“ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ผมรังเกียจการรัฐประหาร ผมคัดค้านการรัฐประหาร ผมกระทั่งสาปแช่งการรัฐประหาร”
ผมต้องการจะออกตัวอย่างชัดเจนไปแต่ต้นว่าผมมีจุดยืนกับสิ่งที่กำลังจะเขียนอย่างไร (เผื่อบทความที่ผ่านๆ มายังชัดเจนไม่พอ) เพื่อว่าท่านใดที่ไม่ให้ราคากับคนอย่างผมอยู่แล้วจะได้ไม่ต้องสู้เสียเวลามาอ่านต่อไปจากจุดนี้ อย่างไรก็ตามผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่เห็นว่าประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพนั้นมีแต่ภาพแสนสวยงาม ท้องฟ้าโปร่งใสแสนโสภีอะไรด้วย (เอาจริงๆ ผมถึงกับเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งที่พูดถึง ‘ด้านมืด’ ของประชาธิปไตยเต็มๆ เสียด้วยซ้ำ[1]) แต่ในตอนนี้เราดันอยู่กันในสังคมที่แม้แต่อะไรพื้นฐานมากๆ อย่างสิทธิเสรีภาพยังไม่มีที่จะยืน หรือเก็ตกันแล้ว ก็ต้องขอแสดงความชัดเจนกันไปก่อน
วันนี้ครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารรอบล่าสุดของไทยพอดี หรือหากเอาขณะที่ผมลงมือเขียนบทความนี้ก็คือ 2 ปี 11 เดือนกว่าๆ (ตามรูป)[2]
ในช่วงระยะเวลา ‘นานแค่ไหนคือไม่นาน’ นี้ มีหลายเรื่องที่อยากจะพูดถึง แต่คงจะทำไม่ได้ทั้งเพราะเยอะเกินกว่าจะเขียนได้หมด และอันตรายเกินกว่าจะพูดหมดได้ บางเรื่องก็ทำได้เพียงแค่ด่าตัวเองที่กระจอกเกินกว่าจะพูดในสิ่งที่พึงพูดออกไป[3] อย่างไรก็แล้วแต่ในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งความ ‘ไม่นาน’ นี้ ผมคิดว่าควรถือโอกาสพูดถึงเรื่องที่พอจะพูดถึงได้สัก คือ คำสัญญาของ คสช. และผลงานของพวกเขาตลอด 3 ปีมานี้
ประเด็นเรื่องผลงานนี้ อาจจะดูว่าเป็นเรื่องที่ง่ายที่จะเขียนถึง แต่เอาจริงๆ แล้วก็ยากไม่ใช่น้อย เพราะ รัฐบาล คสช. นี้ มีการให้คำสัญญามากมายกลาดเกลื่อนไปทั่วพอสมควร จนจะรวบรวมมาพูดให้ครบได้นั้นก็ดูจะสุดสิ้นปัญญาของผมจะสามารถ ผมจึงขอกระทำความมักง่าย ด้วยการอ้างอิงถึง ‘คำสัญญา’ ที่ดูจะติดหูเรามากที่สุด อย่างคำสัญญาที่ปรากฏในเนื้อเพลง ‘คืนความสุขให้แผ่นดินไทย’ ที่ทาง คสช. กระหน่ำเปิดกรอกหูประชาชผ่านทุกสื่อตลอดเวลาก็แล้วกันครับ
วันที่ชาติและองค์ราชา มวลประชาอยู่มาพ้นภัย
ขอดูแลคุ้มครองด้วยใจ นี่คือคำสัญญา
วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา
ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป
เพื่อนำรักกลับมา ต้องใช้เวลาเท่าไหร่
โปรดจงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง
เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน
แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา
เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา
แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน
วันนี้ต้องเหน็ดเหนื่อยก็รู้ จะขอสู้กับอันตราย
ชาติทหารไม่ยอมแพ้พ่าย นี่คือคำสัญญา
วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกเชิญขึ้นมาทุกครา
ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป
จากการที่รัฐบาล คสช. กระหน่ำเปิดเพลงนี้ให้สังคมไทยจำต้องฟังอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ ก็คงจะไม่ผิดนักที่เราจะมีสมมติฐานกันว่ารัฐบาลเองก็คงเห็นชอบหรือคิดว่าเนื้อหาเพลงนี้ถูกต้อง ผมก็ว่าเราควรมาดูกันในจุดนี้สักหน่อย โดยไม่ไปแต่ต้องเรื่องความไพเราะหรือไม่ไพเราะอะไรของเพลงนี้เลย
เนื้อเพลงประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 3 ส่วน คือ คำสัญญาต่างๆ (ตามที่เน้นคำไว้), ข้อเรียกร้อง (ขอให้ไว้ใจ, ศรัทธา, ฯลฯ) และคำบอกเล่าถึงคุณสมบัติอันดีของตนหรือบอกเล่าสถานการณ์ รวมไปถึงลูกอ้อน (ซื่อตรง, เหนื่อยแต่ไม่ท้อ, ไม่ยอมแพ้, ขอเป็นคนเดินเข้ามา, ฯลฯ) แม้ส่วนอื่นๆ นอกเหนือจาก ‘คำสัญญา’ จะเป็นที่น่าพูดถึงด้วยก็ตาม อย่างการบอกว่า “ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา” นั้น ว่า “ขอใคร?” การเอาปืนมาจี้คอแล้วฉีกกฎนับได้ว่าเป็นการ ‘ขอ’ หรือไม่? หรือไม่ฉลาดพอจะเข้าใจว่าคือการ ‘บังคับ’ หรือเปล่า แต่ก็คงจะต้องจำกัดที่เรื่องคำสัญญาไว้เป็นหลักก่อน มิเช่นนั้นจะเวิ่นเว้อจนเกินเหตุยิ่งกว่าที่ทำเป็นประจำได้
เนื้อหาหลักของคำสัญญาตามเนื้อเพลงนั้นก็คือ มันมี ‘ภัย’ เกิดขึ้นในสังคมไทยที่รุนแรงดั่งไฟลุก และทำให้เกิดความบาดหมางหรือไม่ลงรอยในสังคมขึ้น และ คสช. ก็ต้องเข้ามาแก้ปัญหา โดยจะทำงานอย่างตั้งใจซื่อตรง ไม่ย่อท้อ ในเวลาไม่นาน
โอเค ผมจะไม่พูดถึง ‘ความนาน’ มากมายนัก เพราะ ‘ความนาน’ มันสัมพัทธ์สูง นานของคนหนึ่งอาจจะสั้นของอีกคนได้ มาพูดเรื่องวิกฤติที่ว่าดีกว่า คือ หากเรานำคำว่าวิกฤติหรือปัญหาในเนื้อเพลง ไปอ่านเทียบกับประกาศ คสช. ฉบับแรกแล้ว[4] เราจะพบได้ว่ามันก็คือเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ ความแตกแยกของขั้วคิดทางการเมือง (เหลือง-แดง, หลากสี ซึ่งก็คือเหลืองกลายๆ, ฯลฯ), ปัญหาคอรัปชั่น ไม่โปร่งใส, ปัญหาเศรษฐกิจ, ปัญหาความมั่นคง, ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้ดูจะไม่ได้รับการแก้ไขอะไรเลย มีแต่นับวันจะหนักหน่วงขึ้น ด้วยเหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ คสช. ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจความแตกต่างของความหลากหลายของ ‘สันติภาพ’ (Peace) เพราะสันติภาพมันเกิดได้ทั้งจาก ‘การกดขี่’ (Oppression) และ ‘ความเข้าใจ/มั่นใจต่อกลไกระหว่างรัฐกับประชาชน’
ในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือจักรวรรดิศึกษา เรามักจะได้ยินคำอย่าง Pax Romana, Pax Britanica, Pax Americana, Pax Nipponica และอื่นๆ คำว่า Pax นี้เองก็ถูกแปลว่า Peace หรือสันติภาพ แต่สันติภาพที่ Pax Romana / Britanica / Americana ฯลฯ นำมานั้น มันคือสันติภาพที่ได้มาจากการกดขี่ข่มเหงรัฐอื่นๆ ด้วยกำลังอำนาจทางการสงครามหรือเศรษฐกิจที่เหนือล้นกว่าอย่างมาก โดยจักรวรรดิแห่งยุคหรือพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะโรมัน (Romana), สหราชอาณาจักร (Britanica) หรือสหรัฐอเมริกา (Americana) ในระดับที่ทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้แต่ต้องสยบยอม
อย่างไรก็ดีสภาพของการสยบยอมอันนำมาซึ่งสันติภาพของสารพัด Pax นั้น ไม่เคยเป็นสันติภาพที่สวยงาม เพราะมันคือความสงบที่กดทับเอาความไม่สงบ (unrest) ไว้ใต้ผืนพรมของความคับแค้นแห่งการโดนกดขี่ ฉะนั้นเมื่อความสามารถในการกดขี่ถอยออกไป (โดยไม่ได้แปลว่าฝ่ายผู้ถือครองอำนาจพ่ายแพ้แต่อย่างใด) ความขัดแย้งที่บาดลึกและรอวันระเบิดออกจึงยิ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและยาวนานขึ้นไปอีก มันเป็นปัญหาหนักหนาถึงขนาดที่หลังยุคล่าอาณานิคมโดยบรรดาจักรวรรดิทั้งหลาย เข้าสู่ยุคส่งคืนอาณานิคมนั้น ต้องเกิดสำนักวิชาอย่าง ‘หลังอาณานิคมศึกษา’ หรือ Post-Colonialism Studies ขึ้นมากันทีเดียว เพราะปัญหาที่เกิดจากสันติภาพโดยการกดขี่มันพันลึกขนาดนั้น (ตัวอย่างก็คือ แทบทุกประเทศรอบๆ เราเป็นต้น จริงๆ เราเองก็มีด้วย)
สภาพของการเมืองไทยตอนนี้เองก็ไม่ได้แตกต่าง เพียงแต่ในกรณีของเรานั้นความเป็นจักรวรรดิและอาณานิยมดูจะอยู่ในพื้นที่หรืออาณาเขตเดียวกันเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วการกดขี่มันจึงไม่สามารถแบ่งความเป็นจักรวรรดิกับอาณานิคมด้วยพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ได้ หากแต่กลไกความเป็นจักรวรรดิ-อาณานิคมนี้กลับขึ้นอยู่กับกลุ่มก้อนของประชากร ด้วยลักษณะของการเป็นชนชั้นจักรวรรดิและกลุ่มผู้นิยมในจักรวรรดิ กับชนชั้นอาณานิคมหรือผู้ต่อต้านที่แม้จะมีปริมาณมากกว่า แต่ก็โดนกดขี่ตลอดเวลาในนาม “สันติภาพ และการเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าอาณานิคมในการเข้ามาแก้ไข หรือสั่งสอนให้สังคมที่เต็มไปด้วยพวกมนุษย์ไร้อารยธรรม บ้านนอกคอกนา ห่างไกลการศึกษาเหล่านี้ได้เรียนรู้เสียบ้าง” ดังที่ปรากฏในเนื้อเพลงบังคับฮิตของ คสช. ว่า “ขอเป็นคนเดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป”
การรัฐประหาร ในสายตาพวกเขา (คสช.) จึงเป็นภาระหน้าที่ (Burden) เหมือนอย่าง ‘ภาระของคนขาว’ (White man’s burden) อันเป็นเหตุผลแห่งการรุกรานในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งมันแฝงนัยยะว่า นี่คือการกระทำอันเป็น ‘ความกรุณาของผู้รุกราน’ ที่เหล่าปวงประชาแห่งอาณานิคมที่ป่าเถื่อนไม่อารยะทั้งหลายพึงสำนึกในบุญคุณเสียด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการ คสช. เฝ้าทวงบุญคุณบนหน้าจอโทรทัศน์และตามสื่อต่างๆ หรือการพล่ามถึงความเหนื่อยจากภาระหน้าที่เสียเต็มประดาของตนอยู่เนืองๆ ทั้งๆ ที่ในสายตาของผู้ถูกกดขี่ก็ได้แต่มีคำถามเดียวกัน ลอยขึ้นมาพร้อมๆ กัน เมื่อเจอกับท่าทีแบบที่ว่านี้ ว่า “แล้วใครเรียกให้มาทำวะ?”
แน่นอนว่าเมื่อเป็นเพียงผู้มา colonize ทางการเมือง พวกเขาไม่มีความเกี่ยวพันธ์กับประชาชนอะไรอย่างที่พูดกันมาไม่รู้กี่พันกี่หมื่นรอบแล้ว อีกทั้งยังเป็นพระคุณที่อุตส่าห์เข้ามา ‘ช่วยเหลือ’ ในการสร้างสันติภาพ พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องสนใจ รับรู้ หรือแม้แต่คิดถึงความรู้สึกทุกข์ร้อนของประชากรอาณานิคม ขอเพียงให้สภาพของความ ‘สงบเรียบร้อย’ เกิดขึ้นย่อมเพียงพอแล้ว ฉะนั้นการยุติความพยายามจะต่อต้าน แม้จะเพียงริบหรี่น่าหัวร่อปานใด จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การชูสามนิ้ว การยืนอ่านหนังสือ 1984 การกินแซนด์วิช จนมาถึงล่าสุด ที่อาจจะนับได้ว่าชัดเจนในความไม่สน ไม่แคร์ ไม่ใส่ใจกับประชากรอาณานิคมแบบถึงขีดสุด เมื่อตำรวจในรัฐบาล คสช. จำนวนราวร้อยนายบุกเข้าจับกุมพ่อแม่ของเหยื่อจากการถูกสังหารเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง หรือเพียงเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในระหว่างเกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่มารวมตัวกันทำการแสดงเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น และรำลึกถึงลูกๆ ของพวกเขาที่เสียชีวิตไป…คนแสดงและคนดูมีรวมกัน ประมาณ 15 คน 8 คนในนั้นถูกจับไป สน.ปทุมวัน นี่แหละครับคือการสร้างความสงบ[5] ด้วยกำลังที่เหนือล้นกว่าอย่างไม่ต้องคิดหวังจะสู้ตามประสาลัทธิอำนาจนิยมอาณานิคม
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงพ่อแม่ของเหยื่อแล้ว ก็คงต้องพูดถึง ‘เหยื่อ’ จากเหตุการณ์ความรุนแรงบ้าง เพราะพวกเขาเองคือ ความเสียหายที่สูงที่สุดและประเมินค่าไม่ได้โดยแท้จริงจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. 2553 ในขณะที่ในสายตาคนที่มีความคิดอำนาจนิยมแบบเดียวกับจักรวรรดิมักจะมองหรือพูดถึงแต่สิ่งปลูกสร้างที่เสียหายหรือถูกทำลายไป โดยลืมไปว่าสถานที่เหล่านั้นสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ เอาให้สวยให้ใหญ่ยิ่งกว่าเดิมก็ยังทำได้ แต่กว่าร้อยชีวิตที่เสียไป ไม่อาจ ‘สร้างใหม่’ ได้ แต่เรื่องที่ตลกปนเศร้าเสียยิ่งกว่าก็คือ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระยะ 3 ปีหลังมานี้ ภายใต้รัฐบาล คสช. ‘สิ่งปลูกสร้าง’ แทบทุกที่ดูจะได้รับความเป็นธรรมแล้ว โดยผู้ต้องสงสัยถูกตัดสินลงโทษอย่างรุนแรงที่สุด ราวกับว่าชีวิตคนมีราคาถูกกว่าอิฐและปูน แต่ ‘คนที่ตาย’ ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย[6]
ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ยังพร่ำบอกว่าจะสร้างความปรองดอง จะสร้างสันติสุข จะใช้เวลาอีกไม่นาน? และที่น่าเศร้าปนโมโหยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ‘ยังมีคนเชื่อด้วย!’
ไม่เพียงแค่เรื่องการเมือง หากแต่ความไม่สงบในแง่ความมั่นคงที่ดูจะเป็นสิ่งเดียวที่ดูพอจะหวังอะไรจริงๆ ได้บ้างในสายตาคนทั่วไป ด้วยรัฐบาลที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพหลักเป็นนักปล้นสิทธิเสรีภาพของประชากรและมีงานอดิเรกเป็นทหารอย่าง คสช. นั้น ก็ไม่มีผลงานอะไรที่ดูจะดีขึ้นเลย หากประเมินโดยส่วนตัว ก็คงต้องบอกว่าเลวร้ายลง เพราะวิธีคิดแบบทหารและการถือครองอำนาจในการใช้กำลังทางกายภาพที่มากล้นขนาดที่ไม่มีใครกล้าจะเถียงได้ในประเทศ ก็ดูจะพาลทำให้คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่เสียเต็มประดา จนไม่ต้องสนใจโลกหรือเคารพเงื่อนไขร่วมในทางสากลอีกต่อไป (ก็แน่ล่ะนะ มันผิดมาตรฐานสากลตั้งแต่ทำรัฐประหารแล้ว) อย่างกรณีอุยกูร์ที่เกิดขึ้น ที่แม้ในท้ายที่สุดเราต้องยืนยันว่าการตัดสินใจ ‘ตอบโต้รัฐบาลไทย’ ด้วยการวางระเบิดที่แยกราชประสงค์นั้น คือ การตัดสินใจของผู้ก่อการร้ายอุยกูร์เอง (ตามข้อสันนิษฐานหลักตอนนี้ ซึ่งเอาจริงๆ คดีไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้อีก เพราะล่าสุดเท่าที่หาข่าวเจอก็คือ คนที่ปักใจเชื่อฟันธงว่าใช่แน่ๆ ก็ดูจะเป็นการจับผิดอีก) แต่ในระดับหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากรัฐบาลทหารไทยไม่ทำตัวตัดขาดจากข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างที่ได้ทำไป ก็คงจะไม่เกิดเป็นชนวนที่นำมาสู่เงื่อนไขให้เกิดเหตุการณ์แบบที่ว่าได้ง่ายๆ หรือพูดกันแบบตรงๆ ก็คือ การตัดสินใจในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอย่างอาชีพทหารตัดสินใจทำลงไปนั้นดูจะไม่ได้สนใจความมั่นคงของคนในชาติที่อาจจะตามมาเลย
ลักษณะเหตุการณ์ดังกล่าวก็ใกล้เคียงกันกับการปฏิบัติต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันดูจะทวีความรุนแรง แต่ข่าวก็ทวีความเงียบงัน (ในที่นี้ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งแก้ปัญหาได้ดีเลอเลิศ กรณีกรือเซะ-ตากใบสมัยรัฐบาลทักษิณเองนั้นก็เป็นอะไรที่เลวร้ายมาก แต่ลองพิจารณาถึงเสียงต่อต้านที่ดังขึ้นในตอนนั้น กับความเงียบในตอนนี้ดู ว่ามันเป็นปัญหาไหม) ความเงียบนี้เองมันเลวร้ายมาก เพราะมันทำให้รัฐบาลทหารที่ปกติมีแนวโน้มไม่ต้องสนใจเสียงของประชาชนหรือสังคมอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจใดๆ หนักข้อขึ้นไปอีก และท่าทีการแก้ปัญหาภาคใต้ก็ย่ำอยู่กับที่ อยู่กับแบบเดิมๆ ถล่มมันเข้าไป ฆ่ามันให้เรียบ ลากคอผู้ก่อเหตุมาให้ได้ ดังที่เราเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์นานๆ ทีเวลาผู้สื่อข่าวไปถามกับฝ่ายความมั่นคงไทย การเจรจาสันติภาพก็ทำไปโดยไม่คิดจะฟังข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของอีกฝ่ายแต่แรก หรือทำเป็นรับฟังมา แต่ไม่เคยเริ่มหาทางปฏิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจัง และยิ่งสังคมเงียบไม่สนใจเสียงเรียกร้องของพวกเขาต่อไป เหตุการณ์ก็รังแต่จะรุนแรงมากขึ้น…มากขึ้นไป จนกว่าจะหันมาฟังกันนั่นแหละ
แล้วไหนล่ะครับไอ้ “ขอคุ้มครองด้วยใจ” ที่ว่าไว้ในเพลง? หรือคุ้มครองแค่ในใจจริงๆ อย่างว่าเลย ไม่มีทำออกมาเป็นรูปเป็นร่าง หรืออาจจะต้องถามต่อไปอีกว่า ที่ว่าจะ ‘คุ้มครอง’ นี่คือคุ้มครองใคร? เพราะ ‘ใคร’ ตรงนี้ ดูจะไม่ใช่ประชาชน
แน่นอน ในทางเศรษฐกิจก็อย่างที่พอจะรู้สึกกันได้ (เว้นแต่ท่านจะเป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศนี้อย่างซีพี, เบียร์ช้าง, ฯลฯ ที่ดูจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และดูจะเอ็นจอยกับการที่บริษัทคู่แข่งข้ามชาติถอยหนีการลงทุนออกจากประเทศนี้ไปพิกล) ว่านับวันนั้นแย่ลงๆ แน่นอน ทาง คสช. ก็ไม่ได้ไม่เห็นถึงสภาพความแย่นี้ แต่ก็มักจะอ้างว่าแย่ลงทั้งโลก ซึ่งก็อาจจะมีส่วนจริงอยู่ อย่างไรก็ดี การอยู่ในระดับที่ทางธนาคารโลกชี้ว่าเศรษฐกิจอ่อนแอที่สุดในอาเซียน[7] นั้นคงไม่ใช่อะไรที่จะบ่งชี้ได้ว่า ‘บริหารเป็น’ หรือสามารถสร้างผลงานได้ดังที่การันตีตัวเองไว้ในบทเพลงที่กระหน่ำบังคับฮิต หรือใช้เป็นข้ออ้างปล้นสิทธิประชาชนไปได้
ว่ามาขนาดนี้แล้ว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทีมโฆษกของรัฐบาล คสช. นี้ยังสู้อุตส่าห์กล้าออกมาเคลมผลงานของตนอย่างเรื่องทวงคืนที่ดินริมแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะ (โดยจงใจไม่พูดเรื่องจะให้ต่างชาติเช่าที่ได้ 99 ปี ที่ก่อนหน้านี้เห็นเคยประท้วงกันปาวๆ) และอื่นๆ ที่ทำให้ ‘ประชาชนมีความสุข มีคุณค่า’ [8] ซึ่งในระดับหนึ่งผมค่อนข้างเชื่อว่าที่พยายามอ้างว่าประชากรไทยนั้นมีความสุข มีคุณค่านั้น ส่วนหนึ่งคงจะมาจากข่าวการจัดอันดับประเทศของ USNews ที่จัดให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลก (และแชร์กันอุตลุตในโซเชียลมีเดีย) ซึ่งจริงครับ เค้าจัดแบบนั้นจริง[9] แต่หากเจาะลงไปดูในส่วนคะแนนที่ทำให้ติดแรงก์กิ้งกับเค้าได้นั้นจริงๆ แล้ว แทบจะนำลิ่วมาได้ด้วยเรื่องเดียวเลยครับคือ ‘(ราคา)ถูก’
แต่ในด้านอื่นๆ ของแรงก์กิ้งเดียวกันนี้ที่แชร์ๆ กันนี่แหละ ย่ำแย่เละเทะกันไปตามระเบียบ ทั้งความโปร่งใส คุณภาพฝีมือแรงงาน การศึกษา เสถียรภาพทางการเมือง สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม การกระจายอำนาจ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่มีเสรีภาพทางศาสนา รวมไปถึงความมั่นคงที่ภาคใต้ และอื่นๆ อีกมากมาย
นี่ยังกล้าเคลมว่าเป็น ‘ความสุข และคุณค่า’ ของประชาชนอีกหรือครับ เพียงเพราะอันดับสูงด้วยความ ‘ถูก’ เท่านั้นนี่หรือ? ผมว่ามันเป็นได้อย่างมากก็เพียงแค่ ‘ผลงานในห้วงภวังค์หรือห้วงฝันของ คสช.’ เท่านั้นแหละครับ
หากจะมีอะไรสักอย่างที่ผมคิดว่าเป็นผลงานของ คสช. จริงๆ คงจะเป็น การพยายามทำให้ ‘ระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกลายเป็นสิ่งต้องห้าม หรือน่าขยะแขยงในสังคมนี้ไป’ อย่างน้อยก็ในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง ที่เมื่อพูดถึงคำๆ นี้ ว่ามันเป็นประโยชน์อย่างไร ก็ดูจะเกิดอาการคลื่นเหียน และพร้อมจะกระหน่ำด่าตลอดเวลาปานว่าประชาธิปไตยไปทุบตีบุพการีพวกท่านมาก็มิปาน
วันนี้ครบ 3 ปีแล้ว แต่เราก็ยังคงต้องปล่อยให้เข็มนาฬิกาที่นับรอวันมันเดินต่อไป และต่อให้เข็มนาฬิกานี้หยุดลง ก็ไม่รู้ว่าซากปรักหักพังที่ร้าวลึกในสังคมและประชากรประเทศนี้จะทำให้เราต้องย่ำอยู่กับซากนี้อีกนานเพียงใด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช (2559) Thou Shall Fear: เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ. กรุงเทพฯ: มติชน.
[2] ดู นานแค่ไหนคือ “ไม่นาน” ณ เวลาปัจจุบันได้จาก sungsit.com
[3] โปรดดู thematter.co/thinkers/public-sphere
[4] อ่านเต็มๆ ได้ที่ www.knhong.org
[5] โปรดอ่านสรุปรายละเอียดการรำลึกเหตุการณ์ทั้งหมดได้ที่ www.prachatai.com/journal/2017/05/71549
[6] โปรดดูรายชื่อผู้เสียชีวิต ในช่วงปี พ.ศ. 2553 ได้ที่นี่ prachatai.org/journal/2017/05/71545
[7] โปรดดู aecnewstoday.com
[8] โปรดดู www.matichon.co.th
[9] ดูได้ที่นี่ www.usnews.com