เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทที่ปรึกษาทรัพยากรบุคคลชื่อดังอย่าง ‘adecco’ ได้ทำการสำรวจเก็บกลุ่มตัวอย่างเด็กไทยอายุ 7-14 ปี ด้วยหัวข้อ ‘อาชีพในฝันของเด็กไทย’ ผลสรุปออกมาว่า อันดับ 1 เด็กไทยยังคงอยากเป็นหมอเหมือนเดิม ตามมาด้วยอาชีพครูเป็นอันดับ 2 และ ‘youtuber’ อยู่ในอันดับที่ 3
สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่อาชีพหมอหรือครูที่รั้งอันดับต้นๆ มาตลอด แต่เป็น youtuber ที่ขยับขึ้นมาจากปีก่อนอย่างรวดเร็ว เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เด็กไทยยุคนี้อยากเป็น youtuber มากขึ้นก็อาจมาจากเทคโนโลยีที่เอื้อให้แพลตฟอร์มออนไลน์มีความสามารถในการเชื่อมต่อ-ใกล้ชิดกับทุกคนได้มากกว่าสื่อกระแสหลักอย่างทีวีหรือสื่อสิ่งพิมพ์
แม้ youtuber จะไม่ใช่อาชีพต้องห้าม แต่ช่องทางการนำเสนอคอนเทนต์รูปแบบนี้ บางทีก็มีช่องโหว่ด้านเนื้อหามากมาย ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิดก็อาจเกิดผลกระทบกับเด็กในระยะยาวได้ โดยเฉพาะการเสพสื่อที่ไม่เหมาะกับช่วงวัย รวมถึงการที่เด็กๆ มอง youtuber เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต
ได้รับการยอมรับ และมีตัวตนในสังคม คือสิ่งที่เด็กต้องการ
เว็บไซต์ยูทูบเต็มไปด้วยสื่อสร้างสรรค์มากมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็มี youtuber หรือ influencer บางคนเผยแพร่คอนเทนต์ที่อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จนทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพจิตด้วยเหมือนกัน
ทำไมเด็กๆ ถึงมองบุคคลเหล่านี้เป็นไอดอล แล้วทำไมพวกเขาถึงชอบทำตามกันนะ? เราหาคำตอบนี้จาก นพ.ทรงภูมิ เบญญากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘โลกสมาธิสั้น’ คุณหมออธิบายให้เราฟังว่า จิตวิทยาสามารถอธิบายเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้สองแบบ
อย่างแรก คือ การอธิบายตามหลักชีววิทยาสมอง ในเด็กวัยรุ่น คือ ตั้งแต่อายุ 12-13 ปี ไปจนอายุ 20 ปี จะมีพัฒนาการด้านอารมณ์ค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนด้านเหตุผลยังไม่ดีเท่าไหร่ จึงไม่แปลกที่วัยรุ่นจะชอบเสพสื่อที่กระตุ้นอารมณ์ มีความบันเทิงสูง หรือทำแล้วได้รับการยอมรับ
‘โดปามีน’ คือ สารเสพติดที่จะหลั่งออกมาเมื่อถูกกระตุ้นจากการกระทำที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน หรือคนหมู่มาก เมื่อโดปามีนหลั่งเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดการทำซ้ำ ยิ่งมีคนแชร์คลิปหรือสิ่งที่เด็กๆ ทำออกไปอีกก็จะยิ่งรู้สึกได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
ประกอบกับในยุคนี้ที่สื่อแพร่หลายได้เร็วกว่ายุคก่อนๆ จึงไม่ใช่แค่ภายในกลุ่มเพื่อนของตัวผู้กระทำเท่านั้นที่จะได้รับการพูดถึง แต่ยังขยายวงกว้างจากการแชร์ในแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่ขยายไปสู่ระดับประเทศได้ด้วย
ส่วนอีกลักษณะ คือ การอธิบายด้วย ‘identity’ หรือตัวตน ของเด็ก คุณหมอบอกว่า เด็กประถมในยุคนี้เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็วขึ้น ฉะนั้นในช่วงประถมปลายเด็กจยะเริ่มมี identity แล้ว ซึ่งเด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่ต้องการเป็น ‘someone’ มากกว่าที่จะเป็น ‘unknown’
ยิ่งในเด็กที่ไม่ได้มีความสามารถหรือตัวตนที่ชัดเจนอย่างเป็นนักดนตรี วาดรูปเก่ง หรือเป็นนักกีฬาก็จะยิ่งรู้สึกว่า ต้องหาที่ทางหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อจะได้มี identity ของตัวเอง
“ในเด็กวัยประถมที่ยังต้องพึ่งพิงพ่อแม่ร้อยเปอร์เซนต์ ไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ สิ่งที่จะช่วยเติมเต็มเด็กๆ เหล่านี้ก็คือ ดูสิ่งที่คนอื่นทำแทน รู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่คนอื่นทำ อีกเรื่อง คือ copycat’s phenomenon คือ เมื่อคนหนึ่งเริ่มทำ อีกสองสามคนมาเห็นก็จะรู้สึกว่าสิ่งนี้เท่จังเลย และทำตามไปเรื่อยๆ เด็กรู้สึกว่ามันคูลเพราะทำแล้วได้รับการยอมรับจากเพื่อน”
อีกตัวอย่างที่คุณหมอยกให้เห็นถึงปรากฏการณ์ copycat’s phenomenon ได้ชัดขึ้น คือ ข่าวปาหินเมื่อหลายสิบปีก่อน แม้ตอนนั้นจะยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่สื่อกระแสหลักมีการนำเสนอข่าวนี้ทุกวัน เมื่อเด็กได้ดูซ้ำๆ ก็เกิดความรู้สึกอยากเป็น someone ที่อยู่บนหน้าจอทีวีบ้าง
ยิ่งได้ออกรายการข่าวชื่อดังที่มีคนดูทั่วประเทศก็จะรู้สึกเท่มากขึ้นไปอีก หรืออย่างกรณี ‘ice bucket challenge’ ก็เกิดเป็น ‘domino effect’ เหมือนกัน
พื้นที่สร้างสรรค์ และความสำเร็จที่จับต้องได้ – เหตุผลที่เด็กอยากเป็น youtuber
คุณหมอชวนให้เราคิดต่อไปอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กบางกลุ่มที่อยากเป็น ‘someone’ ด้วยการทำพฤติกรรมเลียนแบบที่สุ่มเสี่ยงเพราะอาจมีความรู้สึกว่าหากทำพลาดก็แค่ล้มและไม่ได้สูญเสียอะไรมากเท่าไหร่นัก
นอกจากประเด็นที่ว่ามาแล้ว คุณหมอยังเสริมต่อด้วยว่า สิ่งที่ควรจะต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ก็คือ พื้นที่สำหรับเด็ก การเรียกร้องความรับผิดชอบจากยูทูบให้มีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาของเด็กอาจจะเป็นสิ่งที่ยังทำได้ยาก
คำถามสำคัญกว่านั้น คือ บ้านเรามีพื้นที่สำหรับเด็กมากพอหรือยัง หากเด็กรู้สึกมีคุณค่าหรือมีพื้นที่สร้างสรรค์เพียงพอเขาอาจจะไม่ต้องมานั่งดูคอนเทนต์แบบนี้ก็ได้
“เรื่องหนึ่งที่เมืองไทยยังแย่อยู่ คือ เวลา ‘after school’ โรงเรียนเลิกบ่ายสามครึ่งพ่อแม่ยังทำงานกันอยู่เลย กว่าจะเลิกก็หกโมงกว่า ถึงบ้านก็ทุ่มสองทุ่ม after school 4 ชั่วโมงมันหายไป เด็กบางคนก็ไปอยู่ที่เรียนพิเศษบ้างอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วพ่อแม่บางคนอาจจะไม่ได้อยากให้เด็กเรียนหรอก แต่ไม่รู้จะให้ทำอะไรเพราะไม่มี community ไม่มี safe space ให้ลูกอยู่ได้ นี่เป็นปัญหาใหญ่เลย ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปหมด”
ตรงกับที่บทความของสำนักข่าว cnbc ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่จะส่งเสริมการเติบโตของเด็กได้อย่างมีคุณภาพ คือ การมีพื้นที่ให้เด็กได้เล่น เรียนรู้ที่จะผิดพลาด และลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองได้ การได้เผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจะทำให้เด็กๆ เรียนรู้ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้
เช่น การขี่จักรยาน หรือปีนเขา กิจกรรมพวกนี้ทำให้เกิดการหลั่งสารโดปามีน และเซโรโทนินในปริมาณมาก ซึ่งเป็นสารเคมีที่ส่งผลดีกับตัวเด็ก มากกว่าการนั่งอยู่หน้าจอตลอดเวลา การเรียนรู้ในลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กๆ เตรียมตัวสำหรับการวางแผนเป้าหมายระยะยาวในอนาคตได้
ส่วนเหตุผลที่ทำให้เด็กๆ อยากเป็น youtuber เป็นเพราะความสำเร็จเหล่านี้เห็นง่ายและเห็นกันอยู่ทุกวัน จึงเกิดความรู้สึกที่ว่า ‘ฉันอยากเป็น youtuber’ ประกอบกับอาชีพของพ่อแม่บางคนที่แสดงให้ลูกๆ เห็นถึงความลำบาก จนเกิดข้อเปรียบเทียบได้ง่ายๆ
ยกตัวอย่างเช่น เด็กต่างจังหวัดที่มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร เขาเห็นความล้มเหลว ผิดพลาด ลำบากจากอาชีพนี้ในทุกๆ วัน ในขณะที่ youtuber กลับเป็นอาชีพที่เต็มไปด้วยความบันเทิง และสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล
เลี้ยงลูกตาม ‘normal development’
สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน คือ หลักการ ‘normal development’ หรือการเลี้ยงลูกตามพัฒนาการปกติของเด็ก เด็กแต่ละช่วงอายุจะมีลักษณะในการเลี้ยงดูที่ต่างกัน
หลายครอบครัวจะมองลูกเล็กว่าเด็กก็คือเด็กเหมือนกันหมด ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีการแบ่งประเภทย่อยๆ ลงไปอีก การทำความเข้าใจตรงนี้จะช่วยให้พ่อแม่สามารถควบคุมดูแลการเสพสื่อของเด็กๆ ตามช่วงวัยได้ดีขึ้น
เริ่มตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ เป็นช่วงวัยที่ยังไม่ควรดูสื่อจากทีวีหรืออินเทอร์เน็ต คุณหมอบอกว่า สื่อที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้คือ หน้าของพ่อแม่ โดยแสดงออกกับลูกด้วยการท่าทาง สีหน้า การยิ้ม หรือการเป่าปาก วัยนี้เด็กจะมองหน้าพ่อแม่เป็นหลัก
โตขึ้นมาสัก 4 ขวบไปจนถึง 6-7 ขวบ วัยนี้เริ่มดูทีวีได้บ้าง แต่ขอให้เป็นคอนเทนต์สำหรับเด็กอย่างพวกแอนิเมชั่น ระหว่างดูพ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกไปได้ด้วยการกด pause เป็นระยะๆ และยังไม่ควรให้สื่ออยู่ในมือของเด็กเพียงลำพัง
ถัดมาในช่วงวัยประถมต้นถึงประถมปลาย วัยนี้เด็กสามารถชมสื่อได้ด้วยตัวเองได้แล้ว แต่ยังไม่มีความจำเป็นในการดูผ่านโทรศัพท์มือถือ ให้ดูผ่านจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ททีวีจะดีที่สุด ทั้งขนาดจอที่เหมาะสมกับสายตาของเด็ก และยังเป็นสื่อที่พ่อแม่คอนโทรลได้ด้วย
ส่วนวัยรุ่นขึ้นไปเป็นวัยที่โตพอจะรับสื่อได้ด้วยตัวเองทั้งหมดแล้ว แต่ก่อนที่จะให้โทรศัพท์มือถือกับลูกๆ คุณหมอแนะนำว่า หากพ่อแม่ทำข้อตกลงกับลูกๆ ก่อนได้ก็จะดี ทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ
ในข้อตกลงนั้นอาจจะเป็นการให้เด็กๆ ทำอะไรง่ายๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของเขา เช่น ช่วยทำงานบ้าน ทำการบ้านของตัวเองเสร็จ หรือช่วยเลี้ยงน้อง และพ่อแม่อาจจะมีการให้รางวัลเป็น ‘special extra’ เพิ่มเติมในวันเสาร์อาทิตย์ก็ได้เหมือนกัน
ในโลกที่มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ในยุคที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นมากมาย ในโลกที่เราสามารถเข้าถึงทุกอย่างได้อย่างอิสระ แต่ทำไมความทุกข์ของเด็กๆ กลับเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้