“ถ้า COVID-19 ยังอยู่กับเราต่อไปแบบนี้ คงต้องยอมรับแล้วว่า การเรียนออนไลน์จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
คือคำพูดของ ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่บอกกับ The MATTER ในการสัมภาษณ์พิเศษหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา มีมติให้เลื่อนการเปิดเทอมประจำปีการศึกษา พ.ศ.2564 จากวันที่ 16 พฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม หรือเลื่อนออกไปสองเดือนครึ่ง หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติในเร็วๆ นี้
แม้โครงการซื้อแท็บเล็ต 1 ล้านเครื่องแจกให้กับนักเรียนจะถูกพับไปแล้ว หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าไปปัดฝุ่นโครงการจากรัฐบาลเก่า ทั้งที่คนในรัฐบาลนี้เคยคัดค้านเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เตรียมโมเดลสำหรับการเรียนออนไลน์ไว้ 2 แบบ แบบแรกเป็นของนักเรียนชั้นอนุบาลไปจนถึง ม.3 และแบบที่สอง เป็นของนักเรียนชั้น ม.4-ม.6
แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ การเตรียมการดังกล่าวเพียงพอแล้วหรือไม่ และถ้าไม่พอ ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่กี่เดือนก่อนเปิดเทอมจะต้องทำอะไรอีก สำหรับการเรียนการสอนที่ถูกบีบบังคับให้ต้องทำผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์
มีอะไรที่กระทรวงศึกษาธิการควรจะต้องทำเพิ่มเติม สำหรับการศึกษายุคหลัง COVID-19 ที่ใครๆ ก็บอกว่าจะก้าวเข้าสู่ความปกติใหม่ หรือ New Normal อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความยากในการปรับตัว อุปสรรคอยู่ที่ ‘ครู’ ?
รมว.ศึกษาธิการบอกกับเราว่า สิ่งที่เขาเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับการปรับตัวไปเรียนออนไลน์ ก็คือ ‘ครู’ เพราะส่วนใหญ่จะยังไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี แตกต่างจากเด็กๆ ที่โตมากับเทคโนโลยีอยู่แล้ว แม้ส่วนตัวจะเชื่อว่าใช้เวลาไม่นาน ครูส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวได้
“ผมมองว่าวิกฤตนี้คือโอกาส เพราะจริงๆ แผนปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ หรือใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น เราวางไว้พอสมควรแล้ว เพียงแต่เคยคิดว่าจะให้เวลาครูได้ปรับตัว แต่ตอนนี้เวลาไม่มีแล้ว ต้องใช้เวลาที่เหลืออยู๋ปรับตัวเอง มาเตรียมการสอนออนไลน์” ณัฏฐพลกล่าว
ซึ่งโดยนัยของผู้เป็นรัฐมนตรีน่าจะหมายถึงความเชี่ยวชาญในการใช้โปรแกรมต่างๆ รวมไปถึงการปรับวิธีสอนให้เข้ากับเทคโนโลยีนั้นๆ ด้วย
แต่สำหรับ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับมองว่า ครูไม่ใช่ฝ่ายเดียวที่ต้องเป็นห่วง แต่ยังรวมถึง ‘ผู้ปกครอง’ ด้วย เพราะการเรียนผ่านออนไลน์ บ้านจะถูกเปลี่ยนให้ห้องเรียน นักเรียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะต้องมีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่คอยประกบ
“วิถีการเรียนรู้แบบใหม่ พ่อแม่ต้องมาเป็นหุ้นส่วน มามีส่วนร่วมด้วย ทีนี้มันยาก เพราะครอบครัวเมืองไทยได้ปล่อยให้การศึกษาเป็นเรื่องของเด็กกับครูมานานแล้ว”
อ.อรรถพลยังบอกด้วยว่า เรื่องความเชี่ยวชาญของคนก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือความพร้อมของเด็กแต่ละคน ทั้งความพร้อมด้านอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต ไปจนถึงบริบทของชีวิต เด็กบางคนพ่อแม่ต้องทำงานไม่มีเวลามาช่วยดู เด็กบางคนต้องไปทำงานหารายได้เข้าบ้าน
แม้ทราบว่ามา สพฐ.เริ่มสำรวจความพร้อมของเด็กนักเรียนทั่วประเทศแล้ว แต่ก็คงได้แค่ภาพกว้างๆ โรงเรียนต่างหากที่น่าจะรู้ดีที่สุดว่านักเรียนของตัวเองมีความเป็นอยู่อย่างไร พร้อมแค่ไหนถ้าจะต้องมาเรียนออนไลน์
“โรงเรียนต้องรู้จักเด็กให้เยอะๆ แล้วออกแบบวิธีเรียนให้ตรงกับชีวิตเขา” อาจารย์จุฬาฯ รายนี้เสนอ
เรียนออนไลน์ 100% เลยได้ไหม แค่ไหนถึงเหมาะสม
จากโมเดลการเรียนการสอนเบื้องต้นที่ อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ สพฐ.เผยออกมา แม้รูปแบบการเรียนออนไลน์จะเป็นการผสมผสานกัน ระหว่างเรียนผ่านทีวีดาวเทียม หรือ DLTV แบบนั่งฟังบรรยาย การทำกิจกรรมร่วมกับครูผ่าน vdo conference และการสื่อสารกันผ่านแอพฯ LINE – ไม่ใช่แค่นั่งดู DLTV อย่างเดียววันละ 7-8 ชั่วโมง อย่างที่หลายๆ ฝ่ายเป็นห่วง
แต่ยังมีคำถามว่า ที่สุดแล้วโมเดลต่างๆ ที่เอาไว้ เมื่อนำไปปฏิบัติ จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน และจะมีประสิทธิภาพเพียงใด
รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ซึ่ง สพฐ. คิดไว้เบื้องต้น ในช่วงวิกฤต COVID-19
รูปแบบที่ 1 – การเรียนการสอนของนักเรียนอนุบาล ประถม และ ม.ต้น ศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 50 นาที ผ่านทีวีหรือเว็บไซต์ และ 10 นาที สื่อสารกับผู้ปกครอง/นักเรียน ผ่านโทรศัพท์ LINE และอื่นๆ
สำหรับนักเรียน
-
- ดูตารางสอนออกอากาศล่วงหน้า 1 วัน
- ศึกษาแฟ้มงานเอกสารประกอบการเรียน
- เข้าเรียนผ่านทีวีและสรุปองค์ความรู้จากบทเรียน
- เข้าระบบเช็คชื่อออนไลน์ที่ครูออกแบบไว้
- ถามข้อสงสัยสื่อสารกับครูผ่าน LINE กลุ่ม
สำหรับผู้ปกครอง
-
- เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์และสถานที่เรียนที่บ้าน
- ศึกษาความเข้าใจตารางสอนและแผนการเรียน
- ติดต่อสื่อสารกับครูผ่านโทรศัพท์และ LINE กลุ่ม
สำหรับครูผู้สอน
-
- ดาวน์โหลดและศึกษาตารางสอนออกอากาศ
- จัดเตรียมเอกสารแบบฝึกหัดให้นักเรียนและผู้ปกครอง
- มอบใบงานให้นักเรียนและผู้ปกครอง
- สื่อสารกับนักเรียน/ผู้ปกครองผ่าน LINE
รูปแบบที่ 2 – การเรียนการสอนสำหรับนักเรียน ม.ปลาย ใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านออนไลน์ Online Real-Time Learning Obec TV 13 ช่อง เรียน 30 นาทีผ่าน VTR จากครูต้นแบบ และ 20 นาที ผ่านครูประจำวิชาด้วยวิดิโอคอนเฟอเรนซ์
สำหรับนักเรียน
-
- เข้ากลุ่ม LINE ศึกษาแฟ้มงานประกอบการเรียน
- เข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่ครูออกแบบไว้ และร่วมแลกเปลี่ยนกับครูผู้สอน
- เช็คชื่อเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์
สำหรับผู้ปกครอง
-
- ศึกษาตารางเรียนล่วงหน้า
- สนับสนุนการเตรียมเครื่องมือสัญญาณการเรียนออนไลน์
- สนับสนุนนักเรียนสืบค้นงาน
- จัดทำแฟ้มความรู้งาน ติดต่อครูผ่าน LINE กลุ่ม
สำหรับครูผู้สอน
-
- สำรวจความพร้อมนักเรียนรายบุคคล การศึกษาการใช้โปรแกรมออนไลน์
- เตรียมและออกแบบกิจกรรมใบงานที่เหมาะสม
- จัดการเรียนตามวีทีอาร์ ดำเนินการสอนและมอบใบงานหรืออื่นๆ ผ่านระบบวีดิโอ
- ประสานผู้ปกครอง/นักเรียนผ่าน LINE
อ.อรรถพลให้ข้อมูลว่า การเรียนออนไลน์ในโลกนี้จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ คือ 1. Synchronous (พร้อมกัน) คือเรียนสดๆ แบบทุกคนมาอยู่ในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะผ่านโปรแกรมเช่น Zoom หรือ Google Classroom และ 2. Asynchronous (ไม่พร้อมกัน) คือให้ไปดูคลิปย้อนหลัง แล้วส่งการบ้านทางอีเมล
“ในความเป็นจริงต้องใช้ผสมกัน เพราะถ้าคุณให้ทุกคนมาเรียนพร้อมกัน นั่งอยู่หน้าจอวันละหลายๆ ชั่วโมง มันไม่จำเป็นไง ฉะนั้นต้องมาดีไซน์กันว่า 1 สัปดาห์จะมีเรียนออนไลน์แบบเห็นหน้าพร้อมกันกี่ครั้ง แล้วช่วงอื่นๆ ก็ปล่อยให้เด็กไปจัดการชีวิตตัวเอง
“มันต้องไปไกลกว่าชีวิตแบบเดิมที่เรียนตามตารางสอน” อ.อรรถพลสรุป
ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปัจจุบันหันไปทำแอพฯ เพื่อการศึกษาชื่อว่า StartDee ก็มองว่า วิกฤต COVID-19 จะเป็นบททดสอบที่โหดมากว่า ที่สุดแล้ว การเรียนออนไลน์จะใช้ได้ผลไหมในเมืองไทย โดยปัจจุบันสำคัญก็มีทั้งเรื่อง hardware ที่จากข้อมูลปัจจุบัน นักเรียนชั้น ป.1-ม.6 มีสมาร์ตโฟนใช้ราว 80 ล้านคน คำถามคือแล้วอีก 20% ที่เหลือจะทำอย่างไร software การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ความถนัดในการใช้งาน การออกแบบการเรียนรู้ ให้ไม่น่าเบื่อ การออกแบบวิธีวัดผล เพื่อดูว่าเด็กได้ความรู้จริงๆ หรือไม่ รวมไปถึงบทบาทของพ่อแม่ ที่จะต้องเข้ามาทำหน้าที่คล้ายผู้ช่วยครู
New Normal การศึกษา หรือ ‘ห้องเรียน’ จะไม่จำเป็นอีกต่อไป
เมื่อเทคโนโลยีมาถึง การเรียนการสอนสามารถทำบนโลกออนไลน์ได้ แล้วสถานที่เคยใช้สำหรับเรียนสอนแบบเดิมอย่างโรงเรียนหรือห้องเรียนจะยังจำเป็นอยู่หรือไม่
เราสอบถามผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย ต่างพูดตรงกันว่า “ยังจำเป็นอยู่”
เพียงแต่โรงเรียน หรือ ‘ห้องเรียน’ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
รมว.ศึกษาธิการบอกว่า การศึกษาหลังจากนี้จะใช้รูปแบบผสมผสาน คือทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยอาจจะลดจำนวนชั่วโมงการเรียนในห้องเรียนลง อาจจะให้เหลือเพียง 5 ชั่วโมง และเวลาที่เหลือให้นำไปทำกิจกรรมอื่นๆ หรือสืบค้นข้อมูลออนไลน์แทน
“แต่จะลดลงไปถึงขนาดไม่เรียนในห้องเรียนเลย คงไม่ได้แน่นอน เพราะในการเรียนการสอน ยังไงการมีปฏิสัมพันธ์กับครู เพื่อนๆ และคนอื่น ก็ยังมีความสำคัญ” ณัฏฐพลระบุ
ด้านพริษฐ์มองว่า ห้องเรียนยังจำเป็นอยู่ และออนไลน์จะมาช่วยให้การเรียนออฟไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีเวลา 1 ชั่วโมง แทนที่คาบนั้นครูจะแค่มาสอนว่ามีอะไรบ้าง แต่อาจบอกให้เด็กไปดูวีดิโอนั้นๆ มาล่วงหน้า แล้วในชั่วโมงเรียนก็มาทำกิจกรรมร่วมกัน – ทางออกที่ดีที่สุดคือ blended learning คือใช้การเรียนรู้ทั้ง 2 รูปแบบผสมผสานกัน
ส่วน อ.อรรถพลก็คิดว่า new normal การศึกษาไทย คือการใช้ประโยชน์จากการเรียนทางไกล หรือ distance learning โดยที่ครูจะปฏิเสธการใช้ไอทีไม่ได้ และผู้ปกครองต้องเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนของเด็กๆ จะผลักภาระให้โรงเรียนไมได้ เพราะต่อไปบ้านจะเป็นสถานที่หนึ่งในการเรียนรู้ด้วย นอกจากนี้ รัฐและเอกชนก็ต้องร่วมมือกันให้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน เรามีของดีๆ อยู่มากมาย เพียงแต่อยู่กระจัดกระจาย เช่น ThaiPBS มีรายการเด็กจำนวนมาก มิวเซียมสยามหรือท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ก็จะทำ VR เรามีต้นทุนอยู่แล้ว เพียงแต่จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร
อีกประเด็นที่สำคัญคือเรื่องการกระจายอำนาจให้โรงเรียนต่างๆ ได้มีส่วนในการตัดสินใจบ้าง ไม่ใช่ฟังแต่คำสั่งจากส่วนกลาง โดย อ.อรรถพลให้เหตุผลว่า เพราะโรงเรียนจะรู้จักชีวิตเด็กได้ดีที่สุด มันไม่ควรจะจบแค่ pattern เดียว เพราะแต่ละที่โจทย์ก็ไม่เหมือนกัน
อาจารย์จุฬาฯ รายนี้ยังชี้ว่า จากวิกฤต COVID-19 หลายชาติได้เริ่มต้นเรียนออนไลน์ มันมี practice ที่ดีมากมายให้เราได้หยิบมาใช้ และทาง OECD รวมถึง UNESCO ได้รวบรวมเอาไว้แล้ว
การจะปรับให้ไปเรียนสอนออนไลน์ ภายใต้สภาพบังคับจากวิกฤต COVID-19 จึงมีโจทย์ท้าทายรออยู่มาก ทั้งให้ครูใช้โปรแกรมได้ ปรับวิธีเรียนสอนให้เหมาะกับออนไลน์ ให้นักเรียนมีสัญญาณเน็ตใช้ พ่อแม่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจ โรงเรียนต่างๆ ต้องรู้จักนักเรียนให้มากขึ้น ฯลฯ
จนน่าสนใจว่าเวลาที่เหลืออีกไม่กี่เดือนจะเตรียมความพร้อมกันได้ทันหรือไม่
ไม่รวมถึงว่า อาจมีนักเรียนบางส่วน ‘หลุดจากระบบการศึกษา’ เพราะเข้าไม่ถึงอุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ต