“ใครที่ชอบก็อย่าลืมกดไลก์ กดแชร์ กดซับสไคร์บให้พวกเราด้วยนะ”
ประโยคบังคับถูกขับกล่อมด้วยน้ำเสียงสนุกสนานแทบทุกตอนจบของคลิปบนยูทูบ แพลตฟอร์มยอดนิยมที่คล้ายว่าถูกหลอมรวมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตพวกเราเป็นที่เรียบร้อย แม้ว่าระยะหลังมานี้ ติ๊กต่อกจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากกว่า แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่ายูทูบยังคงสร้างอิทธิพลสำคัญต่อการรับสารของผู้ชมในปัจจุบัน และหากว่ากันตามตรง ติ๊กต่อกเกอร์ที่โด่งดังหลายคนก็เริ่มต้นจากการทำยูทูบมาก่อน ส่วนคนที่นับหนึ่งจากติ๊กต่อกก็มักขยับขยายย้ายฐานผู้ชมมาที่ยูทูบด้วยเช่นกัน
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่ผ่านหูผ่านตาคนไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้นข่าวคราวของบรรดายูทูบเบอร์ คนนั้นเพิ่งชนะรางวัลนี้ ช่องนั้นกับช่องนี้เป็นแฟนกัน หรือกระทั่งประสบความสำเร็จจนสามารถปล่อยเพลงหรือก้าวไปมีผลงานในวงการบันเทิงแบบเต็มตัว ดีไม่ดีพวกเขาอาจได้รับการพูดถึงใกล้เคียงหรือมากกว่าดารา ศิลปิน และคนที่มีชื่อเสียงในวงการอื่นไปแล้วด้วยซ้ำ
เมื่อนำมาประกอบกับสถิติจากงาน Brandcast & YouTube Works Awards 2022 ที่ชี้ว่า ปัจจุบันมีช่องยูทูบสัญชาติไทยที่มียอดผู้ติดตาม 1 ล้านคนมากกว่า 750 ช่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 50% ก็ยิ่งตอกย้ำว่า สถานะยูทูบเบอร์กำลังเป็นที่สนใจของคนในสังคมอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าชื่อเสียงของไอคอนแห่งเว็บไซต์วิดีโอโลโก้สีแดงคือคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว เราเชื่อถือสิ่งที่คนบนหน้าจอพูดหรือแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน เรามั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เห็นหรือมุกตลกที่เล่นคือตัวตนที่แท้จริงของเขา และคนในคลิปรู้หรือมีประสบการณ์มากกว่าเราจริงหรือเปล่า…
ยูทูบเบอร์คืออาชีพ
แน่นอนว่ามีคนไม่น้อยที่มองการลงคลิปหรือปล่อยคอนเทนต์เป็นเพียงงานอดิเรก แต่ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับยูทูบเบอร์ที่ประสบความสำเร็จพอประมาณ พวกเขาต่างมองสิ่งที่นี้เป็นช่องทางในการสร้างรายได้ เป็นอาชีพเลี้ยงชีวิตไม่ต่างจากงานประจำหรือฟรีแลนซ์ที่เราทำเป็นกิจวัตร
สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือคุณภาพของคลิปไม่ใช่สิ่งที่แปรผันตรงกับผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับ เพราะปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินในกระเป๋า คือจำนวนนาทีที่ผู้ชมกดดูต่างหาก พูดอีกอย่างคือ จริงๆ แล้วเจ้าของช่องไม่จำเป็นต้องทำคลิปที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่ถูกต้องหรือทำให้เรารักตัวตนที่แท้จริงของเขาเลย เพราะขอแค่คนดูรักสิ่งที่เขาหรือเธอเป็นบนหน้าจอ อยากดูคลิปต่อไปนานๆ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ตัวอย่างหนึ่งซึ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้คือ กรณีของบิวตี้บล็อกเกอร์ชาวอเมริกันอย่าง ลอรา ลี (Laura Lee) ที่ใช้ทักษะการแต่งหน้าและความร่าเริงใจกว้างสร้างฐานคนดูบนยูทูบได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งที่ตัวจริงนอกจอของเธอเคยมีพฤติกรรมในทำนองเหยียดสีผิวเพื่อนร่วมอาชีพ
แม้ในวันที่ความจริงปรากฏ เธอจะต้องสูญเสียผู้ติดตามไปมากกว่า 3 แสนคน แต่วันนี้เธอก็ยังได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นจากกลุ่มแฟนคลับ ทั้งยังมีผู้ติดตามทะลุ 4.61 ล้านคนไปแล้ว สะท้อนว่านิสัยจริงๆ นอกจอไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อคนดูจอตราบเท่าที่ผู้ผลิตยังสามารถส่งมอบคอนเทนต์ที่ผู้ติดตามหลงรักได้ หรือว่าแบบง่าย ๆ คือ ‘ขอแค่รู้ว่าคนดูชอบอะไร ต่อให้ไม่ปรุงด้วยความหวังดีและจริงใจ งานของยูทูบเบอร์ก็ยังประสบความสำเร็จ’
สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ทั้งหมดที่เขาเป็น
อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีเจตนาโจมตีที่ตัวอาชีพยูทูบเบอร์ เพราะก็ไม่ใช่ยูทูบเบอร์ทุกคนที่เลือก‘ทำการแสดงออกกล้อง’ เพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่าแฟนคลับ และยังมียูทูบเบอร์อีกหลายกลุ่ม (อาจจะมีมากกว่าประเภทแรกเสียอีก) ที่ยืนหยัดในการนำเสนอซึ่งสิ่งที่เขาและเธอเป็นจริง ๆ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความ ‘เรียล’ เพราะถ้าให้ว่ากันตามตรง การเป็นตัวเองให้คนดูเห็นไปเลยก็คงทำง่ายกว่าการปั้นแต่งภาพลักษณ์เป็นไหนๆ แต่ต่อให้ยูทูบเบอร์จะทำคอนเทนต์ในนามของความเป็นตัวเอง สุดท้ายแล้วสิ่งที่คนดูได้เห็นก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่พวกเขาเป็นอยู่ดี เรื่องนี้ถูกเน้นย้ำผ่านคำพูดของ เกรซ—สิรีภัทร มณีรัตน์ เจ้าของช่องยูทูบ Grace Maneerat ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาว่า
“คนดูอาจจะมองว่าเราเป็นคนที่ขยันมาก ชอบออกไปทำอะไรใหม่ๆ มันก็เป็นความกดดันสำหรับเราเหมือนกัน เพราะจริงๆ ก็มีวันที่ฉันเฉื่อยๆ ดูซีรีส์ อยู่บ้านทั้งวัน แต่ฉันแค่ไม่ได้โชว์ให้ทุกคนดู สิ่งที่เห็นไม่ใช่เราทั้งหมด”
เช่นเดียวกับยูทูบเบอร์แนวไลฟ์สไตล์อีกหลายคน รวมถึง ซิม คิวเท จากช่อง Kyutae Oppa ที่ก็เคยเผยความในใจผ่านคลิป Q&A เช่นกันว่า ถึงตัวจริงของเขาจะเหมือนกับในคลิป แต่เขาก็ไม่มีทางสนุกได้ตลอดเวลา มีเศร้าหรือเครียดเหมือนคนปกติทั่วไป
ความคิดเห็นของยูทูบเบอร์ไทยทั้ง 2 สอดคล้องกับที่อาเรียนน์ เฟอร์โชด์ (Arienne Ferchaud) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดาเคยเปิดเผยในสื่ออย่าง The Verge ที่ว่า
“คนดูรู้แค่สิ่งที่เห็นในวิดีโอเท่านั้น ต่อให้ดูทุกคลิปในยูทูบสักช่องมาเป็น 10 ปี คุณก็จะรู้จักยูทูบเบอร์คนนั้นแค่เพียงบางส่วน ไม่ได้รู้จักตัวจริงของเขา…ฉันไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ยูทูบเบอร์ทำมันเฟกหรือเสแสร้ง แต่ก็นั่นแหละ ยังไงสิ่งที่เห็นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของคนๆ นั้นอยู่ดี”
คิดไปว่ายูทูบเบอร์คือเพื่อนในชีวิตจริง
2 ประเด็นที่ว่ามา ทั้งการที่ยูทูบเบอร์เป็นอาชีพและการที่ผลงานนำเสนอเพียงบางด้านของพวกเขาอาจเป็นสิ่งที่พวกเรารู้กันดีอยู่แล้ว แต่อีกเรื่องที่เราอาจไม่รู้จนเผลอปล่อยให้บรรดายูทูบเบอร์มีอิทธิพลต่อตัวเองมากเกินไปเรียกว่า ‘Parasocial Relationships’
Parasocial Relationships หรือ ปฏิสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม คือรูปแบบความสัมพันธ์ที่ถูกตีพิมพ์ในงานวิจัยของนักจิตวิทยาสังคมอย่างโดนัลด์ ฮอร์ตัน (Donald Horton) และอาร์. ริชาร์ด วอห์ล (R. Richard Wohl) ตั้งแต่ปี 1956
งานวิจัยดังกล่าวว่าด้วยความสัมพันธ์ซึ่งผู้รับสารผ่านหน้าจอค่อยๆ เกิดความรู้สึกผูกพันลึกซึ้งกับบุคคลที่ได้เห็นทางโทรทัศน์ หรือถ้าเปรียบเทียบให้เห็นชัดในยุคนี้ก็คงเหมือนการที่ผู้ชมเผลอรู้สึกไปเองโดยไม่รู้ตัวว่าคนที่อยู่ในจอแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์เป็นดั่งเพื่อนสนิทในชีวิตจริงนั่นเอง
ในทางที่ดี ความสัมพันธ์รูปแบบนี้ก็อาจช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น มองดารา ศิลปิน หรือกระทั่งยูทูบเบอร์ เป็นโรลโมเดลที่อยากจะดำเนินรอยตาม แต่ในทางตรงกันข้าม คนดูก็อาจถูกชี้นำจนมีความคิดความเชื่อที่ผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ นำไปสู่เหตุการณ์เลวร้ายที่ตัวยูทูบเบอร์เองก็อาจไม่คาดฝัน
กรณีศึกษาซึ่งเป็นที่ถกเถียงคือเรื่องราวของเฟลิกซ์ เคลเบิร์ก (Felix Kjellberg) ยูทูบเบอร์สายเกมส์เจ้าของช่อง PewDiePie ที่เคยเล่าแบบติดตลกในช่องของตัวเองว่าถูกยูทูบชาแนลอย่าง T-Series มีจำนวนผู้ติดตามแซงหน้าจนต้องเสียตำแหน่งช่องยูทูบที่ได้รับความนิยมสูงสุดไป
ความผูกพันและเชื่อมั่นที่แฟนๆ มีต่อตัวของเฟลิกซ์นำไปสู่การระดมพลถล่มคอมเมนต์เชิงลบและหาทางทำลายอีกช่องที่แย่งถ้วยอันดับ 1 ทั้งที่ตัวเฟลิกซ์เองอาจไม่เคยต้องการแบบนั้นด้วยซ้ำ
หรืออีกตัวอย่างที่ถูกพูดมากถึงพอสมควรกระทั่งในประเทศไทยคือคราวที่ยูทูบเบอร์ชื่อดังอย่างโลแกน พอล (Logan Paul) ถูกประณามจากการถ่ายติดภาพของคนตายที่ประเทศญี่ปุ่น ในเหตุการณ์นั้น ผู้ที่คลั่งไคล้โลแกนซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘Logang (โลแก๊ง)’ ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องที่จงรักภักดี รวมตัวต่อต้านทุกการวิพากษ์วิจารณ์ที่สังคมมีต่อตัวยูทูบเบอร์ เป็นกำแพงมนุษย์ที่ดูเหมือนจะไม่สนอีกแล้วว่าตัวยูทูบเบอร์นั้นคิดเห็นอย่างไร แค่เชื่อใจและปกป้องเขาได้เป็นพอ…
ถึงตรงนี้ เราอาจทำได้แค่ยอมรับว่ายูทูบเบอร์เองก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่ไม่อาจฟันธงได้ 100% ว่าเขารู้มากกว่า น้อยกว่า หรือจริงใจต่อผู้ชมมากน้อยเพียงใด ความรับผิดชอบส่วนใหญ่จึงตกเป็นของคนดูอย่างเรา ที่ต้องมองหาขอบเขตที่เหมาะสม และไม่ลืมที่จะตระหนักอยู่เสมอว่าคลิปที่ดูคือ ‘ชิ้นงาน’ ซึ่งไม่ได้นำเสนอทุกแง่มุมที่เจ้าของชิ้นงานเชื่อจริงๆ แน่นอนว่ายูทูบเบอร์คงช่วยคลายเหงาหรือเติมรอยยิ้มให้เราในวันที่อ่อนล้า แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาคือเพื่อนสนิทที่เรารู้ชีวิตหมดไส้หมดพุง
เหนือสิ่งอื่นใด ในฐานะผู้ติดตาม เราควรรับชมผลงานทั้งหมดโดยใช้วิจารณญาณ เสพความบันเทิงจากได้ แต่อย่าเผลอยอมให้เหล่ายูทูบเบอร์มีอิทธิพลจนเราขาดการยั้งคิดและทำสิ่งผิดที่ไม่อาจย้อนคืน และจะว่าไป บทความนี้เองก็เช่นกันเดียวกัน สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราบรรยายมาทั้งหมด ก็เป็นเพียงตะกอนความคิดและข้อมูลหลักฐานที่เสาะหาได้
สุดท้ายก็ยังเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความชิ้นนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อ เห็นด้วย หรือยึดติดกับสิ่งที่เห็นทั้งหมด
อ้างอิงจาก