แม่มังกร ‘เดเนอริส’ อาจเลี้ยงมังกร 3 ตัวให้โตได้ก็จริง แต่หล่อนอาจไม่เคยสงสัยเลยว่ามังกรทั้ง 3 โดรกอน เรกัล และวิเซเรียน” พ่นไฟได้อย่างไร พวกมันคือมือสังหารที่น่าหวาดกลัวในสนามรบอันเป็นความหวังในการกอบกู้บัลลังก์เหล็ก
น่าเสียดายที่มังกรไม่เคยมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อหลักการ ‘พระเจ้าผู้สร้าง’ Young-Earth Creationist (YEC) เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทั้งมวลเป็นผลงานของพระเจ้าสร้างขึ้นเมื่อ 6,000 ปีก่อน ดังนั้นไดโนเสาร์และมนุษย์จึงถือกำเนิดพร้อมๆ กัน เคยพบเจอกัน เคยต่อสู้กัน โดยมีหลักฐานสำคัญคือ ‘มังกร’ สัตว์ในนิทานพื้นบ้านที่มักปรากฏทั่วโลกนั้นเอง
แต่สิ่งมีชีวิตที่พ่นไฟได้ ไม่ใช่เพียงแค่จินตนาการซะทีเดียว ‘แมลงตด’ (Bombardier beetles) สายพันธุ์ Brachinus spp สามารถพ่นของเหลวได้จากก้นด้วยส่วนผสมไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์และไฮโดรควิโนนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียสใส่ผู้คุกคามจากกลไกป้องกันตัวไม่ต่างจากมังกรจิ๋ว
นักทฤษฎีบางคนเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตสามารถสร้างปฏิกิริยาทางเคมีได้ อย่างเช่น แมลงที่เรืองแสงหรือปลาไหลไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตามสัตว์เหล่านี้ไม่ได้ใช้กระบวนการเผาไหม้หรือใช้พลังงานความร้อนแบบมังกรไฟเลย แต่นักทฤษฎีของกลุ่ม YEC ก็ยังไม่หมดความพยายาม พวกเขายังเชื่อว่าโลกของเราครั้งหนึ่งยังมี ‘มังกรไฟ’ อาศัยอยู่และพอมีทฤษฎีบ้างว่าพวกมันพ่นไฟได้แม้ออกจะเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) อยู่เสียหน่อย
จินตนาการเป็นพื้นที่ที่ดีหากมองด้วยกรอบวิทยาศาสตร์ ถ้ามังกรมีอยู่จริง เป็นไปได้ไหมที่มันจะพ่นไฟ? และอะไรคือข้อโต้แย้งจากวิทยาศาสตร์
ทฤษฎีที่ 1
หายใจออกด้วยก๊าซที่ลุกไหม้ได้เอง
ทฤษฎีนี้นำเสนอว่า สัตว์เลื้อยคลานในตำนานอาจหายใจออกเป็นก๊าซที่ลุกไหม้ได้เองหากทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เรียกปฏิกิริยา ‘ไพโรโฟริก’ (pyrophoric) ก่อนจะเปลี่ยนเป็นลูกไฟเผาศัตรู
ข้อโต้แย้ง
เมื่อก๊าซที่ลุกไหม้ได้เองไหลออกจากที่กักเก็บเพียงไม่กี่เซนติเมตร มันจะระเบิดทันที ดังนั้นหากก๊าซนี้ไหลออกทางจมูกหรือปากของมังกร ก็เป็นไปได้ที่ปากและจมูกมังกรจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ ไฟจะเผาไหม้ใบหน้าของมังกรจนบาดเจ็บ
แต่มีสมมติฐานเพิ่มเติมว่า มังกรอาจมีแผ่นพังผืดกันไฟที่สามารถปิดรูจมูกได้ เพื่อป้องกันก๊าซรั่วไหลออก (แต่ยังไม่มีสัตว์ใดๆ ที่มีแผ่นพังผืดเช่นนี้ตามธรรมชาติ) อย่างไรก็ตามหากมังกรจะพ่นไฟ ผิวหนังของมันต้องมี ‘เคราติน’ (keratin) โปรตีนสำคัญเคลือบปกป้องหนัง ขน เขาไว้จากความร้อนสูง มิฉะนั้นการพ่นไฟทุกครั้ง มังกรเองก็จะเจ็บตัว
ทฤษฎีที่ 2
มังกรต้อง ‘เรอ’ เป็นมีเทน
สัตว์กินพืชล้วน ‘เรอ’ อยู่แล้วทุกๆ วัน จากกระบวนการย่อยในกระเพาะอาหาร วัวสามารถเรอเป็นก๊าซมีเทน (methane) 26 ลิตรต่อชั่วโม งและแกะเรอ 42 ลิตรต่อชั่วโมง สัตว์กินพืชๆ ต่างปล่อยก๊าซติดไฟง่ายผ่านกระบวนการเรอ ดังนั้นมังกรอาจมีต่อมพิเศษที่สามารถจุดระเบิดมีเทนได้ด้วยการเรอ (ฟังดูไม่ค่อยจะเท่เท่าไหร่)
ข้อโต้แย้ง
เมื่อมังกรเรอออกมา (ทั้งจากรูจมูกและปาก) จนเกิดปฏิกิริยาเผาไหม้มีเทน แต่ก๊าซมีเทนที่ออกมามักไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ มันกระจายไปทุกทิศและห้อมล้อมส่วนหัวของมังกรในลักษณะ ‘หมอกมีเทน’ ไฟที่ได้มักไม่สามารถพ่นไปตรงตามเป้าหมาย มีแต่จะเผาไหม้ส่วนหัวของมังกรเท่านั้น
มนุษย์สามารถเรอแล้วติดไฟได้เช่นกัน มีรายการเหตุบาดเจ็บจากการเรอ เมื่อกระเพาะอาหารหมักสิ่งที่เรากินทุกๆ วันจนเกิดก๊าซมีเทน ประกายจากไฟแช็กอาจเผาขนคิ้วคุณได้
ทฤษฎีที่ 3
มังกรมีอวัยวะสร้างพลังไฟฟ้า ที่สามารถจุดระเบิดมีเทนได้
ปลาหลายสายพันธุ์มีอวัยวะภายในที่ก่อให้เกิดประจุไฟฟ้าผ่านเซลล์กล้ามเนื้อที่เรียกว่า ‘อิเล็คโทรไลท์’ (electrocytes) แต่พวกมันผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในระดับอ่อนๆ เพื่อช่วยในการหาทิศทางและส่งสัญญาณสื่อสารกับปลาใกล้เคียง
แต่ ‘ปลาไหลไฟฟ้า’และ ‘ปลากระเบนไฟฟ้าแปซิฟิก’ เป็นข้อยกเว้น พวกมันสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังสูงได้ เพื่อทำให้เหยื่อช็อกตาย แม้มนุษย์เองก็อาจเสี่ยงที่ต้องเผชิญหน้ากับพวกมันโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว
ดังนั้นมังกรอาจมีอวัยวะที่สามารถเหนี่ยวนำไฟฟ้าจนเกิดกระบวนการเผาไหม้ของมีเทนได้เพื่อช่วยในการพ่นไฟ
ข้อโต้แย้ง
โดยทั่วไปแล้ว แม้อวัยวะที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ก็มักไม่ทำให้เกิดประกายไฟ (spark) เพราะปัจจัยของแรงต้านสนามไฟฟ้า (permittivity) อันเป็นตัวชี้วัดว่ากระแสไฟฟ้าจะไหลได้ง่ายแค่ไหนผ่านวัสดุ แต่ระหว่างอากาศและมีเทนอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่เหมือนในน้ำที่กระแสไฟฟ้ามักเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่า (เหมือนกลยุทธ์ที่ปลาไหลไฟฟ้าใช้เล่นงานเหยื่อ) ดังนั้นต่อให้มังกรมีอวัยวะปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ทั้งจากกรามซ้ายและกรามขวา แต่มันก็ไม่อาจเกิดประกายไฟอย่างเป็นรูปธรรมอยู่ดี
ทฤษฎีที่ 4
เผาไหม้เชื้อเพลิงด้วยประกายไฟที่เกิดจากแรงเสียดทาน
มังกรอาจอาศัยแรงเสียดทาน (friction) ในการช่วยจุดระเบิดก๊าซมีเทน อาจจะด้วยอวัยวะพิเศษในปาก ในคอ หรืออวัยวะสักแห่งภายในร่างกาย มังกรจะสร้างประกายไฟด้วยการสั่นหรือถูแรงๆ จนเกิดการเผาไหม้
ข้อโต้แย้ง
ยังไม่มีสัตว์ใดๆ ที่มีอวัยวะที่สามารถสร้างประกายไฟจากปฏิกิริยาแรงเสียดทานได้ สัตว์ที่มีผิวหนังหนามักมีร่างกายที่มีองค์ประกอบของ แคลเซียมฟอสเฟต แคลเซียมคาร์บอเนต ไคติน และเคราติน สารองค์ประกอบเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟเมื่อถูเข้าด้วยกัน เว้นแต่ ‘หินเหล็กไฟ’ (flint) ที่อาจทำให้เกิดประกายไฟได้จากองค์ประกอบของซิลิก้า (silica) ซึ่งเป็นสารเคมีที่จุลินทรีย์บางชนิดในร่างกายสามารถตกตะกอนได้เองตามธรรมชาติ
ดังนั้นแม้มังกรจะมีจุลชีพในปากที่ก่อให้เกิดประกายไฟ แต่มีเทนจะระเบิดเอาเสียตรงนั้นเลย ทำให้อวัยวะมังกรภายในบาดเจ็บ ไม่สามารถควบคุมเป็นลูกไฟเพื่อใช้ในการจู่โจม
ทฤษฎีที่ 5
มังกรพ่นสารเคมีคู่ 2 ชนิดคล้ายการจุดระเบิดเชื้อเพลิงจรวดแบบไฮเปอร์กอลิค (hypergolic)
สมมติฐานสุดท้าย เป็นสมมติฐานล่าสุดในปี 2013 และค่อนข้างมี ‘ความเป็นไปได้มากที่สุด’ หากมังกรจะพ่นไฟ (ถ้าเราทุกคนเชื่อว่ามังกรมีจริงอะนะ) มังกรจะฉีดสารเคมี 2 ชนิดเข้าด้วยกันจนเกิดการจุดระเบิดกลางอากาศ มังกรอาจจะพ่นออกทางปากหรือรูจมูกก็ได้ สารเคมีทั้ง 2 ชนิดจะทำปฏิกิริยาจนเกิดไฟคล้ายการจุดระเบิดของจรวด
เปลวไฟที่ได้จะมีความร้อนสูง บังคับทิศทางได้ และอาจทำให้แม่มังกรครอง ‘เวสเตอรอส’ สำเร็จ
ข้อโต้แย้ง
เราทราบว่าเชื้อเพลิงแบบไฮเปอร์กอลิคที่มังกรต้องการ คือ ‘สารเคมีเชื้อเพลิง’ และ ‘สารเคมีให้เกิดออกซิไดซ์’ แต่ทั้ง 2 ชนิดเป็นสารที่มนุษย์ทำขึ้นมา ไม่ปรากฏในธรรมชาติ หากมังกรจะใช้ออกซิเจนเหลว (liquid oxygen) เป็นตัวออกซิไดซ์ในการเผาไหม้ ร่างกายของมันต้องมีอวัยวะที่ทนของเหลวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
อย่างไรก็ตาม ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (ตัวออกซิไดซ์) และสารแอมโมเนีย (เป็นเชื้อเพลิง) เป็นสารเคมีที่สิ่งมีชีวิตสามารถผลิตได้ (อย่างในกรณีของแมลงตด) แต่เป็นสารเคมีที่ค่อนข้างเป็นพิษสูง
นอกจากนั้นการปล่อยสารเคมีคู่แบบไฮเปอร์กอลิค ค่อนข้างเป็นอันตรายหากไม่มีการควบคุมทิศทางอย่างแม่นยำ เนื่องจากก๊าซจะแพร่กระจายไปในทุกทิศทางได้ทันที และล้อมรอบหัวมังกรเสียก่อน (จรวดท่องอวกาศก็ซีเรียสจุดนี้มากทีเดียว)
ดังนั้นมังกรต้องฉีดพ่นของเหลวทั้ง 2 ชนิดในมุมองศาที่จะมา ‘บรรจบกันพอดี’ จนเกิดไฟโดยที่ตัวเองไม่ไหม้ไปด้วย และสามารถสังหารข้าศึกได้ตรงตามเป้าหมาย
โดยสรุปแล้ว! หากมังกรจะพ่นไฟ มันต้องอาศัยความรู้ของวิทยาศาสตร์จรวดนั่นเอง
ต่อให้มังกรจะไร้สาระ แต่หากพยายามตั้งสมมติฐานและหาข้อโต้แย้งก็อาจเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับความรู้อื่นๆ ได้
Game of thrones 7 ผ่านพ้นไปแล้ว เราอาจจะต้องรอซีซั่น 8 ที่ยาวนานหน่อย ไว้พบกันใหม่เมื่อเวสเตอรอสต้องการ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Levy, Edward I. 1954. Explosions during lower bowel electrosurgery. A method of prevention. American Journal of Surgery 88: 754–758.
Lissmann, H.W. 1958. On the function and evolution of electric organs in fish. Journal of Experimental Biology 35: 156–191.
MacDonald, A.G. 1994. A brief historical review of non-anaesthetic causes of fires and explosion
Skeptical Inquirer : Philip J. Senter 30 – 33