ในโลกอันพิลึกพิลั่นของ Game of Thrones มี 2 สิ่งเท่านั้นที่สังหารอสูรไวท์วอล์คเกอร์ได้ คือ ‘เหล็กกล้าวาไลเรียน’ (Valyrian steel) และ ‘หินดราก้อนกลาส'(dragonglass) ที่จิ้มเจ้าหน้าขาวทั้งหลายให้หมดพิษสง หลายคนคิดว่าอาวุธที่ทำจากหินดราก้อนกลาสคงจะปรากฏแค่ในนิยายแฟนตาซีเท่านั้น แต่เปล่าเลย! ในประวัติศาสตร์มนุษย์ใช้หินออบซิเดียนเหล่านี้เป็นอาวุธมาอย่างยาวนาน และเครื่องมือหินอันแหลมคมเหล่านี้บันทึกประวัติศาสตร์การดำรงชีวิตของบรรพบุรุษเราไว้ราวกับ ‘ไทม์แคปซูล’
ต้องยกความดีความชอบให้กับคุณสมบัติทางเคมีของ ‘หินออบซิเดียน’ (obsidian) ที่คาดว่ามนุษย์อาจใช้หินพิเศษนี้เป็นอาวุธตัดเฉือนกว่าล้านปี บรรพบุรุษอันห่างไกลของพวกเราเก็บหินภูเขาไฟออบซิเดียนจากถิ่นฐานต่างๆ ที่ตั้งรกรากชั่วคราว จากนั้นก็ออกเดินทางไกลโพ้น หินออบซิเดียนแต่ละก้อนจึงเสมือนหมุดหมายของถิ่นฐานที่มนุษย์พกพาไปด้วย
เครื่องมือหินออบซิเดียนถูกค้นพบในแหล่งโบราณคดี Melka Kunture ในประเทศเอธิโอเปีย มีอายุอย่างน้อยราว 1.7 ล้านปี มีร่องรอยที่มนุษย์สกุล Homo กลุ่มแรกๆ พยายามเปลี่ยนหินออบซิเดียนที่พบในธรรมชาติ ให้มีรูปทรงเป็นขวานขนาดเล็กพอเหมาะมือ นักทำเครื่องมือเลือกหินภูเขาไฟออบซิเดียนเป็นอาวุธประเภทเฉือน เนื่องจากคุณสมบัติในการกะเทาะที่สามารถคาดเดารูปทรงได้ง่าย สะเก็ดที่กะเทาะออกมามีสัดส่วนสม่ำเสมอ ค่อยๆลับให้ลมได้เรื่อยๆ มากกว่าหินประเภทอื่นๆ
เครื่องมือหินออบซิเดียนนั้นมีมุมที่คมราวใบมีดโกน (razor-sharp edge) เพราะหากอยู่ในมือคนที่เชี่ยวชาญจริงๆ จะสามารถสกัดจนมีจำนวนอะตอมบริเวณปลายอาจไม่เกิน 24 อะตอมเท่านั้น ซึ่งอาจสูสีพอๆ กับมีดผ่าตัดแพทย์สมัยใหม่เลยทีเดียว
แต่ออบซิเดียนนั้นแตกต่างจาก ‘หินดราก้อนกลาส’ ตรงที่ในนิยายนั้นขนานนามว่า “ไม่มีทางบิ่น” ซึ่งในความเป็นจริงอาวุธหินออบซิเดียนกลับบิ่นและแตกหักง่ายมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้พิษสงลดน้อยไป เพราะยิ่งแตกหักง่ายเท่าไหร่เมื่อเฉือนเข้าเนื้อของสัตว์จะสร้างความเจ็บปวดได้เป็นทวีคูณ ทิ้งสะเก็ดหินทำให้สัตว์บาดเจ็บ ลดระยะทางในการหนี และทำให้บรรพบุรุษนักล่าแกะรอยไปปลิดชีวิตมันเป็นอาหาร จนอาจกล่าวได้ว่า หินออบซิเดียนค่อยๆ กอปรให้เราเป็นนักล่าที่อันตรายขึ้นเรื่อยๆ
“ถ้าจะเอาให้ถึงตายแบบแน่นอน หินออบซิเดียนเป็นตัวเลือกแรกๆ เสมอ”
มนุษย์รู้ไหมว่าหินออบซิเดียนมีค่า?
หินออบซิเดียนนั้นมีสีดำเงางาม (บ้างก็พบสีแดงหรือสีอื่นๆ) ซึ่งล้วนดึงดูดความสนใจของมนุษย์ได้ดี ทำให้มนุษย์ในช่วงบรรพกาลก็ยังต้องการเสาะแสวงหามีไว้ครอบครอง ส่วนหนึ่ง หินออบซิเดียนพบเจอได้ยาก หรือบางแห่งบนโลกก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพบเจอ เพราะหินออบซิเดียนนั้นเกิดจากภูเขาไฟที่อุดมไปด้วยลาวาความร้อนจัด มีซิลิก้าปริมาณสูงจนหนืดเหนียวอยู่ใต้ผืนพิภพ เมื่อภูเขาไฟปะทุ ลาวาจะพุ่งขึ้นที่สูงด้วยความเร็วจนกลายเป็นแก้ว และปฏิสัมพันธ์กับสารเคมีอื่นๆ จนกลายเป็นคริสตัล ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ทำให้แหล่งค้นพบหินออบซิเดียนตามธรรมชาติบนโลกหาได้ยากยิ่ง เป็นของมีค่าสูงส่ง มนุษย์ในอดีตจึงใช้หินออบซิเดียนเป็นเครื่องมือในการทำพิธีกรรมสำคัญ ตกแต่งเป็นเครื่องประดับผู้นำระดับสูง ซึ่งการหาคำตอบว่า บรรบุรุษของเราพบแหล่งหินออบซิเดียนได้ที่ไหนบ้าง ก็จะช่วยให้เรารู้ที่ตั้งรกรากของบรรพบุรุษเราได้ง่ายขึ้น
วิธีที่จำเป็นที่สุดคือการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของหินออบซิเดียนว่าสอดคล้องกับข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ที่ไหนบนโลกที่เราเคยค้นพบแล้วบ้าง นักธรณีวิทยาเรียกว่า ‘Flows’ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก เพราะต้องใช้เครื่องมือในการตรวจสอบราคาหลายสิบล้านบาท ที่สำคัญการทดสอบเพื่อหาองค์ประกอบคงไม่พ้นการทำลายเครื่องมือโบราณเพื่อดูองค์ประกอบภายใน ซึ่งคงไม่มีภัณฑารักษ์คนไหนยอมให้วัตถุโบราณไปอยู่ในมือนักวิจัยหากยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอในการพิสูจน์อัตลักษณ์ของเครื่องมือหินออบซิเดียน
จนหลายสิบปีมานี้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาการเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องทำลายวัตถุโบราณเพื่อศึกษาองค์ประกอบในชื่อว่า Non-destructive X-ray fluorescence (XRF) ที่สามารถวิเคราะห์หาธาตุสตรอนเชียม (strontium) และรูบิเดียม (rubidium) ที่พบในแหล่งออบซีเดียนได้ เครื่อง XRF รุ่นแรกๆ ในปีค.ศ. 1980 ใหญ่พอๆ กับหนึ่งห้อง แต่หลังจากนั้นมีการปรับปรุงจนค่อยๆ มีขนาดเล็กลงจนเหลือเท่าไดร์เป่าผมเท่านั้น สามารถพกพาไปไหนได้สะดวก และหากเจอแหล่งออบซิเดียนที่ไหนก็วิเคราะห์ได้ตรงจุด ขุดทันที รวมถึงสามารถบอกได้ว่าหินออบซิเดียนในจุดนี้มาอายุไหร่ หลายร้อยปีหรือหลายพันปี
‘ออบซิเดียน’ แคปซูลกาลเวลาของประวัติศาสตร์มนุษย์
มนุษย์ครั้งยังเป็นนักล่าและหาของป่าก็ได้เก็บหินออบซิเดียนไปด้วย จากนั้นพวกเขาค่อยๆ กะเทาะจนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการล่า ในปีค.ศ. 2018 วารสาร Science ตีพิมพ์งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับออบซิเดียนในประเทศเคนย่า ในบริเวณ Olorgesailie ซึ่งพบเครื่องมือหินที่เก่าแก่อายุถึง 300,000 ปี พอมาวิเคราะห์ดู เครื่องมือออบซิเดียนนี้มาจากแหล่งที่ห่างไกลราว 112 กิโลเมตร เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างน่าแปลกใจที่นักล่ารุ่นบุกเบิกมีอาณาเขตเดินทางเพื่อหากินเป็นรัศมีที่ไกลขนาดนี้ ซึ่งอาจเป็นหลักฐานว่ามนุษย์พกหินติดตัวไปด้วย หรือมีการแลกเปลี่ยนเป็นของมีค่ากับเผ่าอื่นๆ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน แม้กระทั่งมีสมมติฐานว่า มนุษย์นีแอนเดอทัลก็ยังใช้คุณสมบัติของหินออบซิเดียนในการทำเครื่องมือเช่นกัน และเราอาจมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาไม่ว่าจะทำการแลกเปลี่ยนทรัพยากรหรือรบพุ่งกันก็ตาม
การพบเครื่องมือหินช่วยให้นักโบราณคดีร่างภาพพื้นที่ที่มนุษย์ยุคแรกๆ มีปฏิสัมพันธ์กันได้โดยคร่าวๆ การแลกเปลี่ยนเครื่องมือกันระหว่างชุมชน หินออบซิเดียนที่อยู่ห่างไกลแหล่งตามธรรมชาติยิ่งเผยให้เห็นความเป็นนักเดินทางของมนุษย์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด
นิยายอาจจะหยิบเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ในโลกแห่งความเป็นจริงมาถักทอเพิ่มเติมพลังพิสดารให้กับออบซิเดียน ซึ่งในความเป็นจริง ทักษะการล่าอันชำนิชำนาญของมนุษย์ก็มาจากการดัดแปลงหินให้กลายเป็นเครื่องมืออันร้ายกาจ ถ้าหินดราก้อนกลาสช่วยให้มนุษย์รอดพ้นภัยใน Game of Thrones ได้ หินออบซิเดียนก็ช่วยให้มนุษย์เรียนรู้อดีตได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Scientists Are Amazed By Stone Age Tools They Dug Up In Kenya
Our ancestors in East Africa were making sophisticated tools far earlier than we thought