อย่าจามใส่คนอื่น อย่าจับสิ่งสกปรก อย่าใช้สิ่งของร่วมกัน หากมนุษย์กลัวเชื้อโรคแล้ว สัตว์ก็ต้องกลัวเชื้อโรคด้วยเหมือนกันสิ! โรคระบาด เชื้อโรค และความเจ็บป่วยนั้นไม่ได้มีแค่มนุษย์หรอกที่เป็นเป้าหมาย สัตว์ในธรรมชาติเองก็มีคู่ปรับจนพวกมันต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่ร่วมกับมัน ส่วนหนึ่งคือ พฤติกรรมป้องกันตัวจากการถูกคุมคามของจุลชีพก่อโรค (behavioral defenses against pathogens) สัตว์แต่ละชนิดมีพฤติกรรมที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป เป็นกลยุทธ์ที่แยบคายฝังในพันธุกรรมโดยไม่จำเป็นต้องให้กระทรวงสาธารณสุขมาสอน หรือทำอินโฟกราฟิก
แม้มนุษย์จะมีองค์ความรู้ว่าจุลชีพขนาดจิ๋วก่อโรค แต่สัตว์เองไม่ได้มีกล้องจุลทรรศน์ไปส่องว่าอะไรทำให้มันป่วย พฤติกรรมจึงค่อยๆ พัฒนาจากการลองผิดลองถูก ส่งผ่านทางวิวัฒนาการรุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยเฉพาะสัตว์ป่า (wild animals) พวกมันเป็นนักเอาตัวรอดชั้นเยี่ยม ผิดกับสัตว์เลี้ยง (domestic animals) ที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ออกแบบไว้ มีวัคซีนต้านโรคให้ใช้ และมีสัตวแพทย์คอยรักษาเมื่อพวกมันป่วย แต่สัตว์ป่าไม่มีนวัตกรรมเหล่านี้ช่วยเลี่ยงความเจ็บป่วย
พฤติกรรมตามธรรมชาติจึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยให้มันอยู่รอด
พฤติกรรมเหล่านี้เองส่งต่อมายังมนุษย์ผ่านวิวัฒนาการ จนเป็นเสาหลักการแพทย์ของมวลมนุษยชาติ ที่พวกเราอาจไม่รู้ตัวว่า หยิบยืมไอเดียมาจากธรรมชาติ นี่จึงเป็นการเอาตัวรอดที่ไม่มีเส้นแบ่งสายพันธุ์ เพราะทุกชีวิตก็ล้วนหวาดกลัวความเจ็บป่วยด้วยกันทั้งนั้น
หาเห็บ หาไร
ในเมื่อสัตว์มีขน ขนจึงเป็นแหล่งพักพิงของเหล่าปรสิตสัตว์ขาปล้อง ‘อาร์โธพอด’ (Arthropods) ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนกรับโรคจากปรสิต เราจึงเห็นพฤติกรรมที่ง่ายและคุ้นตาที่สุดคือการกรูมมิ่ง ไซ้ขน หาเห็บไร ทั้งที่เกาะอยู่กับตัวเองหรือเกาะอยู่กับสมาชิกในฝูง
หนูและแมว พวกมันมักเลียกำจัดเห็บเพื่อควบคุมประชาการเห็บไรที่เกาะในซอกขน มีงานวิจัยพบว่า เมื่อแมวมีพฤติกรรมเลียตัวเองจะสามารถลดประชากรเห็บลงได้ 1 ใน 4 นอกจากนั้นยังมี อิมพาลา (Impala) สัตว์ประจำถิ่นทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาที่ใช้เวลาในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงในการกรูมมิ่งตัวเองเพื่อลดประชากรเห็บที่เกาะตามตัว
ปัดแมลงรำคาญ
หากคุณอดไม่ได้ที่จะตบยุงทุกครั้งที่เห็น สัตว์ในธรรมชาติก็รำคาญแมลงบินเสียยิ่งกว่าอะไร เพราะเรามักคุ้นเคยกับโรคที่มากับแมลงบินทั้งหลายเช่น โรคอหิวาตกโรค โรคบิดมีตัว โรคที่เกิดจากหนอนพยาธิไข่แมลงวัน โรคมาลาเรียจากยุง สัตว์ในธรรมชาติอาจไม่ได้ใช้มือตบแมลงอย่างมนุษย์ แต่ใช้พฤติกรรมสั่น หรือกระดิกอวัยวะแทนเพื่อไม่ให้แมลงบินมาเกาะ เช่น การสั่นใบหู ส่ายหัว กระทืบเท้า กระตุกกล้ามเนื้อ ใช้หางปัดแมลง และการไม่อยู่นิ่งที่เดิมนานๆ
กรณีสัตว์ใหญ่อย่างช้าง ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว แต่มันเองก็ฉลาดพอจะคว้าเอาพุ่มไม้มาทำเป็น ‘ไม้ปัดแมลงวัน’ ปัดกวาดตามตัวเพื่อไล่แมลง และช้างยังดัดแปลงกิ่งไม้ได้หลายขนาดเพื่อที่ให้ครอบคลุมพื้นที่ต้องการปัด นี่จึงทำให้เกิดการถกเถียงของนักพฤติกรรมสัตว์ว่า ช้างถือว่าเป็นสัตว์ที่ใช้เครื่องมือหรือไม่ (tool makers)
กินมูล ทำรังให้สะอาด
การกินอึอาจเป็นวิธีการที่ย้อนแย้ง ก็ของสกปรกจะกินเข้าไปทำไม! (และมนุษย์ก็อาจไม่ทำ) แต่สัตว์เองมีเหตุผลจำเป็นที่ต้องกินมูล และร่างกายมีกลไกต่อสู้กับจุลชีพเพื่อไม่ให้ป่วยซ้ำ เนื่องจากปรสิตที่อาศัยอยู่ในลำไส้นั้นส่วนใหญ่จะวางไข่และติดออกมากับมูลเพื่อแพร่พันธุ์สู่ภายนอก ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สัตว์ในธรรมชาติจึงมีกระบวนการจัดการมูลหลายวิธี
สำหรับสัตว์ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในรังของตัวเอง การขับถ่ายภายนอกเป็นการเสี่ยงเจอผู้ล่าอื่นๆ พวกมันจึงมีพฤติกรรมกินมูลไปเลย เพื่อทำให้รังสะอาด เช่น สุนัขป่า แมวป่า (หรือแม้กระทั่งสุนัขเลี้ยงก็ยังมีพฤติกรรมกินมูลตัวเอง) แม่สุนัขจะกินมูลของลูกๆ เพื่อให้รังไม่สกปรก เพราะลูกสุนัขออกไปไหนไม่ได้จนกว่าจะโต
การกินมูลไม่ได้ทำให้สัตว์ติดโรค เพราะพวกมันจะกินทันที เพื่อไม่ให้แมลงต่างๆ มาวางไข่ และสัตว์ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินซากอยู่แล้ว (scavenger) ดังนั้นการกินมูล หรือการกินสัตว์ตายจึงเป็นหนึ่งในกระบวนจัดการซากตามธรรมชาติ แม้ซากสัตว์นั้นจะป่วยตายจากโรค แต่สัตว์กินซากก็ไม่ติดเชื้อ เพราะจุลชีพนั้นเน้นเจาะจงก่อโรคเพียงสัตว์บางสายพันธุ์เท่านั้น
เลียเพื่อฆ่าเชื้อ
บาดแผลเปิด คือช่องว่างที่จุลชีพก่อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสัตว์ในธรรมชาตินั้นต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอด ในแต่ละมื้อพวกมันต้องเอาร่างกายเข้าแลก ดังนั้นบาดแผลเปิดจากการต่อสู้เสี่ยงติดเชื้อมากเป็นพิเศษ น่าสนใจที่น้ำลายของสัตว์มีสารต้านแบคทีเรียอยู่หลายชนิด อาทิ lysozyme, lactoferrin, leucocytes และ lactoperoxidase สารเหล่านี้ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย ช่วยให้แผลประสานเร็วขึ้น
สัตว์จึงมักเลียแผลเปรียบเสมือนยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้พวกมันยังเลียอวัยวะเพศเพื่อลดการติดเชื้อจากโรคติดต่อ เช่น สุนัข แมว และหนู
สัตว์ที่มีหน้าที่แม่ยังคอยเลียลูกๆตัวเอง เนื่องจากสัตว์เกิดใหม่ยังไม่มีภูมิต้านทานยับยั้งจุลชีพ นี่จึงเป็นหน้าที่ของบรรดาแม่ๆ ต้องชโลมน้ำลายเพื่อให้ลูกๆ ของตัวเองมีภูมิต้านทาน แต่สำหรับมนุษย์นั้นก็ไม่มีใครแนะนำให้คุณเลียแผลตัวเอง เพราะน้ำลายของมนุษย์มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรียน้อยกว่าในสัตว์ และอาจเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มอีก
กักตัว สไตล์สัตว์
การกักกัน (quarantine) ถือเป็นการควบคุมโรคระบาดเบื้องต้นซึ่งสัตว์ในธรรมชาติก็มีกลยุทธ์นี้เช่นกัน
โดยเฉพาะสัตว์กลุ่มไพรเมท (primates) พวกมันจะมีการกักกันลิงแปลกหน้าที่เข้ามาในฝูง โดยเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ ขู่โดยไม่แตะเนื้อต้องตัว เพื่อไม่ให้เชื้อโรคจากที่อื่นมาปะปนในฝูง พฤติกรรมนี้จะเห็นได้ชัดในกลุ่มสัตว์ห่วงถิ่น (territorial animal)
ถ้าผู้บุกรุกมีอาการป่วยพยายามแฝงเข้ามาในฝูง การกักกันทำให้ผู้บุกรุกถูกกันออกจากสังคมและตายในที่สุด
อีกกรณีหนึ่งคือพฤติกรรมกินลูกตัวเองที่ป่วย (newborn cannibalism) ที่จะพบในสุนัขและแมว ซึ่งการที่มีลูกอ่อนป่วยในรังทิ้งไว้ มีโอกาสจะแพร่เชื้อไปสู่ตัวอื่นๆในคอก ดังนั้นตัวแม่จะกินลูกตัวเองโดยอาศัยสังเกตพฤติกรรมอาการป่วยจากตัวลูกว่า ขยับตัวน้อยลง อุณหภูมิต่ำลง แม่แมวก็จำเป็นต้องกินลูกป่วย เพื่อปกป้องตัวอื่นๆ
กินสมุนไพร รักษาโรค
เอาเข้าจริงเวชศาสตร์ป้องกันก็ปรากฏในพฤติกรรมสัตว์ พวกมันกินสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยาในการรักษา คุณอาจจะเคยเห็นสุนัขป่วยที่พยายามกินหญ้า เพื่อช่วยขับเมือก หรือน้ำดีส่วนเกินออกจากร่างกาย บางครั้งที่สุนัขมีพยาธิในร่างกาย หากเป็นสุนัขเลี้ยงคุณก็อาจพาไปรับยาถ่ายพยาธิที่คลินิก แต่สุนัขป่านั้นพวกมันไม่รู้เลยว่าจะเจอพยาธิเข้าตอนไหน ดังนั้นจึงมีพฤติกรรมกินป้องกันไว้ก่อน มีงานวิจัยระบุว่า สุนัขป่าจะกินหญ้าเพื่อป้องกันพยาธิเพื่อไว้เสมอราว 2-4% ตามความจุของกระเพาะ
มีข้อค้นพบว่า หากสุนัขกินหญ้าก็ไม่ได้หมายความว่าพวกมันป่วยเสมอไป อาจมีเพียง 9% เท่านั้นที่ป่วย แต่พวกมันกินเพื่อรักษาสมดุลในกระเพาะอาหารควบคุมประชาการพยาธิเท่าที่ร่างกายรับได้
ดูแลตัวอื่นที่เจ็บป่วย
สัตว์ไม่ได้ถูกโปรแกรมมาเพื่อมีชีวิตรอดตามสัญชาตญาณเพียงลำพัง พวกมันจำเป็นต้องอาศัยสมาชิกในฝูงในการดำรงชีวิต พฤติกรรมดูแลสมาชิกในฝูงที่ป่วยจึงพบเห็นได้ในสัตว์หลายสายพันธุ์ มีงานศึกษาอย่างละเอียดอย่างกรณี พังพอน ที่พวกมันมักขุดหาปลวกและมดใต้ดิน นักวิจัยพบว่าครั้งหนึ่งมีพังพอนตัวผู้ถูกงูกัดจนขาขาด ไม่สามารถออกหาอาหารเองได้ และคิดว่ามันคงจะไม่น่ารอดชีวิตในอีก 3 วันแน่ๆ แต่ปรากฏว่ามีพังพอนตัวอื่นๆ คอยนำอาหารมาให้ และกรูมมิ่งตัวที่ป่วยโดยสลับหน้าที่กัน
ส่วนกรณีของสุนัขจิ้งจอกตัวเมียเมื่อป่วย ตัวผู้จะคอยอาหารมาป้อนให้ และยังเคี้ยวรากไม้มาป้อนเพื่อเป็นยารักษา ส่วนตัวเมียอีกตัวในฝูงก็พยายามนอนข้างๆโดยสร้างรังนอนเพื่อให้ดูแลได้ใกล้ชิดขึ้น นอกนั้นยังมีการพบเห็นช้างแอฟริกาในอุทยานแห่งชาติเซเรงเกติ พยายามเอางามาฉุดควายป่าแก่ที่ล้มลง ช้างคอยพยุงวัวอยู่ 2 ชั่วโมงจนกระทั่ง วัวสามารถเดินเองได้
การพบเห็นพฤติกรรมสัตว์ที่พิศวงนี้กรุยทางไปสู่การศึกษาแนวคิดเรื่อง ‘การเห็นอกเห็นใจทางสังคม’ (social-empathic behaviors) ทั้งในสัตว์และในมนุษย์ เพื่อลบล้างความเชื่อเดิมว่า สัตว์มีจุดประสงค์เพียงการเอาชีวิตรอดอย่างเดียว แต่การดูแลผู้อื่นที่เจ็บป่วยก็เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันในวินาทีที่ชีวิตประสบกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่
พฤติกรรมของสัตว์ส่งต่อผ่านวิวัฒนาการรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนมนุษย์ค้นพบวิทยาการแพทย์ปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
เพราะไม่ว่าสังคมไหนก็เผชิญกับจุลชีพก่อโรคทั้งนั้น ทุกสรรพสิ่งมีคู่ปรับให้รับมือเสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Cannibalism in Natural Populations
Characterization of plant-eating in dogs
A Case of Invalid Care in Wild Dwarf Mongooses
Self-induced Increase of Gut Motility and the Control of Parasitic Infections in Wild Chimpanzees
The evolution of herbal medicine: behavioral perspectives
Fly switching by Asian elephants: tool use to control parasites