ห้ามออกจากบ้าน ประกาศเคอร์ฟิว และกฎการเข้าพื้นที่สาธารณะต่างๆ ถาโถมใส่ผู้คนทั่วโลกให้อยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก นอกจากจะต้องวิตกเชื้อไวรัส COVID-19 ระบาดแล้ว กลายเป็นว่าต้องหวั่นเกรงคำสั่งรัฐที่เข้มงวดจนบางกรณีขาดการตรวจสอบเชิงอำนาจ หาก COVID-19 จะเป็นปรากฏการณ์ new normal ของโลกที่พวกเราต้องยอมรับแล้ว ความหวังที่จะใช้ชีวิตพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร?
การล็อกดาวน์ต่อไปเรื่อยๆ คงไม่ใช่ทางออก ชีวิตยังต้องการโอกาสใหม่ที่จะฟื้นกลับมา เราต้องมีความหวังอื่นๆ ที่มิใช่รอคอยวัคซีนจากห้องแลปเท่านั้น เพื่อกลับไปใช้ชีวิตในสังคมแบบปกติสุข สหประชาชาติจึงผลักดันให้เกิด exit strategy แม้เราจะสามารถกลับไปมีชีวิตปกติได้ แต่อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ขึ้นอยู่กับรัฐแต่ละแห่งว่าจะเลือกให้ประชาชนอยู่กับอะไร ระหว่างมีโอกาสใช้ชีวิตหรือการถูกบังคบโดยอำนาจอยู่ฝ่ายเดียว
การล็อกดาวน์ (lockdowns) เป็นวิธีปฏิบัติพื้นฐานที่สุดที่ทุกประเทศเลือกใช้ จัดเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้น้อยที่สุด ซึ่งหากเรามองจากกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตแล้ว เราจะได้ยินคำว่า flattening the curve คือ ทำให้เจ้ายอดกราฟนั้นนิ่ง ไม่ทะยานชันไปมากกว่านี้ โดยเป็นการรณรงค์ที่บุคลากรด้านสาธารณสุขออกมาแนะนำ เพื่อให้โรงพยาบาลไม่แออัดไปด้วยผู้ป่วย มีอุปกรณ์ทางการแพทย์สามารถรับมือจำนวนผู้ป่วยในระดับที่ควบคุมได้ ลดการครองเตียงของผู้ป่วย COVID-19 ที่จะไปเบียดบังผู้ป่วยโรคฉุกเฉินอื่นๆ และแพทย์มีความสามารถในการรักษาที่คงประสิทธิภาพได้อยู่ ดังนั้นการ flattening the curve จึงจำเป็นเพียงเบื้องต้น ช่วยซื้อเวลาเพื่อให้นักวิจัยพัฒนารูปแบบการรักษาใหม่ได้ทัน และมีเวลาศึกษาธรรมชาติของการระบาดได้ดียิ่งขึ้น
การล็อกดาวน์ ไม่ใช่แผนระยะยาว การปิดเมืองได้ทำลายรูปแบบการใช้ชีวิตมนุษย์ เราจึงควรออกจากการปิดกั้นเพื่อไม่ให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับความเสียหาย รวมไปถึงสุขภาวะทางจิตของประชาชนอันเปราะบางที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา
คราวนี้หากรัฐลดความเข้มงวดในการล็อกดาวน์ประเทศ สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นกว่าการ flattening the curve ทำให้ภาพกราฟที่ออกมาอาจมีความชันขึ้นนิดๆ แต่ก็เพียงพอให้เกิดความหวั่นไหวว่า ควรกลับไปล็อกดาวน์เหมือนเดิมหรือไม่ จุดนี้จะเป็นบททดสอบว่า นโยบายของแต่ละประเทศมีทัศนคติอย่างไรต่อการระบาด รัฐต้องการเพียงตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง หรือต้องการพื้นฟูศักยภาพของคนในประเทศเพื่อเลี้ยงปากท้อง ถึงจุดหนึ่งคนจะอดยากตายมากกว่าไวรัส COVID-19
Exit strategy
เพื่อให้เรามีโอกาสใช้ชีวิต exit strategy จะต้องสร้างแนวทางให้คนในสังคมได้กลับไปมีชีวิตปกติและมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับที่รับมือได้ แม้เราจะต้องการวัคซีน แต่ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าวัคซีนจากแลปจะเป็น ‘กระสุนเงิน’ (silver bullet) ที่ใช้รักษาได้เบ็ดเสร็จ ไวรัสมีการกลายพันธุ์ในอัตราที่รวดเร็วกว่าแบคทีเรีย ทำให้วัคซีนต้องปรับสูตรอยู่ตลอดเวลา ความพยายามพัฒนา universal flu vaccine ส่วนมากยังเป็นคอนเซปต์อยู่ และอาจใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อขยายผลจาก lab scale สู่ระดับอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตออกมาจำนวนมากๆ ดังนั้นหากรัฐรอเพียงวัคซีนแล้วคิดว่าทุกอย่างจบ นั้นคือรัฐที่ล้มเหลว
มีการพูดถึงการติดเชื้อแบบ second wave คือคลื่นลูกถัดไปจากคนไม่เคยติดเชื้อจะมีสถานะเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ความรุนแรงและอัตราผู้ติดเชื้อจะน้อยกว่าคลื่นลูกแรก เช่นเดียวกับกรณีของโรคไข้ซิกา (Zika virus) ไวรัสในกลุ่ม Flavivirus สัตว์เป็นพาหะนำเชื้อคือยุงลาย โรคนี้ระบาดหนักในปี ค.ศ.2015-2016 จากนั้นค่อยๆ ซาลง แต่มีการกลับมาอีกครั้งของ second wave โรคซิกานั้นก็ไม่รุนแรงเท่ากับคลื่นลูกแรก และแพทย์สามารถรับมือได้จากความพร้อมของชุดตรวจ รวมทั้งความเข้าใจกลไกภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเชื้อ
การรับมือคลื่นระบาดลูกถัดไปจึงอยู่ในหลักการ ‘HOLD / BUILD / SHIELD’ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐาน exit strategy
ขณะนี้ประเทศโดยส่วนใหญ่อยู่ในขั้น ‘HOLD’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่กินระยะเวลาค่อนข้างนาน โดยการล็อกดาวน์ทุกกิจกรรมให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับเข้าใกล้ศูนย์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากนั้นต้องมีชุดตรวจที่พร้อมรับมือผู้ป่วยกลุ่ม second wave ที่เน้นตรวจเร็วตรวจไว กักกันได้เร็ว สืบประวัติก่อนติดเชื้อ และหาโครงข่ายญาติได้อย่างรวดเร็วขึ้นเพื่อตัดวงจรของการระบาด กลุ่มแพทย์จะมีความเชี่ยวชาญขึ้นในการหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ แพทย์จะติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่น้อยลงจากประสบการณ์รับมือที่ผ่านมา
กลยุทธ์ที่ 2 คือ ‘BUILD’ เป็นการกรุยทางเพื่อซื้อเวลาให้ระบบสาธารณสุขรักษาผู้ป่วยจากคลื่นแรกได้หมด เพื่อรองรับ second wave ในกลุ่มประเทศที่มีฐานะ รัฐจะจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มารับมือเฉพาะ จัดหาเตียงผู้ป่วย ICU และจัดจ้างเจ้าหน้าที่บริการในภาคส่วนต่างๆเพิ่ม ส่วน BUILD นี้จะพิเศษที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เกิดอาชีพใหม่ที่รัฐอาจเป็นผู้ดูแล มีการอบรมความรู้ด้านสาธารณสุขแก่เจ้าหน้าที่ออกภาคสนาม เพื่อลดภาระกำลังคนขาดแคลนของรัฐ จากนั้นจะค่อยๆผ่อนคลายการปิดกั้นกิจกรรมต่างๆ ยุติการล็อกดาวน์ เพื่อให้คนกลับไปใช้ชีวิต เปิดตลาดค้าขาย ธุรกิจต่างๆ กลับไปทำงานให้เกิดการจับจ่ายเงินหมุนเวียนในระบบอีกครั้ง แม้จะมีอัตราผู้ติดเชื้อจาก second wave สูงขึ้นเล็กน้อย แต่อัตราผู้เสียชีวิตจะต่ำลงมาก หรือไม่มีผู้เสียชีวิตรายใหม่เลย
สู่กลยุทธ์สุดท้ายคือ ‘SHIELD’ ไม่มีการล็อกดาวน์โดยสมบูรณ์ กิจกรรมในสังคมดำเนินไปอย่างปกติ แต่จะมีการปกป้องคนกลุ่มเสี่ยงจากต่อการติดเชื้อแล้วอาจป่วยหนัก คือกลุ่มคนชราที่จะต้องได้รับการดูแลมากที่สุด จากการจะให้โครงข่ายทางสังคมช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ แต่ละสังคมจะต้องมีความรู้กลางเพื่อดูแลผู้สูงอายุในชุมชมของตัวเอง ขณะนี้นักวิจัยอาจสามารถพัฒนา antibody ได้ และนำไปแจกจ่ายให้กับคนกลุ่มแรก คือผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุข ให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันก่อนที่จะเข้าไปสู่ชุมชน คนติดเชื้อกลุ่มคลื่นลูกแรกที่หายดีอาจจะมีภูมิต้านทาน กลุ่มคนติดเชื้อคลื่นลูกที่สองก็ไม่ป่วยหนัก สังคมจะเกิด ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำ คนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันมากพอจาก antibody ในร่างกายเพื่อต่อต้านเชื้อ แม้ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่า คนที่ติดเชื้อแล้วจะสามารถเป็นซ้ำได้และมีอาการระดับไหนในระยะยาวจาก COVID-19 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อจะน้อยมาก ภายใต้การดำเนินกิจวัตรตามปกติของคนในสังคม
แต่ที่กล่าวมาหลักการ HOLD / BUILD / SHIELD จะเป็นไปได้ยาก หากรัฐไม่สามารถรับมือกับ second wave ได้ กลายเป็นว่ามีผู้ติดเชื้อรอบสองจนโรงพยาบาลไม่สามารถรับมือได้ ทำให้ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่คือการปิดเมือง และล็อกดาวน์อีกครั้ง ทำให้เสี่ยงที่ประเทศจะเข้าสู่ภาวะ ‘รัฐล้มเหลว’ (Failed state) ไม่สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายในและเศรษฐกิจล้มระเนระนาด เพราะครั้งที่ 2 จะกระทบกับปากท้องของผู้คนหนักกว่าที่แล้วมา
ในวันที่ ‘จีน’ คลายล็อกดาวน์
จีนเป็นประเทศแรกที่ประกาศล็อกดาวน์เมือง และได้ดำเนินแนวทาง HOLD ครั้งแรกในการรับมือ COVID-19 ทำให้สร้างภาวะเว้นระยะห่างทางสังคม และมีข้อบังคับต่างๆ ตามมามากมายจนเหมือนทั้งประเทศเป็นอัมพาต ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆคลี่คลายในทางที่ดี ทำให้กฎหลายข้อผ่อนปรนบ้าง ธุรกิจบางประเภทกลับมาดำเนินอีกครั้งทั่วมณฑลหูเป่ย์ และในวันที่ 8 เมษายน จีนประกาศยุติล็อกดาวน์ อย่างเป็นทางการ แต่ชีวิตผู้คนก็ไม่ได้กลับสู่ภาวะปกติทันที เพราะผู้คนยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ผลปรากฏว่า เศรษฐกิจของจีนฟื้นฟูขึ้น คนออกมาจับจ่ายใช้สอย กล้าใช้เงินมากขึ้น แต่หลีกเลี่ยงเข้าสู่ในพื้นที่แออัด ดังนั้นธุรกิจที่ให้คนมารวมตัวมากๆจึงปรับเปลี่ยนตัวเอง
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics of China, NBS) ระบุว่าธุรกิจถึงครึ่งหนึ่งของจีนกลับมาดำเนินปกติได้ แม้รัฐจะเฝ้าระวังการระบาดของ COVID-19 ต่อไป นักระบาดวิทยาของจีนจับสัญญาณของการระบาดคลื่นลูกที่สอง second wave ที่อาจจะเห็นชัดในช่วงเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึง
exit strategy ไม่มีรูปแบบสำเร็จที่ตายตัว และจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องนำมาปรับใช้ในสูตรของตัวเอง เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกัน บางประเทศเพิ่งเข้าสู่การ HOLD รั้งท้ายประชาคมโลก เช่น แคนาดา เพราะเริ่มมีผู้ติดเชื้อในประเทศจำนวนน้อย แต่อีกหลายประเทศบอบช้ำมากแล้วจากการระบาดและการปิดตัวทางเศรษฐกิจ
เราควรได้รับโอกาสในการใช้ชีวิต พร้อมๆ ที่รัฐจะควบคุมการระบาดของไวรัส มิใช่การอยู่ภายใต้ข้อบังคับโดยปราศจากแผนรับมือในอนาคต เราจะต้องอยู่กับไวรัสอีกนานและอาจจะตลอดไป แต่มนุษย์ฝังตัวเองในบ้านไม่ได้ การไม่มีอาหารกินก็ทำให้ตายภายในไม่กี่วัน สำหรับบางคนการที่ขาดโอกาสทำกินจึงน่ากลัวกว่าติดไวรัส และมันจะเป็นโศกนาฏกรรม หากรัฐไม่เผยแผนในอนาคตเพื่อสร้างความหวังใดๆ เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)
Coronavirus Covid-19 exit-strategy
A global COVID-19 exit strategy
Asia struggles to find coronavirus exit strategies