สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวร้านราเม็งในไต้หวันเสิร์ฟราเม็งด้วยไอโซพอตยักษ์ สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่หน้าตาเหมือนหลุดมาจากนอกโลก ราเม็งจานนั้นเลยดูเหมือนเป็นอาหารที่เสิร์ฟอยู่บนดาวดวงอื่น ดูแปลกประหลาด และน่าขนลุก แต่ก็ดูเป็นอาหารที่เหมือนจะมาจากโลกอนาคตซึ่งเสิร์ฟด้วยวัตถุดิบดึกดำบรรพ์
อันที่จริง เมื่อวางไอโซพอดลงบนจานทั้งตัวก็ดูหลอนอยู่ แต่ด้วยตัวมันเองที่เป็นสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง ทางร้านบอกว่ามีรสชาติคล้ายๆ กุ้ง ปู และไข่ปู อีกด้านคือเจ้าไอโซพอดนั้นไม่ได้มีมากนัก ถ้าย้อนมองมาแถวบ้านเรา เราเองก็มีแมงดาทะเลที่หน้าตาคล้ายกับเอเลี่ยน รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่หาง่ายและถูกนำมากินเป็นเรื่องธรรมดา
ว่าด้วยอาหารแห่งอนาคต (Future Food) มนุษย์อย่างเราๆ ก็กำลังกังวลกับประเด็นเรื่องความขาดแคลนอาหาร เรามีประเด็นเรื่องประชากรที่มากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง สภาพอากาศแปรปรวน ไปจนถึงจินตนาการถึงความเป็นอยู่และอาหารการกินของเราอาจเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้นี้ ประเด็นเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร รวมถึงการมองหาอาหารที่มีประสิทธิภาพในนามอาหารแห่งอนาคต ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์เรากำลังพยายามค้นหาทางออก หรือหาทางรอดเผื่อไว้จากวิทยาการและความรู้ของเราเอง
หากไม่ใช่ไอโซพอด เราเองจะรับได้ไหมถ้าต้องมีวัตถุดิบใหม่เหล่านี้ขึ้นมาอยู่บนจานอาหาร นี่คือวัตถุดิบใหม่ที่กำลังจะขึ้นมาบนจานอาหารของเรา เป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ เติบโตไว ใช้พื้นที่น้อย หรืออาจสร้างขึ้นได้ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์
แมลง โปรตีนใกล้ตัวแต่อาจยังไม่พร้อม
แมลงเป็นอาหารที่ใกล้ตัวเรา แน่นอนว่าแมลงอย่างจิ้งหรีดและหนอนไหม เป็นสิ่งมีชีวิตที่โตและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับแมลงยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เป็นโปรตีนชั้นยอดและไขมันต่ำ เต็มไปด้วยกรดอะมิโนและแร่ธาตุหลายชนิด การเลี้ยงและผลิตแมลงในฐานะวัตถุดิบอาหารเมื่อเทียบกับโปรตีนประเภทอื่นๆ มีความยั่งยืนกว่า ใช้พื้นที่น้อย ปล่อยคาร์บอน ฟุตพริ้นท์น้อยกว่า แต่ว่าแมลงก็ยังนับเป็นหนึ่งในอาหารแปลกที่เราอาจจะกินเพื่อท้าทายตัวเอง หรือไม่ก็เป็นของว่างซึ่งนานๆ กินที โดยยังไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารในชีวิตประจำวัน
แม้ว่าเราจะพูดถึงแมลงในฐานะอาหารและธุรกิจอาหารแห่งอนาคต มีงานศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในบาร์เซโลนาในสเปน ทำแบบสำรวจและพบว่าเกือบทั้งหมด (82%) ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่ายังไม่พร้อมที่จะนำแมลงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาหารในชีวิตประจำวัน เหตุผลก็มีตั้งแต่ยังรู้สึกขยะแขยง ไม่ชิน และไม่มั่นใจเรื่องความสะอาด
สำหรับการผลักดันแมลงไปสู่การเป็นอาหารจานหลักก็ค่อนข้างคึกคัก มีการสนับสนุนเงินทุนผ่านกฎหมายรับรองความปลอดภัยและคุณค่าทางอาหาร ด้วยผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงทั้งจากสหภาพยุโรปและในอังกฤษ สิงคโปร์ก็ให้เงินสนับสนุนในกิจการและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับโปรตีนจากแมลง สำหรับผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยเองก็มีการวิจัย เช่น ผงโปรตีนจากแมลง ในต่างประเทศมีการเริ่มผลิตเส้นพาสต้า ซอส อาหารเสริมและอื่นๆ รวมไปถึงร้านอาหารก็มีธีมและพยายามนำแมลงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารการกินในชีวิตประจำวัน
สาหร่าย สิ่งมีชีวิตเรียบง่ายที่ทั่วโลกจับตา
หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติประเมินว่า โลกกำลังสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกจากสาเหตุต่างๆ เช่น การขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ และการสูญเสียคุณภาพของดิน ดังนั้น เกษตรกรรมและอาหารทางเลือกประเภทพืช จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เรากำลังพยายามมองหาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับมนุษย์ หนึ่งในดาวเด่นก็คือเจ้าพืชตระกูลสาหร่ายหรือ Algea สิ่งมีชีวิตสีเขียวและสีฟ้าที่ล่องลอยและเติบโตอยู่ในน้ำ
เจ้าสาหร่ายเหล่านี้ จริงๆ แล้วเป็นวัตถุดิบทางอาหารที่เราคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน เป็นพืชน้ำที่ไม่มีใบ ไม่มีราก ไม่มีลำต้น มีคลอโรฟิลล์ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง และให้ออกซิเจนทั้งกับน้ำและกับอากาศรอบๆ ตัวของมัน สาหร่ายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียบง่าย เลี้ยงในน้ำ มีโปรตีนสูง มีไขมันที่ดี และอุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินบี วิตามินเค ธาตุเหล็ก แคลเซียม และอื่นๆ ในโลกนี้มีสาหร่ายอีกนับพันที่นักวิจัยระบุว่าพวกมันเป็นอนาคตของอาหารที่ดี และมนุษย์ควรจะบริโภคพวกมันมากขึ้น
แน่นอนว่าการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในฐานะแหล่งโปรตีนที่ได้จากพืช และให้โปรตีนสูงเมื่อเทียบกับโปรตีนจากพืชอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง ทั้งยังใช้พื้นที่น้อยในการเพาะเลี้ยง นอกจากนี้ นักวิจัยที่ศึกษาพวกสาหร่ายยังชี้ให้เห็นว่า พวกมันมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถช่วยดึงแร่ธาตุออกจากน้ำ ทำให้นำมาเข้าร่วมในระบบเกษตรกรรมเพื่อช่วยทำความสะอาดน้ำเสียและดูแลแหล่งน้ำได้ ประเทศไทยเราเองก็มีกระแสและการกินสาหร่าย เช่น ไข่ผำ วัชพืชซึ่งกลายเป็นวัตถุดิบที่ช่วยเพิ่มรสชาติและคุณค่าให้อาหาร
เนื้อบนจานเพาะ ความท้าทายจากวิทยาศาสตร์
ในยุคหนึ่ง เนื้อสัตว์นั้นมาจากสัตว์จริงๆ แต่ปัจจุบันเนื้อสัตว์อาจจะมาจากจานเพาะ เนื้อจากห้องแล็บหรือเนื้อเพาะขึ้นอาจเป็นอีกหนึ่งอนาคตที่ท้าทายความคิดและการกินอาหารของเรา Lab- grown meat เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่โลกวิทยาศาสตร์เพาะเซลล์เนื้อสัตว์ขึ้น โดยใช้สเต็มเซลล์ตั้งต้น มาเลี้ยงเซลล์ให้เนื้อเหล่านั้นโตขึ้นบนจานเพาะในห้องแล็บตามชื่อ
อันที่จริง เนื้อจากห้องแล็บค่อนข้างเป็นกระแสและเกิดสตาร์ตอัปขึ้นมาอย่างมากมาย ทว่าปัจจุบันเนื้อจากห้องแล็บก็ยังไม่เป็นสินค้าที่เราจะพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน โดยเนื้อเพาะจากแล็บนี้ เมื่อย้อนไปในปี 2012 ต้นทุนการผลิตเนื้อจากจานเพาะยังมีต้นทุนที่สูงมากราว 300,000 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งปอนด์ แต่ด้วยนวัตกรรมที่ก้าวหน้าขึ้นก็คาดกันว่าต้นทุนของเนื้อจากห้องแล็บจะลดลง จนทำให้แฮมเบอร์เกอร์ขนาด 5 ออนซ์ มีต้นทุนที่ 11 เหรียญสหรัฐ
ประเด็นเรื่องเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายจากนวัตกรรมและโลกวิทยาศาสตร์ เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงและฆ่าสัตว์อย่างที่เราเคยทำมา ในแง่ของสิ่งแวดล้อม เนื้อสัตว์จากห้องแล็บก็ค่อนข้างใช้พื้นที่น้อยกว่า ปล่อยก๊าซเสียน้อยกว่า และดูเป็นทางเลือกที่มีมนุษยธรรมมากกว่า เนื้อบนจานเพาะทำให้เราสามารถเพาะเนื้อสัตว์ได้ ในฝรั่งเศสก็มีสตาร์ตอัปที่ทดลองเพาะฟัวกราส์ขึ้นในห้องแล็บ ซึ่งนวัตกรรมการเพาะนี้อาจเพาะเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่หายากหรือแปลกประหลาดได้
ในแง่ของกิจการ เมื่อปี 2020 สิงคโปร์เป็นชาติที่รับรองเนื้อไก่เพาะจากห้องแล็บ โดยรับรองผลิตภัณฑ์นักเก็ตจากบริษัทสตาร์ตอัป Eat Just แต่ตัวนักเก็ตไก่นี้ก็ยังไม่ปรากฏการวางจำหน่ายทั่วไป มีการนำไปปรุงขายในร้านอาหารหรูเป็นการเฉพาะเท่านั้น
จากไอโซพอดที่ได้รับฉายาและมีหน้าตาที่ดูเป็นอาหารแปลกๆ ในฐานะอาหารจากอนาคต จึงเป็นประเด็นอาหารที่สัมพันธ์กับหลายประเด็น ความวิตกต่อความเพียงพอของอาหาร การเปลี่ยนแปลงของการเพาะปลูก ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิด การแสวงหาอาหารการกินใหม่ๆ ที่ส่งผลดีทั้งต่อเรา ต่อโลก กระทั่งต่อความอยู่รอดของมนุษย์ในวิกฤตต่อๆ ไป
เพื่อการอยู่รอดหรือเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เราพร้อมหรือยังที่จะมีอาหารจากส่วนผสมของผงแมลง จากการกินอาหารจากสาหร่าย จากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาจเป็นคำตอบใหญ่ๆ หรือเนื้อสัตว์ที่มาจากจานเพาะเชื้อ หนึ่งในอาหารซึ่งดูจะเป็นอาหารแห่งอนาคตที่จะขยายจินตนาการ และชวนตั้งคำถามกับอาหารการกินและจริยธรรมของเราต่อไป
อ้างอิงจาก