มนุษย์เปลี่ยนสุนัขป่าที่ดุร้าย โดยเลี้ยงให้เชื่องเป็นเวลากว่า 10,000 ปีแล้ว แต่จุดเริ่มต้นอย่างไรนั้น ยังคงเป็นปริศนาที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์น้อยเหลือเกิน ปัจจุบันงานวิจัยที่ใช้เวลา 6 ทศวรรษของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในไซบีเรีย พยายามหาคำตอบของร่องรอยที่เลือนราง โดยพวกเขาตัดสินใจเลี้ยง ‘จิ้งจอกป่า’ รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนสุนัขจิ้งจอกกลุ่มล่าสุดมีพฤติกรรมดุจหมาเชื่องๆ และมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างเห็นได้ชัด
หรือมนุษย์ใช้การปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อสร้างมิตรภาพข้ามสปีชีส์กว่าหมื่นๆปีแล้ว?
เราทำมันได้อีกครั้งไหม?
ความรับผิดชอบครั้งสำคัญ
ในวรรณกรรมร่วมสมัยเรื่อง เจ้าชายน้อย (Little Prince) สุนัขจิ้งจอกเตือนเจ้าชายน้อยด้วยประโยคที่ลึกซึ้งว่า
“เธอจะต้องรับผิดชอบตลอดกาล กับสิ่งที่เธอทำให้เชื่อง”
ความผูกพันและความเชื่อใจเป็นหมุดหมายสำคัญที่มนุษย์จะเปิดรับสิ่งอื่นเข้ามาในชีวิต แต่หากตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วคุณก็จะต้องรับผิดชอบผลกระทบที่ตามมาตลอดกาล และในที่นี้อาจลึกไปถึงระดับพันธุกรรมซึ่งมนุษย์เองมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสัตว์สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งไปตลอด
เหมือนอย่างที่ Lyudmila Trut นักพันธุศาสตร์สูงอายุชาวรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพันธุกรรมและวิวัฒนาการจากสถาบัน Cytology and Genetics ในไซบีเรีย ซึ่งเธอต้องรับผิดชอบตลอดกาลตราบเท่าที่มีลมหายใจ เมื่อตัดสินใจเลี้ยงสุนัขจิ้งจอกกลุ่มหนึ่งให้เชื่อง โดยใช้เวลากว่า 6 ทศวรรษ เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์สุนัขป่ารุ่นแล้วรุ่นเล่า เป็นครั้งแรกที่วิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของสัตว์กลุ่มสุนัข โดยเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในอายุขัยของพวกเรา เหมือนอย่างที่บรรพบุรุษมนุษย์เคยทำสำเร็จเมื่อ 10,000 ปีก่อน แต่ครั้งนี้อาจเห็นผลเร็วกว่า
ย้อนไปปี 1959 Lyudmila เดินทางด้วยรถไฟไปดินแดนไซบีเรียอันไกลโพ้นและหนาวเหน็บ เพื่อติดต่อกับฟาร์มสุนัขจิ้งจอกแห่งหนึ่ง โดยปกติสุนัขจิ้งจอกในแถบนี้ถูกเลี้ยงเพื่อสังหารเอาขนมาทำเครื่องนุ่งห่มหรือเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เนื่องจากขนมีคุณภาพดี นุ่ม ให้ความอบอุ่นจนมนุษย์นิยมล่าจิ้งจอกเพื่อเอาขนมาใช้ประโยชน์มากกว่า
แต่ Lyudmila ไม่ได้มาด้วยวัตถุประสงค์เหมือนคนทั่วไป เธอมีภารกิจงานวิจัยที่ปัจจุบันก็ยังเป็นข้อถกเถียงอันเผ็ดร้อนในแวดวงนักวิชาการถึงหลักจริยธรรม เพราะเธอวางแผนจะเลี้ยงสุนัขป่าให้เชื่อง ลดความดุร้ายในสัญชาตญาณลง ทำให้มันคุ้นเคยที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์ ซึ่งในกรณีสุนัขจิ้งจอกเงิน (Silver Fox) นับว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดุร้ายและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเกษตรกรมาอย่างยาวนาน จากพฤติกรรมนักล่าที่ย่องเข้ามาขโมยไก่หรือลูกแกะไปกินเป็นประจำ
Lyudmila ทำงานร่วมกับนักชีววิทยาวิวัฒนาการ Lee Alan Dugatkin เพื่อจำลองกระบวนการที่มนุษย์เลี้ยงสุนัขป่าในอดีต โดยไปปรับเปลี่ยนวงจรวิวัฒนาการของสุนัข จนปัจจุบันสังคมมนุษย์มีสุนัขบ้านเป็นร้อยๆ สายพันธุ์ที่มีลักษณะจำเพาะอันเกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์โดยฝีมือมนุษย์
โครงการวิจัยชิ้นนี้ จึงไม่ใช่งานสนุกที่ทำอยู่กับสัตว์น่ารัก (อย่างน้อยก็ในช่วงแรก) มันเป็นงานที่เสี่ยงและเต็มไปด้วยข้อจำกัดทุกมิติ นอกจากต้องระวังคมเขี้ยวของเหล่าจิ้งจอกแล้ว การศึกษาด้านพันธุศาสตร์ในสังคมโซเวียตสมัยนั้นดำเนินไปด้วยความยากลำบากในการขออนุญาตหรือของบสนับสนุน นักวิจัยต้องเจอข้อจำกัด แต่ต้องให้ได้ผลลัพธ์เร็วที่สุด อย่างน้อยก็ต้องภายในศตวรรษเดียว
ทำให้เชื่องไปถึงแก่น
Domestication Experiment หรือการทดลองเพื่อปรับสัตว์ป่าให้เป็นสัตว์เลี้ยงด้วยความเร็วสูง มีกระบวนการที่ละเอียดอ่อนในการคัดเลือกสายพันธุ์ของสัตว์ที่จะเลี้ยง ในอดีตไอเดีย Domestication Experiment ถูกบุกเบิกโดยนักชีววิทยาชั้นแนวหน้าชาวรัสเซีย Dmitry Belyaev โดยเขามีพื้นฐานง่ายๆ ที่ต้องการ ‘ดึงความเป็นสุนัขออกจากจิ้งจอก’ นั่นคือการคัดเลือกคุณลักษณะเชิงบวกต่อมนุษย์ หากมันแสดงออกตามเป้าประสงค์ที่เราต้องการแล้ว ภารกิจ Domestication ก็จะสำเร็จลุล่วงโดยใช้ระยะเวลาสั้น เพียงไม่กี่รุ่นก็ทันเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์แล้ว
สมมติฐานค่อนข้างง่ายและตรงไปตรงมา ในกรอบของวิวัฒนาการเบื้องต้น มนุษย์เลือกเลี้ยงสัตว์ให้เชื่องโดยคัดสรรสายพันธุ์ที่ดุร้ายน้อยที่สุดเสมอ ไม่เป็นภัยสำหรับเรา และมันต้องไม่หวาดกลัวเราจนควบคุมไม่ได้
มันจึงไม่เหมือนการที่ละครสัตว์เลี้ยงเสือ สิงโต หรือหมี ที่เอามาแสดงโชว์โดยผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเข้าใจความดุร้ายของสัตว์เป็นพิเศษ แต่สัตว์เองต้องเข้าได้กับคนทั่วๆไปที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนของคุณก็ต้องกล้าคลุกคลีกับสัตว์ได้โดยไม่บาดเจ็บเสียก่อน
การ Domesticating คือการดึงคุณสมบัติของสัตว์ที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด เช่น สุนัขเพื่อช่วยออกล่า คุ้มกัน และเป็นเพื่อนเล่น ม้าเพื่อใช้แรงงานขี่หรือลากจูง วัวเลี้ยงเพื่อเอานมและเนื้อ แมวเลี้ยงคลายเหงา
อย่างไรก็ตามเมื่อสัตว์อยู่ภายใต้อิทธิพลของมนุษย์ก็จะแสดงออกทางกายภาพที่เรียกว่า Domestication Syndromes เช่น หางม้วนเป็นพวง หูนุ่มนิ่ม เปลี่ยนสีขน ตาโต จมูกบี้ ใบหน้ายังเหมือนเยาว์วัยตลอดแม้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และเริ่มผสมพันธุ์ที่ไม่อิงกับฤดูกาล
สัญญาณเชื่องในรุ่นที่ 6
ทุกๆ ปีทีมวิจัยจะคัดเลือกสุนัขจิ้งจอกจำนวน 100 ตัว เข้าสู่สถาบันวิจัยในไซบีเรีย แน่นอนพวกมันดุร้าย และไม่ไว้ใจมนุษย์ ทีมวิจัยจะเลือกตัวที่ดุน้อยที่สุด โดยการประเมินความนิ่งเป็นคะแนน 0 – 10 จากน้อยไปหามาก เช่น เมื่อเดินเข้าไปในกรงพร้อมกับไม้ ตัวไหนมีท่าทีนิ่งมากที่สุดก็จะเข้ารอบ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยมากๆ
สุนัขจิ้งจอกจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ได้ตาใสซื่อ พวกมันดุร้ายเป็นมังกรขนาดย่อมๆ (เธอเรียกมันว่า Little Dragons) แต่ตัวที่สงบกว่าจะถูกคัดเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในรุ่นถัดไป โดยป้องกันการผสมพันธุ์กับกลุ่มที่ดุร้าย หรือในเครือญาติเดียวกัน เพื่อป้องกันความบกพร่องใน Gene pool ของสุนัขจิ้งจอก ทำให้การเลี้ยงเป็นไปได้ยากกว่าเดิม
แม้กลุ่มที่เชื่องที่สุด ก็ยังไม่กล้าเข้าใกล้มนุษย์ พวกมันขู่และแยกเขี้ยวหากล้ำอาณาเขตเกินไป ในรุ่นแรกๆ Lyudmila Trut พยายามให้พวกมันชินกับหน้าตาและกลิ่นของมนุษย์ก่อนโดยไม่เร่งเร้ามาก หลังจากนั้นความเปลี่ยนแปลงเริ่มสังเกตได้ในรุ่นที่ 6 เมื่อลูกจิ้งจอกเริ่มอยากเล่นกับทีมวิจัย ร้องคราง ชอบให้ลูบขน เหมือนลูกหมา
นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่า พวกเขาได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่องใน Gene Pool ของจิ้งจอกสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว
ลูกจิ้งจอกรุ่นที่ 6 น่ารักน่าชัง มันกล้าเข้าใกล้มนุษย์มากขึ้นโดยส่ายหางไปมา เรียกแล้วหันมอง แถมยังร้องครางหงิงๆ ทีมวิจัยนำเสนอรายงานในวารสาร Bioessays ในปี 2009 ว่า พวกเขาคัดเลือกสายพันธุ์เชื่องในจิ้งจอกโดยเรียกพวกมันว่ากลุ่ม Elite ซึ่งมีสมาชิกเพียง 2 % จากจำนวนทั้งหมดในรุ่นที่ 6 (ปัจจุบันในสถาบันมีจิ้งจอกกลุ่ม Elite ถึง 70%)
Elite คือจิ้งจอกที่มีคุณลักษณะทางสายพันธุ์ที่พวกเขาต้องการ ตอบสนองต่อคำสั่ง ลูกจิ้งจอกลืมตาดูโลกก่อนจิ้งจอกปกติ 1 วัน และกล้าทำความรู้จักกับมนุษย์มากกว่าญาติๆ ของพวกมัน มีหางเป็นพวงในในรุ่นที่ 13 และรุ่นถัดๆ ไปก็เชื่องจนเกือบจะคล้ายสุนัข
กลุ่ม Elite อยู่เป็นกับมนุษย์ พวกมันทำตัวน่ารักน่าชังเพื่อให้ได้รับการเอาใจใส่ดูแลยิ่งขึ้น แต่ความสงสัยของทีมนักวิจัยยังมีมากกว่านั้น พวกเขาทดลองว่า ตัวอ่อนของกลุ่ม Elite ที่เชื่องมนุษย์ เมื่ออยู่ในท้องแม่จิ้งจอกที่ดุร้าย ลูกที่ออกมาจะยังเชื่องอยู่หรือเปล่า?
ฝากความเชื่องไว้ในครรภ์
พวกเขาจึงวิจัยจิ้งจอกในระยะตัวอ่อน (Embryo) โดยคัดตัวอ่อนในพ่อแม่รุ่นที่เชื่องแล้ว จากกลุ่ม Elite ไปฝากตัวอ่อนในครรภ์ของจิ้งจอกที่ยังดุร้าย เพื่อทำหน้าที่ ‘อุ้มบุญ (Surrogate mothers)’ เพื่อวิเคราะห์ว่า ลูกที่ออกมาจะมีอุปนิสัยใจคออย่างไร ผลปรากฏว่า ลูกจิ้งจอกมีนิสัยเชื่องมนุษย์เหมือนพ่อแม่ต้นกำเนิด หรือหมายความว่า ความเชื่องนั้นอยู่ในระดับพันธุกรรมของจิ้งจอกแล้ว จากการตรวจสอบระดับ DNA พบ ‘โครโมโซม 12’ ของจิ้งจอกในกลุ่ม Elite ทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมถึงสัญญาณเชื่องที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น
ท้ายที่สุดจิ้งจอกในกลุ่ม Elite จึงพร้อมที่จะเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับครอบครัวที่พร้อมเลี้ยงดู แม้พวกมันจะมีสัญชาตญาณนักล่ามากกว่าสุนัขทั่วไป แต่ก็ไม่ดุร้ายหากเทียบกับจิ้งจอกที่พบในป่า สามารถเอามาเลี้ยงในบ้านได้ และคลุกคลีกับเพื่อนมนุษย์โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึงศตวรรษ นับเป็นความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจพันธุศาสตร์และวิวัฒนาการครั้งสำคัญ เมื่อความรู้เหล่านี้สามารถเร่งวิวัฒนาการได้อย่างรวดเร็ว
แม้แม่จิ้งจอก Trut จะทำงานวิจัยมานานกว่า 60 ปี จนเธอมีอายุกว่า 80 แล้ว แต่โครงการวิจัยยังดำเนินต่อไป จนสภาพแวดล้อมในที่ทำงานได้เปลี่ยนเป็นชุมชนย่อมๆ ที่มีนักวิจัยรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน และเผยแพร่องค์ความรู้ไปยังประเทศอื่นๆ ที่สนใจการ Domesticate ที่น่าทึ่งที่สุดในศตวรรษ
โครงการวิจัยยังจำหน่ายลูกจิ้งจอกในเชิงการค้าสำหรับผู้สนใจเลี้ยงเหล่าจิ้งจอก เพื่อนำเงินมาจุนเจือโครงการต่อ แม้พวกมันจะไม่ได้แสนรู้เท่าสุนัขหรือฟังคำสั่งได้อย่างเคร่งครัด แต่น้อยคนจะอดใจไหวเมื่อเผชิญหน้ากับความน่ารักและนิสัยแสนป่วนเล็กๆ
อย่างน้อยคุณก็คงอยากรู้ว่า การนอนหนุนจิ้งจอกเชื่องๆ มันจะให้ประสบการณ์แปลกใหม่ขนาดไหน
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราพยายามเปลี่ยนธรรมชาติไปอย่างถาวร เราทุกคนล้วนมีหน้าที่เป็นเจ้าชายน้อยที่ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา
“เธอจะต้องรับผิดชอบตลอดกาล กับสิ่งที่เธอทำให้เชื่อง” จิ้งจอกกล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก
How to Tame a Fox (and Build a Dog): Visionary Scientists and a Siberian Tale of Jump-Started Evolution
Cover Illustration by Manaporn Srisudthayanon