ชีวิตยังจะเป็น ‘ชีวิต’ ตามที่เราเข้าใจอยู่ไหม เมื่อความก้าวหน้าด้านการเจริญพันธุ์กำลังเปิดประตูชีวิตใหม่โดยสร้าง “ทารกแห่งอนาคต” ที่ไม่ต้องพึ่งพาไข่ สเปิร์ม และไม่ต้องการครรภ์มารดาใดๆ เพื่ออุ้มท้อง นวัตกรรมทางการแพทย์ที่กระโจนอย่างน่าตื่นตะลึงนี้จะปฏิวัติการทำ ‘เด็กหลอดแก้ว IVF’ ที่เคยทำสำเร็จเมื่อ 40 ปีก่อนให้ไปไกลกว่าเดิมอย่างไร เมื่อมนุษย์รุ่นต่อไปอาจต้องการเพียง ‘ผิวหนัง’ ของคุณ
ความบังเอิญในห้องทดลอง
ยังไม่มีใครในมหาวิทยาลัย University of Michigan คิดถึงเทคโนโลยีพัฒนาตัวอ่อนของมนุษย์ ทีมวิจัยหลักกำลังวุ่นวายติดพันโครงการอื่นอยู่ จนกระทั่งบ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง นักวิจัยด้านวิศวกรรมการแพทย์ Yue Shao (ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สถาบัน MIT) พบว่าเซลล์ที่เขากำลังทดลองมีลักษณะแปลกประหลาด เซลล์ผิวหนัง (Skin cells) เริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างหน้าตาคล้ายตัวอ่อนมนุษย์ในระยะแรกเริ่มเสียเหลือเกิน
วินาทีนั้นเขาฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เซลล์ผิวหนังที่เขาทดลอง สามารถนำไปสู่อะไรที่น่าตื่นตากว่าที่ทำอยู่ อาจเป็นกุญแจสร้างสิ่งมีชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาผลผลิตแห่งวิวัฒนาการสืบพันธุ์ที่ตกทอดมานานกว่า 530 ล้านปี ชีวิตใหม่ที่ไม่ถูกขีดจำกัดตีกรอบไว้จากวิวัฒนาการ

เอ็มบริออยด์บอดี้ที่เกาะกลุ่มกัน ได้จากสเต็มเซลล์ผิวหนัง ภาพจาก : UNIVERSITY OF MICHIGAN
แต่ Yue Shao ไม่ใช่นักวิจัยคนแรกที่พบกลไกนี้ เพราะทีมนักวิจัยของญี่ปุ่นสามารถให้กำเนิดลูกหนูทดลอง โดยใช้ไข่ที่ดัดแปลงมาจาก ‘เซลล์ผิวหนัง’ (Skin cells) ของหนูเต็มวัยได้สำเร็จ การค้นพบเช่นนี้แก้ปัญหากลไกชีววิทยาการสืบพันธุ์ที่เราติดค้างเป็นเวลานาน เหมือนได้เปิดกล่องดำเพื่อดูกลไกสร้างชีวิตแรกเริ่ม ในช่วงเวลาที่บอบบางและละเอียดลออที่สุดของชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมมันถึงยังล้มเหลวได้ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากทุกวันนี้ปัญหาสุขภาพ การตั้งครรภ์ และการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติล้วนเกิดขึ้นได้ยาก มีปัจจัยขัดขวางเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ทำให้เกิดภาวะเป็นหมันทั้งชายหญิง โรคทางพันธุกรรมแอบแฝงที่ทำให้ทารกไม่สามารถออกมาดูโลกได้อย่างสมบูรณ์
หรือพูดง่ายๆ พวกเรามีลูกยากมากขึ้นทุกวัน
ย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่แล้วนวัตกรรมทำเด็กหลอดแก้ว In Vitro Fertilization (IVF) ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านประชากรถือเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์ครั้งสำคัญ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินไว้ว่า การปฏิวัติเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในไม่ช้า ซึ่งอาจแปลกประหลาดกว่าล้ำกว่า คุณลองจินตนาการถึงการสร้างเด็กทารกสักคนที่อาศัยเพียงเซลล์ผิวหนังเท่านั้น ไม่ต้องใช้ไข่หรือสเปิร์มของพวกเราเลย
การอุบัติของ ‘มนุษย์เทียม’ (artificial human) จึงอาจไม่ใช่สิ่งไกลไปจากความฝัน แม้คุณจะไม่ค่อยโอเคกับเงื่อนไขทางจริยธรรมก็ตาม แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ‘ก็ไม่แน่’ สังคมเองอาจเปิดใจขึ้นมากเรื่อยๆ
เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว IVF ผ่านการทดสอบจากกาลเวลามานานกว่า 40 ปี ปัจจุบันเด็กหลอดแก้วในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย มีสัดส่วนมากถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์จากเด็กที่เกิดใหม่ทั้งหมด จึงถือได้ว่าชีวิตที่ไม่ได้ปฏิสนธิในร่างกายดูจะเป็นเรื่องที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย แต่ IVF เองยังมีอุปสรรคที่ความไม่แน่นอน (unreliable) อยู่อีกมาก เนื่องจากต้องการไข่ (eggs) ของแม่และสเปิร์ม (sperm) ของพ่อในการตั้งต้น แต่ปัญหาคือไข่และสเปิร์มเองก็ยังไม่ใช่เซลล์ที่มาจากร่างกายที่ครบถ้วนอยู่ดี
ดังนั้นงานวิจัยก่อนหน้าของ Mitinori Saitou จากมหาวิทยาลัยเกียวโต จึงนำเซลล์ผิวหนัง (Skin cell) มาโปรแกรมเสียใหม่ให้เป็นเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ที่มีศักยภาพดัดแปลงเป็นเซลล์อะไรก็ได้ โดยเปลี่ยนให้เป็นไข่หรือสเปิร์ม ในปี 2016 ทีมวิจัยใช้เทคนิคนี้ในการสร้างลูกหนูจำนวน 8 ตัวที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง จนจัดว่าเป็น ‘หนูเทียมไฮเทค’ ที่ทั้งคอกมาจากเซลล์ผิวหนังหนูตัวโตเต็มวัย

ภาพจาก : Kyoto University, Mitinori Saitou
ก้าวต่อไปจึงอาจไม่ใช่แค่หนู ในปี 2017 นักวิจัย Azim Surani จากสถาบัน Gurdon Institute พยายามเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดที่จะแบ่งสร้างเซลล์สืบพันธุ์ (Primodial Germ Cell) ที่จัดเป็นเซลล์สำคัญมาก ก่อนจะพัฒนามาเป็นไข่และสเปิร์มได้สำเร็จในช่วง 4 สัปดาห์แรก ซึ่งต่อไปพวกเขาตั้งความหวังไว้ว่าจะเลี้ยงให้ถึง 8 สัปดาห์ จนเซลล์ดังกล่าวพัฒนาเป็นสเปิร์มและไข่ที่สมบูรณ์
กระบวนการนี้จะทำให้พ่อแม่ที่เป็นหมัน ไม่ว่าพวกเขาจะมีไข่ที่ไม่สมบูรณ์ มีสเปิร์มที่ไม่แข็งแรง สามารถมีลูกได้โดยใช้เซลล์ผิวหนังของพวกเขาเอง อย่างไรก็ตามไอเดียนี้เป็น ‘ความหวังที่น่าตื่นเต้น’ แต่ยังต้องทดลองอีกมากมาย
Werner Neuhausser นักชีววิทยาด้านสเต็มเซลล์จาก Harvard University เคยออกความเห็นว่า กระบวนการนำเซลล์ผิวหนังยังต้องค้นหาวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เพราะผิวหนังของมนุษย์เองมีอยู่หลายชั้น คำถามคือจะใช้ชั้นไหนที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำที่สุด ซึ่งมีคำถามเชิงเทคนิคอีกเป็นพันๆ ข้อที่ต้องตอบให้แจ่มแจ้ง กว่าจะมาลงเอยที่คำถามเชิงจริยธรรมทางสังคม
ถ้าเป็นการวิ่งมาราธอน นวัตกรรมนี้ออกวิ่งมาเพียง 10 ก้าวเท่านั้น แต่เป็นก้าวที่อัดสปีดเต็มที่อย่างไม่ต้องสงสัย
ล่าสุดนักวิจัยจาก University of Edinburgh สามารถเลี้ยงไข่ของมนุษย์จากเซลล์ต้นกำเนิดจากรังไข่ที่ถูกตัดออกของคนไข้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็ง พวกเขาใช้เทคนิคนี้เนื่องจากผู้ป่วยต้องตัดรังไข่ทิ้งจากกระบวนการรักษา แม้จะไม่มีรังไข่ในตัวแล้ว ทีมวิจัยก็ยังสามารถเลี้ยงไข่ (egg) ของผู้ป่วยในห้องทดลองต่อได้อย่างน่ามหัศจรรย์ จนเรียกว่าเป็น IVF ยุคสมัยใหม่ (Next-Generation IVF) ที่น่าตื่นตา
คุณลองนึกภาพยุคต่อไปที่พ่อแม่สามารถนัดกับแพทย์ที่คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก แม้พวกเขาจะมีไข่และสเปิร์มที่ไม่สมบูรณ์ แพทย์จะเปลี่ยนไปใช้ผิวหนังของพวกเขาเพื่อนำไปทำสเต็มเซลล์ หลังจากตรวจพันธุกรรมเรียบร้อยแล้ว พ่อและแม่มีสิทธิเลือกหน่วยพันธุกรรมของตัวเองที่จะส่งต่อไปให้กับตัวอ่อน บอกลาการทำ IVF แบบเดิมๆ ที่เจ็บปวดและรุกรานร่างกาย เซลล์ต้นกำเนิดของสเปิร์มและไข่จะมีข้อมูลของทั้งพ่อและแม่ ซึ่งกรณีนี้รวมไปถึงครอบครัวที่มีความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันด้วย
แนวคิดอาจฟังดูง่ายเหมือนชี้นิ้วจิ้ม แต่คำถามเชิงจริยธรรมยาวเหยียดจะตามมา แม้กระบวนการดังกล่าวจะลดความเสี่ยงจากโรคทางพันธุกรรมได้ เพราะคุณมีสิทธิรู้ว่ายีนไหนที่จะก่อโรคและจะไม่ส่งต่อไปให้ลูก แต่ปัญหาการเลือกเพศ (sex selection) ที่ทำให้เกิดอคติทางเพศในสังคมมีสัดส่วนเพศต่างๆ ไม่สมดุล การพยายามคัดสรรยีนที่มีผลต่อ IQ จะทำให้เราสามารถสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเกินไป Too good to be true หรือไม่จากนวัตกรรมดังกล่าว
กลับมาสู่งานวิจัยที่ขณะนี้หลายสถาบันสามารถเลี้ยงเซลล์ผิวหนังในเวลา 5 วัน แต่เริ่มมีเค้าโครงของเอ็มบริออยด์บอดี้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุราว 2 สัปดาห์ ซึ่งกระบวนการนี้สามารถย่นระยะเวลาการสร้างตัวอ่อนได้และไม่จำเป็นต้องฝากเลี้ยงในครรภ์จริง แต่เลี้ยงในครรภ์เสมือน (artificial womb) ที่ออกแบบเลียนแบบธรรมชาติ
แม้ใครๆ จะคิดไปไกลแล้ว แต่ยังไม่มีสถาบันไหนสามารถเลี้ยงตัวอ่อนได้เกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจาก ‘กฎ14วัน’ (14-day rule) อันเป็นกฎหมายเด็ดขาดระดับนานาชาติว่าด้วยข้อบังคับการทดลองตัวอ่อนมนุษย์ที่ต้องทำลายภายใน 14 วันเพื่อไม่ให้พัฒนากลายเป็นสิ่งมีชีวิต (being) อันถือว่าผิดหลักจริยธรรม นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามใช้ 14 วันนี้ในการทดลองให้เกิดความแตกต่างมากที่สุด

ลูอีซ บราวน์ (Louise Brown) เป็นมนุษย์คนแรกที่เกิดจากการทำ IVF ภาพจาก : britannica.com
ย้อนไปตั้งแต่การทำเด็กหลอดแก้ว IVF ครั้งแรกในปี 1978 ลูอีซ บราวน์ (Louise Brown) เป็นมนุษย์คนแรกที่เกิดจากการทำ IVF ปัจจุบันเธอมีอายุ 39 ปี แต่ในยุคนั้นเธอกลับถูกเรียกว่า ‘อมนุษย์’ ด้วยกระบวนการผิดธรรมชาติ แต่เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไป ลูอีซ บราวน์กลับไม่ได้แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไปเลย และทุกวันนี้มีเด็ก IVF แบบลูอีซ บรานด์ ถึง 7 ล้านคนที่อยู่ในสังคมที่ไม่แตกต่างไปจากมนุษย์ที่เกิดตามธรรมชาติ
โลกอาจเจอปัญหาที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เมื่อมนุษยชาติเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ สงครามนิวเคลียร์ หรือการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพใดๆ ที่ทำให้เราสืบทอดทายาทไม่ได้อีกต่อไปแล้ว หากวิกฤตการสืบเผ่าพันธุ์มาถึง เราจำเป็นจะต้องใช้มันแค่ไหน หากในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้
การถกเถียงที่ร้อนแรงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างแน่นอน อาจถึงเวลาที่คุณจะต้องมานั่งตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะสร้างชีวิตต่อไปอย่างไร คุณจะอนุญาตให้ชีวิตเป็นของคุณเองหรือเป็นของเด็กรุ่นต่อไปแค่ไหน หากทุกสิ่งล้วนตัดสินใจได้ตั้งแต่เริ่ม
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Offspring from oocytes derived from in vitro primordial germ cell-like cells in mice. 2012 Nov 16;338(6109):971-5. doi: 10.1126/science
www.ncbi.nlm.nih.gov - Reconstitution in vitro of the entire cycle of the mouse female germ line Nature volume 539, pages 299–303 (10 November 2016) doi:10.1038/nature20104
www.nature.com - Researchers produce viable sperm from mice stem cells
www.ctvnews.ca