อย่าเพิ่งตกใจว่าคุณต้องใส่หน้ากาก Full Mask เบอร์นี้เพื่อเดินไปขึ้นรถเมล์ เพราะแม้ฝุ่นละออง PM2.5 จะหนักหนาสาหัส แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่คุณต้องใส่หน้ากากออกรบ หรือหากคุณใส่เล่นก็น่าจะถูกจับ เพราะเป็น ‘ยุทธภัณฑ์ทางทหาร’
แต่ทำไมหน้ากากป้องกันสารพิษถึงจำเป็น? ก็เพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่มุ่งเน้นใช้สารเคมีในการสังหารกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศเตรียมรับมือเหตุวุ่นวายด้วยนวัตกรรมที่คิดค้นได้เองในประเทศ ซึ่งไทยเองก็มีแนวโน้มเป็นพื้นที่เสี่ยงในอนาคต หากเรามีอุปกรณ์ป้องกันที่มาจากมันสมองคนไทย ผลิตได้เอง ราคาถูกกว่านำเข้า คงจะลดความเปราะบางจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้มาก ที่สำคัญนวัตกรรมนี้เกิดจากฝีมือนักวิจัยไทย 100% และมาจากวัสดุที่มีอยู่มากมายและราคาตกต่ำอย่าง ‘ยางพารา’
โครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับ กองทัพบก (ทบ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้อนุมัติโครงการวิจัยการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร
ผลงานวิจัยของ ‘อ.อ๊อด’ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะ ทำให้เราเห็นความพยายามในการคิดค้นหน้ากากป้องกันสารพิษที่มีมาตรฐานสูงในระดับสากล มีความแม่นยำในการผลิต ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความท้าทายมาก เพราะพยายามจะลดความเชื่อที่ว่า
“ประเทศไทยซื้อใช้เก่งอย่างเดียว”
The MATTER : มีความจำเป็นแค่ไหนที่เราต้องพัฒนา ‘หน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะ’ เพื่อใช้เองในประเทศ
ช่วงหนึ่งผมได้ดูข่าวที่ประเทศซีเรียมีการใช้สารเคมีอันตรายทิ้งใส่พลเรือน แก๊สที่เขาใช้เป็นแก๊สมัสตาร์ดและซาริน ด้วยผมเองเป็นอาจารย์สอนวิชาเคมี ซึ่งมีรายวิชาหนึ่งคือ ‘Chemical Warfare’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามเคมี ประวัติศาสตร์โลกมีการใช้เคมีเป็นอาวุธสงครามเริ่มมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นความรุนแรงในการคิดค้นสารเคมีเพื่อการทำสงครามก็มากขึ้นเรื่อยๆ
จนมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีประเทศไทยเข้ามาเอี่ยวด้วย และสงครามเวียดนาม มีการใช้ฝนเหลือง และก๊าซคลอรีน ความโหดร้ายในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสารเคมีเยอะมาก จนในที่สุดจึงมีสนธิสัญญาเจนีวา ในการห้ามใช้สารเคมีเป็นอาวุธสงคราม ก็ทำให้โลกสงบสุขจากอาวุธเคมีมาสักระยะ
แต่มันดันกลับมาอีกครั้ง เขาเรียกว่ามันย้อนยุค แล้วเป็นสิ่งที่มันไม่ได้อยู่ไกลเราอีกแล้ว ในญี่ปุ่นและจีนมีการใช้อาวุธทางชีวภาพสังหารหมู่ แม้แต่กรณีผู้นำเกาหลีเหนือที่ถูกลอบสังหารในมาเลเซียก็ใช้สารเคมีเช่นกัน ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวสงครามสารเคมีอีกครั้ง
ประเทศในเครือ NATO จึงมีการเตรียมการป้องกันโดยเฉพาะ แต่พอหันมาดูบ้านเรากลับมีน้อยมาก แทบไม่ได้เตรียมตัวเลย หากเกิดเหตุการณ์ที่ใช้อาวุธเคมีที่อาจจะอยู่แถวๆ บ้านเรา แต่ระเบิดตูมขึ้นมาจะเกิดละอองลอย (Aerosol) ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ ลมมันก็จะหอบลอยไปได้ไกล เหมือนกรณีไฟไหม้ที่อินโดนีเซีย แต่ลมหอบเถ้าไปถึงสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่สิงค์โปรมีมาตรฐานทางอากาศที่สูงมาก ผู้คนก็เจ็บป่วยกันไปหมด ถ้าให้ลองมองว่า หากละอองลอยนั้นเป็นสารเคมีที่ใช้ในการสู้รบจริงๆ หากประเทศเราไม่มีการป้องกันด้วยตัวเอง เสี่ยงแน่ๆ
The MATTER : หน้ากากป้องกันสารเคมีที่ใช้ยางพาราของไทย ได้คุณภาพในระดับสากลไหม
หน้ากากป้องกันแบบ Full Mask จำเป็นที่เราต้องมี แต่คนทั่วไปมีส่วนตัวไม่ได้นะ เพราะติดเรื่องข้อกฎหมายที่ถือว่าเป็นยุทธภัณฑ์ ส่วนเราเป็นนักวิจัยพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับทาง สกว. มี MOU ภายใต้รัฐบาล จึงมีความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กับสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการงานวิจัยคุณภาพสูง ผมเลยนำเสนอโครงการนี้ เพราะช่วงนั้น ยางพาราบ้านเราราคาตกต่ำ ทั้งที่บ้านเราเป็นตลาดยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันนะครับ คณะวิจัยของเราจึงใช้วัตถุดิบจากยางพารา ช่วยเพิ่มมูลค่า พัฒนาเป็นหน้ากากแบบ Full mask ด้วยยางพาราไทย ให้ได้สมรรถนะและคุณภาพเทียบเท่ากับของต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่า
ในกองทัพมียุทธภัณฑ์เช่นนี้ในปริมาณน้อย ขออนุญาตไม่เปิดเผยจำนวน แต่ถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีประจำการอยู่เป็นของที่มีอายุเก่าเก็บตั้งแต่ก่อนปี 2530 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ และหน้ากากยางทั้งหมดเป็นยางสังเคราะห์ ที่เรียกว่า ‘ยางไนไตรล์’ (Nitrile rubber)
ส่วนยางพาราไทยมีเนื้อสารเคมีเหมือนกันทั่วโลก ไม่ว่าจากแหล่งใดก็ตาม คือ ‘ยางพอลิไอโซพรีน’ (Polyisoprene) แต่ว่าจะมีความมากความน้อยในเนื้อยางต่างกัน ยางไทยก็อยู่ในมาตรฐานโลก แล้วก็จะมีโปรตีนบางตัวที่ผสมอยู่ในยางด้วย ในขั้นตอนของการเปลี่ยนรูปของยางพาราเป็นตัวเนื้อยางที่จะเข้ามาผสมกับสูตรเคมี เรียกว่ายาง Compound นำไปสู่การบ่ม ขึ้นรูปมาเป็นหน้ากาก มันใช้ความร้อนค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือเกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัสใบหน้าจะสลายไปหมดแล้ว ยางพาราที่นำมาทำจึงปลอดภัยแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์
The MATTER : ความท้าทายคือต้องพัฒนาสูตรเองแต่ต้น
เรามีการปรับสูตรยางมาทั้งหมด 6 สูตร ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่มีโปรตีนกลุ่มที่ทำให้เกิดการระคายเคืองใดๆ หลงเหลืออยู่ หน้ากากต้องมีมาตรฐานเท่ากันทั่วโลก ทั้งด้านอายุการใช้งาน ทนต่อสภาพสารเคมีในการรบทั้งหมด
การเตรียมสูตรยาง 6 สูตรแล้วเราเลือกให้เหลือสูตรที่ดีที่สุดเพียงสูตรเดียว เมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วจะมีความทนทานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป นี่คือมาตรฐานที่กองทัพยอมรับได้
จากการทดลองของพวกเรา เราใช้ตัว Stabilizing Chamber ในการติดตามผลของคุณสมบัติเชิงกลของตัวยาง Compound ที่เราเตรียมแต่ละสูตร เมื่อเราเตรียมได้เราก็นำไปเข้าเครื่อง Stabilizing Chamber แล้วอัด condition รุนแรงบางอย่างเข้าไป ในอุณหภูมิที่ต่างกัน ตั้งแต่ 25 30 40 70 องศาแล้วก็ใส่ความชื้นสัมพัทธ์เข้าไป อัดโอโซนเข้าไป หลังจากนั้นเราก็มาเทียบ คุณสมบัติเชิงกลของมันว่าก่อนและหลัง
ประเทศที่ทำทดสอบแบบนี้ได้จะต้องเป็นประเทศที่อยู่ในรายชื่อของกองทัพบกรับรองเท่านั้น ไม่ใช่เราจะส่งไปที่ไหนไปทดสอบก็ได้ ซึ่งกลาโหมของบ้านเรารับรองอยู่มีทั้งหมด 5 หน่วยงาน คือ สหรัฐอเมริกา สวีเดน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และอันที่ 5 คือ ‘National Institute for Nuclear, Chemical and Biological Protection’ ของสาธารณเชค
ในต่างประเทศเขาจะเรียกศาสตร์ของสงครามเคมีว่า CBRN Chemical, Biological, Radiological and Nuclear นั่นคือมาตรฐาน CBRN ที่ต้องผ่าน ในบ้านเราเขาเรียกว่า เคมี ชีวะ รังสี นิวเคลียร์ (คชรน.) เพราะฉะนั้นมาตรฐานของไทยกับมาตรฐานของ CBRN ต่างประเทศอิง 5 ประเทศนี้เท่านั้น
The MATTER : เคยมีคนออกมาวิจารณ์ว่า งานวิจัยนี้เลียนแบบของต่างประเทศ
สิ่งนี้เรียกว่า Reverse Engineering พูดง่ายๆ มันก็เหมือนรถยนต์มันก็ต้องมี 4 ล้อถึงวิ่งได้ หากบอกว่าห้ามลอก แล้วเราจะผลิตรถแบบไหน แว่นตามันก็ต้องมีเลนส์สองอัน บอกว่าห้ามทำสองอันเหมือนฉันนะ แล้วมันจะเป็นแว่นอย่างไร
หน้ากากก็เหมือนกันครับ มีสิทธิบัตรของแต่ละคนคุ้มครองอยู่ เราไปทำเหมือนเขาซะทุกอย่างก็ไม่ได้ แต่ว่าล้วนมีหลักการเหมือนกัน หายใจเข้าผ่านฟิลเตอร์ หายใจออกแล้วพ่นออกทางลิ้น นี่คือหลักการทั่วไปของการระบายการดูดซับสารพิษ
เนื้อหน้ากากต้องแนบกับใบหน้าที่ออกแบบมาเฉพาะ เราจดสิทธิบัตรไว้แล้วที่ใช้ยางพารา งานวิจัยเราในช่วงแรกเราได้รับการอนุเคราะห์จากเจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบกทำการสำรวจรูปหน้ากากของทหารไทยทั่วประเทศ ร้อยละ 94 เปอร์เซ็นต์เป็นไซส์ M ส่วนหน้าฝรั่งเขาจะไซส์ L เพราะฉะนั้นตัว Prototype เราจะทำไซส์ M เป็นหลัก
การสร้าง Mold เป็นงานหนักมากของทีมวิศวกรในทีมผม พี่น้องพระนครเหนือทำงานหนักมาก เราไม่ได้แกะ Mold เองก็จริง เราต้องใช้ผู้ประกอบการช่วย แต่ดีไซน์หรือ Simulation ในคอมพิวเตอร์มาจากพวกเรา ต้องทำ simulate การเคลื่อนไหว การเคลื่อนกระจายตัวของเนื้อยาง ไปทุกซอกทุกมุมไม่เกิดรอยแหว่ง รอยเว้า ตรงนี้มันเป็น Know how ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูง
The MATTER : เสียงตอบรับจากผู้ใช้จริงเป็นอย่างไรบ้าง
ผลตอบรับออกมาดีมาก แต่ว่าเป็นเวอร์ชั่นที่ใช้กับกำลังพล เวอร์ชั่นที่ใช้กับรถถังเรายังไม่เข้าสู่การทดสอบจริง ซึ่งมันก็จะมีเสียงเครื่องยนต์ต่างๆเยอะแยะไปหมด แต่ว่าก็ต้องไปดูว่ามาตรฐานในรถถัง มาตรฐานในยวดยานพาหนะขนส่งยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทางทหารเขาใช้ตัวไหนจับอยู่ มาตรฐานสากลใช้อะไรจับอยู่ ซึ่งตัวนี้ก็เป็นหน้าที่ในเฟสที่ 2 ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ให้ทำงานวิจัยด้านนี้ต่อ
เราก็จะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์มากที่สุด เท่าที่ User ทหารต้องการ แล้วก็หน่วยให้ทุนสนับสนุนต้องการ พร้อมใช้ศักยภาพของเราที่มีทั้งหมด องค์ความรู้ตรงไหนที่ได้การสนับสนุนจาก สกว. ที่ส่งเข้ามาให้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในทุกด้าน เราก็จะระดมในทุกสัพพะกำลัง ทำออกมาให้ดีที่สุด
The MATTER : ถ้าซื้อใช้เหมือนเดิมก็ง่ายกว่า ทำไมถึงจำเป็นที่เราต้องมีฐานความรู้เป็นของตัวเอง
คือถ้าเรารวยก็ซื้อได้ ไม่มีปัญหา แต่ทำไมเราจะต้องซื้อแพง? ประเทศเพื่อนบ้านเราหลายๆ ประเทศเขาก็ผลิตยุทโธปกรณ์กันเองนะครับ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศมันบูมมาก มันไม่ใช่แค่เราผลิตใช้เอง แต่เราสามารถส่งออกทำขายให้กับต่างประเทศได้ด้วย
เราใช้ยางพาราของเราเอง know how ของคนไทย มีการจ้างงานในประเทศ แล้วก็โรงงานที่ทำด้านยางพารา ส่วนใหญ่เป็นของคนไทยไม่ใช่ของคนต่างชาติ เพราะฉะนั้นเนี่ยมันจะได้ทั้งระบบ หรือรัฐบาลเองถ้าทำตัวนี้ไปขยายผล ก็สามารถตั้งบริษัทของรัฐบาลทำแล้วส่งออก พบว่าพวกเนี้ยประชาชนทั่วไปครอบครองไม่ได้ บริษัททั่วไปผลิตไม่ได้เพราะว่ามันคือ ยุทโธปกรณ์ การครอบครองหน้ากากพร้อมฟิลเตอร์มีโทษเท่ากับครอบครอง M16 หนึ่งกระบอก ติดคุกเท่ากันหมดเลยครับ ถามว่าตรงนี้ใครจะทำได้ ต้องทำภายใต้การอนุมัติ ภายใต้การรับรอง และกฎหมายที่ประเทศเรากำหนดครับ
ขอขอบคุณ
รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ภาพโดย
ธเนศ รัตนกุล