ อย่างกวางหนุ่มจะมีเสียงร้องเฉพาะ และเดินเทียบเคียงกันไปเรื่อยๆในแนวระนาบ คล้ายๆ คนเดินเอาไหล่สีกัน นักวิจัยพยายามแปลพฤติกรรมดังกล่าวว่า กวางหนุ่มทำการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินอำนาจของอีกฝ่าย ถ้าการแสดงออกเชิงอำนาจสัมฤทธิ์ผล ต่างตัวต่างแยกย้ายกันไปคนละทาง หมายความว่าการแข่งขันจะสิ้นสุด ไม่จำเป็นต้องมีการต่อสู้ เพื่อสงวนพลังงานไว้สำหรับกิจกรรมที่จำเป็นมากกว่า เช่น การหาอาหาร หรือต่อสู้กับนักล่าอื่นๆ นักพฤติกรรมสัตว์เรียกการแสดงออกเช่นนี้ว่า mutual assessment เป็นการประเมินฝ่ายตรงข้าม หลักคิดเดียวกันกับทฤษฎี Game theory ที่ใช้ในการตัดสินใจเจรจาต่อรองในเชิงรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์
นักชีววิทยาจึงเชื่อว่าเราสามารถพบ Game Theory ได้ในวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตเช่นกัน มันฝังอยู่ในตัวเราตั้งแต่บรรพกาล นักวิจัย จอห์น เมย์นาร์ด สมิธ (John Maynard Smith) เคยนำทฤษฎี Game Theory มาใช้ในการดูพฤติกรรมการแสดงอำนาจในสัตว์เพื่อประเมินว่า สัตว์แต่ละชนิดจะเบ่งใส่กันนานขนาดไหน และมีกี่ครั้งที่ทำสำเร็จหรือล้มเหลว น่าสนใจว่า ‘ขนาดตัว’ (size) ไม่ได้เป็นเครื่องมือยืนยันว่าจะเอาชนะได้เสมอไป ส่วนหนึ่งมาจากสัตว์เองต้องรู้จักการประเมินตัวเองด้วย self-assessment ว่ามันรู้จักสภาพตัวเองดีแค่ไหน มีความพร้อมร่างกายไหม และรู้ว่าอะไรคือจุดเด่นของตัวเอง
สัตว์บางชนิดประเมินไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างกุ้งที่อยู่ในกลุ่ม amphipods ขณะแย่งคู่กัน พวกมันจะฉุดกระชากตัวเมียออกจากตัวผู้อีกฝ่ายเหมือนการ ‘ชักกะเยอ’ หากการยื้อแย่งเป็นการวัดด้วยกำลังล้วนๆ เช่นนี้ ไม่น่าแปลกใจที่ตัวที่ใหญ่กว่ามักจะได้เปรียบ แต่ขณะเดียวกัน แมงมุมกลุ่มใยกลม (orb weaving spider) พวกมันจะมีการแข่งขันอีกแบบที่น่าสนใจ โดยตัวผู้แต่ละตัว จะยืนขาคู่หน้าออกมาแตะกัน เพื่อเป็นการประเมินอีกฝ่ายเหมือนแลกเปลี่ยนข้อมูล
ดังนั้นขนาดตัวไม่เกี่ยวว่าจะชนะหรือแพ้ แต่เป็นการสื่อสารต่ออีกฝ่าย แมงมุมก็เป็นสัตว์ที่ประเมินตัวเอง (self-assessment) มากกว่าจะประเมินคู่ต่อสู้ หากตัวมันมีความพร้อมที่จะสู้ก็จะลงมือ ดังนั้นเราจึงมีโอกาสเห็นแมงมุมใยกลมกล้าที่จะโจมตีคู่ต่อสู้ที่ขนาดใหญ่กว่าตัวเองหลายเท่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจมีขนาดใหญ่อย่าง นก หนู งู ฯลฯ แมงมุมจึงไม่จำเป็นต้องวิวัฒนาการขนาดร่างกายที่ใหญ่เทอะทะ แต่เป็นทักษะการรวบตึงเหยื่อที่เฉียบขาดกว่า
ดังนั้นพฤติกรรมของสัตว์ที่มีการประเมินอำนาจแตกต่างกันทำให้สามารถทำลายความเชื่อว่า “ยิ่งใหญ่-ยิ่งดี” ออกไปได้เช่นเดียวกับแมลงวันก้านตายาว (Stalk eyed fly) ที่ไม่ได้ประเมินขนาดตัวของคู่แข่ง ความพร้อมตัวเองก่อนลงแข่งขันกับตัวผู้อื่นๆ ในการหาคู่จากขนาดก้านดวงตา ยิ่งก้านตายาว ก็ยิ่งมีโอกาสชนะสูง แต่ก้านตาไม่มีความจำเป็นในการต่อสู้เลยด้วยซ้ำ
สัตว์เองจะใช้การประเมินที่หลากหลายในการแข่งขัน ไม่ได้มีกลเมล็ดเดียวในการประเมินคู่ต่อสู้ อาจจะใช้การเรียนรู้ครั้งก่อนๆ มาร่วมด้วย อย่างใน ‘ปลาคิลลี่ฟิช’ นักวิจัยในไต้หวันพบว่า พวกมันจะกล้าสู้ก็ต่อเมื่อเคยมีประสบการณ์สู้กันมาก่อนแล้วมีแนวโน้มจะชนะ ถ้ายังไม่เคยสู้กันจะจดๆจ้องๆ นานกว่าปกติ ดังนั้นแล้วสัตว์เองจึงมีความสามารถในการตระหนักรู้ (cognitive ability) ในการประเมินเพื่อความอยู่รอด พวกมันเป็นนักสังเกตการณ์ เรียนรู้และจดจำจากประสบการณ์ครั้งก่อนๆ
คราวนี้มาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นอีกว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นกลุ่มสัตว์สังคมเหนียวแน่น อย่าง หมู สุนัข ลิง ฯลฯ พวกมันมีทักษะการอยู่ร่วมกันกับฝูงได้ดี หรือในที่นี้คือมี social skill โดยจะมีแนวโน้มที่การปะทะแต่ละครั้งจะใช้เวลาลดน้อยลง ไม่ยืดเยื้อ การแข่งขันจบลงไวกว่าโดยไม่เลือดตกยางออก
มองย้อนกลับมาจากโลกของสัตว์สู่สังคมมนุษย์ พวกเรายังสืบทอดพฤติกรรมวางอำนาจจากธรรมชาติผ่านสาแหรกวิวัฒนาการ เราล้วนเห็นคนทำใหญ่โตหยิบยกอ้างอำนาจมาเป็นเกราะกำบังตัว แท้จริงแล้วโดยลำพังตัวเขาเองอาจมิได้มีพิษสงอะไรเลย และความใหญ่โตก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าเขาจะชนะทุกครั้งไป ความอวดอ้างถึงอำนาจ หรือ Display of power ของเขาจึงเคลือบไปด้วยความหวาดกลัวที่จะสูญเสีย ไม่กล้าเผชิญหน้าโดยตรง และหวังว่าจะทำให้อีกฝ่ายหยุดโจมตี เพราะความต้องการรักษาอำนาจเดิมไว้
ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญที่เราหยิบยืมจากการเรียนรู้พฤติกรรมทางธรรมชาติทั้ง mutual assessment และ self-assessment ทำให้เราต้องเรียนรู้คู่แข่งที่ชอบอวดอ้างอำนาจก่อน จากนั้นประเมินศักยภาพของตัวเราเองว่า อะไรคือจุดแข็งในการต่อสู้และช่วงชิงโดยที่ไม่ต้องคล้อยตามกับภาพของอำนาจ บางอย่างถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์ความกลัวเท่านั้น แต่ลึกๆแล้วไม่ว่าคู่แข่งจะพองให้ใหญ่แค่ไหนก็ตาม ก็ล้มเอาได้ง่ายๆเพียงสะกิดนิดเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Difficulties remain in distinguishing between mutual and self-assessment in animal contests
Assessment of fighting ability in animal contests