เราเชื่อความทรงจำของตัวเองได้มากแค่ไหน?
เราแน่ใจได้อย่างไรว่าความทรงจำของเรานั้นเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับเราจริง?
คำถามแปลกๆ เหล่านี้ผุดขึ้นในหัวระหว่างที่ผมนั่งดื่มกาแฟอยู่ในร้านกาแฟแห่งหนึ่งใกล้กับประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ผมได้สังเกตเห็นนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนรายหนึ่งกำลังมีความสุขกับการเซลฟี่บริเวณลานหน้าประตูท่าแพ พร้อมๆ กันนั้น ผมกำลังไล่เปิดหารูปเก่าๆ ของตัวเอง หลังจากเห็นเพื่อนๆ ในเฟรนด์ลิสต์หลายคนโพสต์รูปตัวเองเมื่อสิบปีก่อนเทียบกับปัจจุบันในแคมเปญ 10 Years Challenge ทางเฟซบุ๊ก
ผมเจอรูปเก่าของตัวเอง การได้เห็นรูปตัวเองในอดีตทำให้ระลึกได้ว่าตัวเองก็เคยทำอะไรที่คล้ายกันกับนักท่องเที่ยวสาวคนนี้มาแล้ว—ที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งอยู่ด้านหน้าของพระราชวังต้องห้ามเมื่อครั้งไปเยือนปักกิ่ง
อากาศอันร้อนระอุของเชียงใหม่ในห้วงเวลาที่ควรจะเป็นฤดูหนาวมาพร้อมกันกับหมอกควันมลพิษทางอากาศ ถ้าหากไม่มีนัดสำคัญผมคงเลือกจะนอนหลบแดดหลบฝุ่นอยู่ภายในห้องพักที่โรงแรม แต่สำหรับนักท่องเที่ยวรายนี้แดดและฝุ่นไม่ได้ทำให้เกิดความครั่นคร้ามแต่ประการใด นั่นอาจเป็นเพราะการถ่ายรูปคน สัตว์ สิ่งของ อาหาร สถานที่ ฯลฯ เพื่อเผยแพร่ให้เพื่อนฝูงคนรู้จักและไม่รู้จักได้รับรู้รับทราบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นกิจกรรมที่คนรุ่นเราล้วนทำเป็นกิจวัตร
แม้ความร้อนและฝุ่นไม่อาจหยุดยั้งนักท่องเที่ยวสาวที่ผมเฝ้าสังเกตจากการเซลฟี่กับประตูท่าแพได้ แต่ดูเหมือนว่าเธอเองก็ระมัดระวังเป็นพิเศษ สังเกตจากการที่เธอใส่เสื้อคลุมแขนยาวตัวใหญ่ สวมแว่นกันแดด สวมผ้าปิดจมูก และกางร่ม ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าเป็นการปกป้องตัวเองจากแสงแดดและมลพิษ
เมื่อมาถึงจุดที่เธอต้องการจะเซลฟี่ เธอก็วางร่มลง ถอดแว่น ถอดผ้าปิดจมูก และถอดเสื้อคลุมออกเผยให้เห็นว่าชุดที่เธอใส่ด้านในก่อนสวมเสื้อคลุมทับเป็นเดรสยาวสีชมพู ผมเห็นเธอหยิบไม้เซลฟี่และตลับแป้งจากกระเป๋าถือ เติมแป้งบนใบหน้าเล็กน้อย ประกอบไม้เซลฟี่เข้ากับโทรศัพท์มือถือ เมื่อเซลฟี่กับประตูท่าแพเสร็จและตรวจสอบภาพที่เพิ่งถ่ายจนเป็นที่พอใจ เธอก็สวมผ้าปิดจมูก สวมแว่นตา สวมเสื้อคลุม กางร่มและเดินจากไป
น่าเสียดายที่ผมไม่มีโอกาสได้ทราบว่าภาพที่ได้เผยแพร่ออกไปเป็นอย่างไร แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า คนที่เห็นภาพเซลฟี่นี้จะได้ทราบหรือไม่ว่าภาพที่เห็นว่าเธอยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขต้องแลกมากับการเดินฝ่าแดดอันร้อนระอุและมลพิษ ผมสงสัยต่อไปอีกว่า อีกสิบปีข้างหน้า หากเธอได้กลับมาเห็นรูปตัวเองหน้าประตูท่าแพในชุดเดรสสีชมพู หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เธอจะจำได้หรือไม่ว่า ในวันที่เธอบันทึกความทรงจำกับประตูท่าแพ ก่อนที่จะได้รูปที่แสนประทับใจนี้ เธอต้องเดินฝ่าแดด วางร่ม ถอดเสื้อคลุม แว่นตา ผ้าปิดจมูก และเติมแป้ง หรือใบหน้าที่ยิ้มแย้มของเธอและความสวยงามของประตูท่าแพจะกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำล้ำค่าที่แสนงดงามจากเชียงใหม่
เราเชื่อความทรงจำของเราได้แค่ไหน?
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 ก่อนการมาของโซเชียลมีเดีย ศาสตราจารย์ดาเนียล แช็กเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกาและคณะ[1] ได้ทำการทดลองบิดเบือนความทรงจำโดยการใช้ภาพถ่าย นำชุดของภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงปะปนด้วยภาพเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงให้ผู้ที่เข้าทำการทดสอบดู ปรากฏว่าผู้เข้าทำการทดสอบต่างก็เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เห็นจากภาพในอดีตทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งยังสามารถเล่าถึงเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงนี้ด้วยความมั่นใจ งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำให้แนวคิดเรื่องความทรงจำถูกท้าทาย นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการศึกษาเรื่องการปลูกฝังความทรงจำและการบิดเบือนความทรงจำในวงกว้าง
งานวิจัยนี้ยังสร้างความเข้าใจใหม่ว่า เราอาจจะไม่สามารถเชื่อถือความทรงจำของตัวเองได้อีกต่อไป
สำหรับการใช้รูปถ่ายบนโซเชียลมีเดียในฐานะบันทึกความทรงจำ งานวิจัยของซุงและคณะ[2] ซึ่งศึกษาแรงจูงใจในการโพสต์รูปถ่ายตนเองและการเซลฟี่ของกลุ่มตัวอย่างในประเทศเกาหลีใต้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างนิยมโพสต์เซลฟี่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตนแบบที่ผู้โพสต์ต้องการจะนำเสนอสู่สาธารณะ การโพสต์รูปเซลฟี่ในบางครั้งจึงถูกใช้เป็นการนำเสนออัตลักษณ์ที่ตนเองต้องการให้สาธารณะรับรู้มากกว่าอัตลักษณ์ที่แท้จริงของผู้โพสต์ งานวิจัยชิ้นนี้เสนอข้อค้นพบว่า สาเหตุที่ทำให้คนโพสต์รูปเซลฟี่นั้นอาจมีอยู่หลายเหตุผลแตกต่างกันไปออกไปได้ 4 เหตุผล คือ การโพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจ (attention seeking) การโพสต์เพื่อการสื่อสาร (communication) การโพสต์เพื่อบันทึกความทรงจำ (archiving) และการโพสต์เพื่อความบันเทิง (entertainment)
งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่า การโพสต์รูปตัวเองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องความสนใจนั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกในทางจิตวิทยา ส่วนการโพสต์รูปตัวเองเพื่อการสื่อสารมีข้อดีในฐานะที่สามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมได้ ขณะที่การโพสต์รูปตัวเองในฐานะบันทึกความทรงจำนั้น อาจมีสาเหตุมาจากความสามารถของแพลตฟอร์มในการบันทึกวันเวลา มีความสามารถการจัดการข้อมูล การค้นหา ที่ถูกทำให้ง่ายดายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่บันทึกด้วยรูปภาพมักถูกทำให้บิดเบือนไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ดังที่คณะของศาสตราจารย์แช็กเตอร์ได้เสนอไว้
เท่ากับว่า การบิดเบือนความทรงจำโดยโซเชียลมีเดียสามารถทำได้ทั้งในแง่ที่เราต้องการบิดเบือนความทรงจำที่ผู้อื่นมีต่อเรา ด้วยการนำเสนออัตลักษณ์ที่เราต้องการให้ผู้อื่นจดจำ ณ ขณะเวลาที่เราโพสต์รูปภาพนั้น และเมื่อเวลาผ่านไป เราเองก็อาจหลงจดจำไปว่าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ
โซเชียลมีเดีย illusory truth effect และ pseudo-reality
“คนไทยอ่านหนังสือปีละแปดบรรทัด”
ถ้าคุณอ่านบทความนี้มาจนถึงบรรทัดนี้ แสดงว่าภายในวันนี้วันเดียวคุณได้อ่านเกินแปดบรรทัดไปแล้วหลายสิบบรรทัด คุณย่อมต้องทราบดีว่าข้อความข้างต้นไม่เป็นความจริง แม้สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยสถิติการอ่านของคนไทย ในปี พ.ศ. 2558 ว่าโดยเฉลี่ยคนไทยอ่านหนังสือวันละประมาณ 66 นาที แต่อะไรที่ทำให้ข้อมูลที่ผิดยังคงเป็นที่จดจำ คนจำนวนไม่น้อยยังคงคิดว่าเป็นเรื่องจริง แม้กระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังเชื่อในข้อมูลนี้และขอให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้ยกตนเป็นแบบอย่างว่าตนอ่านหนังสือวันละไม่ต่ำกว่าแปดร้อยบรรทัด
ปรากฏการณ์ “คนไทยอ่านหนังสือไม่เกินปีละแปดบรรทัด” เรียกว่า illusion truth effect ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่เรื่องไม่จริงถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นข้อมูลที่ได้รับบ่อยจนเคยชิน ความเคยชินกับการได้รับข้อมูลซ้ำๆ ทำให้หลงคิดไปว่าเป็นเรื่องจริง
โซเชียลมีเดียมีคุณสมบัติบางประการที่ทำให้การผลิตซ้ำข้อมูลทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว คอนเทนต์ที่ผู้ใช้สร้างและป้อนเข้าสู่โซเชียลมีเดีย คือคุณค่าหลักสำคัญที่โซเชียลมีเดียจะแปรเปลี่ยนไปเป็นผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ดังนั้นยิ่งมีผู้ใช้มาก ยิ่งมีคอนเทนต์มาก จึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสและมูลค่าทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ โซเชียลมีเดียจึงอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถแชร์คอนเทนต์ที่ผู้อื่นในเครือข่ายของผู้ใช้เป็นผู้ผลิตกลับเข้าสู่โซเชียลมีเดีย แม้จะเป็นการผลิตซ้ำคอนเทนต์ของผู้อื่น แต่การแชร์ก็สร้างคุณค่าให้โซเชียลมีเดียในแง่ของการกระจายของคอนเทนต์ไปสู่ผู้ใช้อื่นที่อยู่ภายในเครือข่ายเดียวกับผู้แชร์ ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของผู้ผลิตคอนเทนต์ ทำให้คอนเทนต์แพร่กระจายออกไปได้ไกลกว่าเดิม คุณสมบัติประการนี้ ทำให้การผลิตซ้ำข้อมูลที่ผิดทำได้ง่าย และคอนเทนต์ที่ผิดวนเวียนบนหน้าฟีดบ่อยครั้ง จนเกิด illusion truth effect ได้อย่างง่ายดาย
โดยปกติแล้วผู้ที่อยู่ในเฟรนด์ลิสต์หรือเครือข่ายเดียวกันที่มีความคิด ทัศนะคติ ค่านิยม ใกล้เคียงกัน มีแนวโน้มที่ปฎิสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดียมากเป็นพิเศษ อัลกอริทึ่มของโซเชียลมีเดียจะคัดกรองให้ผู้ที่มีปฎิสัมพันธ์กันบ่อยครั้งมีโอกาสได้เห็นคอนเทนต์ของกันและกันมากกว่าผู้ที่อยู่ในเฟรนด์ลิสต์ที่ไม่ได้ปฎิสัมพันธ์กัน การทำงานของตัวโซเชียลมีเดียในลักษณะนี้ยิ่งทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเห็นคอนเทนต์ประเภทที่ตรงจริตของเรา โดยผู้ที่เรามีปฎิสัมพันธ์ด้วยบ่อยครั้งมากกว่าปกติ จนบางครั้งเหมือนนั่งอยู่ในห้องที่มีเสียงสะท้อน (echo chamber) และเสียงสะท้อนนี้เป็นเสียงสะท้อนจากการผลิตซ้ำคอนเทนต์ที่ตรงกับความคิดความเชื่อของเราและคนในเครือข่ายของเราเท่านั้น แต่เราและคนในเครือข่ายอาจหลงคิดไปว่าเป็นเสียงสะท้อนดังกล่าวเป็นความต้องการที่แท้จริงของคนในสังคม
ลักษณะการหลงเชื่อความคิดเห็นในห้องเสียงสะท้อนนี้เรียกว่า ‘ความจริงเทียม’ หรือ pseudo-reality
โซเชียลมีเดียกับคุณภาพของการจดจำ
นอกจากเราไม่อาจเชื่อความทรงจำของตนเองจากการบันทึกบนโซเชียลมีเดียได้อีกต่อไป โซเชียลมีเดียยังส่งผลต่อความจำในลักษณะอื่น เช่น เราอาจจะจดจำเรื่องต่างๆ ได้แย่ลง เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับโซเชียลมีเดีย ทำให้คุณค่าด้านอื่นถูกลดคุณภาพลง งานศึกษาของทามิร์และคณะ[3] ค้นพบว่าการใช้สื่อรวมไปถึงโซเชียลมีเดียส่งผลโดยตรงต่อการสร้างความทรงจำและประสบการณ์ร่วมต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ทีมวิจัยพบว่า เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มเข้าร่วมเหตุการณ์เดียวกัน โดยมอบหมายให้กลุ่มตัวอย่างหนึ่งใช้โซเชียลมีเดียในการบันทึกเหตุการณ์และแชร์บนโซเชียลมีเดียขณะที่อีกกลุ่มไม่ต้องบันทึก ปรากฏว่า ทั้งสองกลุ่มมีความพึงพอใจและความรู้สึกต่อเหตุการณ์ไม่ต่างกัน โดยกลุ่มที่ไม่ได้ถูกมอบหมายให้บันทึกเหตุการณ์มีความสามารถในการจดจำเหตุการณ์และเข้าถึงประสบการณ์ที่มีคุณภาพกว่า
ทีมวิจัยสันนิษฐานว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ถูกมอบหมายให้บันทึกเหตุการณ์ด้วยโซเชียลมีเดีย การจดจ่อกับการบันทึกเหตุการณ์และการแชร์คอนเทนต์ได้รบกวนการสร้างความทรงจำและเป็นอุปสรรคในการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณภาพต่อเหตุการณ์
ข้อมูลจำนวนมากที่ปรากฏบนฟีด ทั้งคอนเทนต์ที่เพื่อนในเฟรนด์ลิสต์สร้างขึ้นและป้อนเข้าสู่แพลตฟอร์ม คอนเทนต์จากเพจที่เราติดตาม รวมถึงคอนเทนต์โฆษณา การมีคอนเทนต์จำนวนมากผ่านตาเราในแต่ละวันในลักษณะนี้อาจมีผลทำให้วัฒนธรรมในการอ่านของเราเปลี่ยนแปลงไป มีการศึกษาพบว่า ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ใช้ใช้ในการอ่านคอนเทนต์ที่เป็นบทความคือ 37 วินาทีเท่านั้น[4] และสำหรับเฟซบุ๊ก ความยาวของโพสต์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือโพสต์ที่มีความยาวไม่เกิน 80 ตัวอักษร[5] คอนเทนต์ที่สั้นย่อมส่งผลให้ผู้อ่านคุ้นชินกับการอ่านอะไรที่สั้น ผู้ผลิตคอนเทนต์เองก็ตระหนักในความจริงข้อนี้ จึงผลิตสร้างคอนเทนต์ที่สั้นลง แบ่งย่อยเป็นหลายคอนเทนต์เพื่อป้อนเข้าสู่โซเชียลมีเดียบ่อยครั้งเพื่อให้หน้าฟีดมีความเคลื่อนไหวบ่อย รูปแบบการผลิตคอนเทนต์เช่นนี้อาจทำให้เรามีความอดทนในการอ่านลดน้อยลง ไม่อดทนต่อการอ่านอะไรที่มีความยาวอีกต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ ‘โซเชียลมีเดีย’ นั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันการใช้โซเชียลมีเดียก็อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม และความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้อื่นในหลายมิติ เราจึงจำเป็นต้องใช้อย่างเท่าทัน ระมัดระวัง เฝ้าดู และศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด มิเช่นนั้นมันอาจเข้ามาเปลี่ยนกระทั่งความทรงจำที่เรามีต่อตัวเอง
หากไม่เจอรูปตัวเองที่จัตุรัสเทียนอันเหมินขณะนั่งมองนักท่องเที่ยวคนนั้น ผมคงจำไม่ได้ว่าตัวเองก็เคยเซลฟี่กับพระราชวังต้องห้ามมาแล้ว แม้ผมเองจะไม่แน่ใจถึงคุณภาพของความทรงจำของตัวเองเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็ได้จำตัวเองในแบบที่เคยเป็นบ้าง คือระลึกได้ว่าเมื่อก่อนตัวเองก็บ้าเซลฟี่ (และปัจจุบันก็ยังคงเป็นบ้าง)
หากเราไม่อาจจดจำตัวเราอย่างที่เราเป็น แต่จดจำตัวเองในฐานะคนที่เราอยากเป็น ก็เท่ากับว่าเราโกหกตัวเองโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะหาความจริงได้จากที่ใดบนโลกใบนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Koutstaal, Wilma & Schacter, Daniel & K. Johnson, Marcia & Galluccio, Lissa. (1999). Facilitation and impairment of event memory produced by photograph review. Mem. Cogn. 27. 478-493. 10.3758/BF03211542.
[2] Sung, Y., Lee, J.-A., Kim, E., & Choi, S. M. (2016). Why we post selfies: Understanding motivations for posting pictures of oneself. Personality and Individual Differences, 97, 260-265. doi:https://doi.org/10.1016/j.paid.2016.03.032
[3] Tamir I.D., Templeton E.M., Ward A.F., Zaki J. (2018). Media usage diminishes memory for experiences. Journal of Experimental Social Psychology, Volume 76, 2018, Pages 161-168, ISSN 0022-1031, https://doi.org/10.1016/j.jesp.2018.01.006.
[4] https://insights.newscred.com/data-from-10000-articles-prove-that-content-marketing-really-does-work/
[5] https://blog.hootsuite.com/ideal-social-media-post-length/