สองสามวันมานี้ ทวิตเตอร์คึกคักด้วยแฮชแท็ก #handwritingchallenge ที่ท้าทายให้คุณมาเขียนข้อความด้วยลายมือของคุณเอง โดยคุณจะต้องเขียนข้อความสี่แบบ
แบบแรก “นี่คือลายมือแบบบรรจง”
แบบที่สอง “นี่คือลายมือแบบปกติ”
แบบที่สาม “นี่คือลายมือแบบรีบ”
และแบบที่สี่ “นี่คือลายมือข้างที่ไม่ถนัด”
ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้วมหาศาล เกิดเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ (คุณก็ลองเขียนดูสิครับ) จึงทำให้ผมตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่าคนในปัจจุบันนี่ลายมือแย่กว่าคนสมัยก่อนไหม เพราะจะทำอะไรก็พิมพ์เอา เร็วกว่า
และการเขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์ มันใช้ ‘โหมดสมอง’ ที่แตกต่างกัน จนทำให้เราคิดไม่เหมือนกันไหม
พูดกันอย่างเอาตัวเองเป็นใหญ่ ผมคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้โดดเดี่ยวใน ‘โรค’ นี้นะครับ ชนเผ่าไก่เขี่ยอย่างเราๆ (แน้! หาพวก!) ที่เติบโตมาด้วยการพิมพ์บนแป้นคีย์บอร์ดน่าจะมีจำนวนมากทีเดียว พวกเราเรียนเขียนตัวหนังสือ จรดปากกาลงบนกระดาษให้มีเสียงแกรกกรากเพียงแค่ในห้องเรียนระดับต้นเท่านั้น เมื่อเติบโตเข้าระดับอุดมศึกษา ก็เปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ในการจดแทน เป็นเช่นนั้น ง่ามนิ้วเลยมีโอกาสได้สัมผัสดินสอและปากกาน้อยเต็มที เมื่อไม่ได้บริหารกล้ามเนื้อนิ้ว ครั้นถึงเวลาที่ต้องใช้งานขึ้นมา จึงปันผลออกมาเป็นลายมือที่แม้แต่เจ้าของยังกลับมาแกะไม่ออก
สมัยผมที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม (ซึ่งก็ผ่านมา… เอ่อ… 15 ปีได้) ความสามารถทางพิมพ์ดีดไม่ใช่เรื่องจำเป็นนักในการดำรงชีวิตในสังคม วิชาพิมพ์ดีดเป็นวิชาเลือกด้วยซ้ำ เมื่อจะต้องส่งรายงาน เพื่อนของผมบางส่วนก็เลือกที่จะเขียนบนกระดาษ ในขณะที่บางคนก็เลือกจ้างให้คนที่พิมพ์ดีดเป็นพิมพ์ให้ แต่ยุคนี้โลกกลับตาลปัตร ถ้าสำรวจกันในเมือง เราจะหาคนพิมพ์ดีดไม่เป็นได้ยากกว่าหาคนพิมพ์เป็น และที่พิมพ์เป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ว่าเข้าหลักสูตรเรียนที่ไหนนะครับ – แต่มาจากการสั่งสมจากการแชตกับเพื่อนหรือเรียนรู้เอาอย่างมวยวัด
มีแนวโน้มว่า ในอนาคต ประชากรชนเผ่าไก่เขี่ยจะเพ่ิมขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่หลายโรงเรียนหลายสถาบันการศึกษาเน้นสอนการเขียนหรือคัดลายมือลดลง แต่ไปให้เวลากับการเรียนและสอนพิมพ์ดีดมากขึ้น
อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 เป็นต้นมา ก็มีการผ่อนปรนด้านการศึกษาใน 45 รัฐว่าไม่จำเป็นต้องสอนการเขียนภาษาอังกฤษ ‘ตัวเขียน’ (Cursive) อีกต่อไป สอดรับกับผลการศึกษาที่ว่าภาษาอังกฤษแบบตัวเขียนมีการใช้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา – นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เดียวเพราะเทียบเท่ากับบอกว่า ไม่จำเป็นต้องสอนตัวอักษรรูปแบบหนึ่งอีกแล้ว คนอ่านจะเขียนไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ครูหรือนักการศึกษาที่ตัดสินใจว่าจะยกเลิกการสอนอังกฤษตัวเขียนให้เหตุผลว่าเอาเวลาไปสอนทักษะด้านดิจิตอล อย่างเช่นการพิมพ์ดีด หรือการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ น่าจะมีประโยชน์ต่อนักเรียนในระยะยาวมากกว่า
อย่างไรก็ตาม นักการศึกษาบางส่วนก็ออกมาเตือนว่าการเลิกสอนภาษาอังกฤษแบบตัวเขียน อาจกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก ครูใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ยังคงสอนอังกฤษตัวเขียนต่อไปบอกว่า “ภาษาอังกฤษแบบตัวเขียนนั้นมีความลื่นไหล (Fluidity) ที่ทำให้เด็กสามารถเข้าใจสิ่งที่เขียนและอ่านได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทั่วไปหรือวรรณกรรม” ผู้สนับสนุนภาษาอังกฤษตัวเขียนยังบอกอีกด้วยว่าต่อไปหากเลิกสอนการอ่านและเขียนอังกฤษตัวเขียนแล้ว ในอนาคตก็จะหาผู้อ่านเอกสารเก่าๆ อย่างเช่นรัฐธรรมนูญ หรือสนธิสัญญาที่ใช้อังกฤษตัวเขียนในการบันทึกได้ยากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่บอกว่า เลิกๆ ไปเหอะ การสอนตัวเขียนเนี่ย ก็โต้ตอบกลุ่มปกป้องตัวเขียนว่า ค่ะ เราได้อ่านเอกสารเก่าๆ อย่างรัฐธรรมนูญหรือสัญญาพวกนั้นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่กันคะ การเอาเวลาการเรียนการสอนไปโฟกัสกับทักษะที่มีประโยชน์ (ซึ่งคือทักษะคอมพิวเตอร์) ดูมีเหตุมีผลกว่ามากไม่ใช่เหรอคะ เหรอคะ เหรอคะ ฯลฯ
นั่นเป็นเพียงเรื่องการเรียนการสอนตัวอักษร ‘แบบหนึ่ง’ นะครับ – แล้วตอนนี้อย่างที่เราเห็นกันว่าในชั้นเรียนมีการใช้สื่อคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยมากขึ้น มีการแจกแทบเบล็ตให้ใช้บันทึกในห้องเรียน การส่งงานเริ่มเปลี่ยนไปใช้อีเมลแทนการยื่นรายงาน จนมือของนักเรียนมีโอกาสสัมผัสหมึกปากกาน้อยลง จนในอนาคตอาจไม่ต้องมือเปื้อนหมึกเลย – เมื่อเป็นแบบนี้แล้วจะส่งผลต่อการคิดอย่างไรไหม?
เคยมีการสำรวจผู้ที่พูดได้หลายภาษาอย่างคล่องแคล่ว (ถ้าพูดได้สองภาษาเรียกว่า Bilingual และถ้าพูดได้หลายภาษาอาจเรียกว่า Multilingual หรือ Polyglots) ว่าเมื่อพูดหรือได้ยินภาษาที่แตกต่างกัน พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีบุคลิกและทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปตามภาษาที่พูด พูดภาษาจีน ก็อาจจะกลายเป็นคนโผงผาง หรือพูดภาษาฝรั่งเศส ก็อาจจะกลายเป็นคนสุขุมนุ่มลึก (ทั้งที่เป็นคนเดียวกัน) การที่บุคลิกเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลถึงวิธีคิดและข้อสรุปบางอย่าง สมมติฐานสนับสนุนชื่อ Linguistic Relativity เชื่อว่าหลักการของภาษาที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้ผู้ใช้คนละภาษามองโลกเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปด้วย
แล้วการพูดกับการเขียนจะส่งผลแบบเดียวกันไหม?
หากพูดตามแบบ Marshall McLuhan คงต้องบอกว่า “สื่อก็คือสาร” (The Medium is the Massage*) เมื่อเราสื่อด้วยวิธีหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน หรือด้วยการเขียนแทนที่จะเป็นการพิมพ์ สารที่เราต้องการจะสื่อก็จะถูกบิดเบือน ลดหรือเพิ่มรูปตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้
ผลการวิจัยบอกว่าเมื่อเด็กนักเรียนเขียนรายงานด้วยปากกา รายงานของเด็กจะ ‘ดีกว่า’ รายงานที่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ (โดยวัดจากความยาว, ความเร็ว, ประโยคที่สมบูรณ์ รวมไปถึงการใช้เหตุผล)
มีการทดลองอีกแห่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเขียน VS การพิมพ์แบบนี้ครับ : นักวิจัยใช้วิธีแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม ให้ทั้งสองกลุ่มเรียนภาษาแปลกๆ ที่นักวิจัยสมมติขึ้นมาเองประมาณ 20 ตัวอักษร (ที่ต้องสมมติขึ้นมาก็เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีบางคนรู้ภาษานี้มาก่อน) สองกลุ่มเรียนด้วยวิธีแตกต่างกัน กลุ่มแรกเรียนด้วยการเขียน ส่วนกลุ่มที่สองเรียนด้วยการพิมพ์ หกสัปดาห์ผ่านไป ผลปรากฏว่าอัตราความสำเร็จในการศึกษาของกลุ่มเขียนสูงกว่ากลุ่มพิมพ์มาก ผลการสแกน fMRI สมองของตัวอย่างจากกลุ่มเขียนก็แสดงให้เห็นว่าสมองส่วน Broca ที่เกี่ยวข้องกับการพูด ได้รับการกระตุ้นมากกว่าสมองของกลุ่มที่เรียนด้วยการพิมพ์
สมัยยังเป็นเด็กประถม เมื่อครูคนหนึ่งเห็นว่าผมเอาแต่ฟังอย่างเดียว ไม่ยอมบันทึกลงในสมุด เธอก็ติงว่าเอาแต่ฟัง ไม่ยอมจดก็จำไม่ได้เสียที ประเดี๋ยวก็ลืมจนได้
พอรู้เรื่องนี้แล้ว ผมก็ได้แต่คิดว่า เป็นไปได้ไหมว่าถ้าเราไม่จดโดยจรดปากกาลงบนกระดาษ สิ่งที่เราลืมอาจจะไม่ได้มีแค่เพียงสิ่งที่เราไม่ได้จดเท่านั้น แต่เราอาจลืมวิธีคิดที่ได้จากการจด รวมไปถึงลืม ‘การจด’ เองไปด้วยพร้อมกัน
ผลการสำรวจจากนิตยสารเนชันแนล จีโอกราฟิก บอกว่า ทุกๆ 14 วัน จะมีภาษาหนึ่งที่ ‘ตาย’ ไป – นั่นหมายความว่า ทุกๆ 14 วัน ‘วิธีคิด’ แบบหนึ่งก็จะตายตามไปด้วยเช่นกัน
หากทุกคนใช้คอมพิวเตอร์ในการจารึกทุกสิ่ง การจดโดยการเขียนก็อาจกลายเป็นอีก ‘ภาษา’ หนึ่งที่ถูกหลงลืมและตายไปอย่างช้าๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว? เป็นไปได้ไหมว่าสิ่งที่จะหลงเหลือกับเราคือวิธีการคิดแบบพิมพ์เท่านั้น ส่วนวิธีการคิดแบบเขียนก็จะสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
* McLuhan เขียนว่า Massage (นวด) แต่จริงๆ น่าจะเป็น Message , บทความนี้เรียบเรียงจากบทความที่เคยลงในนิตยสาร a day คอลัมน์ www ของทีปกร