ราวกับพวกเขาไม่ร่าเริงอีกต่อไป รอยยิ้มจางหาย หัวเราะแห้งกลบเกลื่อน และเมื่อถึงเวลาพวกเขาจะยอมรับกับผู้ชมนับล้านว่า จริงๆ แล้วไม่มีอะไรโอเคเลย
พื้นที่ของ ‘การใกล้ชิดความเป็นส่วนตัว’ (intimacy) นำมาซึ่งความสำเร็จจากการที่คุณเป็นคนจับต้องได้ของมหาชน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความขัดแย้งอยู่ด้วยเช่นกันคือ มักหวนกลับมาทำร้ายนักสร้างสรรค์ได้เสมอ เมื่อการจับต้องเปลี่ยนเป็นภัยคุกคาม เหล่า youtuber ที่มียอด subscribe มากเกิน 1 ล้านขึ้นไปล้วนประสบปัญหาในการแบกรับอัตลักษณ์ (identity) อันย้อนแย้งของตัวเองที่เคยมีความเป็นส่วนตัว และจำกัดรสนิยมอยู่ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเผยแพร่ไปสู่คนทั่วไป (publish) นับล้าน อันเต็มไปด้วยมนุษย์หลากหลายสุดคาดเดา ที่ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้มีเจตนาดีต่อใคร
อย่างกรณีมีมตลก ‘Subscribe to PewDiePie’ ของ Felix Kjellberg นักแคสเกม และ youtuber ชื่อดังในนาม PewDiePie จากที่ทำขึ้นมาเพื่อให้เหล่าบรรดาแฟนๆ ช่วยกันกดเป็นสมาชิก Subscribe ในช่อง PewDiePie เพื่อพยายามล้มช่อง T-Series ซึ่งเป็นของบริษัทเพลงและภาพยนตร์อินเดียที่มียอด subscriber สูงมาแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีมนี้จึงเป็นการแข่งขันในโลกออนไลน์ที่สร้างกระแสให้ผู้คนในชีวิตจริงทำอะไรตลกๆ แสบๆ เพื่อผลักให้มีม Subscribe to PewDiePie ไปไกลเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญ เมื่อมือปืนกราดยิงในมัสยิดที่ประเทศนิวซีแลนด์โดย มือปืนเองก็ยังตะโกนว่า Subscribe to PewDiePie ก่อนกราดยิงผู้บริสุทธิ์ และมีอีกหลายกรณีที่มีมนี้ไปปรากฏอยู่ตามสถานที่ไม่สมควร อย่าง อนุสาวรีย์สงครามโลกครั้งที่ 2 ไปๆ มาๆ เรื่องราวดูบานปลายเรื่อยๆ จน PewDiePie ต้องขอร้องให้หยุดการเผยแพร่มีมนี้ เพราะมันกำลังจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้ง
หรือนักแสดงตลกมือสมัครเล่น Gabbie Hanna ที่ก่อนหน้านี้หลายๆ คนคงจดจำเธอได้จากการเล่นตลกสั้นๆ ในแอพ Vine (ซึ่งปิดตัวไปแล้วปี 2017) เธอจึงย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ใน Youtube ซึ่งในเวลาไม่นานสามารถสร้างกลุ่มแฟนได้มากถึง 6 ล้านคน การ Live สดเป็นวิธีสำคัญที่ทำให้เธอสื่อสารกับแฟนๆ แบบ Real-time ได้ดีที่สุด แต่กลายเป็นว่าเธอเปิดโอกาสให้คนไม่ประสงค์ดีเข้ามาด่าทอ ตำหนิ และคอมเมนต์ในเชิงลบบ่อยครั้ง จน Gabbie Hanna ค่อยๆ มีอาการซึมเศร้า และมักเทียบเอาคุณค่าตัวเองเทียบกับจำนวนยอดคนชม live
มีคนรุ่นใหม่ใช้ youtube เป็นช่องทางทำมาหากินสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ หากพวกเขาสามารถจับจุดรสนิยมที่ผู้คนต้องการได้ถูก นับวัน youtube จะสร้างฐานผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ เกินหนึ่งพันเก้าร้อยล้าน views ต่อเดือน แต่เหล่านักสร้างสรรค์ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนจากกระแสธาร negative comments ที่หลั่งไหลไม่หยุดหย่อนผ่านแพลตฟอร์ม youtube เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูด แม้ตัว youtube จะมีนโยบายพยายามปกป้องผู้ชมจากเนื้อหาสุ่มเสี่ยง แต่กลับไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือเหล่านักสร้างสรรค์ที่ถูกโบยตีจาก negative feedback อย่างเป็นรูปธรรม
“ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งจริง ก็อยู่ใน youtube ไม่ได้”
ความย้อนแย้งของพื้นที่ใกล้ชิด
นักสร้างสรรค์ทุกวันนี้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ มีเป็นหมื่นๆ ช่องที่สร้างโดย youtuber ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พวกเขาได้รับการจดจำ มีชื่อเสียง มีสปอนเซอร์ แล้วก็ค่อยๆ บีบบังคับ กลายเป็นกรงขังน้อยๆ ที่ต้องโพสต์คอนเทนต์แทบทุกวัน บอกเล่าความเป็นส่วนตัวขึ้นเรื่อยๆ กินยังไง นอนยังไง เรื่องราวของชีวิตค่อยๆ คลี่แผ่ออก แม้วันที่ดีและแย่ที่สุดคุณก็จำเป็นต้องปรากฏตัวต่อสาธารณะเพื่อรักษาฐานแฟนไว้
สิ่งที่เอาชนะใจแฟนได้ คงไม่พ้น ‘ความเป็นส่วนตัว’ เกิดเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักสร้างสรรค์โดยตรง ผิดกับเมื่อก่อนที่คนดูโทรทัศน์จะชอบหรือไม่ชอบ ก็คงทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อทุกคนมีมือถือ มีช่องทางเดียวกันกับคนสร้างสรรค์ การพิมพ์ไปโต้ตอบโดยทันทีปราศจากการไต่ตรองจึงง่ายดายเพียงปลายนิ้ว
อาจเป็นความรู้สึกเหมือนคนใกล้ตัวที่ต้องการสนับสนุน อยากแนะนำ อยากเห็นคนที่มีชื่อเสียงรับรู้ความเห็นจากแฟนๆ ซึ่งพื้นที่อันใกล้ชิดนี้เป็น ‘Fake intimacies’ ความใกล้ชิดปลอมๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบริหารความสัมพันธ์ระหว่างนักสร้างสรรค์และผู้ชม ที่พอมันเกินเลยก็จะพัฒนาเป็นกับดักทางอัตลักษณ์ บังคับให้นักสร้างสรรค์ต้องปรากฏตัวหน้ากล้องอยู่ตลอดเวลา แม้ตอนนี้จะมีความรู้สึกไม่พร้อมก็ตาม จนอาจทำให้พูดไม่ทันคิด หรือทำอะไรที่บั่นทอนตัวเองต่างๆ นานา เพราะในธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ใครๆ ก็ล้วนมีภาวะความรู้สึกไม่พร้อมได้ทุกคน รูปแบบทางอารมณ์ก็เปรียบเหมือนสายน้ำ เชี่ยวกรากบ้าง ไหลช้าบ้าง แต่พอทุกการขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้าและการเปล่งเสียงทุกคำพูดมีคนจับจ้องอยู่นับล้าน เหตุการณ์เพียงเล็กน้อยก็อาจไปกระทบความไม่ถูกใจของผู้ชมแม้เพียงผิวเผิน และสามารถถาโถมเป็นการตอบสนองเชิงลบ จนบั่นทอนจิตใจนักสร้างสรรค์ และคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ คนเกลียดชังเขา จากยอดดู live ที่ลดลง
ความคลั่ง ความใกล้ชิด จึงไม่นำไปสู่สุขภาวะที่ดีเท่าไหร่นัก มีภาวะทางจิตที่เรียกว่า ‘อีโรโตแมเนีย’ (Erotomania) หรือรู้จักกันในชื่อ ‘โรคคลั่งคนดัง’ เป็นพฤติกรรมเสพติดที่เชื่อว่า ยิ่งเราชอบใครมากๆ เขาก็จะหันมาชอบกลับสักวันหนึ่ง คนๆ นั้นจึงควรเป็นของเราคนเดียวเท่านั้น ซึ่งในอดีต ตอนที่ยังไม่มีสื่อโซเชียล ก็มีคนดังหลายคนจบชีวิตเพราะคนที่มีอาการ Erotomania มาแล้วเยอะแยะ อย่าง John Lennon และ Gianni Versace
ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงยุคนี้ที่ Erotomania ก็ยังแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชม ถึงแม้เหล่า Youtuber จะไม่ได้จบชีวิตจากแฟนผู้คลั่งไคล้ แต่หลายคนจบชีวิตตัวเองเพราะความรู้สึกขัดแย้งทางอัตลักษณ์ การสูญเสียพื้นที่ส่วนตัว และความคาดหวังจากผู้คนที่รอคอยคอนเทนต์ใหม่ทุกๆ วันจนเสมือนเป็นกรงขัง จากคนที่เคยร่าเริงกลายเป็นคนหวาดวิตก กลัวทุกพฤติกรรมของตัวเองและคนรอบข้าง
สื่อใหม่กลายเป็นพื้นที่ทางการตลาดที่ทุกคนกระโดดมาเล่นหมดพร้อมๆ กันหมด มีเปิดอบรมมากมายผลักดันให้คุณเป็นนักสร้างสรรค์ยอดฮิตที่มีคนติดตามนับล้าน แต่สิ่งที่ถูกละเลยไปมากคือการที่เราจะรักษาตัวตนอันเป็นธรรมชาติและถักทอธุรกิจไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร จะมีความสัมพันธ์ดีๆ กับรักษาฐานแฟนเอาไว้ให้ดำเนินไปได้อย่างไร โดยที่ไม่ปาดเนื้อกายให้เกิดบาดแผล อย่าลืมว่าไม่ว่าใครก็เป็นคนธรรมดาๆ ที่พลาดได้ แพ้ได้ เจ็บได้ และอยากจะได้พื้นที่เล็กๆ ที่ไม่ต้องมีใครรู้ไว้หลบภัยยามที่ไม่พร้อม
นักสร้างสรรค์เกือบทุกคนต้องดิ้นรนในโลกที่ทุกคนคาดหวัง แถมต้องรักษาธุรกิจให้เติบโต โดยไม่ถูกช่วงชิงพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดของการทำธุรกิจคอนเทนต์ที่โบกพัดรุนแรงดุจพายุ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Erotomania revisited: clinical course and treatment.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11788912
PewDiePie calls for an end to the ‘Subscribe to PewDiePie’ meme after New Zealand shooting