ใครๆ ก็ชื่นชอบปีใหม่กันไม่ใช่เหรอ? และช่วงเวลาแห่งการให้ มักอบอุ่นหัวใจเสมอ พี่ป้าน้าอาจากต่างจังหวัดหอบของขวัญกล่องเบ้อเริ่มมาเซอร์ไพรส์คุณ เด็กๆ ในบ้านคงดีใจห้อยโหนโจนทะยานราววิญญาณลิงค่างสิงสู่เป็นแน่แท้
นี่ล่ะคือความงดงามของการให้ มันเรียกคืนบรรยากาศแห่งความม่วนชื่นกลับมาอีกครั้ง และมันเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน
แม้ ‘ซานต้า อาร์มี่’ แห่งสยามประเทศ อาจไม่ได้สวมชุดแดงอันเป็นเอกลักษณ์เหมือนฝรั่งเขา แต่ซานต้าของเราสวมชุดพรางลาย Digital Camo เขียวปื๋อ แม้ไม่ได้อยู่ขั้วโลกเหนืออันหนาวเหน็บ แต่เลี้ยวขวาหน้าถนนพิษณุโลกก็เจอ หาไม่ยากหรอก เพราะมีป้ายอันเขื่องเขียนว่า ‘ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล’ ณ ที่แห่งนี้เอง ความมหัศจรรย์ได้บังเกิด
เข้าวาระปีใหม่ ใครๆ ก็อยากเป็น ‘ผู้ให้’ กับเขาบ้าง!
ครม. ซานตาคลอสและหมู่เอลฟ์ มีมติให้ของขวัญปีใหม่แก่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชาติให้กลับมาคึกคัก ใครมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ซานต้า อาร์มี่ มอบให้เลย 3,000 บาท ส่วนใครมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี มอบเงินทันที 1,500 บาทแบบเข้าบัญชี
แพ็กเกจสุดฮือฮา ครม.ซานต้าควัก 19,290 ล้านบาท แจกเงินประชาชน 8.3 ล้านราย อุ้มผู้มีรายได้น้อย 5.4 ล้านคน เป็นการ Jump Start เศรษฐกิจที่ชักกระตุก เดินเครื่องไม่เรียบคล้ายอาการหัวเทียนบอด
แต่ตอนนี้ซานต้ายังไม่มีงบให้เลยทันที เลยบีบคอ ‘สามแบงก์รัฐ’ (ธ.ก.ส.-ออมสิน-กรุงไทย) สำรองจ่ายล่วงหน้าไปก่อน เดี๋ยวสะดวกใจเมื่อไหร่ จะเอามนต์คาถาเสกคืนให้แบบทบต้นทบดอก ที่ขอเรียกว่าของขวัญ เพราะปีนึงก็ให้เพียง ‘ครั้งเดียว’ แต่จะให้ใช้คำว่า ‘แจกเงิน’ อาจจะถูกดีดมะกอกได้ ขออนุญาตให้ความร่วมมือช่วยเรียกกันว่า ‘ของขวัญกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ’ ก็แล้วกันนะ โฮ่ โฮ่ โฮ่
เอาจริงๆ การให้ของขวัญให้คนถูกใจไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ตัวคุณเองก็อยากมีคำแนะนำน่าสนใจก่อนสิ้นปี
โชคดีที่เรามีงานวิจัยเกี่ยวกับการให้ของขวัญซึ่งผ่านการคัดกรองในมิติของจิตวิทยาอยู่ไม่น้อย อยากจะให้ของขวัญสุดประทับใจแก่ใครสักคนอยู่ใช่ไหม ลองทำตามคำแนะนำของเรา คุณอาจจะทำคะแนนนำโด่ง เผลอๆ ฮิตฮอตกว่า คสช. เสียอีกแน่ะ
ง่ายและใช้ได้จริง ชัวร์กว่าเห็นๆ
มีงานวิจัยปี 2009 ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Experimental Social Psychology พบว่า แม้ของขวัญราคาแพง ดูหรูหราเว่อร์วังจะดูน่าดึงดูดอยู่ก็จริง แต่ผู้รับส่วนใหญ่ชื่นชอบและมีความสุขกับของขวัญที่ราคาไม่แพงนัก ไม่มีความซับซ้อนในตัวมันเอง และใช้การได้เลย มากกว่าของจำพวกได้มาแล้วตั้งโชว์ไว้เฉยๆ
ทีมวิจัยทดลองด้วย ‘ปากกาแท่งใหม่’ โดยให้อาสาสมัครเลือกระหว่างจะมอบปากการะดับพรีเมียม อันเขื่อง น้ำหนักมาก หรือ ปากการาคาไม่แพง น้ำหนักเหมาะสม เพื่อใช้งานเขียนทั่วไป เพื่อมอบให้กับคนสนิทเป็นของขวัญ อาสาสมัครเลือกปากกาทั้ง 2 แบบ แต่เมื่อติดตามพฤติกรรมการใช้ของผู้รับ ส่วนใหญ่ปากกาไม่แพงจะถูกใช้บ่อย และพกติดตัวไว้เสมอ แถมพวกเขายังรู้สึกดีมากกว่าเมื่อมีโอกาสได้ใช้ของ
Nathan Novemsky อาจารย์จากคณะการตลาด มหาวิทยาลัย Yale ผู้มีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับอิทธิพลการให้ของขวัญกับพฤติกรรมผู้รับหลายชิ้น กล่าวเอาไว้ว่า
“บางครั้งคุณอาจคิดว่า ราคาของขวัญมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความประทับใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้รับมักไม่ได้เห็นป้ายราคาเหล่านั้นหรอก เราจึงควรให้ความสำคัญกับสิ่งของที่สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ซึ่งผลลัพธ์นั้นน่าประทับใจกว่า และมันดีต่อคุณเอง”
Novemsky เคยลองทดสอบว่า หากให้ตั๋วกำนันร้านอาหารราคาไม่แพงที่อยู่ในเมือง กับตั๋วกำนันภัตตาคารหรู 5 ดาว แต่อยู่ห่างไปหลายเมือง ผู้คนยังคงเลือกร้านที่ไม่แพงแต่ใกล้บ้านอยู่ดี
ให้อะไรใคร อย่าลืมความสะดวกเขาไว้ก่อน
_____
ในข้อแรก ‘รัฐบาลซานต้า อาร์มี่’ ของเรา ยังมอบของขวัญที่ถือว่าอยู่ใน Concept นี้อยู่ เพราะใครๆ ก็อยากได้เงินทั้งนั้นไม่ใช่เหรอ? มันง่ายดี แต่ความง่ายจะเป็นหัวใจในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือไม่ ก็เลยมาชวนคิด
โอเคผ่าน
อย่าห่อให้เว่อร์ เขาจะคาดหวังสูง
พวกเรามักพิถีพิถันกับการห่อของขวัญด้วยกระดาษสีสวยหรู งามระยับราวกับเทพยดาบนสวรรค์มาห่อเอง แต่เอาเข้าจริงในมุมมองของ Nathan Novemsky การห่อของขวัญเหล่านี้กลับน่าเบื่อ และทำให้ความคาดหวังของผู้รับสูงเกินความเป็นจริง (ทั้งๆ ที่ข้างในอาจเป็นผ้าขนหนูเนื้อหยาบๆ)
ของขวัญที่ห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาลเรียบๆ ไม่ตกแต่งพิเศษอาจทำหน้าที่ได้ดีกว่า ความหวังที่สูงลิ่วเกินไปของผู้รับ ทำให้พวกเขาไม่ตื่นตากับของด้านใน หากไม่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาอยากได้ลึกๆ
กลับมาให้ความสำคัญกับของไว้ก่อนดีกว่า เว้นแต่คุณจะพยายามสร้างสีสันในงานเลี้ยงหรือประชันรูปลักษณ์ภายนอกกับคนอื่นๆ
_____
การสร้างความคาดหวังเป็นบทเรียนราคาแพงที่รัฐบาล คสช. ต้องตอบให้ได้ในระยะยาว
หากของขวัญกระตุ้นให้พวกเขาเห็นอนาคตทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่นโยบายประชานิยมขายฝัน มันแทบไม่ต่างจากคุณเปิดกล่องแล้วพบว่า ข้างในเป็นเพียงผ้าขนหนูที่ยัดกระดาษหนังสือพิมพ์อีกที
ถามให้รู้ว่าอยากได้อะไร แม่นกว่า
อ้าว! ถามไปก็ไม่เร้าใจสิ มันจะเรียกว่าของขวัญได้อย่างไร ถ้าคนรับรู้ว่าจะได้อะไร แต่เชื่อเถอะ ให้ของที่เขาอยากได้ปลอดภัยกว่า
งานวิจัยของ Harvard ทำร่วมกับ Stanford business school ตีพิมพ์การศึกษาในปี 2011 พบว่า ผู้รับส่วนใหญ่มักรู้สึกดีกับของขวัญที่พวกเขาต้องการอยู่ในใจอันดับต้นๆ ไม่ใช่ของขวัญที่คล้าย ‘เครื่องเตือนใจความสัมพันธ์’
ดังนั้นมันอาจจำเป็นที่คุณต้องศึกษาผู้รับพอสมควร ว่าเขาอยากได้อะไร ด้วยลีลาและชั้นเชิงส่วนบุคคล (ถ้าถามตรงๆ แต่ได้คำตอบก็ไม่เลว) หากราคามันแพงไปในตัวเลือกแรกๆ ตัวเลือกที่รองลงมายังมี ซึ่งคุณพอจะจัดหาให้เป็นของขวัญได้
_____
กลับมาคำถามที่ว่า เศรษฐกิจไทย ต้องการ ‘เงิน’ หรือเปล่า? เพื่อให้มันเดินหน้าต่อไปได้สำหรับผู้มีรายได้น้อย การแจกเพียงครั้งเดียวที่ขาดการวางโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการเพิ่มภาระหนี้สินแก่รัฐและธนาคารที่ต้องแบกรับเพิ่มหรือไม่
น่าเสียดายที่ของขวัญจากซานต้าลายพราง อาจลอยมาแล้วจากไป ราวกับละอองน้ำที่มักแห้งเหือดไปกับสายลม
อย่าลืมคำถามว่า เอาเงินใครซื้อของขวัญแจกคน ถ้าไม่ได้มาจากประชาชนคนกันเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Give them what they want : The benefits of explicitness in gift exchange