‘แค่อยู่กับที่ก็ถอยหลังแล้ว’ ไม่ใช่คำพูดเกินจริงสำหรับยุคสมัยนี้ ที่เทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ตื่นเช้า หยิบมือถือมาดู อ้าว.. เฟซบุ๊กเปลี่ยนหน้าตาอีกแล้ว, เปิดอ่านข่าว อ้าว.. AI ทำนู่นนี่นั่นได้แล้ว, ไหนจะวิธีคิดหรือสกิลใหม่ๆ ที่งอกเงยตามมา เพื่อแนะนำ (แกมบังคับ) ให้ผู้ใช้อย่างเราต้องเรียนรู้และตามให้ทันเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาในโลกที่เทคโนโลยีอัพเดทอยู่แทบทุกนาที คือทักษะและความรู้ของคนทำงานที่อัพตามไม่ทัน จนเกิด ‘Skill Gap’ หรือการที่คนทำงานมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับที่องค์กรต้องการ เพราะกว่าจะเรียนจบ สิ่งที่เรียนมา ก็ล้าสมัยไปหมดแล้ว
สิ่งที่สถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ พยายามทำเพื่อแก้ปัญหาอยู่ก็คือการหาวิธี Upskill และ Reskill เพื่อ ‘อัพเกรด’ ทั้งคนที่กำลังจะทำงาน คนที่เพิ่งทำงานใหม่ๆ และคนที่ทำงานอยู่เดิม มีทักษะที่ทันยุคสมัยและใช้ได้จริงในงานที่ตัวเองทำ
อะไรที่ต้องเรียนรู้ในยุคนี้?
Tim Ferriss นักคิด นักเขียน และนักลงทุนระดับโลกเคยบอกว่า เป้าหมายการเรียนรู้ของเขาคือ “การเรียนอะไรก็ได้ ที่เรียนแค่ครั้งเดียว แล้วใช้ได้ตลอดชีวิต” (My goal is to learn things once and use them forever.) ซึ่งในบริบทของโลกที่มีการ ‘อัพเดท’ ตลอดเวลา และสามารถ ‘เสิร์ช’ หาสิ่งต่างๆ ได้ภายในไม่กี่วินาทีจากบนหน้าจอ การเรียนรู้ในยุคสมัยนี้จึงควรมุ่งไปที่ ‘ทักษะ’ (Skill) มากกว่า ‘องค์ความรู้’ (Knowledge)
เมื่อต้นปี 2019 ‘LinkedIn’ แพลตฟอร์มที่รวมตำแหน่งงานและประวัติคนทำงานไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้ทำการวิเคราะห์งานนับล้านตำแหน่งที่โพสต์ลงบนแพลตฟอร์มเมื่อปี 2018 เพื่อค้นหา ‘ทักษะที่องค์กรต้องการมากที่สุด’
นี่น่าจะเป็นลิสต์ของทักษะที่เราควรเลือกจะเรียนรู้เพื่ออัพเกรดตัวเองให้ทันโลกและตลาดแรงงาน
ด้าน ‘Soft Skill’ หรือทักษะด้านอารมณ์และการอยู่ร่วมกับคนอื่นที่องค์กรต้องการมากที่สุดคือ
- ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
- ความสามารถในการโน้มน้าวชักจูง (Persuasion)
- การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)
- ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)
- การจัดการเวลา (Time Management)
Soft Skill นี้เป็นอะไรที่เรียนรู้ครั้งเดียวแล้วใช้ได้ยาวๆ แถมเหมาะมากๆ สำหรับยุคที่หุ่นยนต์และ AI จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานของมนุษย์ เพราะเป็นทักษะที่ยังไงๆ AI ก็ทำได้ไม่ดีเท่ากับมนุษย์
ส่วน ‘Hard Skill’ หรือทักษะเชิงความรู้ความเชี่ยวชาญที่องค์กรต้องการ 10 อันดับแรกคือ
- ทักษะด้าน Cloud Computing
- ทักษะด้านการใช้งานปัญญาประดิษฐ์
- ทักษะด้านการวิเคราะห์เชิงเหตุผลและการตัดสินใจด้านกลยุทธ์ (Analytical Reasoning)
- ทักษะด้านการจัดการทีม (People Management)
- ทักษะด้านการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (UX Design)
- ทักษะด้านการออกแบบแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
- ทักษะด้านการผลิตวิดีโอ (Video Production)
- ทักษะด้านการขาย (Sales Leadership)
- ทักษะด้านการแปลภาษา (Translation)
- ทักษะด้านการผลิตสื่อด้านเสียง (Audio Production)
Hard Skill ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการใช้งานบนโลกดิจิทัล รวมถึงเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี (Technology) การจัดการข้อมูล (Data) การออกแบบ (Design) และธุรกิจ (Business) มาประกอบเข้าด้วยกัน
แล้วที่เรียนมา.. ไม่เห็นใช้ได้เลย
หลายคนเห็นลิสต์แล้วอาจจะรู้สึกว่า เราอยู่คนละสายอาชีพกันเลย แต่ในโลกยุคดิจิทัลที่ทุกอย่าง ‘คอนเน็กต์’ กันหมดแบบนี้ ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องของทุกคน และไม่ว่าจะทำสายอาชีพไหนหรือระดับงานใดๆ หากไม่ ‘อัพเกรด’ ตัวเองขึ้นมา เราก็อาจจะถูก ‘แย่งงาน’ ได้ และไม่ใช่จากหุ่นยนต์ด้วย แต่จากการที่เรามีทักษะไม่เพียงพอที่จะทำงานได้ตามความคาดหวัง จนองค์กรต้องไปหาคนอื่นที่ทำได้มาแทนเรา!
การที่คนทำงานมีทักษะไม่สอดคล้องกับงานหรือ ‘Skill Gap’ นี้ OECD แบ่งไว้ 3 รูปแบบ คือ
- Qualification Mismatch : คนมีระดับวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับงาน
- Field of Study Mismatch : คนเรียนจบในสาขาที่ไม่ตรงกับงานที่ทำ
- Skills Mismatch : คนมีความสามารถไม่เพียงพอกับความต้องการขององค์กร
ซึ่งถ้ามองหาสาเหตุกันจริงๆ ก็จะย้อนกลับไปสู่ระบบการศึกษาของไทยที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเน้นการสอน ‘ทักษะ’ ไม่ได้มีกระบวนการให้ข้อมูลหรือแนะนำการเรียนรู้เพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน รวมถึงว่า แม้ตอนนี้พอจะรู้ถึงปัญหา ก็ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปการศึกษา กระบวนการผลิตทรัพยากรด้านบุคคลจึงตกที่นั่งเดิมว่า “เรียน 4-5 ปี จบมา ความรู้ที่เรียนก็ล้าสมัยเกินเอามาใช้แล้ว”
วิธีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ในรายงานเรื่อง Future of Jobs ของ World Economic Forum (WEF) บอกว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ เราต้องออกแบบวิธีการเรียนรู้กันใหม่ ถ้าจะให้ดี ทักษะความรู้ต้องเข้าถึงได้ ‘สะดวก ทุกที่ และทุกเวลา’ และวิธีการเรียนการสอน ต้องเน้นไปที่การปลูกฝังและติดตั้ง ‘ระบบความคิด’ ให้คนเรียน โดย WEF ได้แนะนำหลักการ ‘MPPG’ ที่ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา Skill Gap ที่เกิดจากเทคโนโลยีไว้ว่า การเรียนรู้ในยุคนี้ต้องมีองค์ประกอบคือ
- Mobile-first : ช่องทางเข้าถึงง่าย และออกแบบเล่าได้น่าสนใจ (ใช้ UX และ UI เข้ามาช่วย)
- Participatory : สร้างประสบการณ์ร่วมในการเรียนรู้ จะช่วยให้เกิดความ ‘อยากแชร์’ ต่อ
- Personalized : เมื่อได้รับโจทย์เฉพาะ แต่ละคนจะได้พัฒนาทักษะในการคิดแบบวิเคราะห์ (Critical Thinking) และทักษะในการตัดสินใจ (Judgement skills)
- Group-based : สร้างส่วนของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเพิ่มมุมมองใหม่และกระตุ้นการแบ่งปันไอเดีย
เราเลยพอจะเห็นความเคลื่อนไหวของหลายๆ มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนหลายแห่ง ที่มีการตั้งคอร์ส ‘เฉพาะกิจ’ เพื่อสอนทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคสมัย โดยมีให้เลือกทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงงานสัมมนาที่จะช่วยให้คนพัฒนาทักษะตัวเองได้
หนึ่งในคอร์สออนไลน์ (ฟรีด้วย) ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้คือ ‘Learning how to learn’ ที่เปิดสอนบน Coursera (coursera.org/learn/learning-how-to-learn) ซึ่งสอน ‘ฐาน’ ของการเรียนรู้สิ่งอื่นๆ เช่น เทคนิคการเรียน-พักแบบ Pomodoro (เรียน 25 นาที พัก 5 นาที สลับกันไป), การใช้ Chunking หรือแบ่งสิ่งที่อยากเรียนรู้เป็นแนวคิดย่อยๆ, หรือการจดสรุปด้วยคำของตนเองแทนไฮไลท์ เพื่อป้องกัน Illusions of Competence หรือความหลงคิดไปเองว่าตัวเองรู้อะไรแล้ว ทั้งๆ ที่อาจจะไม่รู้จริง
หรืออย่างสิ้นเดือนนี้ Skooldio โรงเรียนที่เปิดสอนสกิลที่จำเป็นสำหรับยุคสมัยนี้และในอนาคต ก็จะจัดงาน ‘Beta’ งานสัมมนาที่รวบรวมเอานักพัฒนาเทคโนโลยี (Developer) นักออกแบบ (Designer) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และผู้บริหารจัดการด้านคน (People Manager) มาแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับทักษะที่เป็นที่ต้องการสำหรับการทำงานในยุคสมัยนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนประกอบของทักษะที่ต้องการในตลาด ตามที่ LinkedIn วิเคราะห์ไว้ (ดูรายละเอียดงานได้ที่ beta.skooldio.com)
ในเมื่อโลกไม่หยุดขยับ และเทคโนโลยีอัพเกรดอยู่แทบทุกนาที เราเลยอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาอัพสกิลตัวเองให้ทันโลกด้วย
อ้างอิง :
– linkedin.com
– bot.or.th
– weforum.org