นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามชิมแปนซีป่า ในแอฟริกา แล้วพบพวกมันนั่งล้อมวงกินผลไม้หมักที่มีแอลกอฮอล์ อาจชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการดื่มเพื่อเข้าสังคม ที่มีมาหลายล้านปีก่อนที่มนุษย์จะเริ่มผลิตเบียร์
ที่ผ่านมามีงานวิจัยที่ตีพิมพ์บนวารสาร Current Biology โดยทีมนักวิจัยที่ได้ใช้เวลาหลายเดือนในอุทยานแห่งชาติคันตันเฮซ (Cantanhez) ที่กินี-บิสเซา ประเทศเล็กๆ ทางตะวันตกของแอฟริกา เพื่อติดตามชิมแปนซีป่า โดยการใช้กล้องที่ซ่อนอยู่ตามบริเวณต่างๆ จับภาพพฤติกรรมการกินของพวกมัน
จากนั้นนักวิจัยก็สามารถบันทึกภาพชิมแปนซีป่ากลุ่มหนึ่ง ขณะที่พวกมันกำลังแบ่งกันกินขนุนแอฟริกัน ที่หมักตามธรรมชาติจนมีแอลกอฮอล์ และเมื่อศึกษาแล้ว พบว่าผลไม้หมักเหล่านี้มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่วัดได้ระหว่าง 0.01% ถึง 0.61% โดยปริมาตร ซึ่งถือว่าไม่ได้อยู่ในปริมาณมากจนทำให้เมามาย
และจากกรณีตัวอย่าง 10 ครั้ง นักวิจัยพบว่า ชิมแปนซีได้แบ่งปันผลไม้หมักให้ชิมแปนซีตัวอื่น อย่างน้อย 17 ตัว ซึ่งมีอายุและเพศต่างกัน และที่น่าสนใจคือใน 7 กรณี ชิมแปนซีเลือกที่จะกินผลไม้หมัก มากกว่าผลไม้ที่ไม่หมักซึ่งมีให้เลือกแถวนั้น
นักวิจัยคาดว่าชิมแปนซีไม่น่าจะเมาได้จากการกินผลไม้ชนิดนี้ เพราะการเมาคงไม่เหมาะต่อการอยู่รอดในป่าอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ชิมแปนซีอาจกินในปริมาณเพียงพอที่จะทำให้ตัวเอง ‘ผ่อนคลาย’
หนึ่งในคำอธิบายของพฤติกรรมนี้คือ มนุษย์และลิงแอฟริกันมีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่คล้ายกัน ซึ่งอาจทำให้สามารถย่อยแอลกอฮอล์ได้ดี โดยนักวิทยาศาสตร์มองว่า การปรับตัวทางพันธุกรรมนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน เพราะเคยพบหลักฐานของหมักดอง ในอาหารของบรรพบุรุษมนุษย์
“ชิมแปนซีไม่ได้แบ่งปันอาหารกันตลอดเวลา ดังนั้นพฤติกรรมการกินผลไม้หมักนี้ จึงอาจมีความสำคัญ” คิมเบอร์ลีย์ ฮ็อคกิ้งส์ (Kimberley Hockings) หนึ่งในทีมนักวิจัยนี้ จากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) ในอังกฤษ กล่าวว่าคำถามที่สำคัญต่อจากนี้คือ ชิมแปนซีเหล่านี้ตั้งใจแบ่งกันกินผลไม้หมัก เพื่อผูกมิตรและเข้าสังคมหรือไม่
ฮ็อคกิ้งส์ระบุว่า “เราจำเป็นต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ว่าชิมแปนซีตั้งใจแสวงหาผลไม้ที่มีเอธานอลหรือไม่ และพวกมันเผาผลาญมันอย่างไร”
ทั้งนี้เธอมองว่า หากพวกมันตั้งใจกินผลไม้หมักที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อผูกมิตรกับชิมแปนซีตัวอื่นจริงๆ “แสดงว่าธรรมเนียมการกิน (แอลกอฮอล์) ของมนุษย์ ก็อาจมีต้นกำเนิดมาจากประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของเรา”
อ้างอิงจาก