ถ้าหากคุณคิดว่าวาฬบรูด้าจะได้รับการประกาศชื่อเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ของประเทศไทยแล้วล่ะก็… เราเสียใจที่จะต้องบอกว่าคุณคิดผิด
ในความเป็นจริง สัตว์ทะเล 4 ชนิด อันได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง รวมไปถึงปลาฉนาก ปลาโรนิน กลุ่มปลากระเบนราหูน้ำเค็มและน้ำจืดทั้ง 12 ชนิดนั้น หลั’จากมีการผลักดันกันมาตั้งแต่ปี 2558 ผ่านมาสามปีแล้วสัตว์เหล่านี้ก็ยังเป็นได้แค่ ‘ว่าที่’ เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครองตัวจริงเสียทีเดียว (ถ้าเป็นคน คุยกันมาสองปีแล้วยังเป็นตัวสำรองแบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นระดับนกฟีนิกซ์ นกตายแล้วเกิดมานกใหม่ วนไป)
การผลักดันให้วาฬบรูด้า ‘สัตว์สัญลักษณ์แห่งอ่าวไทย’ [1] ขึ้นเป็นสัตว์สงวนในครั้งนั้น จึงไม่ใช่ success story ของการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย แต่เป็นกรณีศึกษาที่ควรเก็บไว้เตือนใจต่างหาก
วาฬแกลบแบบป๊อปคัลเจอร์
วาฬบรูด้าที่พบในประเทศไทยเป็นชนิด Balaenoptera edeni [2] โดยได้ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษมาจาก Johan Bryde นักผจญภัยและกงสุลชาวนอร์เวย์ [3] และมีชื่อภาษาไทย (ที่ไม่ค่อยจะมีใครเรียกแล้ว) ว่า ‘วาฬแกลบ’
วาฬบรูด้าเป็นวาฬไม่มีฟัน กินอาหารโดยใช้ซี่กรองที่เรียกว่า ‘บาลีน’ (baleen) กรองเอาฝูงลูกปลาขนาดเล็กและเคยออกจากน้ำทะเล เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดตัวประมาณ 14-15 เมตร หนัก 12-20 ตัน และมีสันกลางหัวสามสันเป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างจากวาฬไม่มีฟันชนิดอื่นๆ มันไม่ใช่สัตว์สังคมนัก จึงมักพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ [4] และเช่นเดียวกันกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดอื่น คู่วาฬแม่-ลูกอาจอยู่ด้วยกันนานหลายปีกว่าลูกจะแยกจากไป
ในประเทศไทยมีบันทึกการพบเห็นวาฬบรูด้าและซากบรูด้าเกยตื้นได้ตลอดแนวชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน [4] กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เริ่มออกสำรวจอย่างจริงจังในปี 2008 [2] และจากการจำแนกอัตลักษณ์ของวาฬแต่ละตัวด้วยวิธีการถ่ายภาพ หรือ Photo-ID ระหว่างปี 2010-2017 พบว่าประชากรวาฬบรูด้าที่ได้รับการจำแนกและตั้งชื่อแล้วในอ่าวไทยนั้นมีมากถึง 61 ตัว [5]
กระแสเรียกร้องสัตว์สงวนชนิดใหม่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วาฬบรูด้าเป็นประเด็นสั่นสะเทือนวงการอนุรักษ์ ในช่วงปี 1997-2001 ในขณะที่การต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นไปอย่างเข้มข้น วาฬบรูด้าฝูงหนึ่งยังได้ปรากฏตัวช่วยพิสูจน์ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทยในละแวกนั้น แบบที่ได้เรียกว่าฉีกข้อมูลรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA อย่างสิ้นเชิง [6][7]
ปัจจุบัน กิจกรรมออกเรือเพื่อชมวาฬบรูด้าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยในอ่าวไทยตอนบนนักท่องเที่ยวสามารถออกเรือเพื่อชมวาฬได้จากหลายแห่ง เช่น แหลมผักเบี้ยและบางตะบูนในจังหวัดเพชรบุรี หรือบริเวณมหาชัยในจังหวัดสมุทรสาคร ฯลฯ
แต่ในขณะที่ในต่างประเทศมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการออกเรือชมวาฬสำหรับผู้ประกอบการอย่างเคร่งครัด มีการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการดูวาฬโดยเฉพาะ พร้อมข้อกำหนดต่างๆ ในการชมวาฬที่ครอบคลุม ทั้งความเร็วของเรือในระยะต่างๆ ทิศทางในการหันหัวเรือที่ถูกต้อง การจำกัดจำนวนเรือต่อวาฬหนึ่งตัว ฯลฯ อีกทั้งบทลงโทษแบบทั้งจำทั้งปรับราคาแพงสำหรับผู้ละเมิด [8] ในประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดหรือใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการดูวาฬโดยเฉพาะเช่นนี้
กล่าวง่ายๆ ก็คือ ใครก็ตามที่มีเรือที่ขึ้นทะเบียนสำหรับดำเนินกิจการท่องเที่ยวกับกรมเจ้าท่าแล้ว ก็สามารถจะพานักท่องเที่ยวออกชมวาฬได้เลยทันทีโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตดูวาฬเพิ่มเติม (เพราะไม่มีให้ขอ) แม้ว่าจะมีการให้แนวทางความรู้เรื่องระยะห่างและความเร็วเรือในการเข้าชมวาฬที่ถูกต้องออกมาจากฝ่ายต่างๆ อยู่เนืองๆ แต่ในทางปฎิบัตินั้นก็ล้วนแขวนอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างวิจารณญาณของกัปตันเรือและระดับความกระหายรูปของนักท่องเที่ยวบนเรือเท่านั้น
สัตว์ป่าสงวน vs สัตว์ป่าคุ้มครอง
วาฬบรูด้าปรากฏอยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 (หรือ ค.ศ. 2003) ซึ่งประกอบด้วยสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด, นก 952 ชนิด, สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด, แมลง 20 ชนิด, ปลา 14 ชนิด, และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ อีก 12 ชนิด [9] (ส่วนบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พ.ศ. 2535 นั้นมีสัตว์ป่าอยู่ 15 ชนิดมาตั้งแต่ตอนนั้น [10])
หลายคนอาจเคยสงสัยว่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองแตกต่างกันอย่างไร ในทางปฏิบัตินั้นทั้งสองประเภทล้วนห้ามล่า, ห้ามค้า, ห้ามครอบครองทั้งที่ยังมีชีวิตหรือซาก (เว้นแต่จะได้รับอนุญาต), ห้ามฆ่า นอกจากเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน, หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนในการคัดกรองว่าสัตว์ชนิดใดควรเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ชนิดใดควรจัดว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง การขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวน (ที่ฟังดูดีกว่า) จึงออกจะเป็นเรื่องของจิตใจและความสำคัญเชิงสัญลักษณ์มากกว่าความแตกต่างในแผนการอนุรักษ์
รายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองไม่สะท้อนความจริงของภัยคุกคามที่มีต่อสัตว์ชนิดต่างๆ รายชื่อสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แมลง และปลา รวมกันแล้วยังน้อยกว่ารายชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายเท่า ทั้งที่สัตว์เล็กเหล่านี้มีจำนวนชนิดพันธุ์ที่มากกว่าและหลายชนิดถูกคุกคามอย่างน่าเป็นห่วงกว่ามากแต่กลับถูกมองข้าม การขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์สงวนและ/หรือสัตว์ป่าคุ้มครองยังมีความลักลั่นในทางปฏิบัติ เพราะไม่มีการจัดระดับ ‘ความฉุกเฉิน’ ในแผนการอนุรักษ์โดยรวม* ทำให้สัตว์ชนิดที่ ‘ป๊อป’ กว่า ได้รับความสนใจมากกว่า ได้รับสิทธิในการลัดคิวเข้ารักษาก่อนไปโดยปริยาย
(*ยกตัวอย่าง เสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในขณะที่นกกระเรียนไทยและนกแต้วแล้วท้องดําถูกจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน ในความเป็นจริง เสือโคร่งกลับได้รับความสนใจและการดูแลดีกว่านกทั้งสองชนิด แต่ในขณะเดียวกันนกกระเรียนไทยก็มีจำนวนน้อยกว่าเสือและมีภัยคุกคามระดับที่ต่ำกว่า)
ความพยายามในการผลักดันความคุ้มครองของสัตว์น้ำเค็มและน้ำจืด 16 ชนิด โดยมีวาฬบรูด้าที่จะเลื่อนขั้นจากสัตว์ป่าคุ้มครองขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนเป็นตัวชูโรงนั้น เริ่มต้นขึ้นกลางปี 2015 และมี รองศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (และดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในขณะนั้น) เป็นผู้จุดประเด็นคนสำคัญ
ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างองค์กรต่างๆ และประชาชนชาวเน็ตที่ลงชื่อกับแคมเปญรณรงค์ใน change.org จนทะลุหลักหมื่นในเวลาไม่นานทำให้เกิดกระแสไหลหลากที่พัดพาวาฬบรูด้าและผองเพื่อนผ่านขั้นตอนต่างๆ ไปอย่างรวดเร็ว จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปถึงคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่เห็นชอบและจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา ตลอดจนเข้าที่ประชุมเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเพียงปีเดียว และในที่สุด วันที่ 21 มิถุนายน 2016 คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงที่กำหนดให้สัตว์หายากจำนวน 12 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และกำหนดให้สัตว์อีก 4 ชนิด รวมทั้งวาฬบรูด้า เป็นสัตว์ป่าสงวน [11]
แต่ใช่ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแล้วจะจบเพียงเท่านั้น เพราะ ‘เห็นชอบในหลักการ’ นี้ไม่มีผลผูกพันครม. แต่อย่างใด
ตามปกติของการออกข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ที่เป็นพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวงที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วยังต้องถูกส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล) เพื่อขอความเห็นและตรวจพิจารณารายละเอียดต่างๆ ว่ากฎนั้นมีข้อขัดข้องอะไรหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาไฟเขียวแล้ว จึงสามารถประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อเป็น ‘กฎหมาย’ แบบที่ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆ จะเข้าใจกันต่อไป
ซึ่งในขั้นตอนนี้เองที่วาฬบรูด้าและผองเพื่อนติดค้างเติ่งอยู่อย่างลึกลับ เป็น ‘ว่าที่’ มาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้อย่างเงียบๆ จนกระแสผลักดันกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งหายไปในที่สุด
ประกาศห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง
วาฬบรูด้ามาไกลที่สุดกับประกาศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนําขึ้นเรือประมง พ.ศ. 2559 ที่ประกาศในวันที่ 29 เมษายน 2016 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์นํ้าชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ในบัญชีรายชื่อ หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง ยกเว้นแต่ในกรณีจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตสัตว์นั้น [12] แต่อย่างไรก็ตาม นี่มิใช่ประกาศเพื่อเป็นการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พ.ศ. 2535 (ถึงแม้ว่าโทษตามมาตรา 145 และมาตรา 113 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 นี้จะสูงกว่าก็ตาม[15])
แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?
ระหว่างรอคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งร่างฯ คืนกลับมา และแนวทางการอนุรักษ์วาฬบรูด้า (ที่รวมถึงการสร้างศูนย์วิจัยและช่วยชีวิตวาฬ ประกาศพื้นที่คุ้มครอง ฯลฯ) ยังไม่มีวี่แวว ยังมีเรื่องที่เราสามารถช่วยกันแทนการนั่งเงิบได้อยู่นะ
การขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองอาจช่วยเพิ่มความเข้มข้นในการอนุรักษ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่ว่าประเทศไทยของเรามิใช่ประเทศที่มีวัฒนธรรมพื้นถิ่นในการล่าและบริโภคเนื้อวาฬอยู่เดิม การสูญเสียชีวิตวาฬบรูด้าและโลมาด้วยน้ำมือมนุษย์จึงเกิดขึ้นจากการกระทำทางอ้อมมากกว่าจะไปล่าหรือฆ่าวาฬตรงๆ
ในปี 2016 เราสูญเสียสัตว์ทะเลหายากไปทั้งสิ้น 355 ตัว เรียกได้ว่าวันละชีวิตกันเลยทีเดียว ซึ่งจำนวนนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 10% แบ่งเป็นพะยูน 11 ตัว, เต่าทะเล 180 ตัว,วาฬและโลมา 164 ตัว ซึ่งสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์นั้น มีทั้งกินสิ่งแปลกปลอมและขยะ และบาดเจ็บจากเครื่องมือประมง [13]
อย่างที่เรารู้ๆ กันว่าปัญหาขยะพลาสติกในทะเลเป็นปัญหาสำคัญของทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นมือวางอันดับต้นๆ ของโลกที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในแต่ละปี (น่าภูมิใจชะมัดเลย?!) แค่เฉพาะในปี 2017 นี้ คาดการณ์ว่าเราจะช่วยกันถมทะเลด้วยขยะมูลฝอยปริมาณมากถึง 2.83 ล้านตัน [14] ดังนั้นหากเราสามารถช่วยกันลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ลดการสร้างมลภาวะ และช่วยกันรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำในทุกๆ วัน (นี่รวมถึงการไม่ให้อาหารปลาในทะเลด้วยนะ) ก็เท่ากับว่าเราสามารถช่วยวาฬได้ด้วยสองมือของเราเอง
การตระหนักรู้ในความสำคัญของวิถีประมงอย่างยั่งยืนและเลือกซื้ออาหารทะเลที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการที่ดี ไม่เลือกบริโภคสัตว์ทะเลหายาก (อย่างฉลามชนิดต่างๆ โรนิน โรนัน กระเบนราหู ฯลฯ) นอกจากเป็นการช่วยวาฬทางอ้อมแล้ว ยังช่วยให้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทยโดยรวมดีขึ้นในระยะยาว
ออกเรือชมวาฬอย่างเอาใจวาฬมาใส่ใจเรา ไม่ไล่ ไม่กระหายภาพถ่ายจนเป็นการรบกวนชีวิตของวาฬ และไม่ให้อาหารโลมาในธรรมชาติ และทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ก็ได้แนะนำข้อควรปฏิบัติในการชมโลมาและปลาวาฬไว้อย่างละเอียดไว้แล้ว
และถ้าหากพบสัตว์ทะเลหายากที่ไหน ยังสามารถช่วยทางทช. เก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวผ่านทางแอป DMCR Mobile Application ได้ทั้งใน iTunes และ Google Play หรือแชร์ข้อมูลการพบเห็น ภาพถ่าย วิดีโอ และระบุวันเวลาและสถานที่ที่พบลงโซเชียลมีเดียแบบเปิดสาธารณะ พร้อมติด hashtag #DMCRTH #ชื่อสัตว์
นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างกระแสมวลชนกดดันคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ด้วยนะ (แต่การจัดม็อบประท้วงอาจมีความเสี่ยงได้ออดิชั่นเข้าวง PYT44)
สัตว์สัญลักษณ์แห่งอ่าวไทยสอนอะไรเรา?
อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อกระแสหายไปจากสื่อแล้วเราจะติดตามเรื่องราวขั้นต่อไปจนสิ้นสุดได้ยากเต็มที รวมทั้งกระบวนการทางกฎหมายที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ทำให้หลายๆ เรื่องที่เคยอยู่ในความสนใจมีตอนจบ (หรือว่ายังไม่จบซักทีก็เถอะ) แบบที่เราไม่คาดคิด
เรื่องราวของวาฬบรูด้าและสัตว์น้ำหายากอาจเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนที่สุดว่าการกำหนดนโยบายอะไรสักอย่างขึ้นมาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากปราศจากการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจของภาครัฐแล้ว แม้จะมีผู้ตั้งใจดีที่จุดประกายไฟขึ้นมาจนกลายเป็นกระแส ไฟนั้นก็ย่อมจะมอดไปเมื่อไม่ได้รับการส่งต่อ (และในทางกลับกัน นโยบายหรือหลักการที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนก็ไม่ยั่งยืนเช่นกัน)
เมื่อผลการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมากลายเป็นว่าให้ชะลอการให้สัตว์น้ำหายากเหล่านี้เป็นสัตว์สงวนออกไปก่อน เพราะมันไปลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนที่ได้รับอนุญาตครอบครองสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
หลายคนอาจรู้สึกแบบ ‘คุณหลอกดาว’ แต่เราสามารถพูดได้เต็มปากหรือไม่ว่าเราถูกหลอก หรือว่าเป็นตัวเราเองที่หลงติดอยู่ในวังวนของชัยชนะยิบย่อยรายทางจนหลอกตัวเอง?
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] www.change.org
[2] Bryde’s Whales in Thailand, Department of Marine and Coastal Resources. 2012.
[4] Field Guide to Marine Mammals and Sea Turtles in Thailand, Department of Marine and Coastal Resources. 2014.
[10] www.dnp.go.th/wildlifednp
[11] cabinet.soc.go.th1
[12] www.ratchakitcha.soc.go.th
[14] www.bbc.com/thai
[15] app-thca.krisdika.go.th/Naturesig