เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวัน ‘รายอแน’ ของมุสลิมในสามจังหวัด รายอแนเป็นวันอีด (วันรื่นเริง) ของมุสลิมที่จัดเพิ่มขึ้นมาเฉพาะในสามจังหวัด จากปกติที่มีปีละสองครั้ง วันรายอแนจึงเป็นวันสืบเนื่องจากวันรายอหลัก นับถัดมา 6 วัน (แน แปลว่า 6) ในภาษามลายู
วันรายอแน เป็นวัฒนธรรมประดิษฐ์ที่คนเฒ่าคนแก่จัดขึ้นต่อๆ กันมา เพื่อให้ลูกหลานญาติมิตรมีโอกาสมาเจอพร้อมหน้าพร้อมตากัน เผื่อว่าวันอีดหลักนั้น ลูกหลานของตัวเองกลับมาบ้านไม่ทัน หรือไม่มีเวลามากพอ รายอแนจึงคล้ายวันไหลสงกรานต์ หลายคนจึงให้มองเป็นเรื่องวัฒนธรรม มากกว่าโยงกับหลักการศาสนา เพราะประเด็นเรื่องความคิดทางศาสนาอิสลามที่แตกต่างกันภายในสามจังหวัด ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงจนเป็นความขัดแย้งที่ซ่อนตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของคนมลายู
วันนี้จึงมีเพื่อนของเพื่อนชวนกันไปกินแกงแพะที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ด้วยความตื่นเต้นและหิว จึงรีบกระโดดขึ้นรถกระบะที่ใช้เป็นรถขนส่งนักเรียน ผมจึงได้นั่งคุยกับรุ่นน้องถึงเรื่องต่างๆ ในสามจังหวัดไปด้วย ระหว่างทางไปบ้านมายอ รถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ติดเป็นแถวยาว เพราะแต่ละคนต่างเตรียมไปเยี่ยมและกินเลี้ยงบ้านญาติมิตร สาเหตุที่รถติดไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะสามจังหวัดมีด่านตรวจตั้งอยู่แทบจะทุก 1 กิโลเมตร ระหว่างที่เรานั่งดูด่านต่างๆ จากตัวเมืองปัตตานีไปมายอ น่าจะมีประมาณ 10 ด่านเป็นอย่างน้อย
ด่านทหาร คือ บ้าน
เมื่อ 4 ปีก่อน ตอนผมมาเที่ยวสามจังหวัดครั้งแรก เพื่อมาเยี่ยมบ้านเพื่อนที่ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เพื่อนได้พาไปเที่ยวทั้งสามจังหวัด พร้อมกับแนะนำว่า “อัตลักษณ์ของสามจังหวัด คือ ด่านทหาร” เวลาขับรถไปไหน เราจะเห็นด่านเยอะมาก เยอะจนคิดว่า ด่านทหารน่าจะเป็นของดีของเด่นในสามจังหวัดนี้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจอะไรที่ชุดประจำชาติ (ปัตตานี) ในงานมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2017 จึงออกมาเป็นชุดที่คลุมมิดชิดด้วยอำนาจของทหารที่เกาะทับถมจนหนักหน่วงอยู่ในสำนึกของคนที่นี่ จนต้อง ‘สลัดมันออกไป’ ชุดและท่วงท่าของนางงามคนนี้ชวนให้ตีความไปได้หลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะในส่วนที่คลุมหัวของนางงามที่เป็นลายพรางทหาร คล้ายกับว่า ‘ทหารนี่แหละค่ะ ที่ครอบหัวของอิฉันอยู่’
น้องสาวคนหนึ่งบอกว่า แปลกนะ ที่เวลาน้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่บ้านที่ปัตตานีมาพักใหญ่ๆ แต่พอนั่งรถตู้จากหาดใหญ่ แล้วจะมีด่านทหารด่านแรก เวลาเข้าเขตปัตตานี นางบอกว่า “รู้สึกว่าถึงบ้านแล้ว” … oh I feel home
ส่วนของผมนั้น ตอนผมเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์พิเศษที่ มอ.ปัตตานี เมื่อปีที่แล้ว สิ่งที่รู้ว่าเดินทางมาถึงปัตตานีแล้วคือ สัญญาณโทรศัพท์จะโดนตัด เวลามาทำงานที่นี่ช่วงปีที่แล้วจึงลำบากมาก จัดการเรื่องแก้ไขการต่อสัญญาณอยู่หลายครั้ง จนมาใช้ได้ปกติตอนจบภาคการศึกษาพอดี
ด่านตรวจต่างๆ ในสามจังหวัดมีจำนวนตัวเลขเท่าไหร่ ยังไม่มีความแน่ชัด แต่จากที่ผมได้แลกเปลี่ยนกับคนทำงานแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ คาดการณ์กันว่า น่าจะมี 1,000 กว่าจุด และมีด่านหลายประเภท ทั้งด่านทหาร ด่านตำรวจ ด่านอาสาสมัคร / ทหารพราน และด่านชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)
ผมชอบนั่งนับด่านแต่ละเส้นทางเวลาเดินทางไปไหน เช่น จากตัวเมืองไปทะเลตะโละกาโปร์ เราขับเจอทั้งหมดกี่ด่าน และเป็นด่านของใครบ้าง ด่านเยอะเลยครับ คิดดูสิครับว่า การไปเที่ยวทะเลครั้งหนึ่ง เราต้องเจอด่านตรวจที่มีเจ้าหน้าที่คอยถือปืนด้ามยาวๆ และบางด่านนั้น หลายคนต่างสงสัยว่าเป็นคนกลุ่มไหน เพราะแต่งตัวพันหน้าด้วยผ้าและใส่แว่นดำ จนทำให้คิดว่า ตกลงเราอยู่ในพื้นที่สงคราม อย่างที่เคยนิยามพื้นที่สามจังหวัดจริงๆ ใช่มั้ย?
ทีนี้ ผมจึงคิดว่า ด่านมันมีเยอะจนคิดว่าสามจังหวัดเหมาะแก่การมาฝึกขับรถ หรือแข่งแรลลี่ มากๆ เพราะแต่ละด่านต้องอาศัยทักษะในการเลี้ยวโค้งผ่านจุดกั้นประมาณ 3-4 แผงกั้น ต่อครั้ง แล้วพอขับรถไปสักไม่เกิน 10 นาที เราก็จะเจออีกด่านหนึ่ง
เรื่องตลกแต่ไม่ค่อยน่าขำเกี่ยวกับการเดินทางไปมาในสามจังหวัดคือ “หากคุณขี่มอเตอร์ไซค์ คุณไม่ควรต้องใส่หมวกกันน็อคหรอก” ด่านตำรวจไม่ได้บอกผมตรงๆ แบบนี้ แต่พูดกับผมครั้งหนึ่งตอนกำลังตรวจกระเป๋าเป้ของผมอยู่ เขาเรียกผมให้จอดและค้นรถมอเตอร์ไซค์ ค้นกระเป๋า ตรงด่านตำรวจเส้นหน้า มอ. ปัตตานี เขาบอกว่า ใส่หมวกมานี่แหละ ต้องเรียกตรวจ ผมเลยอึ้งไปเลย และเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทำไมตอนผมขี่รถผ่านด่านทหารเส้นเข้าเมืองวันก่อน ทหารจึงมองแรงใส่อะไรเบอร์นั้น สรุปแล้ว ข้อแนะนำในการขับขี่รถในสามจังหวัดคือ ‘กรุณาอย่าสวมใส่หมวกกันน็อค’
ปฏิสัมพันธ์ของคนในพื้นที่กับด่านมีเรื่องชวนขำ ชวนเครียด ชวนโกรธ ปะปนกันหลายอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวันดีๆ หรือวันแย่ๆ ของใครสักคน ผมนั่งรถกับเพื่อนที่วันนั้นนางมีความอยากยัวะทหาร จึงค่อยๆ เปิดกระจกรถ ค่อยๆ หาบัตรประชาชนมาให้ดู ค่อยๆ ตอบคำถาม ค่อยๆ ปิดกระจกลง และค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากด่าน ทั้งที่มีรถขับตามหลังอยู่หลายคัน ด้วยความรู้สึกผิด นางจึงพูดตัดบทว่า จริงๆ เราก็เห็นใจเขานะ เพราะบางทีทหารเองก็แสดงหน้าตาอารมณ์เสียใส่เขา เราก็รู้สึกไม่ดี
เพื่อนของผมอีกคนบอกว่า บางทีเราก็สงสารทหารที่มาประจำการณ์ที่นี่ หลายคนเป็นวัยรุ่น หน้าตาดูเหมือนมาจากทางภาคอีสาน แต่ต้องคอยมากั้นรถทุกคน บางคนก็แสดงหน้าตาออกชัดเจนว่า กล้าๆ กลัวๆ ที่จะทำหน้าที่ตรงด่านนั้น เพราะเอาเข้าจริง บางด่านตั้งอยู่โดดๆ และดูเป็นเป้าหมายของคนที่มาก่อความไม่สงบได้จริงๆ
ด้วยความที่แต่ละด่านในชุมชนมีทหารเกณฑ์ที่มาจากอีสานหลายคน และมีเรื่องเล่าที่พูดต่อๆ กันว่า ทหารอีสานที่ด่านมักโกรธเวลาไปถามกลุ่มชาวบ้านที่ขับรถผ่านมาว่า “ไปไหนกัน” ชาวบ้านบอกว่า “ไปกินเหนียวๆ” ทหารอีสานก็คิดว่าชาวบ้านมาล้อเลียนวัฒนธรรมการกินข้าวเหนียวของเขา แต่ที่จริงคือความเข้าใจผิด กินเหนียวเป็นวัฒนธรรมของคนสามจังหวัดด้วย
‘กินเหนียว’ คือการไปกินเลี้ยงงานบุญ (งานแต่งงาน) ที่เมื่อก่อนเจ้าภาพจะเตรียมข้าวเหนียวไว้เลี้ยงรับแขก แม้ตอนนี้เขาไม่ทำข้าวเหนียวอย่างจริงจังเหมือนเมื่อก่อน แต่ยังเรียกการไปงานแต่งงานว่าไปกินเหนียว
ชายแดน คือ ผู้ร้าย
ตัดภาพมาที่ 6 ปีก่อนหน้า เรื่องมีอยู่ว่า ผมเคยเป็นทหารเกณฑ์คนหนึ่งในค่ายนาวิกโยธินของกองทัพเรือ วันแรกที่ย้ายมาหน่วยนี้ก็คิดว่าตัวเองคงตกนรกแล้ว ชีวิตแต่ละวันจะวนซ้ำ เป็น loop อยู่ไม่กี่อย่าง แต่ที่เกิดขึ้นถี่ๆ หน่อยคือ การโดนลงโทษ ผมไม่สามารถปลงได้ว่า ขอให้ผ่านวันนี้ไปได้ เพราะหนึ่งวันมันนานเกินไป แต่ขอให้ชีวิตผ่านไปได้เป็นมื้อๆ แต่ละวัน 3 ช่วงได้ก็พอ และ highlight ของวันคือ ‘แถว 1 ทุ่ม’ มีไว้สำหรับอบรมวินัยแต่ละวันของทหาร
ความดีงามของทหารเกณฑ์ที่สมัครเข้ามาเองและมีวุฒิปริญญาตรี หรือที่เรียกว่า ‘พวก 6 เดือน’ คือ ไม่มีหน่วยไหนอยากรับเข้าไปอยู่ เพราะเวลาสั้นเกินกว่าจะเอาไปใช้งาน พวก 6 เดือนอย่างผมจึงมาอยู่รวมอยู่กับกองร้อยหนึ่ง ชื่อว่า กองร้อยพิเศษ อันเป็นแหล่งรวมทหารเกณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ตามเกณฑ์ทั่วไป มีทั้ง คนที่มีคดีติดตัว คนพิการทางจิต คนที่ย้ายมาเพราะทำผิดวินัย รวมถึงพวกที่เรียนหนังสือ (ขอวงเล็บว่า – ทหารไม่ชอบพวกที่เรียนหนังสือ)
เช่น หลายปีที่ผ่านมาเมื่อเห็นข่าวทหารเกณฑ์ที่จบ ป.โท โดนซ้อมจนตายในค่ายฯ ผมไม่แปลกใจ แต่สลดใจและเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คน ที่ไม่ได้เป็นข่าวออกมา
แถว 1 ทุ่มของพวกเราจึงเป็น การลงโทษวินัย ที่รวบยอดมาทั้งวัน และกองร้อยพิเศษนี้ไม่สามารถจัดการให้อยู่ในวินัยได้เลย ลองนึกดูว่า ขณะเข้าแถวอยู่แล้วเพื่อนในกองร้อยที่จิตไม่ปกติ เกิดอยากจะร้องเพลงขึ้นมาในแถว ทุกๆ คืน จึงเป็นเหมือนการตกนรก วนซ้ำไปซ้ำมานั่นเอง พวกเราโดนลงโทษจนแขนขาแทบไร้ความรู้สึกและเหมือนมันไม่ได้อยู่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเราไปแล้ว สภาพจิตของเพื่อนในกองร้อยก็เช่นกัน ทุกคนหมดอาลัยตายอยาก ผมสังเกตเห็นจากรอยขีดข่วนตรงข้างตู้ล็อกเกอร์ของแต่ละคนที่พรรณาชีวิตของตัวเองในนี้อย่างสัตว์กับหมา
วันหนึ่งช่วงบ่ายๆ แดดร้อนๆ หลังจากที่พวกเราไม่ได้โดนลงโทษอะไรหนักๆ มาหลายวัน ผู้กองจึง ‘จัดยา’ ให้เราด้วยการสั่งให้ทุกคนหมอบคว่ำกับพื้นซีเมนต์ที่กำลังร้อนได้ที่อยู่เกือบหนึ่งชั่วโมง เพื่อแสดงให้ทหารเกณฑ์รุ่นพี่เห็นว่า ‘ทหารจัดการควบคุมให้คนพวกนี้อยู่ในระเบียบวินัยกันอย่างไร’
ในช่วงนาทีที่ผมนอนคว่ำบนพื้นซีเมนต์ร้อนๆ เบียดรวมกับเพื่อนทหารด้วยกัน ภาพที่ตัดเข้ามาในหัวตอนนั้นคือ ภาพทหารคุมตัวมุสลิมในสามจังหวัดให้ถอดเสื้อแล้วนอนคว่ำกับพื้นที่เคยเห็นในข่าวตอนเรียนปี 1 เพราะมันเป็นภาพเดียวกันกับตัวเองในตอนนี้ ต่างออกไปตรงที่ทหารสั่งให้ชาวบ้านผู้มาชุมนุมนอนคว่ำทับกันเป็นชั้นๆ ตอนเคลื่อนย้ายคนที่ถูกเรียกว่า ‘ผู้ถูกจับกุม’ จนพวกเขาเสียชีวิตไป 78 คนในกรณีตากใบ เมื่อปี 2547
การลงโทษที่ทหารอย่างผมและเพื่อนในตอนนั้นที่ได้สัมผัสคือ การผลิตซ้ำความรุนแรงในการควบคุมคน เพราะทหารไม่ถูกสอนให้ต้องใช้ความคิด การตัดสินใจของทหารในสถานการณ์ที่คับขันจึงใช้วิธีเดียวกับที่ตัวเองเคยได้รับการปฏิบัติมาในค่ายทหารนั่นเอง
และคืนหนึ่ง ทหารในกองร้อยถูกเรียกให้เข้าห้องมืด ซึ่งก็คือการเข้าแถวในสนามกลางดึกที่มืดจนมองไม่เห็นว่า จ่ายืนอยู่ตรงไหน ระหว่างอบรมเรื่องหน้าที่ของทหารที่ต่างเจอความเสี่ยงและเสียสละอะไรบ้าง พร้อมๆ กับเสียงดังตุ๊บๆ เป็นเสียงโดนทุบที่หน้าอกอย่างแรง ทุกคนผวาว่า ใครจะเป็นรายต่อไป เพราะไม่รู้ว่าเราจะโดนทุบตีจากทางไหนและเมื่อไหร่
จ่าบอกว่า ทหารนาวิกโยธินต้องไปอยู่สามจังหวัดกันทั้งนั้น และ ‘ชายแดนเป็นที่ที่มีผู้ร้ายอยู่’ ในความคิดของเราในตอนนั้น ชายแดนจึงเท่ากับผู้ร้าย
ช่วงก่อนปลดทหาร ผมมักได้นั่งฟังรุ่นพี่ทหารจับกลุ่มคุยว่า ถ้าเราไปอยู่สามจังหวัดนะ จะไม่เอาหรอกทฤษฎีอะไร อะไรที่ดูไม่ชอบมาพากลจะยิงให้หมด และครั้งหนึ่งที่เห็นพี่ทหารกำลังถูกโดนย้ายไปสามจังหวัด หน้าตาแสดงถึงความกังวลและกลัว แต่เขาถูกย้ายเพราะติดคดีที่ทำผิดในช่วงเป็นทหาร
ผมจึงยืนยันจากที่หลายๆ คนพูดกันว่า สามจังหวัดเป็นที่เอาไว้ลงโทษทหารที่ไม่ดีลงมาอยู่ และสามจังหวัดได้ผลิตความกลัวส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ
สามจังหวัดไม่ใช่ค่ายทหาร
กลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างกังวลการมีด่านทหารจำนวนมากในสามจังหวัด และพยายามจัดวงคุยกันหลายครั้ง เช่น เวที “ปฏิรูป (ไม่เอา) ความรุนแรง” โดยปาตานีฟอรั่ม และในบทความเรื่อง “ปริศนาด่านตรวจ ณ ชายแดนใต้” โดย รุสณี แวอูมา และรูวัยดา ยูโซะ (จุลสารปาตานีฟอรัม 7/2557) ที่เล่าผลกระทบทางด้านความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ผ่านปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน ที่ถูกปฏิบัติเหมือน ‘พวกเขาเป็นผู้ร้าย’
นอกจากนี้ ด่านทหารต่างๆ มักจะมีรูปคนตามประกาศจับที่ถูกเรียกว่า ผู้ร้าย หรือชื่อเต็มๆ ว่า ‘ผู้ก่อการร้ายภาคใต้’ ผมเคยสงสัยรูปผู้ชายวัยฉกรรจ์เรียงอยู่ในแผ่นป้ายประกาศประมาณ 8-10 คน ผู้ชายในหมายจับเป็นคนที่หน่วยความมั่นคงตามล่า และแปะอยู่ทุกด่านตรวจ เพื่อนผมบอกว่า คนพวกนี้ไม่ได้หายไปไหน เพียงเเต่เป็นคนที่อยู่บ้านของเขาไม่ได้
แต่วันรายอ ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน ยกตัวอย่าง ข่าวการยิงถล่มบ้านนายอามีน (นามสมมุติ) อายุ 27 ปี เขาเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในป้ายผ้าประกาศจับ แต่ช่วงวันรายอที่เขากลับบ้าน แต่มีสายของทหารในหมู่บ้านไปแจ้งว่า เขากลับมาบ้าน จึงถูกกองกำลังทหารกว่า 50 นาย เข้าบุกจับ จนกระทั่งเขาได้ถูกวิสามัญฆาตกรรม ตอนที่เขาอยู่บ้านคนเดียว และสภาพบ้านของเขาพัง เต็มไปด้วยรอยกระสุนปืน
คำกล่าวของน้องนักศึกษาที่ทำวิจัยเรื่องด่านตรวจทิ้งท้ายไว้ว่า “การไม่มีเจ้าหน้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อาจส่งผลให้สถานการณ์สงบลงก็เป็นได้”
และสำหรับผมนั้น การเห็นปืนของทหารที่ถือไปมาที่ด่าน หรือเวลาออกตรวจในเมืองต่างๆ ที่คนทั่วไปต้องเห็นปืนทหารวันละหลายๆ รอบ มันเป็นการผลิตสัญญะความรุนแรงในชีวิตประจำวัน และมันอันตรายเมื่อคนเริ่มคุ้นชินจนมองว่า ด่านคือบ้านของพวกเขา หรือแม้แต่เด็กเล็กๆ เช่น ที่ผมเคยเจอในบ้านมายอ นั่งเอาเศษไม้ ถังน้ำ เพื่อมา ‘เล่นตั้งด่าน’ กันกับเพื่อนๆ ให้คนหนึ่งเป็นทหาร คนอื่นๆ ขับรถผ่านด่าน และมีการต่อรองกันไปมา
ถ้าเด็กในเมืองจะเล่นปีนรถถังกัน เด็กสามจังหวัดก็มีนวัตกรรม ‘เล่นตั้งด่าน’ ได้เช่นกัน
หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัย ทหารมักชอบมาขับรถล่าตระเวนโดยขี่มอเตอร์ไซค์ พร้อมกับแนบปืนด้ามยาวไว้ข้างๆ (ดังในรูปประกอบ) ขี่ท่ามกลางแถวนักศึกษาใหม่ที่กำลังรับน้องช่วงเปิดเทอมใหม่ ผมนึกได้แต่คำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่พูดสั้นๆ ชัดเจนว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” คงเช่นเดียวกันว่า ชาวบ้านในสามจังหวัดก็ไม่อยากให้บ้านของเขาเป็นค่ายทหารด้วยเหมือนกัน
ดังนั้น การคืนความสงบสุขที่ทหารพยายามทำนั้นที่จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องของกระบวนการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดแต่อย่างใด แต่คือ การช่วยทำให้ชาวบ้าน Rest In Peace สู่ทางสงบทางชีวิตและจิตวิญญาณมากกว่านะครับ
นี่ผมไม่ได้อินเกินไปใช่มั้ย?