คำขวัญวันเด็กปี 2564 จากนายกรัฐมนตรี มีใจความน่าสนใจว่า
“เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม”
คำขวัญนี้ ถ้าเขียนเป็นสมการ จะได้ออกมาเป็นสองฟากข้าง ฝั่งหนึ่งคือเด็กวิถีใหม่ อีกฝั่งหนึ่งคือภักดีและมีคุณธรรม
ในฝั่งแรก คือฝั่ง ‘ความเป็นเด็ก’ ที่นำมาผสมรวมกับ ‘วิถีใหม่’ กลายเป็นเด็กไทยวิถีใหม่นั้น จัดเป็น entity หรืออัตลักษณ์ตัวตนอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยตัวคำเองมีความหมายบางอย่างฝังอยู่ โดยเฉพาะคำว่า ‘เด็ก’ (ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนี่คือคำขวัญวันเด็ก) โดยคำว่า ‘เด็ก’ นั้นไม่ได้หมายความแค่อายุน้อยเท่านั้น แต่มีสัญญะแฝง หมายถึงการผ่านโลกมาน้อยกว่า มีประสบการณ์น้อยกว่า คำว่า ‘เด็ก’ โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย จึงมีนัยของการพึ่งพิงผู้มาก่อน จึงควรเชื่อฟังผู้ ‘อาบน้ำร้อน’ มาก่อน – ซึ่งก็คือผู้ใหญ่เสมอ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เด็กพึงมีลักษณะ dogmatism คือเชื่อฟังผู้ใหญ่เอาไว้ก่อน จะได้เติบโตขึ้นมาตามแบบและเบ้าที่ถูกหล่อหลอมมา
แต่เมื่อนำคำว่า ‘เด็ก’ ที่มีสัญญะตามบริบทไทยๆ บ่งบอกถึงความอ่อนด้อยประสบการณ์มาผสมเข้ากับอีกคำหนึ่ง คือคำว่า ‘วิถีใหม่’ จึงก่อให้เกิดความรู้สึกหรือ nuance ใหม่ขึ้นมา ซึ่งทำให้ต้องเกิดการ ‘กำกับควบคุม’ ความหมายใหม่นี้อีกทีหนึ่งด้วยคำขยายอย่าง ‘ภักดีและมีคุณธรรม’ ซึ่งจะพูดถึงต่อไป
ที่จริงแล้ว คำว่า ‘วิถีใหม่’ นั้นน่าสนใจในตัวของมันเองไม่น้อย เพราะเมื่อพูดว่า ‘วิถีใหม่’ ย่อมแปลว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ถ้ามีมาก่อนก็ไม่ใหม่ ถ้าทอดตามองโลกและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ทันทีว่าเกิดความ ‘ใหม่’ ที่ว่านี้ขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะความใหม่ในภูมิทัศน์ทางการเมือง ที่สิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘เด็กๆ’ ลุกขึ้นมาพูดถึงสิ่งต่างๆ อย่างทะลุเพดานและ ‘ตรงไปตรงมา’ อย่างที่ไม่เคยมีใครพูดออกมาในที่สาธารณะมาก่อน
พูดอย่างกว้างๆ วิถีใหม่นี้น่าจะได้รับ ‘แรงส่ง’ จากเทรนด์ใหญ่
อย่างหนึ่งของโลก นั่นก็คือเทรนด์การกลายไปเป็นโลกดิจิทัล หรือ Digital Age
ที่ก่อให้เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ทั่วโลก คลื่นนี้เป็นคลื่นแห่งการเข้าถึงความรู้ ความคิด ความจริง และอุดมการณ์ของผู้คนในแนวราบและหลากหลาย คลื่นนี้ได้ซัดเข้ากระแทกหอคอยแห่งโครงสร้างสังคมโบราณที่มีลักษณะเป็นแนวตั้ง แล้วบ่อนเซาะให้ค่อยๆ พังทลายลงมา จนในที่สุดก็ก่อเกิด ‘วิถีใหม่’ ในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาขึ้น
วิถีใหม่ทำให้เกิดความหมายใหม่หลายมิติ ตัวอย่างเช่น ความหมายของ ‘คำหยาบ’ ที่เคยเป็นก็เปลี่ยนไป สมัยก่อน คำบางคำถูกนิยามว่าเป็นคำหยาบ พูดในที่สาธารณะไม่ได้ แต่คำหยาบแบบโบราณนั้นเกี่ยวพันกับ ‘ชนชั้น’ อย่างแนบแน่น เพราะมีแต่คนที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘คนชั้นต่ำ’ กับคนชั้นสูงมากๆ เท่านั้น ที่สามารถใช้คำหยาบได้โดยไม่กระดากปาก ส่วนคนทั่วไป โดยเฉพาะที่เป็นบ่าวไพร่บริวารของคนชั้นสูงนั้น จะถูกอบรมบ่มเกลาให้ไม่ใช้คำหยาบ เพราะการใช้คำหยาบจะทำให้การ ‘ไต่บันไดสังคม’ (หรือมี Social Mobility) เป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากถูกมองว่าไม่เป็นกุลบุตรกุลธิดา ได้รับการอบรมมาไม่ดี หรือไม่อยู่ใน ‘กรอบ’ ทางสังคมที่พึงเป็น จึงไม่คู่ควรที่จะได้รับการยกสถานะทางสังคมให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการอวยยศ การสมรส หรืออื่นๆ ก็ตาม
ในขณะที่คนชั้นล่างใช้คำเหล่านี้ได้เป็นปกติ เคยมีผู้วิเคราะห์ว่า คนชั้นล่างนั้นไม่ได้หมายใจจะไต่บันไดสังคมใดๆ ขึ้นไป เพราะ ‘เจียมตัว’ อยู่แล้วว่าไม่มีโอกาสนั้น การสงวนตัวไม่พูดคำหยาบจึงเป็นเรื่องไม่จำเป็น และการพูดหยาบด้วยกันเองก็เป็นเหมือนวาล์วที่ช่วยระเบิดระบายความรู้สึกภายในด้วย ในขณะที่คนชั้นสูงมากๆ สามารถใช้คำหยาบได้โดยอิสระ เพราะมีอำนาจสิทธิ์ขาดบางอย่างสถาปนาอยู่ในตัวอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในคนรุ่นใหม่ คำหยาบไม่ได้ผูกติดกับสถานภาพทางสังคมหรือชนชั้นแบบเดิมอีกแล้ว พวกเขาจึงอาจใช้คำหยาบเพื่อแสดงความรู้สึกออกมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นความพยายามทำลายโครงสร้างหอคอยแนวตั้งแบบเก่าลงไปด้วย การใช้คำหยาบจึงเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีปัญหาของมันอยู่ด้วย เช่น การพูดจาตรงไปตรงมาด้วยถ้อยคำที่เคยถูกงำไว้ อาจทำให้ ‘รสวรรณกรรม’ ที่เคยเกิดขึ้นจากการถูกกดทับของโครงสร้างสังคมต้องเสียไป นี่เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในวงการวรรณกรรมฝรั่งเศสปลายยุคหกศูนย์ แต่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แยกออกไปจากเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่
วิถีใหม่ยังมีมิติอื่นๆ อีกสลับซับซ้อน เช่น คนที่สื่อสารกันด้วยเกมออนไลน์ที่ไม่เห็นตัวตนของกันและกัน ย่อมมีวิธีคิดไม่เหมือนกับคนที่สื่อสารกันโดยเห็นหน้า เห็นตัว เห็นเครื่องแบบ จึงเกิดความพินอบพิเทาตามลำดับของสถานภาพทางสังคม บางคนอาจบอกว่า ตัวตนในเกมออนไลน์เป็นตัวตนสมมติ แต่คำถามก็คือ แล้วตัวตนสวมหัวโขนติดบั้งติดบ่าที่ถือกันว่าเป็นโลกจริงนั้นเล่า โดยเนื้อแท้แล้วมีสภาพสมมุติเหมือนหรือต่างไปจากตัวตนออนไลน์อย่างไรบ้าง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำเอาคำว่า ‘เด็ก’ มาผสมกับคำว่า
‘วิถีใหม่’ จึงเกิดความย้อนแย้งที่สลับซับซัอนขึ้นมาทันที
เพราะความหมายที่แฝงอยู่ในคำว่า ‘เด็ก’ คือสิ่งมีชีวิตที่ต้องการถูกสอน ต้องการให้ผู้ใหญ่มากล่อมเกลาบ่มเพาะประสบการณ์ใหม่ แต่คำว่า ‘วิถีใหม่’ หมายถึงโลกใหม่ๆ ที่มนุษยชาติกำลังหยั่งเท้าเข้าไปในพรมแดนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน (uncharted territory) เมื่อเป็นดินแดนที่มนุษยชาติไม่เคยหยั่งเท้าเข้าไปมาก่อน ก็แปลว่าประสบการณ์เก่าๆ ทั้งหมดที่เคยสั่งสมกันมาเป็นพันๆ ปี อาจใช้การไม่ได้อีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ คำว่า ‘เด็ก’ กับคำว่า ‘วิถีใหม่’ จึงมีนัยซ่อนเร้นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว คำหนึ่งกักคนเอาไว้กับความเยาว์และเขลา อีกคำหนึ่งปลดปล่อยคนออกมาจากวิถีเก่า เมื่อกระแทกมารวมตัวกันเข้าจึงก่อให้เกิดความปั่นป่วนบางอย่าง จนต้องมีการขยายความเพื่อ ‘กำกับนัย’ อีกชั้นหนึ่ง
ดังนั้น ถ้าถอดคำขวัญ “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม” ออกมา เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ฝั่งหนึ่งคือ entity ได้แก่ ‘เด็กไทยวิถีใหม่’ ที่ต้องถูกกำกับด้วยคุณสมบัติของอีกฝั่งหนึ่ง นั่นก็คือวลีวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่ขยาย entity ที่ว่าอีกที คือ ‘ด้วยภักดี มีคุณธรรม’ แล้วถึงจะก่อให้เกิด ‘ผล’ ซึ่งก็คือการ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ (อันมีนัยถึงทั้งความสามัคคีเป็นหมู่คณะ มีความเป็นน้ำเนื้อเดียวกันแบบ homologous ซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของ ‘ชาติ’ ที่อาจมีนัยเลยไปถึงลักษณะแบบ ‘ชาตินิยม’ ไม่ว่าจะเป็น nationalism หรือ patriotism ได้) ขึ้นมา
คำว่า ‘มีคุณธรรม’ นั้น น่าจะมีคนพูดถึงไปมากแล้ว โดยเฉพาะคำว่า ‘คนดี’ ที่มีการตีความกันหลากหลาย ดังนั้น คำที่อยากชวนมาพินิจพิเคราะห์กันมากหน่อย ก็คือคำว่า ‘ภักดี’ ซึ่งก็คือ loyal หรือ loyalty
คำนี้เป็นคำที่มีการพูดถึงในทางปรัชญามานานนับพันๆ ปี และยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด ว่าความภักดีคืออะไรกันแน่ มันยืนอยู่ของมันได้โดดๆ หรือ หรือว่าความภักดีต้องไปขึ้นอยู่กับคุณค่าหรืออุดมการณ์อื่นๆ อีก และแบบไหนคือความภักดี ‘ที่ดี’ แบบไหนคือความภักดีที่ ‘ไม่ดี’
ที่จริงแล้ว ในพระคัมภีร์ไบเบิลก็เคย ‘ถก’ เรื่องความภักดีเอาไว้อย่างถึงแก่น โดยเฉพาะในบทปฐมกาลที่ชาวคริสต์รู้จักกันดี ได้แก่ตอนที่พระเจ้าทรงทดสอบความภักดีของอับราฮัม ด้วยการบอกให้เขาพาลูกชายอย่างอิสอัคไปบูชายัญ เขาทำถึงขั้น เงื้อมีดขึ้นจะฆ่าลูก ซึ่งก็ทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัยอย่างยิ่งที่เขาสามารถทำได้ถึงขั้นจะฆ่าลูกเพื่อแสดงความภักดีต่อพระองค์ สุดท้ายพระเจ้าก็เลยให้ทูตสวรรค์มาแจ้งแก่อับราฮัมว่านี่คือการลองใจ เพราะเมื่อเขายอมทำตามถึงขนาดนี้ ก็แปลว่าเขา พร้อมที่จะเชื่อฟังพระเจ้า แล้ว
ในหนังสือเก่าแก่ชื่อ The Philosophy of Loyalty ผู้เขียนคือ โยซิอาห์ รอยซ์ (Josiah Royce) เคยให้นิยามคำว่าภักดีเอาไว้ว่าจัดเป็น ‘คุณธรรม’ อย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของคุณธรรมทั้งปวง นั่นคือมันเป็น central duty amongst all the dutites หรือเป็น ‘หน้าที่หลัก’ ในบรรดาหน้าที่ทั้งหลาย มันจึงเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่มนุษย์ควรจะมีเอาไว้ก่อน แต่แนวคิดนี้ของรอยซ์ก็ถูกท้าทายมากมายโดยนักปรัชญาหลังจากนั้น
ตัวอย่างเช่น จอห์น แลด (John Ladd) ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยบราวน์ เคยตั้งคำถามขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษหกศูนย์แล้วว่า loyal nazi หรือพวกนาซีที่มีความภักดีต่อความเป็นนาซีของตนนั้น ไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้ง (contradiction) ในตัวหรอกหรือ เพราะในด้านหนึ่ง เราอาจคิดว่าความภักดีเป็นคุณธรรมที่ดีงาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความภักดีต่ออุดมการณ์แบบนาซีกลับกลายเป็นแง่มุมอัปลักษณ์ของมวลมนุษยชาติไป สองอย่างนี้เมื่อนำมาเข้าคู่กันจึงเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งสุดประหลาด
ดังนั้น แค่แลดยกตัวอย่าง loyal nazi ขึ้นมา ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ข้อเสนอของรอยซ์พังทลายลง เพราะมันย้อนกลับไปทำลายแนวคิดที่ว่า ความภักดีคือคุณธรรมลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ นักชีววิทยาวิวัฒนาการในยุคหลัง ยังศึกษาความ ‘ภักดีต่อฝูง’ ด้วย ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากกลไกทางวิวัฒนาการ เช่น ในหนังสือ The Parable of the Tribes: The Problem of Power in Social Evolution ของ Andrew Bard Schmookler ก็เคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ในทำนองที่ว่า ความภักดีต่อเผ่านั้น แท้จริงคือ evolutionary tactic หรือกลยุทธ์ทางวิวัฒนาการอย่างหนึ่งที่ทำให้เราอยู่ได้รอด เพราะคนที่ภักดีต่อฝูง ย่อมมีโอกาสที่จะรอดชีวิตได้มากกว่าคนที่ไม่ภักดี และย่อมสามารถผสมพันธุ์สืบต่อพันธุกรรมอันมีแนวโน้มภักดีต่ออำนาจใหญ่ๆ ส่งต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ซึ่งเมื่อมองอย่างนี้
ความภักดีจึงอาจไม่ใช่ ‘คุณธรรมบริสุทธิ์’ ในตัวของมันเอง
แต่อาจเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องไปพึ่งพิงคุณค่าอื่นๆ
เพื่อทำให้ตัวมันมีคุณค่าขึ้นมาได้
ความภักดีที่เลือกภักดีกับคุณค่าผิดๆ จึงอาจเป็นความภักดีที่แย่ได้เหมือนกัน
เมื่อลองมองย้อนกลับไปถึงรากและที่มาของความหมายของคำต่างๆ แล้ว เราจะเห็นได้เลยว่า ข้อตั้งอย่าง ‘เด็กวิถีใหม่’ นั้นมีความย้อนแย้ง ส่วนสิ่งที่มากำกับข้อตั้งนี้อย่างคำว่า ‘ภักดี’ (และที่จริงก็รวมไปถึงคำว่า ‘คุณธรรม’ ด้วย) ก็เป็นคำที่มีปัญหาในตัวของมันเอง
เมื่อนำทั้ง entity และคำขยายมารวมกัน กลายเป็น ‘เด็กวิถีใหม่ที่ภักดีและมีคุณธรรม’ จึงเห็นความลักลั่นของการใช้คำ โดยคำที่มีความหมาย ‘โดด’ ออกไปจากกลุ่มคำนี้ชนิดหลุดโลกหลุดจักรวาลกันเลย – ก็คือคำว่า ‘วิถีใหม่’ นั่นเอง ส่วนกลุ่มคำอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘เด็ก’ ‘ภักดี’ หรือ ‘คุณธรรม’ นั้น เป็นกลุ่มคำที่อยู่ในรีตรอยแบบเดิมทั้งสิ้น จึงชวนให้สงสัยว่าคำว่า ‘วิถีใหม่’ ที่ปรากฏในคำขวัญนี้หมายถึงอะไรกันแน่
นี่คืออาการจำนนต่อ ‘วิถีใหม่’ จนต้องใส่คำคำนี้เข้ามาในคำขวัญด้วย หรือคือการพยายามลากดึงวิถีใหม่ย้อนกลับไปสู่รูปร่างแห่งรีตรอยดั้งเดิมที่ไม่ใหม่
คำขวัญนี้ส่อแสดงให้เห็นถึงอาการ neophilia หรือความรักในสิ่งใหม่ หรือส่อแสดงให้เห็นถึงอาการ neophobia หรืออาการกลัวความใหม่มากกว่ากัน,
นี่ไม่ใช่ปริศนาธรรมลึกล้ำอะไร – เพราะเพียงมองดู, เราก็จะพบคำตอบได้ไม่ยากเลย