“ไม่ต้องกังวลว่าเราจะขาดวัคซีน คนไทยจะมีวัคซีนเต็มแขน ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป จนถึงปีหน้า เราจะมีภูมิต้านทาน เพื่อกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติที่สุด ประเทศก็จะก้าวพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี”
นี่คือคำพูดของ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ที่ชี้แจงในสภาว่า ประเทศไทยจะไม่ขาดแขลนวัคซีน และมีวัคซีนมากมายหลายยี่ห้อไปหมด ในปลายปีนี้ แต่คำว่าวัคซีนเต็มแขนนั้น อาจจะไม่ได้หมายถึงแค่เรามีวัคซีนมากมายเต็มไปหมด เพราะมีคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่ต้องมีวัคซีนปักเต็มแขนมากถึงเข็ม 4 และ 5 ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน จากการจัดการวัคซีนของภาครัฐ
The MATTER ได้พูดคุยกับคนไทย ที่ฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 3 – 4 – 5 และอาจจะต้องบูสเพิ่มขึ้นกว่านี้ในอนาคต ว่าพวกเขามองยังไงกับการจัดการวัคซีนของภาครัฐ ที่ส่งผลให้พวกเขาต้องฉีดวัคซีนมากเต็มแขนขนาดนี้ และการฉีดผสมวัคซีนหลายๆ ตัว หรือที่ประเทศไทยเรียกว่าสูตรผสมนั้น พวกเขามองอย่างไร
วัคซีนเต็มแขน เมื่อการจัดสรรของไทย ส่งผลให้ต้องฉีดเข็ม 4 หรือ 5
เมื่อเดือนเมษายน 64 ที่ผ่านมา นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ประกาศแผนการจัดหา และฉีดวัคซีนให้คนไทย ว่าตั้งเป้าหมายว่าจะต้องฉีดให้ครบ 100 ล้านโดส (สำหรับประชากร 50 ล้านคน) ภายในสิ้นปี 64 โดยเข้าเดือนสุดท้ายของปี ในวันนี้ (2 ธันวาคม 64) ยอดรวมการให้ฉีดวัคซีนสะสมอยู่ที่ 93,929,601 โดส แบ่งเป็น
- เข็มที่ 1 สะสม 48,594,537 โดส
- เข็มที่ 2 สะสม 41,827,020 โดส
- เข็มที่ 3 สะสม 3,490,779 โดส
- และเข็มที่ 4 สะสม 17,265 โดส
ซึ่งแปลว่า 100 ล้านโดสที่อาจจะเป็นเป้าหมายนี้ ไม่ได้มีแค่เข็ม 1 และ 2 แต่ยังรวมจำนวนเข็ม 3 และ 4 หรืออาจจะมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากต้องฉีดกระตุ้นกันไป โดยท่ามกลางสถานการณ์การระบาดทั่วโลก ที่หลายประเทศเริ่มอนุมัติการฉีดบู๊สเข็ม 3 ประเทศไทย อาจจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่เริ่มฉีดเข็ม 3 ไปถึงเข็ม 4 ให้ประชาชนแล้ว แต่การฉีดก่อน ฉีดเยอะ ก็ไม่ได้แปลว่าเราเป็นผู้นำ หรือดีกว่าประเทศอื่นใดๆ
แพท (นามสมมติ) คือคนไทยคนหนึ่ง ที่ตอนนี้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เขาคือคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วถึง 4 เข็ม และกำลังจะเข้ารับเข็ม 5 ในสัปดาห์หน้า เขาเล่าว่า “เข็ม 1-2 ได้รับ Sinovac เมื่อช่วงกลางปี และเข็ม 3 ได้ Pfizer เป็นเข็มกระตุ้นก่อนเดินทางออกจากไทยเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม แต่พอมาถึง เจ้าหน้าที่ที่นี่แนะนำว่าฉีดเริ่มต้นใหม่เลยก็ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าระบบทางด้านสาธารณสุขที่นี่ การเดินทางไปไหนมาไหนก็จะได้สะดวก เท่ากับว่า ภายในระยะเวลา 7 เดือน เราจะต้องได้รับวัคซีนถึง 5 เข็ม” เขาเล่าว่า เขาเริ่มรับวัคซีน Sinovac เข็มแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม และเข็ม 5 ที่กำลังจะปักลงแขนเขาคือ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม
ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 การได้วัคซีน คงเป็นเหมือนความอุ่นใจ และทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่แพทเองก็ไม่คิดว่า เขาจะต้องฉีดมากถึง 5 เข็ม ซึ่งการที่เขาต้องฉีดมากขนาดนี้ ก็มาจากการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐไทยด้วย
“จริงๆ มองว่า ถ้าการบริหารจัดการด้านวัคซีนของรัฐดี เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดเยอะขนาดนี้เลย การฉีดวัคซีนเยอะๆ อาจจะไม่ได้เป็นผลดีต่อตัวเรามากขนาดนั้นหรือเปล่า วัคซีนชนิดแรกที่รัฐจัดสรรให้คือ Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย และประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำกว่าชนิดอื่นๆ แต่ ณ เวลานั้นเราไม่มีทางเลือก มีอะไรก็ต้องฉีดไปก่อน
เรามองว่าการบอกว่า อย่างน้อยก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ มันฟังดูไม่สมเหตุสมผล ทำไมถึงไม่ได้รับวัคซีนที่ดีและมีประสิทธิภาพเหมือนที่ประเทศอื่นๆ เค้าใช้กัน ทั้งที่การวิจัยต่างๆ ก็ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว แต่รัฐก็ยังดั้นด้นจะใช้วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนหลัก พอมีการจะนำเข้าวัคซีนที่ดีกว่า ก็ใช้เวลานาน กระบวนการต่างๆ คือ ขนาดจะเสียเงินฉีด ทำไมถึงต้องยากขนาดนี้ เหมือนบังคับว่าต้องฉีดสิ่งที่รัฐจัดให้ก่อน เพราะอะไร กลัววัคซีนเหลือหรอ ?” เขาตั้งคำถาม
แพทไม่ใช่คนเดียว ที่ต้องฉีดวัคซีนหลายเข็ม เพราะต้องฉีดวัคซีนที่รัฐจัดสรรให้ก่อน เจ (นามสมมติ) เป็นอีกคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วถึง 4 เข็ม เจเล่าว่า เธอฉีด Sinovac 2 เข็มแรกที่ประเทศไทย ก่อนจะมาฉีด Pfizer อีก 2 เข็มที่ประเทศเกาหลี โดยเธอเริ่มฉีดเข็มแรก เมื่อเดือน มิถุนายน และฉีดเข็มที่ 4 ไปเมื่อปลายเดือนตุลาคม รวมแล้ว 4 เข็ม ในระยะเวลา 4 เดือน
เจสะท้อนกับเราเช่นกันว่า เพราะมาตรการจัดหาวัคซีนของรัฐ ทำให้เธอต้องฉีด 2 เข็มแรกไปก่อน “เราคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกร้ายมากๆ แทนที่เรานะได้วัคซีนดีๆ ตั้งแต่แรก แล้วก็ค่อยๆ boost เพิ่มตามระยะเวลาที่เหมาะสม กลายเป็นว่ามีอะไรก็ต้องฉีดไปก่อนเหมือนเป็นยันต์กันโดนสังคมมองว่าไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม ทั้งที่วัคซีนที่รัฐมีให้เลือกในช่วงแรกๆ มันเป็นตัวที่มีงานวิจัยออกมาเยอะมากๆ ว่ามันมีประสิทธิภาพไม่พอนานๆ เข้า วัคซีนตัวนี้เริ่มกันสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ ก็ต้องมาจิ้มเพิ่ม ผสมไปเรื่อยๆ ฉีดเพราะอยากได้ความปลอดภัย แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงเอง รัฐไม่ได้มารับผิดชอบอะไรชีวิตเราเลยสักนิด” เธอบอก
ประชาชนทั่วไป คนที่เดินทางไปต่างประเทศต้องดิ้นรนหาวัคซีนเสริมภูมิเพิ่ม ด้าน ซี ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทำงานด้านการแพทย์ ในโรงพยาบาล ก็เป็นอีกคน ที่ต้องฉีดวัคซีนบู๊สเพิ่มเรื่อยๆ โดยตอนนี้ เธอฉีดวัคซีนไปแล้ว 3 เข็ม และกำลังรอการจัดสรรเข็มที่ 4 อยู่ โดยที่ยังไม่รู้ด้วยว่าจะเป็นวัคซีนตัวใด
“เราฉีด Sinovac 2 เข็ม และ AstraZeneca 1 เข็ม (เป็นเข็มกระตุ้น) ที่ฉีดเยอะ เพราะการจัดสรรวัคซีนของโรงพยาบาลในการให้บุคลากรฉีด ภายหลังมีการออกประกาศเรื่องสูตรผสม ซึ่งการนำวัคซีนที่ดีและมีประสิทธิภาพเข้ามาล่าช้า ส่งผลให้ต้องได้รับวัคซีนลูกผสมเยอะ”
“มันเป็นความหงุดหงิดเรื่องการจัดสรรวัคซีน การเข้าถึงการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพวัคซีนที่เลือกนำเข้ามาฉีดให้ประชาชน
ถ้าได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพแต่แรก เราก็ไม่ต้องเจ็บตัวหลายรอบ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นเจ็บตัวเพียงอย่างเดียว แต่ในวัคซีนที่นำมาฉีดช่วงแรกนั้น มีส่วนช่วยแค่กันอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเท่านั้นด้วย” เธอเล่า
มาตรการของรัฐ แต่คนได้รับผลกระทบคือประชาชน
แน่นอนว่า การฉีดวัคซีนหลายๆ เข็ม ไม่ได้มาจากความอยากส่วนตัวของพวกเขาเลย แต่ที่ต้องฉีดเข็ม 3 4 ไปถึง 5 นั้น มีผลจากมาตรการจัดหาวัคซีนของภาครัฐ โดยเจ มองว่าการจัดหาวัคซีนของรัฐพลาดตั้งแต่ก้าวแรก และหลายๆ คนก็ต้องฉีดตามที่รัฐจัดสรรไปก่อน เพราะโดยกดดัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าอนาคตก็ต้องฉีดเพิ่มอีก
“การจัดการวัคซีนของรัฐบาลไทยย่ำแย่มาโดนตลอด ก้าวพลาดตั้งแต่ก้าวแรก ทั้งเรื่องการจัดสรรที่ค่อนข้างจะเละเทะ รวมถึงการเลือกชนิดของวัคซีน ช่วงที่มีข่าวออกมาจากต่างประเทศเยอะมาก ๆ เกี่ยวกับเรื่องความไม่โปร่งใสของ Sinovac รัฐบาลไทยก็ยังคงสั่งมาไม่หยุด เราเชื่อว่ามีหลาย ๆ คนที่เริ่มเข็มแรก และเข็มสองด้วย Sinovac เพราะถูกกดดัน ไม่ว่าจะเป็นจากสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยของประเทศไทย หรือที่ทำงานให้เราต้องฉีด ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าในอนาคตก็ต้องฉีดเพิ่มอยู่ดีเพราะประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้มันต่ำมากๆ กับสายพันธุ์ใหม่ๆ แต่ก็ต้องฉีด สุดท้ายก็กลายเป็นว่าต้องมารับ Booster กันจนเต็มแขนเป็นสูตรผสมแบบนี้”
“ถ้ารัฐวางหมากดีตั้งแต่แรก และให้วัคซีนดี ๆ กับคนไทยตั้งแต่แรก ก็คงไม่ต้องมาเสี่ยงกันขนาดนี้กับสูตรผสม”
เธอบอกกับเรา ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
ด้านของแพท ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศก็บอกว่า เป็นเพราะวัคซีนที่รัฐจัดหาเป็นวัคซีนหลัก ไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ทำให้ต้องฉีดเพิ่มเรื่อยๆ ในอีกยี่ห้อที่ต่างประเทศให้การยอมรับแทน ทั้งเขายังเล่าถึงมาตรการการฉีดวัคซีนที่สับสนของรัฐ สำหรับนักเรียนที่จะเดินทางไปต่อเรียนต่อต่างประเทศด้วย
“พอเราฉีดวัคซีนที่ประเทศอื่นๆ ไม่ให้การยอมรับ มันก็ส่งผลให้เราต้องดิ้นรนหาวัคซีนที่ดีและมีประสิทธิภาพเหมาะสม คือ บางคนบอกเราว่า ไปฉีดประเทศปลายทางเลย เพราะเค้าฉีดให้นักเรียนทุกคน แต่ความเสี่ยงระหว่างการเดินทางหละ เราไปถึงก็คือต้องไปกักตัวต่างๆ ถ้าเกิดติดขึ้นมาก่อนได้รับวัคซีนจะทำยังไง มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี
พอตอนหลังรัฐบาลออกมาประกาศว่าจะให้ Pfizer สำหรับนักเรียน/นักศึกษาที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ แต่ระบบการจัดการก็ยุ่งยาก ระบบการคัดกรองไม่มีประสิทธิภาพ บอกให้ลงทะเบียนไป สุดท้ายส่งเมล์มาบอกว่า ได้รับเข็ม 1-2 ไปแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับวัคซีนในส่วนนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เราคนเดียวที่โดนแบบนี้ มันคือหลายคนมาก แต่เราก็รวมกันสู้นะ ว่าทำไมถึงจะไม่ได้ ในเมื่อวัคซีนที่เราได้มันไม่ได้รับการยอมรับ แล้ว ณ เวลานั้นอาจจะไม่เหลือภูมิคุ้มกันอะไรเลยก็ได้ ก็ต้องไปเถียงเอา เพื่อที่จะให้ได้วัคซีนตัวนี้ ทั้งๆที่มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือเปล่า ถ้าจัดการดีแต่แรก เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ทำไมแค่จะฉีดวัคซีนถึงต้องแย่งกันขนาดนั้น
เราลองเปรียบเทียบกับประเทศที่เราเรียนอยู่ตอนนี้คือ เดิน walk in ไปบอกว่าขอฉีดวัคซีน เค้าก็แค่ถามว่า จะเอาตัวไหน มีให้เลือก Pfizer กับ Moderna แล้วก็จัดการฉีดให้เลย กระบวนการทั้งหมดคือใช้เวลาไม่ถึง 20 นาทีด้วยซ้ำ ตัดภาพไปที่ตอนไปฉีดวัคซีนที่ไทย คือ ต้องมานั่งลุ้นว่า จะถึงคิวตัวเองตอนไหน ไปกันตั้งแต่เช้า ได้ฉีดกันตอนเย็น ระบบการจัดการคิวก็ไม่ดี ไม่รู้จะติดกันตอนไปรอฉีดหรือเปล่า นี่คือความแตกต่างด้านการจัดการที่เห็นได้ชัด ในขณะที่รัฐประกาศทุกวันว่าให้ไปฉีด แต่พอไปถึงก็ไปแย่งกันเอางี้หรอ คือ การจัดการที่แย่ที่ไทยมันทำให้เราต้องมาฉีดเพิ่มเติมที่นี่อีกในเวลาที่ห่างกันไม่มาก เพราะอะไร เพราะจะได้เข้าระบบของที่นี่ ระบบที่เค้าให้การยอมรับทั่วโลก เราอยากได้ Covid pass ที่เวลาเราจะเดินทางเราก็แค่โชว์ให้เค้าดูแล้วผ่านเลย ไม่ต้องมานั่งกังวลกับวัคซีนห่วยๆ อีก” แพทสะท้อนถึงความยุ่งยากที่เขาเจอ
ไม่เพียงแค่การฉีดเพิ่มหลายเข็ม การตั้งต้นจัดหาวัคซีนของไทย ยังส่งผลให้มีสูตรผสม สูตรไขว้วัคซีนเต็มไปหมด เพื่อเอาวัคซีนที่มีอยู่ มาพยายามมิกซ์กับตัวอื่น เพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมา โดยล่าสุดจากการประกาศของกระทรวงสาธารสุขพบว่า สำหรับเข็ม 1-2 มีถึง 6 สูตร เป็นการผสมระหว่าง Sinovac AstraZeneca Moderna Pfizer และ Sinopharm ขณะที่เข็มกระตุ้น ก็มีสูตรแยกไปอีก ซึ่งซี ซึ่งเป็นหนึ่งคนที่ต้องฉีดบู๊สสูตรไขว้ Sinovac 2 เข็ม และ AstraZeneca เข็ม 3 ก็บอกเราว่า นั่นเป็นเพราะรัฐมองเพียงภาพระยะสั้นๆ และสูตรผสมต่างๆ ก็มีความเสี่ยงด้วย
“มาตรการที่บริหารงานของรัฐ ในที่นี้มองว่าการมองเพียงแค่ผลสั้นๆ ไม่มีการพิจารณา หรือวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณของประเทศไปลงทุนในการซื้อวัคซีน ที่หากการนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเข้ามา แล้วประชาชนทุกคนได้ฉีดอย่างทั่วถึง คาดว่าจะไม่ต้องมีการฉีดวัคซีนสูตรผสมเลย การใช้วัคซีนสูตรผสมนั้นก็มีความเสี่ยงสูงในคนทุกกลุ่มที่ต้องถูกฉีดเช่นกัน รัฐไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ แถมยังเพิกเฉยหรือมองว่าผู้เสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีน เพราะมีโรคประจำตัว หรืออื่นๆ คล้ายๆรำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง อย่างนั้น”
ทั้งในฐานะผู้ได้รับสูตรผสม และเป็นหนึ่งในบุคลากรด้านการแพทย์ เธอยังมองถึงการฉีดผสมข้ามยี่ห้อว่า “ในมุมนึงของคนที่เข้าไม่ถึงบริการฉีดวัคซีน ก็อาจจะคิดว่าอย่างน้อยก็ได้ฉีด แต่ในมุมของคนที่ต้องให้บริการด้านสุขภาพ มันเป็นความเสี่ยงในการทำงานค่อนข้างเยอะ การฉีดวัคซีนสูตรผสม คนถูกฉีดก็เสี่ยง พอเสี่ยงฉีด ก็ยังต้องมานั่งลุ้นว่าภูมิเราขึ้นไหม จะรอดจาก COVID-19 ไหม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างมาก” ซีบอก
เมื่อคนไทย ฉีดวัคซีนเยอะจนต่างชาติงง และอนาคตที่ไม่รู้ว่าต้องฉีดเพิ่มอีกกี่เข็ม
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หลายประเทศเพิ่งมีขั้นตอนการอนุมัติ การศึกษาเรื่องการฉีดบู๊สเข็ม 3 ในประชาชน พอชาวต่างชาติ มาเห็นชาวไทย ฉีดเยอะ ฉีดผสมแบบนี้ ย่อมทำให้พวกเขางง และตกใจ ซึ่งนี่คือสิ่งที่แพท และเจ ที่ตอนนี้อยู่ต่างประเทศบอกกับเรา
“เพื่อนๆ ที่นี่พอรู้ว่าเราฉีดเยอะขนาดนี้ก็งงไปเลย ว่าทำไมถึงฉีดกันเยอะขนาดนี้ มันจะมีผลกระทบอะไรต่อร่างกายหรือเปล่า พอเราบอกว่า เพราะเราได้ Sinovac ใน 2 เข็มแรก เพื่อนเรายังถามเลยว่า ‘เค้านับด้วยหรอ ?’ คือหน้าชาไปเลยนะ
เรายังถือว่าโชคดีที่ไม่ได้ฉีดแบบไขว้มาก่อนเดินทาง ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อการรับวัคซีนที่นี่หรือเปล่า” แพทผู้กำลังจะรับวัคซีนเข็มที่ 5 บอก
ด้านเจ เองก็เพื่อนๆ ที่มีรีแคชั่นตกใจกับการฉีดวัคซีนของเธอเช่นกัน
“เพื่อนเราเกือบทุกคนตกใจมาก เขาถามว่าแบบ ยูไม่กลัวตายเหรอ? เพราะว่ามันเป็นจำนวน 4 เข็มใน 4 เดือน ซึ่งมันถือว่าเยอะมากๆ หลายๆ ประเทศเขาก็ไม่ทำกัน ซึ่งต่างจากที่ไทยที่ผสมกันมั่วมาก ขนาดเพื่อนต่างประเทศของเราบางคนที่เขาฉีดมาแค่เข็มเดียวก่อนจะเรียนต่อ แล้วตัวที่ฉีดมามันไม่มีให้ฉีดเพิ่มในเกาหลี เขาก็ยังไม่กล้าฉีดเพิ่มเพราะกลัวการฉีดแบบไขว้ กลัวอันตรายที่จะตามมา แต่สำหรับคนไทยหลายๆ คนที่เราคุยด้วย ทุกคนก็มีความรู้สึกเดียวกันคือกลัว แต่ก็ต้องยอมเสี่ยงเพราะไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนจากไทยกันเป็นส่วนใหญ่ ต่างกับประเทศอื่นที่เขาไม่ได้รู้สึกเหมือนคนไทย”
เจยังเสริมว่า ในตอนแรกเธอฉีด Sinovac ก่อนจะรู้แผนชีวิตว่าจะได้มาเรียนต่อ ซึ่งเมื่อมาถึงเกาหลีใต้แล้ว หากแจ้งว่าฉีดวัคซีนแล้ว จะถือว่า fully vaccinated และไม่ฉีดเพิ่มให้เนื่องจากทางเกาหลีไม่มีการฉีดผสม แต่ตอนที่ต้องแจ้งความประสงค์กับทางคนดูแลว่าจะรับวัคซีนไหมเป็นช่วงที่มีข่าวหลาย ๆ ประเทศไม่รับรอง Sinovac รวมถึงมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาด้วย เธอจึงตัดสินใจที่จะรับความเสี่ยงในการรับวัคซีนผสมเอง
ทั้งการฉีด 4 เข็มนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าจบสิ้นแล้ว เพราะหากมีสายพันธุ์กลายพันธุ์ หรือภูมิตกลงในอนาคต ก็อาจจะต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มไปอีก ซึ่งเจ ก็มองว่าถ้ารัฐจัดสรรดีแต่แรก ก็คงไม่ต้องจำนวนเข็มเยอะขนาดนี้
“จากเดิมถ้าเกิดว่าทุกคนได้เริ่มต้นที่ mRNA เราเชื่อว่าทุกคนจะไม่ต้องมารับวัคซีนเพิ่มจนมีจำนวนถึง 4+ เข็มแบบนี้ เพราะว่าทุกคนจะมีภูมิที่ดีตั้งแต่แรก จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอาจจะน้อยกว่าที่เป็นอยู่ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มันสายไปแล้ว หลาย ๆ คนที่เริ่มต้นไม่ดีก็ต้องมาแบกความเสี่ยงของสูตรไขว้ไปเรื่อยๆ โดยที่รัฐบาลไม่รับผิดชอบอะไรกับการเริ่มต้นที่ผิดพลาดของตัวเอง”
เช่นเดียวกับแพท ที่ 5 เข็มว่ามากแล้ว เขาอาจต้องมีวัคซีนปักเต็มแขนมากกว่านี้อีก
แพทบอกว่า “พอเทียบกับเพื่อนๆ ที่นี่แล้ว ในเวลา 1 ปีเค้าอาจจะฉีด วัคซีน แค่ 3 เข็ม เพราะตอนนี้เริ่มมีประกาศให้ไปฉีดเข็มกระตุ้นแล้วสำหรับบางกลุ่ม แต่เราคือ ในเวลา 7 เดือน ฟาดไปแล้ว 5 เข็มงี้ พออีก 6 เดือนก็ไม่รู้อาจจะต้องไปกระตุ้นอีกหรือเปล่า ถ้าต้องกระตุ้นอีกก็จะกลายเป็นว่าในเวลา 13 เดือนเราฉีดไป 6 เข็ม สองเท่าของคนที่นี่เลย งงเหมือนกันนะ แล้วความปลอดภัย ผลข้างเคียงอะไรที่อาจจะตามมาในอนาคตก็ไม่มีใครรู้ แต่เราต้องฉีดเพื่อเอาชีวิตช่วงนี้ให้รอด เพื่อให้เราสามารถอยู่ได้อย่างสบายใจมากขึ้น”
ด้านซีเอง ก็มองว่าการฉีดวัคซีนเพิ่ม เพื่อบู๊สเป็นเรื่องปกติ แต่เธอก็มองว่าการฉีดสูตรผสม ไขว้ไปเรื่อยๆ นั้น ควรจะยุติลง “การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส นั้นเป็นเรื่องปกติตามหลักชีววิทยา ในการที่มันพยายามเอาตัวรอดจากการป้องกันของเรา แต่ในที่นี้มองว่า การต้องฉีดวัคซีนเพิ่มยังคงต้องเป็นทางเลือกที่จะต้องดำเนินต่อไป แต่การฉีดเพิ่มโดยสูตรผสมควรยุติลง มันไม่ได้ปลอดภัยต่อใครเลย ชีวิตของคนทุกคนสำคัญเท่ากันหมด ไม่ควรจะมีใครต้องรับความเสี่ยงจากการบริหารจัดการไม่ได้ของภาครัฐ”
สุดท้ายแล้ว ในเมื่อการระบาดของ COVID-19 ยังคงมีอยู่ และในปี 65 รัฐบาลยังต้องจัดหาวัคซีนเพื่อเป็นการบู๊สอีก แพทก็ฝากบอกของมาตรการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า
“รัฐบาลอย่าดันทุรังนักเลย อะไรที่เค้าบอกว่าประสิทธิภาพดีก็เอาเข้ามาใช้เถอะ ลองทำตัวให้เหมือนประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตประชาชนในประเทศเค้าหน่อย สวัสดิภาพในชีวิต การทำมาหากินมันจะได้ดำเนินต่อไปได้ ไม่ใช่ต้องมานั่งลุ้นล็อคดาวน์กันรายสัปดาห์ คนทำมาหากินเค้าจะตายเอา วัคซีนที่มันมีประสิทธิภาพเอาเข้ามาแล้วก็อย่ากั๊ก เร่งฉีดให้คนไทยไปเถอะ โลกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว อย่ามัวแต่มานั่งทำวิจัยเพื่อเอามาสร้างความชอบธรรมว่าวัคซีนตัวนี้ไขว้กับตัวนั้นแล้วประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับตัวนั้น คำถามคือ ถ้ารู้ว่าวัคซีนอีกตัวนึงมันคุณภาพดี แล้วทำไมไม่เลือกวัคซีนตัวนั้นแต่แรก จะไปสั่งตัวอื่นมาเพื่อไขว้ให้มันเท่ากับตัวนั้นทำไม งง ชีวิตมันไม่ต้องทำให้ยากขนาดนั้นก็ได้หรือเปล่า ?” เขาทิ้งท้าย
“อยากให้รัฐใส่ใจกับจุดนี้มากขึ้นและซื่อสัตย์กับเรื่องวัคซีนได้แล้ว” นี่คือสิ่งที่เจบอกกับเรา ในคำถามสุดท้าย
“ที่ผ่านมาปัญหาของการที่คนไทยไม่ได้รับวัคซีนที่ดีมีให้เห็นทั้งการปฏิเสธการช่วยเหลือ และความไม่โปร่งใสอีกมากมาย ซึ่งคนที่รับผลกระทบต่างๆ คือประชาชนล้วนๆ
อยากให้รัฐเลือกหาวัคซีนดีๆ ให้กับคนไทยได้แล้ว เพื่อไม่ให้มันต้องเป็นสูตรผสมวนไปเรื่อย ๆ แบบนี้ไม่จบไม่สิ้น ทำงานให้เป็นระบบ แจกจ่ายให้ทั่วถึงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่ประเทศจะได้กลับมารันกิจการงานต่างๆ ได้เหมือนเดิม” เธอสรุป