COVID-19 จะจบตอนไหน เมื่อไหร่จะกลับไปเป็นปกติ?
คำถามที่ใครๆ ก็สงสัย เพราะตั้งแต่เปิดปี ค.ศ.2020 มา เราก็อยู่กับเจ้าโรคนี้กันมานานมาก แถมความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทั่วโลกต้องออกมาตรการสกัดโรคระบาดนี้ ด้วยการให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน work from home งดการพบปะสังสรรค์ และทำ social distancing กันเลยทีเดียว
แน่นอนว่า โรคระบาดไม่ได้ส่งผลแต่ด้านสาธารณสุขอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะด้านสภาพจิตใจ หรือเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบหนัก จนหลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ COVID-19 จะจบ เราจะต้องอยู่กับโรคระบาดนี้ไปอีกนานแค่ไหน?
เราคงเห็นกันแล้วว่า ความคิดที่ว่า ‘ปิดร้านอาหาร โรงเรียนไปซัก 2 สัปดาห์ เดี๋ยวทุกอย่างก็จะกลับสู่ปกติแล้ว’ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง เพราะ COVID-19 คงต้องอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ๆ โดยอดัม คูฮาริสกี (Adam Kucharski) นักระบาดวิทยาของ London School of Hygiene & Tropical Medicine กล่าวว่า ไวรัสนี้อาจจะอยู่กับไปอีก 1-2 ปีเลยด้วยซ้ำ
แล้วมันจะจบลงยังไง เราต้องอยู่แบบนี้กันอีกเป็นปีจริงๆ เหรอ?
ถึงจะคาดเดาจุดจบของ COVID-19 ยาก แต่โลกเราก็เคยเผชิญกับการระบาดใหญ่ (pandemic) มาก่อน ซึ่งตามรายงานขององค์กรอนามัยโลก หลังจากช่วงของการระบาดใหญ่ โรคเหล่านั้นอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่แพร่ระบาดอยู่แค่ที่ใดที่หนึ่ง หรือเป็นโรคประจำฤดูกาล ที่มาเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งก็ได้
อย่างโรคซาร์ส (SARS) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกัน ที่ระบาดมาก่อน ถึงจะไม่พบการแพร่ระบาดของซาร์สตั้งแต่ปี 2004 แต่ก็ยังการันตีไม่ได้ว่า โรคนี้จะไม่กลับมาแพร่ระบาดอีก โดยสตีเว่น มอร์ส (Stephen Morse) นักระบาดวิทยา จาก Columbia University’s Mailman School of Public Health ระบุว่า มันอาจจะเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสจะกลับมาระบาดอีกครั้ง ในรูปแบบของโรคประจำฤดูกาล
ขณะที่ ไมเคิล ออสเทอร์โฮล์ม (Michael Osterholm) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด จาก University of Minnesota ระบุว่า COVID-19 อาจเป็นเชื้อโรคประจำฤดูกาลที่ก่อให้เกิดอาการปอดบวมได้ โดยเชื้อโรคเดียวที่พอจะเทียบเคียงได้ก็คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ที่มันอาจกลับมาอีกครั้งในทุกๆ ปี เว้นเสียแต่ว่า เราจะคิดค้น ‘วัคซีน’ กันได้สำเร็จ
แต่ต้องรอถึงเมื่อไหร่ กว่าวัคซีนจะสำเร็จ?
วัคซีนเปรียบเหมือนอาวุธเพชฌฆาตในการต่อสู้กับโรคระบาด อาจเทียบได้ว่าเป็นเหมือนความหวังของเราที่จะจบการแพร่ระบาดนี้เสียที ดังนั้น เราจึงได้ยินข่าวว่า ประเทศนั้น ประเทศนี้ เริ่มผลิตวัคซีนแล้ว
รายงานเรื่อง Coronavirus vaccine: when will it be ready? จากสำนักข่าว The Guardian ระบุว่า บริษัทและสถาบันศึกษากว่า 35 แห่ง กำลังแข่งขันกันเพื่อผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ออกมาให้ได้ โดยมีอย่างน้อย 4 แห่ง ที่เริ่มการทดลองกับสัตว์แล้ว
แต่กระบวนการในการผลิตวัคซีนนั้น ไม่ได้จบเพียงแค่ขั้นคิดค้นสูตรยาเท่านั้น ยังต้องผ่านการทำการทดลองอีกหลายครั้งทั้งในสัตว์และมนุษย์ กว่าจะการันตีได้ว่าสามารถใช้งานได้จริง โดยประมาณการณ์คร่าวๆ ได้ว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี วัคซีนจึงจะสามารถใช้งานจริงได้ เพราะต้องศึกษาข้อมูล และใช้ทรัพยากรจำนวนมาก
การทดสอบวัคซีนจะต้องใช้การทดสอบทางคลินิก 3 ระยะ โดยขั้นแรก คือการให้คนที่มีสุขภาพแข็งแรงประมาณ 10 กว่าคน เข้ารับการทดลองก่อน เพื่อหาผลข้างเคียง และพิสูจน์ว่า วัคซีนที่คิดค้นขึ้นมานั้น สามารถใช้กับคนได้จริงหรือไม่ แล้วจึงค่อยทดลองกับคนอีกประมาณ 100 กว่าคน และนำไปทดสอบกับคนกว่า 1,000 คน
ตอนนี้ หลายประเทศก็เริ่มการทดลองหาวัคซีนกันไปแล้ว อย่างสหรัฐฯ ก็ทดลองฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับผู้ป่วยคนแรกแล้ว ส่วนจีนเองก็เริ่มการทดลองเพื่อทดสอบว่าวัคซีนที่คิดค้นขึ้นมานั้น ปลอดภัยต่อมนุษย์จริงไหม กับอาสาสมัครกว่า 100 คนแล้วเช่นกัน
ดังนั้น การทดลองหาวัคซีนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยกระทรวงสาธารณสุขของอินเดียระบุว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี กว่าจะพัฒนาวัคซีนกันได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิจัยจากหลายประเทศ ที่มองว่า คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก กว่าเราจะมีวัคซีนมาช่วยหยุดวิกฤตนี้ได้จริงๆ
“เหมือนกับนักพัฒนาวัคซีนอีกหลายคน ฉันไม่คิดว่า วัคซีนจะพร้อมใช้งานได้จริง ภายใน 18 เดือนนี้” แอนนาลีส วิลเดอร์-สมิธ (Annelies Wilder-Smith) ศาสตราจารย์จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าว
นอกจากนี้ วัคซีนไม่ได้มอบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะช่วยเพิ่มการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราแทน อีกทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับวัคซีนเฉพาะที่ได้รับการพัฒนา และวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็อาจจะไม่ใช่วัคซีนตัวแรกที่พัฒนาขึ้นมาก็ได้
แถมวัคซีนก็ยังไม่ใช่ยารักษา แต่เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเท่านั้น เป้าหมายที่แท้จริงของมันจึงเป็นการช่วยป้องกันโรคมากกว่า โดย มาร์ก ลิปซิตช์ (Marc Lipsitch) นักระบาดวิทยาจาก Harvard University คาดการณ์ว่า อาจมีคนประมาณ 40-70% ที่ติดเชื้อไวรัสภายในปีที่จะถึงนี้ และถ้าผู้คนส่วนมากติดเชื้อไวรัสแล้ว การมอบวัคซีนให้ก็อาจจะไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่
อย่างไรก็ดี วิลเดอร์-สมิธกล่าวเสริมว่า การระบาดใหญ่อาจจะรุนแรงมากขึ้น จนถึงจุดสูงสุด และค่อยๆ คลี่คลายลงก่อนที่วัคซีคจะพร้อมใช้งานก็ได้ วัคซีนอาจจะช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมาก หากไวรัสนี้กลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่น หรือประจำฤดูกาลเหมือนอย่างไข้หวัด แต่จนถึงตอนนี้ ความหวังที่ดีที่สุดของเรา คือ การยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด และรักษาสุขอนามัยของตัวเองให้ดี
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีแห่งสิงคโปร์ กล่าวแถลงกับชาวสิงคโปร์ว่า โรค COVID-19 นี้ ไม่เหมือนกับซาร์ส การระบาดนี้อาจคงอยู่ไปนานเป็นปีหรือมากกว่านั้นก็ได้ .. จึงมีสิ่งพื้นฐานที่เราต้องปฏิบัติกันให้คุ้นชิน เช่น ฝึกปฏิบัติตัวให้มีสุขอนามัยที่ดี ปรับตัวให้เข้ากับบรรทัดฐานใหม่ของสังคม และไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ รวมถึงรักษาการทำ social distancing ไปด้วย
สรุปแล้ว เราอาจจะต้องอยู่กับ COVID-19 กันไปปีกว่าหรือสองปี เราจึงต้องรักษาสุขอนามัยให้ดี เพื่อรับมือกับการอาศัยในสภาวะที่โรคระบาดนี้ยังคงดำเนินอยู่ จนกว่าจะมีการควบคุมโรค หรือมีวัคซีนมาช่วยปราบไวรัสนี้ไปได้
อ้างอิงจาก