ใช่สิ! เป็นคนดีมันไม่มีที่ยืน
อืม แต่จริงๆ ก็มีที่ยืนแหละ แต่ยืนอยู่ในโซนสยองขวัญชื่อ ‘Friendzone’ พื้นที่ของผู้ชายดีๆ ที่สาวๆ จะมอบตำแหน่งที่ผู้ชายหลายคนหวาดกลัว ตำแหน่ง ‘เพื่อน’ หรือ ‘พี่ชาย’ ที่แสนดี
เป็นคนดีแล้วมันผิดตรงไหน! เป็นคนดี แล้วไม่อยากเป็นเพื่อน! ไม่อยากเป็นพี่! แค่เป็นคนดีที่อยากได้ใจ อยากเป็นแฟน อยากเป็นคนรัก เสร็จแล้วก็ยังไง ถึงเวลาก็ไปชอบพวกร้ายๆ แล้วก็อกหัก แล้วใครล่ะที่ปลอบ ก็ไอ้เพื่อน ไอ้พี่ ที่มีใจ มีความห่วงใยให้ เป็นคนที่คอยอยู่รอบๆ คอยปลอบ คอยดูแล! สุดท้ายเขาก็มองข้ามไป หัวใจก็เจ็บไปสิ เป็นคนดีนี่มันร้าวจริงๆ
ทำไมโลกถึงได้น่าเวียนหัวขนาดนี้ คือเราก็ส่งเสริมให้คนเป็นคนดีเนอะ สำหรับผู้ชาย การเป็นคนอบอุ่น ให้เกียรติ เทคแคร์ดูแล สุภาพ เรียบร้อย ใจกว้าง ชอบช่วยเหลือคนอื่น มีความรับผิดชอบ ก็ดูเป็นคุณสมบัติที่ดี ที่ว่าเอ้อ คนรักของเราจะฝากผีฝากไข้ได้ แต่สุดท้ายในแง่ของการตกหลุมรัก ‘ผู้ชายแสนดี’ ที่อยู่รอบๆ ตัวเธอเหมือนเป็นอากาศธาตุ มีภาวะยิ่งกว่าผีและวิญญาณ ยากมากที่เธอจะหันมามองแล้วพบว่า นี่ไง ความรักและคนที่เธอตามหามันอยู่ใกล้ตัวเธอมาตลอด มันอยู่ภายใต้คำว่า ‘เพื่อน’ คำว่า ‘พี่ชาย’ ไง
ไนซ์ แปลว่า ดี ที่จริงๆ อาจจะไม่ค่อยดี?
เรื่องคนดีไม่มีที่ยืน(ในแง่ของความรัก) เป็นปริศนาหนึ่งของโลก นักวิชาการเองก็ครุ่นคิดและลงไปศึกษาว่า ‘ดี’ แล้วมันไม่ดียังไงหนอ Edward S. Herold และ Robin R. Milhausen จาก University of Guelph ประเทศแคนาดา ทำการศึกษาสาวๆ ในการเลือกหนุ่มๆ จากนิยามระหว่างหนุ่มแสนดี กับหนุ่มแสบ (bad boy) พบว่า สาวๆ เองก็เห็นด้วยว่าหนุ่มแสนดีดูจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการหาคู่รัก และมองว่าหนุ่มแสนดีนั้นมีลักษณะคร่าวๆ คือ เป็นคนที่อุทิศตัว ดูแลเอาใจใส่ และเคารพให้เกียรติผู้หญิง แต่อีกด้านก็มองหนุ่มแสนดีในลักษณะแง่ลบคือ น่าเบื่อ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองและไม่ดึงดูดใจ
Jensen-Campbell เป็นอีกหนึ่งคนที่สนอกสนใจว่าไอ้ความ ‘แสนดี’ หรือ niceness จริงๆ แล้วมันดีหรือไม่ดีกันแน่ โดยพี่แกก็อธิบายว่า ความแสนดีมันประกอบด้วยคุณสมบัติใหญ่ๆ สองข้อคือ agreeableness หากแปลเป็นไทยจะกินความกว้างๆ ประมาณว่า เป็นคนที่ตกลงกันได้ เข้าอกเข้าใจ อบอุ่น คิดถึงคนอื่น ใจดี กับอีกข้อคือ altruism ไม่เห็นแก่ตัว โอบอ้อมอารี คิดถึงแต่คนอื่น (selfless) ซึ่งผลของการศึกษาของพี่แกในปี 1995 บอกว่าคุณสมบัติที่ดูสมบูรณ์พร้อมที่ว่ามันดันมากับการยอมเป็นผู้ตาม ดังนั้นนักวิจัยเลยบอกว่าคุณสมบัติแง่บวกมันโอเค เป็นที่ปรารถนา แต่จะดีมากถ้าเป็นคนดีแถมความเป็นผู้นำ เป็นคนมั่นใจในตัวเองด้วย ก็ทำให้หนุ่มแสนดีมีโอกาสมากขึ้น
ดีก็คือดีสิ งานวิจัยบอกว่า สาวๆ ก็เลือกคนดีแหละ
ต่างคนต่างก็สงสัย ว่าทำไมการที่เรามีคนน่ารักๆ ที่ดีกับเรา ดีกับคนอื่นอยู่เสมอ แล้วจะไม่ได้รับรักจริงหรือ นักวิจัยลงไปศึกษาแล้วก็พบว่า สาวๆ พอถึงขั้นเลือกชายหนุ่มเพื่อความสัมพันธ์ระยะยาว ‘คนน่ารัก’ ที่ใจกว้าง ชอบแบ่งปัน ก็เป็นคนที่สาวๆ จะเลือกมากกว่าหนุ่ม Bad boy
Pat Barclay อาจารย์จากภาควิชาจิตวิทยา University of Guelph บอกว่าเป็นคนคิดถึงคนอื่นมันไม่ดีตรงไหน ไม่จริง เลยออกมาทำการศึกษาว่าคุณสมบัติของหนุ่มแสนดี จริงๆ แล้วเป็นคุณสมบัติที่ทำให้สาวๆ มอบหัวใจให้ได้เหมือนกัน งานศึกษาของ Barclay พบว่า ชายหนุ่มที่แสดงออกถึงคุณสมบัติประเภทที่ว่าใจกว้าง ชอบช่วยเหลือคนอื่นดูจะประสบความสำเร็จในการเดทและการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว มากกว่าพวกที่ไม่ค่อยใยดีกับคนอื่น
นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาอื่นๆ ที่สนับสนุนว่า โอเคถึงสาวๆ จะสปาร์คกับหนุ่ม bad boy แต่พอถึงจุดที่เธอจะเลือกลงหลักปักฐานแล้ว เธอส่วนใหญ่ก็จะเลือกผู้ชายที่มีมีคุณสมบัติแบบหนุ่มแสนดี พอจะสร้างครอบครัวเพื่อความสุขระยะยาว คุณสมบัติของการเป็นพ่อและหัวหน้าครอบครัวที่ดีอย่างการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งแน่ล่ะหนุ่มๆ ที่แสนดีทั้งหลายถึงจะไม่ได้เปลี่ยนคนรักหวือหวา แต่สุดท้ายต่างก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์ระยะยาวได้
ดังนั้นความเชื่อที่แย่ๆ ว่า ‘การเป็นคนดี’ เป็นคนที่แคร์ ใส่ใจ และช่วยเหลือคนอื่นดันกลายเป็นคุณสมบัติแง่ลบ ไม่ประสบความสำเร็จในความรัก จริงๆ ก็ไม่เชิง เพราะในที่สุดแล้วการเลือกคนที่เรารัก ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องการคนที่ ‘น่ารัก’ เป็นคนมั่นคง คนที่เป็นผู้ให้มากกว่า
โดยรวมแล้ว หนุ่มแสนดี หรือแม้แต่คนทั่วไปที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ทำเรื่องดีต่างๆ ให้ ไม่คอยวิ่งหนีเรา บางทีเราก็เผลอแปะป้ายว่าไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเรามองไปรอบๆ ตัว การกระทำ ‘ดีๆ’ ที่ไม่น่ายี้พวกนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า #รักอยู่รอบตัวเรา บางทีเราอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดา
ซึ่งจริงๆ การมีคนน่ารักๆ ที่แอบให้ความรักใกล้ตัว เป็นเรื่องที่พิเศษออก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Dating preferences of university women: An analysis of the nice guy stereotype
Altruism as a courtship display: Some effects of third-party generosity on audience perceptions