เราต่างคิดเสมอว่า รู้จัก ‘ตัวเอง’ ในกระจกดีที่สุดแล้ว ก็ตื่นมาเจอทุกวันนี่? แต่เปล่าเลย! พวกเรารับรู้ตัวเองอย่างบิดเบือนจากความเป็นจริงและตัวตนที่อาจขัดแย้งกันเสียจนนำมาสู่ปัญหาทางบุคลิก หรือกลายเป็นม่านหมอกที่ปกคลุมการตัดสินใจอันเป็นอคติ โดยงานวิจัยใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่า มนุษย์นั้นมีธรรมชาติที่ลื่นไหล ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดชีวิต
หากคุณคิดว่ารู้จักตัวเองดีแล้ว 9 เหตุผลนี้จะทำให้คุณโอเคกับ ‘ตัวตน’ (Self) ที่คุณเคยรับรู้มาแล้วหรือยัง? ไม่มีคำว่าสายเกินไปในการทำความรู้จักกับตัวคุณอีกคน บางครั้งเขาอาจแอบซ่อนรอคอยการค้นพบก็ได้?
1. คุณรับรู้ตัวเองอย่างบิดเบือนตลอดเวลา
ตัวตนของคุณ (Self) เหมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่วางอยู่ตรงหน้า หากคุณอยากรู้จักตัวเอง ก็ต้องค่อยๆ เปิดอ่านทีละหน้า ความชอบ ความรัก ความเกลียดชัง ความหวัง หรือความหวาดกลัว สิ่งเหล่านี้ควรจะอยู่ในหนังสือเล่มหนาๆทั้งหมดมิใช่หรือ?
ผิดถนัด! เรื่องราวของคุณไม่ได้ถูกจัดการง่ายขนาดนั้น หลายมิติในตัวตนของคุณมี ‘หน้าลับเฉพาะ’ ที่ไม่อนุญาตให้เข้าถึงง่ายๆ แม้แต่ตัวคุณเองก็ไม่มีอภิสิทธิ์พิเศษเปิดเข้าไปอ่าน หรือเมื่อพยายามอ่านก็มักมีม่านหมอกปกคลุมให้เลือนลางตีความผิดเพี้ยนอยู่เสมอ
มนุษย์มองตนเองอย่างบิดเบือนผ่านการรับรู้ที่เรียกว่า ‘การแปลพินิจภายในผิดพลาด’ (introspection illusion) คุณมองตัวเองผิดไปจากความเป็นจริงอันไม่สอดคล้องกัน เช่น คุณเชื่อมาเสมอว่าเป็นคนโอบอ้อมอารี แต่เมื่อเผชิญหน้ากับคนที่ต้องการความช่วยเหลือกลางถนน คุณกลับเร่งฝีเท้าหนีโดยเร็ว
หนึ่งในเหตุผลจาก Emily Pronin นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Princeton University ที่ศึกษาเรื่องการรับรู้ตนเอง (self-perception) กล่าวว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่มองตนเองในแง่ลบ และเชื่อว่าตัวตนของเรามีศีลธรรมดีงามกำกับเสมอในทุกการตัดสินใจ แม้เราจะทำอะไรที่ขัดแย้งมากๆ ก็มักหาทางหลบเลี่ยงปฏิเสธได้
ความเชื่อที่เอนเอียงต่อตนเองมักสะสมเป็นหินปูนที่เกาะกลบความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเปลี่ยนให้คุณมองคนอื่นด้วยสายตาที่ ‘แตกต่าง’ จนกลายเป็นอคติ (cognitive bias) ใครทำอะไรก็ผิดเสียหมด แต่ตัวเองถูกต้องเสมอ เข้ากรอบ ‘เข้มงวดต่อคนอื่น ผ่อนปรนต่อตัวเอง’ ยิ่งเราปฏิบัติตัวขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อมากเท่าไหร่ ตัวตนของคุณก็จะเป็นแค่ดินปั้นที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว
2. การแสดงออกของคุณที่คนอื่นเห็น บอกตัวตนได้มากกว่า
การรับรู้เบื้องต้นที่คนอื่นๆ มีต่อตัวคุณนั้นอิงอยู่บน 2 เงื่อนไขใหญ่ๆ คือ คนอื่นพยายาม ‘อ่าน’ คุณจากอากัปกิริยาที่แสดงออกมา และอากัปกิริยานั้นๆ แสดงออกไปในเชิงบวกหรือลบ เช่น คุณเป็นคนดูฉลาดสุขุม สุภาพอ่อนโยน (เชิงบวก) หรือ คุณเป็นคนอารมณ์ร้าย เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (เชิงลบ) การตัดสินจาก output ที่โดดเด่นเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลาเมื่อคุณมีปฏิสัมพันธ์ต่อคนอื่นๆ
พวกเราจึงมักยึดโยงลักษณะนิสัยที่คนอื่นเห็นไม่ต่างจากการส่องกระจกเงา เพราะเราไม่มีทางจะเห็นสีหน้าของตัวเอง เวลาออกท่าออกทางหรือภาษาร่างกายต่างๆ เช่น คุณไม่ค่อยรู้ตัวเมื่อเครียดจัดจะกระพริบตาบ่อยๆ หรือเขย่าขายิกๆ เวลากระวนกระวายใจ จนกระทั่งคนอื่นสังเกตว่าคุณกำลังเครียดอยู่ ดังนั้นแล้วเราจึงอาศัยการสังเกตของคนอื่นในการทำความรู้จักตัวเองอยู่เสมอ ไม่แปลกที่ใครๆจะตัดสินคุณจากสิ่งที่เขาเห็น ใครๆ ก็บอกว่า “จงเป็นตัวของตัวเอง” ก็ถูกครึ่งหนึ่ง แต่ต้องถามต่อด้วยว่า เป็นตัวของตัวเองใน version ไหนต่อคนอื่น
3. คุณเปลี่ยนแปลงบุคลิกอยู่ตลอดเวลาขณะมีชีวิต
บุคลิกของมนุษย์ไม่ได้ตั้งตระหง่านเหมือนเสาศิลาอันแข็งแกร่ง มันล้วนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาจากหลายปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก คุณอาจไม่ใช่คนเดิมเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือแม้กระทั่งตัวคุณเองเมื่อปีที่แล้ว บุคลิกจึงเปรียบเหมือนคลื่นน้ำที่ลัดเลาะผ่านโขดหินแห่งชีวิต มันไม่เคยง่ายและไม่เป็นเส้นตรง
สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนบุคลิกของคุณ ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันเลยว่า บุคลิกของคุณจะนิ่งเฉยหรือเติมเต็มแล้วในอายุ 30 ปี ดังนั้นข้อสันนิฐานนี้จึงถูกปัดตกไป
สภาพแวดล้อมเองก็มีบทบาทที่โดดเด่นมากต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าน้อยลง เคยพบประสบการณ์อะไรบางอย่างที่เปลี่ยนชีวิตมาแล้วแบบ Major Impact อย่างการสูญเสียคนรัก การแต่งงาน หรือการมีครอบครัว และความสัมพันธ์ครั้งใหม่ๆ ของคุณที่ไม่ยอมอกหักรักคุด คุณต้องขยันปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆ ให้มาก เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคนใหม่ๆ หรือในกรณีคนที่เพิ่งหย่าร้าง ก็จะมีการเปิดตัวมากขึ้น กล้าเปลี่ยนการแต่งตัว ออกไปพบปะสังสรรค์ทางสังคมและหาประสบการณ์เพื่อชุบชูหัวใจ
อาจกล่าวได้ว่า ‘เหตุการณ์ของชีวิต (Life Events)’ ต่างหากที่เป็นจุดเปลี่ยนบุคลิกภาพของคุณได้มากที่สุด การทำงานและมีส่วนร่วมกับอะไรบางอย่างที่ขับเคลื่อนคุณ มีส่วนช่วยให้ค้นพบบุคลิกภาพที่คุณเองยังไม่รู้จัก มันอาจซ่อนอยู่ลึกๆ รอสถานการณ์ที่มีมากระทบชิ่งในเวลาที่เหมาะสม จากการที่คุณคิดว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่เมื่อพบความไม่ถูกต้องต่อเพื่อนมนุษย์ ก็อาจลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่คุณเองไม่ได้คาดคิด
4. พวกเราบั่นทอนตัวเอง เพราะรู้สึกว่าไม่คู่ควรกับความสำเร็จ
น่าแปลกที่ คนบั่นทอนตัวเองส่วนใหญ่กลับไม่ได้เป็นคนขี้เกียจโดยธรรมชาติ ตรงกันข้าม! พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ทำงานหนัก หวังผลสูง โดยเฉพาะเมื่อเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมกันของสิ่งที่ทุ่มเทไป หรือได้ผลตรงกันข้าม คนเหล่านี้ล้วนเล็งเป้าหมายสูงเหนือหัว แต่กลับยิงถูกเท้าตัวเอง ทำไมเป็นซะอย่างนั้น?
มีแนวคิดหนึ่งที่อธิบายว่าการกระทำนี้คือ Cognitive dissonance (ทฤษฎีความขัดแย้งทางความคิด) เมื่อคนทั่วไปพยายามอยู่กับความคิดที่เขาคาดหวังไว้ แต่กลับรู้สึกขัดแย้งในตัวเองจนเกิดความไม่สบายใจ หรือความเชื่อและค่านิยมที่มีอยู่กลับไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น อยากประสบความสำเร็จ แต่รู้สึกกลัวที่จะลงมือทำอะไรใหม่ๆ
รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าพอจะประสบความสำเร็จ โดยที่ยังไม่ลงมือก่อร่างสร้างอะไรไว้เลย เกิดเป็นช่องโหว่ รู้สึกแย่ต่อความล้มเหลว แต่ความจริงที่ร้ายแรงคือ การไม่ลงมืออะไรเลย บั่นทอนยิ่งกว่า
ดังนั้นคนส่วนหนึ่งอาจแสดงพฤติกรรมขัดขวางความก้าวหน้าของคนอื่น พร่ำบอกใครๆ ว่าเขาไม่คู่ควรต่อความสำเร็จที่กำลังตามหา และเผยความล้มเหลวของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
5. การควบคุมตัวเองมีจำกัด หมดได้ หากไม่เติม
ทักษะการควบคุมตัวเอง (Self-control) มีธรรมชาติที่ไม่ต่างจากแบตเตอรี่รถยนต์ มันต้องออกวิ่งบ้าง ไม่งั้นประจุไฟก็หมด แม้บางคนจะบ่นออดๆ ว่าหมดใจไปแล้วหลายต่อหลายรอบ แต่พลังในการควบคุมตัวเองสามารถย้อนคืนมาใหม่ได้เรื่อยๆ ราวพลังงานหมุนเวียน หากคุณรู้จักชาร์จประจุอย่างเข้าอกเข้าใจ
ทักษะการควบคุมตัวเองนั้นมี ‘จำกัด’ เหมือนแหล่งน้ำมันดิบสำรองที่เก็บไว้ในกระเปาะใต้พิภพ และอาจสูญเสียไปอย่างถาวรหากถูกตักตวงมาใช้เกินไป ซึ่งเป็นเหตุผลว่า เมื่อเราทำอะไรไม่สำเร็จต่อตนเองแล้วมิติชีวิตด้านอื่นๆ ก็มักล้มเหลวไปด้วยในอนาคต ทำให้นักวิจัยกลุ่มหนึ่งตั้งทฤษฎี Ego-depletion theory เพื่อมาอธิบายปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ล่วงเลยมาปี 2012 สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ตีพิมพ์งานศึกษาที่ชี้ว่าภาวะดังกล่าวมีเหตุจากระดับกลูโคสในสมอง (glucose) ลดลง ถึงขั้นแนะนำให้คุณติดขนมไว้ใกล้มือเสมอหากเริ่มรู้สึกสูญเสียทักษะการควบคุมตัวเอง (แน่นอน! ขนมและเครื่องดื่มหลายยี่ห้อใช้ช่องว่างนี้ในการโฆษณาชวนเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์สามารถกระตุ้นความมั่นใจได้หรือมีนัยยะแฝงไปในทำนองนั้น)
แต่การถกเถียงถึงจุดปริในปี 2015 เมื่อนักจิตวิทยา ‘ไมเคิล คันนิ่งแฮม’ (Michael Cunningham) พบความเชื่อมโยงของงานวิจัยเก่าที่มีหลักฐานน้อยมากถึงภาวะ ‘ความถดถอยของจิตใต้สำนึก’ และไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง โดยให้เหตุผลว่าทักษะการควบคุมตนเองเป็นอะไรที่เหนือกว่ากลูโคสในสมอง แต่ฝังลึกใน mindset จากการใช้ชีวิตของคนคนนั้นเลยทีเดียว
ทักษะการควบคุมตัวเอง self-control ฟื้นฟูได้เรื่อยๆ เหมือนพลังหมุนเวียน ยิ่งใช้ยิ่งมี คนที่เชื่อว่าเขาเองสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นของตนเองกลับมาได้ มักมีแอ่งของพลังใจที่ไม่มีวันหมดให้ตักตวง
6. มนุษย์มีทักษะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ใครว่าเราเรียนแค่วัยเด็ก เราเรียนกันตลอดเวลาต่างหาก! การจะเป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต’ ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจเพียงวันหรือสองวัน แต่ต้องเป็นการสร้างตัวต่อเล็กๆ ด้วยอุปนิสัย ความเคยชิน และต้องปลูกฝังอย่างประณีตเสียหน่อย เพราะทุกวันนี้ทักษะที่เราจะต้องใช้แรง ใช้ร่างกาย ใช้สองมือทำเองโดยตรง (Hard Skills) มีแต่จะล้าสมัยเอาทุกวัน จากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและองค์ความรู้ที่มันดิ้นได้ตลอดเวลา ทำให้คุณไม่สามารถจะมานั่งนิ่งนอนใจกับภูมิความรู้ที่มีแต่เสื่อมไปและถูกแทนที่ได้เสมอ
เราเริ่มพูดคุยกันเรื่อง ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)’ ในระดับโลกมาสัก 30 ปีแล้ว โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ร่วมกับยูเนสโก (UNESCO) และสภายุโรป (Council of Europe) พยายามผลักดันให้มนุษย์ในทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ทุกอารยธรรม เริ่มตั้งเป้าหมายที่จะเรียนรู้ตลอดเวลาในขณะที่ยังมีลมหายใจ
โดยก่อนหน้านี้มนุษย์ถูกขีดเส้นคำว่า ‘การศึกษา’ ไว้เพียงช่วงเริ่มแรกของชีวิตเท่านั้น โตมาก็ต้องทำงาน ทำๆๆ แล้วก็รอเวลาที่แห้งเหี่ยวไปกับแสงแดดและสายลม โดยไอเดียของการหาความรู้ถูกครอบงำด้วยการศึกษาที่เป็นทางการ (Formal Education) มาตั้งแต่ไหนแต่ไร และส่วนใหญ่เป็นการจัดสรรของรัฐที่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก ทำให้คนที่อยู่ในช่วงอายุอื่นๆ ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เสียเปรียบ และกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกหยิบไปใช้ประโยชน์ต่อยอดมากนัก
มันจึงจำเป็นที่ต้องเคลียร์กันให้ชัดว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่เพียงหมายถึง ‘การศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Education)’ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการเรียนรู้ทุกรูปแบบตลอดช่วงชีวิตอีกด้วย
7. คนที่มักอ้างศีลธรรมบ่อยๆ ล้วนเป็นคนไม่มั่นคงในจิตใจ
ศีลธรรมควรยึดเป็นหลักมั่นในใจ ไม่จำเป็นต้องหยิบมาอ้างตลอดเวลา คนที่ไม่มั่นคงหรือขาดอุปนิสัยเชิงบวกโดยธรรมชาติ จะพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขามีมันอยู่จริง โดยทำอะไรก็ตามที่ย้ำเตือนสิ่งที่ขาดหายไปอยู่เสมอ (self-assurance) คนที่ไม่แน่ใจว่าเป็นคนใจกว้าง จะพยายามทำบุญทำทานโดยไม่ตรวจทานเหตุผลหรือไม่ไต่ตรองถึงผลเสียที่ตามมา เพราะคิดว่า หากทำด้วยเจตนาดี ‘ก็ถือว่าดีแล้ว’ตรงกันข้ามกับคนที่ใจกว้างเป็นพื้นฐานที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องหาทางพิสูจน์เลย
การอ้างศีลธรรมในการโต้แย้งข้อเท็จจริง เป็นการย้ำเตือนตนเองในส่วนที่ขาดหาย
8. ความเห็นอกเห็นใจที่มากเกินไป ทำให้รับรู้ผิดพลาด
ทักษะในการอ่านอารมณ์ของพวกเรามักคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ มันทำให้เรามองเหตุผลด้วยสายตาที่พร่ามัว โดยเฉพาะความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ที่หลายคนเชื่อว่า ‘มีมากๆ แล้วจะดี’ แต่ทำไมหลายครั้งมันกลับหวนมาทำร้ายเรา?
ความเห็นอกเห็นใจแอบซ่อนความมืดมิดบางอย่าง มันดูดกลืนพลังของพวกเราไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะผู้ที่อ่อนไหวง่ายต่อสิ่งเร้า พวกเขาค่อนข้างเผชิญหน้ากับความท้าทายในการชั่งตวงอารมณ์อันเปราะบาง เพราะในความเห็นอกเห็นใจเองก็เรียกร้องพลังสูงเป็นการแลกเปลี่ยน คนที่อ่อนไหวไปกับทุกคลื่นความรู้สึกมักต้านทานความแตกต่างนี้ได้ไม่ดีนัก พวกเขาดูดกลืนมวลอารมณ์โดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ
ในทางจิตวิทยานั้น เรียกกระบวนการนี้ว่า ‘การตระหนักรู้ในการยับยั้งช่างใจ (Cognitive Disinhibition)‘ แต่ละคนจะมีตัวกรองความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว จะหนาหน่อย จะบางหน่อย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่ลองผิดลองถูกจนก่อให้เกิดเป็นตัวกรอง ‘Cognitive Filter’ ชั้นแล้วชั้นเล่าว่าอะไรที่ควรรับ อะไรที่ไม่ควรรับ อะไรที่ปล่อยผ่านได้ และอะไรที่ไม่ควรซุกไว้ใต้พรม
แต่เราต้องยอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยมี Cognitive Filter บางเฉียบ แต่ก็ดันอยากจะช่วยโลก เมื่อเผชิญกับความท้าทายของโลกที่เป็นจริง มันไม่ได้ห้อมล้อมไปด้วยโอกาสและเติมเต็มความคาดหวังได้ทุกครั้ง พวกเขาจะรู้สึกหมดเรี่ยวแรงและหมดศรัทธาอย่างง่ายดาย แล้วมันจะเริ่มเลวร้ายที่สุด เมื่อพวกเขาพยายามช่วยเหลือคนอื่นเพื่อแก้ปมของตัวเอง
พวกเขาไม่ได้พยายามช่วยเหลือคนอื่นเพื่อแก้ปัญหา แต่เพียงเพื่อบำบัดตัวเองจากภาวะไร้สมดุล
9. ยิ่งคิดว่าตัวเอง ‘ยืดหยุ่น’ คุณยิ่งทำอะไรได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ผู้คนหวาดกลัวต่อความผิดพลาด และหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้า นั่นกลับทำให้เราพบข้อจำกัดมากมายที่เลือกจะ ‘ไม่ทำ’ สิ่งนั้นอีก ยิ่งคุณมองตัวเองเป็นคนสมบูรณ์แบบแล้ว (Perfectionist) ก็มีแนวโน้มที่จะรับไม่ได้กับความผิดพลาดแม้เพียงน้อยนิด
แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นลื่นไหล ไม่คงที่ สมองของคุณเองยังมีความยืดหยุ่น มันเติบโตและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ(neuroplasticity) ผ่านความท้าทายที่คุณเอาตัวเองไปเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลว อันเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด
คนที่มองความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มักเป็นคนยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ยอมรับว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้อยู่เสมอ และเมื่อพวกเขาใคร่สงสัยที่จะทำอะไรใหม่ๆ สิ่งนั้น (ไม่ว่าจะออกมาร้ายหรือดี) ก็ย่อมเป็นโอกาสที่เรียนรู้ได้เช่นกัน หลายคนบังคับตัวเองให้มีอุปนิสัยเพียงชุดเดียว เช่น เชื่อว่าเป็นคนเข้มแข็ง จะไม่มีทางแสดงความอ่อนแอเป็นอันขาด พยายามจะเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างที่มาสั่นคลอนอุปนิสัยเข้มแข็งนั้น ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งที่ความเข้มแข็งไม่ใช่คำตอบ เขาจะรู้สึกสูญเสียตัวตนจนกู่ไม่กลับ
คุณไม่จำเป็นต้องนิยามตัวเองด้วยอุปนิสัยเพียงชุดเดียว เราสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอตามสถานการณ์เรียกร้อง หากผู้คนรอบข้างถูกเอาเปรียบคุณสามารถยืนหยัดต่อสู้เพื่อพวกเขา หรือเมื่อคุณเองทำผิดพลาด ก็สามารถอ่อนโยนและเมตตาต่อตัวเองได้เช่นกัน คนที่เรียนรู้จะยืดหยุ่นทุกสถานการณ์ จะเห็นโอกาส ในขณะที่คนอื่นเห็นแต่ความหวาดกลัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Differential Pattern of Functional Brain Plasticity after Compassion and Empathy Training
pdfs.semanticscholar.org
- How to Be Yourself : Quiet Your Inner Critic and Rise Above Social Anxiety
Ellen Hendriksen, Ph.D. St. Martin’s Press
- CHAPTER X. The Consciousness of Self. William James
genius.com