สวัสดิการเชิงพาณิชย์คืออะไร? กองทัพทำธุรกิจเยอะแค่ไหน? รายได้ทั้งหมดเคยได้รับการตรวจสอบรึเปล่า? ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ และก็ดูเหมือนว่า สังคมต้องการคำตอบที่ชัดเจนมากกว่าการสงวนไว้กับกรมกองและถูกทำให้เป็นเรื่อง ‘ภายใน’ เท่านั้น
แม้จะบอกว่า การลงนามข้อตกลง (MOU) ระหว่างกองทัพบกและกระทรวงการคลังช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ผู้เกี่ยวข้องจะอ้างว่ามีการหารือมาร่วมปีแล้ว แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า MOU ฉบับนี้มีผลโดยตรงกับการเรียกความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกองทัพฯ จากกรณีปมบ้านพักข้าราชการทหารที่เชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์กราดยิงโคราชที่ผ่านมา
สวัสดิการเชิงพาณิชย์ ที่ดินราชพัสดุ และข้อตกลง MOU
รายละเอียดหลักๆ ของการลงนาม MOU ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีจุดประสงค์เพื่อทำให้การทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพฯ มีลักษณะที่ ‘โปร่งใส’ มากขึ้น ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น สวัสดิการทุกอย่างในกองทัพฯ มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับข้าราชการทหารและครอบครัวเท่านั้น
แต่เมื่อดำเนินกิจการหลายอย่างมาเรื่อยๆ ด้วยราคาสินค้าและบริการที่ถูกกว่าตามท้องตลาดทั่วไป ทำให้สวัสดิการภายในกองทัพฯ ได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น จากสวัสดิการภายในจึงกลายเป็นเรื่องของ ‘ธุรกิจ’ แทน
คำถามที่ตามมาก็คือ ธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพฯ มีอะไรบ้าง ดำเนินการมานานแค่ไหนแล้ว และรายได้ที่กองทัพฯ ได้รับจากการให้บริการประชาชนทั่วไปก่อนหน้าการลงนาม MOU จะถูกนำกลับมาตรวจสอบด้วยหรือไม่ เพราะพื้นที่ที่กองทัพฯ นำไปบริหารจัดการกันเองตั้งแต่เริ่มนั้นเป็นที่ของแผ่นดินที่เรียกว่า ‘ที่ดินราชพัสดุ’ ที่กรมธนารักษ์จัดสรรให้กับหน่วยงานราชการแต่ละแห่งนำไปใช้ประโยชน์ภายในหน่วยราชการเท่านั้น ซึ่งในที่นี้ต้องไม่รวมถึงสิ่งที่คนทั่วไปใช้ด้วย (ขีดเส้นใต้ตรงนี้หนาๆ)
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลมีทั้งหมด 12.5 ล้านไร่ 97% เป็นพื้นที่ที่ส่วนราชการครอบครองอยู่ทั้งสิ้น โดยราว 4-5 ล้านไร่ อยู่ในการครอบครองของกองทัพบก
ในส่วนที่ราชพัสดุของกองทัพฯ ตอนนี้รายละเอียดคร่าวๆ สำหรับการจัดระเบียบการจัดเช่าที่ราชพัสดุภายในกองทัพฯ ตาม MOU ฉบับนี้จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ
- การนำพื้นที่ราชพัสดุไปจัดสวัสดิการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2547 แยกย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สวัสดิการภายในส่วนราชการ ไม่ต้องจัดทำสัญญาเช่า ให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้อนุญาตได้เลย และสวัสดิการเชิงธุรกิจ ต้องขออนุญาตเช่า และกรมธนารักษ์จะรับหน้าที่ทำสัญญาเช่าให้
- การนำพื้นที่ราชพัสดุไปให้หน่วยงานเอกชนหรือบุคคลภายนอกใช้ประโยชน์ ซึ่งข้อนี้จะอยู่นอกเหนือไปจากระเบียบสำนักนายกฯ ต้องส่งที่ราชพัสดุคืนกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์จะจัดทำสัญญาเช่ากับเอกชนเอง
ในส่วนของการจัดสรรรายได้ที่มาจาก ‘สวัสดิการเชิงพาณิชย์’ ทั้งหมดภายหลังการเซ็น MOU แล้วแหล่งข่าวบอกว่า รายได้ไม่ได้นำกลับเข้าสู่แผ่นดินทั้งหมด แต่จะมีการแบ่งเป็นรายได้กลับเข้ากองทัพฯ บางส่วน ซึ่งเปอร์เซนต์ในการจัดสรรก็จะดูเป็นรายกรณีไป อาจเป็นสัดส่วน 50 : 50 หรือ 70 : 30 ขึ้นอยู่กับการพูดคุยตกลงกันภายหลัง
ส่วนว่า ธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพฯ ที่อยู่ในข้อตกลง MOU มีอะไรบ้าง แหล่งข่าวบอกว่า ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกันทั้ง 2 ฝ่ายระหว่างกองทัพบกและกรมธนารักษ์ ที่เราคงต้องตามกันต่อไปว่า จะมีธุรกิจอะไรเข้ามาอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์กันบ้าง
ธุรกิจเชิงพาณิชย์ภายในกองทัพบกมีอะไรบ้าง?
เรานึกสงสัยและอยากตามต่อไปอีกว่า ก่อนที่กองทัพฯ จะลงนามใน MOU ฉบับนี้ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจแบบที่ไม่เคยได้รับการตรวจสอบจากองค์กรใดเลย กองทัพฯ มีธุรกิจอะไรบ้าง และธุรกิจที่อาจไม่เข้าข่าย ‘เชิงพาณิชย์’ แบบที่กองทัพฯ นิยามนั้น จะมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้อย่างไร
เพราะหากอิงตามที่แหล่งข่าว รวมถึงการแถลงหลังลงนาม MOU ทั้งสองให้รายละเอียดตรงกันว่า สวัสดิการเชิงพาณิชย์ภายใต้ MOU ฉบับนี้มีเงื่อนไขข้อหนึ่งคือ จะต้องเป็นสวัสดิการที่มีประชาชนเข้าใช้บริการเกินกว่า 50% ขึ้นไปเท่านั้น
The MATTER สำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่าธุรกิจในค่ายทหารมีอย่างน้อย 10 ประเภทธุรกิจ ดังนี้
1. สนามกอล์ฟ
สนามกอล์ฟกองทัพบกมีจุดเริ่มต้นจากความสนใจด้านกีฬากอล์ฟของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นใช้ชื่อสนามกอล์ฟว่า ‘สโมสรทหารบก’ หรือเรียกกันว่า ‘สนามกอล์ฟ ทบ.’ เริ่มต้นสร้างครั้งแรกราว พ.ศ.2506 บริเวณด้านหลังกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ มีเนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ ปัจจุบันเรียกสนามแห่งนี้ว่า ‘สนามหนึ่ง’ หรือ ‘สนามตะวันตก’ ต่อมาได้มีการขยายสนามกอล์ฟเพิ่มเติมเนื่องจากได้รับความนิยมมากในปี พ.ศ.2526 จากเดิมที่มี 18 หลุม เป็น 36 หลุม เรียกว่า ‘สนามสอง’ หรือ ‘สนามตะวันออก’ ซึ่งสนามแห่งนี้เริ่มเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น
สนามกอล์ฟ ทบ. ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก เพราะมีอัตราค่าบริการถูกกว่าสนามกอล์ฟแห่งอื่นๆ ซึ่งนอกจากเหตุผลเรื่องค่าบริการรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่สะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานแล้ว สนามกอล์ฟ ทบ.ยังเป็นจุดศูนย์รวมในการเข้ามาแสวงหาคอนเนคชั่นกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ นักการเมือง หรืออดีตนายทหารระดับสูงได้ด้วย หากเทียบกับการไปสนามกอล์ฟเอกชนแห่งอื่น
ข้อสังเกตสำหรับสนามกอล์ฟ ทบ.แห่งนี้คือ รายได้จากการเปิดให้เข้าใช้บริการที่ปีๆ หนึ่งมีการคาดการณ์กันว่า สนามกอล์ฟ ทบ.น่าจะเป็นสวัสดิการเชิงพาณิชย์ที่มีรายรับสูงมาก เพราะมีพลเรือนเข้าใช้บริการมากกว่า 50% แน่นอน และอีกส่วนคือ บุคลากรของกองทัพฯ ที่มาทำหน้าที่ให้บริการแก่ผู้เข้าใช้งานก็เป็นที่น่าสนใจว่า ทางกองทัพฯ ได้มีการจัดสรรรายได้หรือแบ่งสรรปันส่วนกับบุคลากรเหล่านี้หรือไม่อย่างไร
นอกจากสนามกอล์ฟรามอินทราแล้ว ในต่างจังหวัดก็มีสนามกอล์ฟของกองทัพบกด้วยเช่นกัน
2. สถานีโทรทัศน์กองทัพบก
ปัจจุบันกองบัพบกมีสถานีโทรทัศน์ในความดูแลอยู่ 2 ช่องสถานี ได้แก่ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ที่ทางกองทัพฯ เป็นผู้ดูแลกิจการเอง ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เป็นการดำเนินการโดยเอกชนภายใต้สัญญาสัมปทานกองทัพบก
ที่ผ่านมารายได้จากทั้งช่อง 5 และช่อง 7 ไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนว่า ได้มีการแบ่งสัดส่วนรายเข้าเป็นสวัสดิการแก่กำลังพลมากน้อยขนาดไหน เพราะรายได้จากสถานีโทรทัศน์มีตัวเลขที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นจากช่อง 5 ที่ ทบ.ดูแลเอง หรือจากการให้เช่าสัมปทานกับช่อง 7 รวมถึงรายได้จากค่าโฆษณาที่ยังหาความชัดเจนไม่ได้ว่า มีการจัดสรรรายได้ในส่วนนี้ให้กับใครบ้าง
3.สถานีวิทยุกองทัพบก
คล้ายกับสถานีโทรทัศน์ที่กองทัพเป็นผู้ดำเนินกิจการทั้งหมด ซึ่งรายได้จากการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์แบบนี้มีรายได้จากทั้งการประมูลคลื่นวิทยุ และค่าโฆษณาเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ทุกกองทัพภาคมีสถานีวิทยุแทบทั้งหมดคำถามก็คือ รายได้จำนวนมหาศาลจากสถานีวิทยุเหล่านี้ถูกจัดสรรอย่างไรบ้าง นำเข้าเป็นสวัสดิการกำลังพลทั้งหมดหรือไม่ และถ้าไม่ใช่รายได้เหล่านั้นไปอยู่ตรงส่วนไหนบ้าง
4.สนามมวยกองทัพบก
สนามมวยภายใต้การดูแลของกองทัพบกมีอยู่ 2 แห่ง ที่แรกคือ ‘สนามมวยลุมพินี’ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โดย พล.ต.ประภาส จารุเสถียร เดิมทีตั้งอยู่บริเวณถนนพระรามที่ 4 ติดกับโรงเรียนเตรียมทหารเดิม แต่ปัจจุบันได้มีการย้ายสนามมวยมาไว้แถบถนนรามอินทรา ใกล้กับสนามกอล์ฟ ทบ. และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการทหารบก
สนามมวยลุมพินีเป็นสนามมวยที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปมาตลอดหลายสิบปี และเรียกได้ว่า เป็นสนามมวยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ผ่านนัดชิงแชมป์สำคัญๆ ทั้งระดับประเทศและระดับโลกมาหลายครั้ง และยังมีการเปิดเผยรายได้บางส่วนด้วยว่า สนามมวยลุมพินีมีรายได้ต่อวันมากถึงหลักแสน เฉลี่ยแล้วเดือนๆ หนึ่งรายได้ของสนามมวยลุมพินีจึงมากถึง 4-5 ล้านบาท
และอีกแห่งหนึ่งคือ สนามมวยเดชานุเคราะห์ ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ อยู่ในความดูแลของ มทบ.33 สนามมวยค่ายกาวิละผ่านการแข่งขันนัดสำคัญๆ มาแล้วหลายครั้ง ทั้งรายการท้องถิ่น กีฬาแห่งชาติ รวมถึงกีฬาซีเกมส์ในปีพ.ศ.2538 ด้วย ก่อนที่จะเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อปีพ.ศ.2553 และทำการปรับปรุงซ่อมแซมกลับมาใช้งานได้อีกครั้งในปีพ.ศ.2560
5.สถานที่พักตากอากาศ
บ้านพักตากอากาศที่เกิดเป็นกรณีและได้รับความสนใจมาก ได้แก่ สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เดิมทีสวนสนอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ต่อมาจึงโอนให้กองทัพบกเป็นผู้ดูแล และปัจจุบันกองทัพบกได้ให้สัมปทานกับเอกชนอย่างกลุ่มดุสิตธานีเข้ามาบริหารแทนทั้งหมด
สวนสนประดิพัทธ์เป็นโรงแรมหรูติดชายหาดที่มีจำนวนห้องประมาณ 160 ห้อง และยังประกอบไปด้วย บ้านพักหลังเดี่ยวริมชายหาด อาคารบังกะโล และเรือนนอนสำหรับค่ายพักแรม พื้นที่รองรับสำหรับการมาเป็นหมู่คณะทำให้ภายในสวนสนฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รองรับเพิ่มเติม เช่น ห้องจัดประชุมสัมมนา อาคารอเนกประสงค์ ร้านค้าสวัสดิการ และศูนย์กีฬากองทัพบก
กรณีสวนสนแห่งนี้เป็นการให้บริการเชิงพาณิชย์ที่ทำให้สื่อมวลชน และบุคคลภายนอกตั้งข้อสังเกตว่า การทำธุรกิจลักษณะนี้รายได้ทั้งหมดที่ผ่านมามีการจัดสรรอย่างไรบ้าง เพราะมีประชาชนทั่วไปมาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งที่ดินทั้งหมดในบริเวณนี้ยังเป็นที่ราชพัสดุทั้งหมด หากอิงตามวัตถุประสงค์ที่ดินราชพัสดุตั้งต้นแล้ว ส่วนราชการต้องจัดสรรพื้นที่ของแผ่นดินใช้ประโยชน์เฉพาะในส่วนราชการเท่านั้น
6.สโมสรกองทัพบก
สโมสรกองทัพบกตั้งอยู่ในพื้นที่ของกองทัพบกโดยตรง แต่มีการให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ การดำเนินการของสโมสรกองทัพบกเข้าข่ายเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์หลายอย่าง ทั้งบริการห้องจัดเลี้ยง จัดงานประชุมสัมมนา หรือกระทั่งจัดงานแต่งงานที่ไม่เพียงแต่บุคลากรของกองทัพฯ เท่านั้น แต่บุคคลทั่วไปยังนิยมใช้บริการสโมสรกองทัพบกในการจัดพิธีแต่งงานด้วย
นอกจากการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ สโมสรแห่งนี้ยังมีในส่วนของสปอร์ต คลับ ทั้งสระว่ายน้ำ แบตมินตัน ห้องฟิตเนส และห้องซาวน่า ไว้เป็นสวัสดิการรองรับกำลังพลและเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้งาน ด้วยการเก็บอัตราค่าบริการทั้งรายครั้งและแบบสมาชิก รวมถึงยังเปิดคอร์สสอนกีฬาให้กับบุคคลทั่วไปอีกด้วย การดำเนินกิจการของสโมสรกองทัพบกจึงคล้ายกับกรณีสนามกอล์ฟ สนามมวย หรือสนามม้า
7.สนามม้า
หลังจากมีการลงนาม MOU ที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวว่า สนามม้า มทบ.33 จ.เชียงใหม่ อาจปิดตัวลงกระทันหัน ด้วยมีการตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่สนามม้าแห่งนี้อาจจะต้องส่งคืนให้กับกระทรวงการคลังที่จะเข้ามาจัดการพื้นที่ราชพัสดุแห่งนี้
ปัจจุบันสนามม้าของกองทัพบกทั่วประเทศมีอยู่เท่าไหร่ยังเป็นจำนวนไม่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์กันว่า น่าจะมีอย่างน้อยๆ 3-4 แห่ง ซึ่งรวมสนามม้า มทบ.33 อยู่ด้วย สนามม้าเป็นอีกสถานที่ที่ถูกจับตาจากสาธารณชนมากที่สุด เพราะมีข้าราชการทหารบกทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่ง และข้าราชการเกษียณเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และไม่เพียงแต่ข้าราชการทหารเท่านั้นแต่สนามม้าหลายแห่งยังเป็นพื้นที่ที่ข้าราชการเหล่าทัพอื่นๆ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว
8.สถานีบริการปั๊มน้ำมัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังอธิบายตรงส่วนนี้ว่า หากมีการตั้งปั๊มน้ำมันโดยที่เอกชนไปลงทุนในพื้นที่ของ ทบ. ต่อไปหลังจากเซ็น MOU กันแล้ว ทางทบ.ต้องส่งหนังสือชี้แจงมายังกรมธนารักษ์ในลักษณะการขออนุญาต หลังจากนั้นธนารักษ์จะประสานรายละเอียดในส่วนของการจ่ายค่าเช่ารายปี และรายได้ตรงส่วนนี้ต้องนำเข้าแผ่นดินทั้งหมด ไม่มีการหัก ‘ส่วนเหลือ’ เข้าสมทบเข้าเป็นสวัสดิการทหารบก
9.กองการออมทรัพย์ กรมสวัสดิการทหารบก
หลังจากกรณีกราดยิงที่โคราชได้มีการตั้งข้อสังเกตและพุ่งเป้ามาที่กองการออมทรัพย์ ภายใต้การดูแลของกรมสวัสดิการทหารบกว่า มีการจัดสรรดูแลเงินฝากที่กำลังพลถูกหักจากเงินเดือนทุกๆ เดือนเพื่อนำไปใช้เป็นสวัสดิการให้กำลังพลกู้ยืมยากฉุกเฉิน รวมถึงกู้ยืมเพื่อการเคหสงเคราะห์หรือเพื่อการซื้อบ้านอย่างไรบ้าง ซึ่งเงินฝากเหล่านี้จะถูกนำฝากไว้กับธนาคารทหารไทยที่เป็นธนาคารของกองทัพโดยตรง
น่าสนใจว่า หากมีการหักรายได้ของกำลังพลทุกๆ เดือนอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำเข้าเป็นสวัสดิการกองทัพฯ ตามที่ได้มีการอ้างนั้น ถูกนำไปจัดแบ่งเป็นผลประโยชน์ของกำลังพลด้วยสัดส่วนไหนบ้าง เพราะปมความขัดแย้งจากกรณีกราดยิงที่ผ่านมามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินกู้จากหน่วยงานนี้
10.โครงการจัดสรรที่ดินภายใต้ความดูแลของกองทัพบก
อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า ปัจจุบันกองทัพบกครอบครองที่ดินราชพัสดุมากถึง 4-5 ล้านไร่ ด้วยความที่ ทบ.มีที่ดินในครอบครองมากขนาดนี้ ทำให้มีการนำที่ดินบางส่วนไปจัดสรรประโยชน์ให้กับกำลังพล ตัวอย่างเช่น โครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุ หรือโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพบก กรมธนารักษ์ และกระทรวงการคลัง
นอกจากโครงการบ้านธนารักษ์แล้ว ยังมีที่ดินจัดสรรของเอกชน และที่ดินรกร้างสำหรับใช้ทำภารกิจทางทหารที่ดูจะมีปัญหามากกว่าโครงการแรก ซึ่งโครงการนี้นี่เองที่กลับกลายเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ของนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาบางกลุ่ม
เพราะตามรายละเอียดโครงการเงินกู้แล้ว นายทหารผู้บังคับบัญชาจะต้องเป็นผู้เซ็นรับรองให้จึงจะสามารถกู้เงินซื้อบ้านในโครงการ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากกรณีก็คือ เอกชนที่เป็นผู้จัดสรรที่ดิน และนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาที่จูงใจให้กำลังพลมาซื้อบ้าน
สำหรับรายได้จากการทำธุรกิจเหล่านี้ของกองทัพบกในแต่ละปี เราขอให้ อ.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกองทัพประเมิน ซึ่งอาจารย์มองว่า “เฉพาะสนามกอล์ฟกับสนามม้าปีๆ หนึ่งก็มากเป็นหลักหลายสิบล้านบาทแล้ว ถ้ามารวมกับธุรกิจปั๊มน้ำมันและอื่นๆ อีกตัวเลขน่าจะแตกที่หลักสิบปลายๆ ถึงร้อยล้านบาทเลยก็ได้”
กองทัพบกไม่เคยเปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินจากการธุรกิจข้างต้นให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างชัดเจน น่าสนใจเหมือนกันว่า เมื่อลงนาม MOU กับกรมธนารักษ์ พร้อมประกาศคำมั่นว่า “โปร่งใส ตรวจสอบได้” จะยอมเผยตัวเลขเหล่านี้ออกมามากน้อยเพียงใด และผลประโยชน์ที่ได้รับจะตกไปอยู่ที่ใคร เป็นสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อยอย่างไรบ้าง ต้องติดตามกันต่อไป