“เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะกลับมารวมชาติกันในปี 2578”
“จีนและอินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ”
“ขบวนการอิสลามเพื่อรื้อฟื้นรัฐเคาะลีฟะฮ์จะเฟื่องฟูในตะวันออกกลาง”
“ไทยจะเป็นประเทศที่มีความสุขลำดับต้นๆ ของภูมิภาค”
ฯลฯ
จะไม่น่าแปลกใจเลย หากข้อความข้างต้นอยู่ในนิยายสักเรื่องที่มีฉากหลังเป็นโลกอนาคตซึ่งผู้เขียนจินตนาการขึ้นมา ไม่ใช่ในเอกสารจริงจังอย่าง ‘ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี’ ซึ่งจะเป็นพิมพ์เขียวสำหรับใช้จัดทำ ‘ยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริง’ ที่จะกำหนดอนาคตของชาติและคนในชาติหลายสิบล้านคนต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้า (ใช้ระหว่างปี 2560 – 2579)
ร่างยุทธศาสตร์ชาติฯนี้ เพิ่งถูกเปิดเผยเมื่อต้นเดือน ก.ย.2560 นี้เอง หลังจากรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมายกร่างตั้งแต่กลางปี 2558 แต่ไม่ยอมเปิดเผยให้สาธารณชนได้ดูเสียที (เปิดแต่ ‘ร่างยุทธศาสตร์ฯฉบับสรุปย่อ’ จำนวน 40 หน้า ซึ่งแทบไม่มีเนื้อหาสาระอะไรเท่าไร)
กระทั่งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ไปใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ยื่นขอ แรกๆ ผู้เกี่ยวข้องก็ปฏิเสธว่าไม่มีเอกสารนี้อยู่ ต่อมาก็ตอบแบบก้ำกึ่งว่าจะมีหรือไม่มี จนเมื่อจะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ก็ปรากฎว่าผู้เกี่ยวข้องได้นำเผยเอกสารนี้ไปเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์แล้ว โดยสรุป iLaw ใช้เวลาในการตามหาเอกสารนี้อยู่ 122 วัน
ทั้งที่ ร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ เป็นเอกสารซึ่งควรเผยแพร่ให้ ‘ประชาชน’ ได้ช่วยกันพิจารณาทันทีที่ทำเสร็จ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ ‘อนาคตของทุกคน’ แท้ๆ
ร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับเต็ม มีเนื้อหาทั้งสิ้น 124 หน้า แบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน นอกเหนือจาก ‘บทนำ’ และ ‘บทสรุป’
ส่วนที่ 1 – อนาคตประเทศไทยปี พ.ศ. 2579
ส่วนที่ 2 – สภาพแวดล้อมการพัฒนาและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องพร้อมจะเผชิญ
ส่วนที่ 3 – วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์
ส่วนที่ 4 – กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติและติดตามประเมินผล
หลายคนบอกว่า เนื้อหาของร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ มีความคล้ายคลึงกับ ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ใช้ระหว่างปี 2560 – 2564)’ ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์
แต่เชื่อว่า หลายคนที่ว่าอาจจะยังไม่ได้เปิดเอกสารนี้อ่านอย่างจริงจัง เพราะในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้เป็นข้อๆ อ่านง่าย และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อปฏิบัติตามได้
ร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ กลับมีแต่ความคลุมเครือ เขียนวิสัยทัศน์ไว้กว้างๆ แบบที่พูดอย่างไรก็ถูก แต่ไม่รู้จะทำตามได้อย่างไร เริ่มจากไหน เพื่อเดินไปสู่อะไร
เนื้อหาส่วนที่ชัดเจนที่สุดของร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ กลับอยู่ใน ‘บทนำ’ ที่ว่าด้วยสถานการณ์และแนวโน้มด้านต่างๆ ของโลกและไทย เช่น ด้านความมั่นคง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านเศรษฐกิจ ดังตัวอย่างที่ยกมาไว้ย่อหน้าแรกของบทความนี้
และอาจด้วยเอกสารฉบับนี้จัดทำในรัฐบาลทหาร โดยมีอดีตทหารอย่าง พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้ยกร่าง เนื้อหาหลายๆ ส่วนจึงเน้นหนักไปที่ ‘ความมั่นคง’ แค่เปิดมาบทนำก็จะเจอเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงแล้ว (ประชาไทลองตรวจสอบดูพบคำว่า ‘ความมั่นคง’ ถึง 222 จุด แต่กลับไม่มีคำว่า ‘นิติรัฐ’ หรือ ‘ความยุติธรรม’ เลยแม้แต่คำเดียว)
ขณะการมองอนาคตเพื่อวางแผนปัจจุบัน ทั้งในระดับโลกและระดับชาติ สามารถสรุปได้ด้วยคำ 3 คำ คือ ‘ฟุ้งฝัน’ ‘มืดมน’ และ ‘ไม่ชัดเจน’
1. ฟุ้งฝัน
– มีการคาดการณ์ว่าจะมีการรวมชาติระหว่างเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ใน พ.ศ.2578 แต่อาจเป็นเพียงการตกลงในหลักการเท่านั้น (เอกสารไม่ได้ให้แหล่งที่มาของสมมุติฐานนี้)
– กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ จะมีความสำคัญมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษศฐกิจโลกให้ขยายตัว…โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,700 ล้านคน และคาดการณ์ว่า GDP ของทั้ง 2 ประเทศ รวมกันจะมากกว่าสหรัฐฯ ภายในปี 2573
– ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการรวมตัวกันมากขึ้น ผ่านกลไกประชาคมอาเซียน โดยที่การพัฒนาของภูมิภาคจะเติบโตอย่างรวดเร็ว
– ประเทศไทยยังคงติดอันดับ 1 ใน 50 ประเทศของโลกที่มีสภาพแวดล้อมน่าลงทุน รวมถึงเป็นประเทศที่มีความสุขอยู่ในอันดับต้นของอาเซียน
2. มืดมน
– ภูมิภาคตะวันออกกลาง เกิดขบวนการอิสลามที่ต้องการรื้อฟื้นระบอบการปกครองแบบรัฐเคาะลีฟะห์ อย่างไรก็ตาม กระแสดังกล่าวจะถูกต่อต้านจากชาติตะวันตก / ภูมิภาคยุโรปจะยังคงเผชิญกับปัญหาผู้อพยพหนีภัย / ภูมิภาคแอฟริกาจะเผชิญกับปัญหาการก่อการร้ายและการพัฒนาที่ล่าช้า / ภูมิภาคเอเชียกลาง จะยังขาดความมั่นคง เนื่องจากระบบอำนาจนิยม ขณะที่จีนและรัสเซียพยายามขยายอิทธิพลเข้ามา ฯลฯ
– การก่อการร้ายในระยะ 20 ปีข้างหน้าจะมีความซับซ้อนมากขึ้นทั้งรูปแบบและวิธีการ โดยจะอาศัยช่องทางอินเทอร์เน็ตในการชักชวนและบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงกับบุคคล
– ไทยมีความเสี่ยงจากกลุ่มก่อการร้ายที่เข้ามาปฏิบัติการในไทย โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เคยเข้ามาปฏิบัติการแล้ว เช่น กลุ่มฮิชบัลเลาะฮ์ กลุ่มชาวอิหร่าน และกลุ่มชาวตุรกี ซึ่งจะใช้วิธีการและรูปแบบใหม่ๆ ในการก่อการร้าย อาทิ การใช้อวุธเคมี อาวุธชีวภาพ อาวุธแผ่รังสี และการก่อการร้ายทางไซเบอร์
3. ไม่ชัดเจน
– แทบจะทั้งหมดของส่วนที่ 1 ที่ว่าด้วย ‘อนาคตประเทศไทยปี พ.ศ.2579’ มีการร่ายยาวถึงสถานการณ์ต่างๆ จุดอ่อน จุดแข็ง เงื่อนไขทั้งภายในภายนอก แต่กลับไม่วิเคราะห์สิ่งที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในไทย ในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจน แม้จะมีการกำหนด ‘เป้าหมายภาพอนาคต’ ที่ไทยต้องบรรลุ แต่ก็เป็นภาพกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียด ยังไม่เห็นทางว่าจะปฏิบัติตามได้อย่างไร
แน่นอนว่า อาจจะมีผู้ท้วงว่า นี่ยังเป็นแค่ร่างยุทธศาสตร์ฯ หลายอย่างยังเปลี่ยนแปลงได้ จะไม่เอาตามเลยก็ได้ ซึ่งเป็นคำทักท้วงที่อาจขัดกับตัวกฎหมายและสามัญสำนึก เพราะ 1.พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 28(4) กำหนดให้ใช้เนื้อหาในร่างนี้ ‘เป็นหลัก’ ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฉบับถาวรต่อไป และ 2.หากเขียนมาแล้วไม่ได้ใช้ จะเขียนมาทำไมนับร้อยหน้า
นี่คือภาพกว้างๆ ของอนาคตพวกเรา ที่ปรากฎอยู่ในร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่ภาครัฐเพิ่งนำมาเผยแพร่ หากใครไม่เชื่อ คิดว่าผู้เขียนมีอคติ มองโลกในแง่ร้าย หรือเป็นเรื่องหลายคนยลตามช่อง ก็สามารถไปโหลดมาอ่านแล้วแสดงความคิดเห็นกันเองได้
เพราะอนาคตของชาติ เป็นเรื่องของทุกๆ คน ไม่ควรปล่อยให้ ‘คนหน้าเดิมไม่กี่คน’ มาคอยกำหนดอนาคตให้กับพวกเรา
[ ดาวน์โหลด ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีฉบับเต็ม ไปอ่านได้ ที่นี่ ]