ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น ผมก็ค่อยๆ ได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของวงการ YouTubers ของญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่า บ้านเราก็มี YouTubers ดังๆ ไม่น้อย แต่ของญี่ปุ่นเขาตลาดกว้างกว่า และยิ่งใหญ่มากจริงๆ ครับ เพราะที่นี่ YouTube กลายเป็นสื่อหลักอีกเจ้าหนึ่งไปแล้ว มี YouTubers ชื่อดังมากมายหลายคนที่เป็นที่สนใจของวงการสื่อหลัก และยิ่งจำแนกสาขาแบ่งออกไปได้หลายกลุ่มหลายตลาด
ขนาดผู้สูงอายุเองก็มีช่องที่เขาดูกัน ส่วนคนที่ประสบความสำเร็จ ก็มีรายได้ก็พุ่งกระฉูด และที่ญี่ปุ่นนั้นมีบริษัทเอเจนซี่ที่คอยช่วยบริหารจัดการให้กับ YouTubers ไม่ต่างกับดารานางแบบในระบบที่ผ่านมา โดยเอเจนซี่จะคอยมองหา YouTuber ใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพื่อดึงเข้าสังกัด แล้วเสนอช่วยบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ให้
แต่เรื่องที่อยากจะพูดในรอบนี้คือ เรื่องของ YouTube กับเด็ก นี่ล่ะครับ เพราะตั้งแต่ผมย้ายมาอยู่นี่ และอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ซึ่งก็ช่วยน้องสาวภรรยาดูแลหลานในตอนกลางวันเวลาที่น้องสาวภรรยาไปทำงาน แล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวช่วยในการเลี้ยงเด็กก็คือ YouTube ครับ
ตรงนี้ก็คิดว่าไม่ต่างกับพ่อแม่ที่ไหน เพราะหลัง YouTube กลายเป็นทางเลือกหนึ่งในการเลี้ยงเด็ก คอยเปิดเพลงต่างๆ ให้ร้องตาม หรือเปิดการ์ตูนสั้นๆ ให้เด็กดูเพื่อไม่ให้เด็กเบื่อได้ ที่ญี่ปุ่นเองก็มีคลิปที่ชาวญี่ปุ่นทำออกมาเยอะเอามากๆ สารพัดแบบ เอาเพลงเด็กเก่าแก่มาผสมกับตัวการ์ตูนใหม่ๆ ตามนิสัยเด็กเล็กที่ชอบดูวนกันไปมา เลยกลายเป็นเพิ่มยอดวิวให้เจ้าของคลิปมากขึ้น ซึ่งก็มีเพลงสารพัดแนว รวมไปถึงเพลงสอนกิจกรรมต่างๆ เช่นเบ่งอึหรือแปรงฟัน
แน่นอนว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอหรอกครับ เพราะว่า ปัญหาหนึ่งของ YouTube ก็คือ การดูตอนไหนก็ได้ ไม่เหมือนกับเวลาดูทีวี (ซึ่งญี่ปุ่นเขาก็มีช่อง NHK เพื่อการศึกษา ที่ตอนบ่ายก็จะเป็นรายการเด็กยาวๆ บ้านเราก็เคยเอามาแปลฉายทางช่อง 11 สมัยยังไม่เป็น NBT เหมือนกัน) ที่มีกำหนดเวลาชัดเจน อยากดูอะไรก็ต้องรอ แต่พอเป็น YouTube ที่เปิดตอนไหนก็ได้ ก็ส่งผลต่อพัฒนาการเรื่องความอดทนอดกลั้นของเด็กเหมือนกัน
แต่สุดท้าย YouTube ก็กลายเป็นของโปรดของเด็กญี่ปุ่น
ไปเรียบร้อย ชนิดที่ว่า YouTuber ได้กลายเป็นหนึ่งใน
อาชีพในฝันของเด็กประถมไปแล้ว
ก็ไม่แปลกหรอกครับ เพราะว่าเด็กที่โตมากับ YouTube การได้เห็น YouTuber ทำอะไรน่าสนุกในแต่ละวัน แถมยังมีรายรับ มีชื่อเสียง เป็นที่ชื่นชอบ ฟังดูมันก็น่าจะมีความสุขกว่าทำงานแบบอื่น ยิ่งในปัจจุบัน ไม่เพียงช่องของคนแคสต์เกม หรือผู้ใหญ่รีวิวของเล่นเท่านั้น แต่ที่กลายมาเป็นของชอบของเด็กเล็กตอนนี้คือ Kid YouTubers หรือ YouTubers เด็กน้อยทั้งหลาย ที่มีช่องของตัวเองและกลายเป็นช่องชื่อดังแบบไม่น่าเชื่อ แต่แน่นอนว่า ทุกอย่างก็ไม่ได้สวยหวานครับ เพราะเมื่อเป็นโลกออนไลน์ อะไรก็ดราม่าได้เสมอ
หนึ่งใน YouTubers เด็กชื่อดังของญี่ปุ่น ก็คงต้องยกให้ช่อง Kids Line ที่หลานผมเองก็ดู เป็นช่อง YouTube ที่ดูง่ายมากสำหรับเด็ก เพราะมันคือช่องของพี่สาวกับน้องชายอายุระดับประถมต้น ที่ทำกิจกรรมต่างๆ กัน คล้ายๆ กับ โฮมวิดีโอ บันทึกการเติบโตของสองพี่น้อง และจุดเด่นของช่องก็คือ ละครสั้นที่สองพี่น้องแสดงกันเอง มีความ DIY เอามากๆ แต่ก็คงจะถูกใจเด็กๆ เพราะเห็นดูช่องนี้กันไม่น้อย แถมช่องนี้ยังเปิดช่องใหม่ แตกไลน์ไปเป็นช่องรีวิวสินค้าของเล่นเด็ก แถมยังพยายามที่จะเจาะตลาดต่างประเทศด้วยการพาดหัวคลิปเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย ซึ่งก็คงช่วยให้รายได้ของช่องเพิ่มขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
ถ้าเป็นช่องธรรมดา ก็คงไม่มีอะไรมาก แต่พอยอดวิวสูงขึ้นเรี่อยๆ สุดท้าย สองพี่น้อง (แน่นอนว่าหมายถึงพ่อแม่ด้วย) ก็เข้าสังกัดค่าย Alpha Boat ให้ช่วยจัดการโปรดิวซ์ให้อีก จากที่เป็นโฮมวิดีโอ ก็กลายมาเป็นวิดีโอที่มีการวางแผนงานละเอียดขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น และแน่นอนว่า ยอดคน subscribe ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ช่อง Kids Line ก็กลายเป็นเรื่องขึ้น เพราะว่า Kids Line สามารถทำยอด Subscribe แซงหน้า HIKAKIN ที่เป็น YouTuber ชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มจากการ Beatbox ก่อนแล้วค่อยๆ ได้รับความนิยม จนหันมาเป็น YouTuber อย่างจริงจังแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พอ Kids Line มียอด Subscribe แซงหน้าไป ชาวเน็ตญี่ปุ่นก็เริ่มสงสัยว่า มันเกิดอะไรขึ้น เพราะเนื้อหาของช่อง Kids Line ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า เด็กเล่นกันเอง แต่จู่ๆ ยอด Subscribe กับพุ่งขึ้นแบบน่าสงสัย แถมยอดคนฟอลโลว์ในทวิตเตอร์ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จนกลายเป็นประเด็นร้อน ดราม่าแบบญี่ปุ่น ที่นิยมใช้คำว่า Enjou (炎上) ที่แปลว่า ไฟลุก ก็ว่าได้
พอมีดราม่าเกิดขึ้น คนที่ไม่เคยสนใจ Kids Line มาก่อน ก็พร้อมจะทำตัวเป็นนักสืบพันทิป (เอ่อ ญี่ปุ่นเขาจะเรียกว่าอะไรดีหว่า) ไล่เช็คกันอย่างเต็มสูบ บางคนก็บอกว่า แป๊บๆ ยอด Subscribe ก็เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น บางคนก็บอกว่า มีลูกแต่ไม่เห็นรู้จักช่องนี้เลย ที่น่าสนใจคือ การเอายอดคน Subscribe กับยอดวิวของแต่ละคลิปไปเทียบกันว่า ไม่สมดุลกันมาก เพราะยอดวิวคลิปคือหลักหมื่น เมื่อเทียบกับ HIKAKIN ที่ยอดขึ้นเกินล้านเป็นประจำ ทำให้ดราม่าหนักไปอีก จนต้นสังกัดต้องออกจดหมายแจ้งว่า ไม่ได้ทำการซื้อยอด Subscribe แน่นอน แต่ก็นั่นล่ะครับ ห้ามความสงสัยคนไม่ได้หรอก
แถมทำให้มีความเห็นน่าสนใจอีกว่า
พ่อแม่เอาลูกมาใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน
จริงจังแบบนี้เหมาะสมแค่ไหน (และตัวพ่อแม่เองก็ไม่แสดงตัวด้วย)
ทำแบบนี้จะมีผลต่ออนาคตเด็กอย่างไร และที่น่าสนใจเข้าไปอีกก็คือ ช่องนี้ปิดการคอมเมนต์ใต้คลิป และพอมีดราม่าเรื่องยอด Subscribe ทางต้นสังกัดก็ตัดสินใจปิดการแสดงยอด Subscribe เข้าไปอีก
เรื่องดราม่าของ YouTuber เด็กก็ไม่ได้มีแค่นี้หรอกครับ ล่าสุดนี้ก็มีกรณีของ ‘Shounen Kakumeika Yutapon’ หรือ ‘นักปฏิวัติเด็ก ยูตะปง’ YouTuber เด็กประถม 10 ขวบ ที่ช่วงท้ายของวันหยุดยาว Golden Week ได้อัพคลิปบอกว่า “เด็กคนไหนที่ไม่อยากไปโรงเรียน ก็ไม่ต้องไป” โดยเนื้อหาคือ เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องไปโรงเรียนถ้าไม่อยากไป พ่อแม่ไม่มีสิทธิ์ในการบังคับ สังคมก็บังคับไม่ได้ ซึ่งเจ้าตัวเองก็เป็นเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน หรือที่ญี่ปุ่นเรียกกันว่า Futoukou (不登校)
พอมาอัดคลิปแบบนี้อีก ก็กลายเป็นเรื่องเข้าไปใหญ่ เพราะท่าทีคือภูมิใจกับการไม่ไปโรงเรียนของตัวเองมาก จากแต่ก่อนที่เคยอัพคลิปว่า “การไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องน่าเสียใจ” ทำให้มีคนสนใจแล้วก็ได้ลงหนังสือพิมพ์ให้เอามาอวดในช่อง แถมยังได้พบคนดังอย่าง Mogi Ken ผู้เขียนหนังสือ Ikigai ด้วย นอกจากนี้ก็ยังเคยอัดคลิปบอกว่า “ข้ามีเสรี อย่าได้กลายเป็นหุ่นยนต์”
พอชาวเน็ตไปพบว่ามีคลิปชวนให้คนอื่นๆ ไม่ไปโรงเรียนแบบนั้น ก็กลายเป็นเรื่องสิครับ เพราะไม่ใช่แค่สนับสนุนการไม่ไปโรงเรียน แต่เนื้อหาคลิปอื่นๆ ยังเหมือนกับดูถูกผู้ใหญ่ที่ตั้งใจทำงานทำการ ชาวเน็ตชอบดราม่าก็สนุกกันเต็มที่ นอกจากคอมเมนต์แซะสารพัด ก็มีคนเอาจริงเอาจังในการแย้งประเด็นนี้ สื่อหลักก็ทำข่าว แถมยังมีคนสืบต่อว่า พ่อแม่เป็นใคร
ซึ่งก็พบว่า พ่อของ Yutapon คือ คนเขียนหนังสือชื่อ ความกล้าในการถอดใจ ซึ่งโปรไฟล์ก็ไม่เบา จบมัธยมต้น เคยเป็นแก็งซิ่ง เปลี่ยนงานไปมา 20 ครั้งขึ้น เคยเล่นยาเสพติดหลากประเภท ก่อนจะหันมาสนใจเรื่องการให้คำปรึกษาจิตวิทยาแล้วทำงานด้านนี้เป็นหลัก ซึ่งก็บอกว่า ตัวเองทำแต่สิ่งที่อยากทำ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ชาวเน็ตก็เลยไม่แปลกใจว่า พ่อเป็นไง ลูกก็เป็นงั้น บางคนก็บอกว่า ตัวเองบอกจะไม่เป็นหุ่นยนต์ แต่จริงๆ ก็เป็นหุ่นยนต์หาเงินให้พ่อตัวเอง
แต่เรื่องของ Yutapon ก็คงทำให้เจ้าตัวโดนพลังชาวเน็ตเล่นงานเอาไม่เบา เพราะสุดท้ายก็ตัดสินใจลบบัญชีทวิตเตอร์ตัวเองทิ้ง แต่ยังคงช่องใน YouTube ไว้ และกลายมาเป็นตัวตลกในโซเชียลญี่ปุ่นช่วงที่ผ่านมา และก็เช่นเคยว่า หลายคนก็มีคำถามถึงความเหมาะสมของ YouTuber เด็ก รวมถึงผู้ปกครองที่หารายได้จากจุดนี้ด้วย และยังรวมไปถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็กอีก เพราะว่าเมื่อคลิปออกไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครคิดอะไร หรืออย่างไรบ้าง และที่น่ากลัวคือ นักสืบชาวเน็ตทั้งหลาย ที่พร้อมจะหาข้อมูลส่วนตัวของเยาวชนในคลิปเหล่านั้น เพียงแค่ในคลิปมีอะไรบางอย่างเป็นเบาะแสชี้นำ ก็กลายเป็นข้อมูลให้คนเอาไปเล่นต่อได้แล้ว
เรื่องของ YouTube กับเด็ก จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะในส่วนของเด็กที่รับชม แต่ยังรวมไปถึงเด็กที่กลายมาเป็น YouTuber โดยเฉพาะในสังคมที่รักษาความเป็นส่วนตัวแบบญี่ปุ่น ที่ค่านิยมแบบเดิม กับสื่อแบบใหม่ ปะทะกันโดยยังหาจุดที่ลงตัวได้ไม่ชัดเจน ก็คิดว่า สองกรณีนี้คงไม่ใช่กรณีสุดท้ายอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก