ภารกิจตามหาพลังงานทดแทนที่จะมาล้มยักษ์พลังงานฟอสซิลที่เราใช้กันมาถึง 120 ปี ใกล้ถึงวันที่ต้องเปลี่ยนไปหาทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (และไฉไลกว่า) ถนนทุกสายมีรถยนต์เบียดเสียดแออัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไอเสียที่เกิดจากเผาไหม้ราว 13% มีส่วนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และประชากรทั่วโลกถึง 6.5 ล้านคนกำลังเสี่ยงชีวิตจากโรคทางเดินหายใจ
หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายจริงจัง อย่างเยอรมันจะเป็นแห่งแรกของโลกที่ออกกฎหมายระงับใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในการสันดาปภายในปี 2030 ที่อังกฤษจะไม่ผลิตรถดีเซลอีกแล้วในปี 2040 และประเทศนอร์เวย์จะจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้าในสัดส่วน 100% เต็มในปี 2025 แม้จุดเริ่มต้นเหล่านี้จะเกิดขึ้นในยุโรป แต่อาจสร้างแรงกระเพื่อมให้เราต้องเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมที่สูงกว่า
ก่อนหน้านี้มีความพยายามขวนขวายพลังงานทดแทนน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการเอาพลังงานที่สกัดจากสาหร่ายทะเล แอลกอฮอล์ พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งไนโตรเจนเหลว (LN2) แต่จนแล้วจนรอด ก็เหลือผู้ท้าชิงที่ผ่านการทดสอบเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่เหมาะสมกับสถานการณ์ใช้งานจริง คือ พลังงานไฟฟ้า (Electric) และพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen)
แต่ใครล่ะจะเป็นศึกจ้าวมวยเด็ด 7 สี ถ้าต้องมาเทียบยกต่อยกในแบบเข้าใจง่ายๆ แม้ทั้งคู่จะมีบางอย่างสูสี สมน้ำสมเหนือ ใครจะแตกก่อน แอนตาซินจ่าย 500 ไม่ต้องรอไหว้ครู เริ่มนักชกทั้งสองฝ่ายลงสังเวียนได้เลย
ระฆังดัง ‘เก๊งง’
ยกที่ 1 ความเร็ว (Speed)
รถยนต์พลังไฟฟ้าที่เร็วที่สุดขณะนี้คือ NIO – EP9 เป็นรถระดับซูเปอร์คาร์แบบ 2 ที่นั่งจากบริษัท NIO สัญชาติจีน ทำความเร็วสูงสุดถึง 312 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็นับว่าน่าประทับใจแล้ว แต่รถพลังงานไฮโดรเจนของบริษัท Ford รุ่น Ford Fusion Hydrogen 999 ที่หน้าตาเหมือนรถ NASCAR ทำสถิติใหม่เฉือนไปที่ความเร็ว 333 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เอาเป็นว่าคุณไม่มีโอกาสได้ครอบครองรถเหล่านี้หรอก แต่ในเชิงเทคนิคแล้ว รถพลังงานสะอาดมีกำลังไม่ขี้เหร่เลย
ใครชนะ : รถพลังงานโฮโดรเจน
ยกที่ 2 ระยะทาง (Range)
รถยนต์พลังไฮโดรเจนที่มาแรงสุดของฝั่งญี่ปุ่น Toyota Mirai ทำระยะทางได้น่าประทับใจที่สุด ด้วยระยะทางถึง 502 กิโลเมตร โดยมีถังเก็บไฮโดรเจนทนแรงดันที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ถึง 2 ถัง
ส่วนรถพลังงานไฟฟ้า Tesla Model S ทำระยะทางอยู่ที่ 397 – 506 กิโลเมตร แต่หากดูระยะทางเฉลี่ยแล้ว รถพลังงานไฮโดรเจนของ Toyota ทำระยะทางได้คงเส้นคงวามากกว่าในการทดสอบ ส่วนระยะทางสูงสุดของ Tesla ที่ยังไม่คงที่แน่นอน
ใครชนะ : รถพลังไฮโดรเจน
ยกที่ 3 ระยะเวลาที่ใช้เติมพลังงาน (Refuel Time)
รถพลังงานไฮโดรเจนส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่มากในการเติมไฮโดรเจนให้เต็มถัง โดยใช้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ใกล้เคียงกับการเติมน้ำมันปกติ โดยไฮโดรเจนจะถูกเก็บในสถานะก๊าซ และเติมรถในสถานะของเหลว
แต่รถพลังงานไฟฟ้าต้องใช้เวลาชาร์จประจุลงในแบตเตอรี่นานกว่า แม้สถิติความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 30 นาทีต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ก็อาจทำให้คนใจร้อนส่ายหัว
ใครชนะ : รถพลังไฮโดรเจน
ยกที่ 4 ราคา (Cost)
รถยนต์พลังไฮโดรเจนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ความประณีตในการออกแบบทุกมิติ รวมทั้งไฮโดรเจนเองในท้องตลอดยังมีราคาสูงกว่าน้ำมันจากฟอสซิลอยู่มาก และเครื่องยนต์ที่ใช้ไฮโดนเจนมีราคาสูง เนื่องจากใช้พลังงานไฮโดรเจนสามารถเผาไหม้ในลักษณะ ‘ไฟล่องหน’ (Invisible Flame) การออกแบบถังจัดเก็บจึงต้องมีความปลอดภัยสูง ทนต่อการกระแทก รถยนต์ไฮโดรเจนมีจึงอาจมีราคาสูงตามไปด้วยถึงคันละ 3 ล้านบาทเหนาะๆ
แต่รถพลังงานไฟฟ้าจึงมาวินกว่า เพราะวิศวกรรมรถยนต์คุ้นเคยกับพลังงานไฟฟ้ามาเป็นอย่างดี ไม่มีจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ใดๆ โดยผู้นำด้านเทคโนโลยีคือบริษัท Tesla พยายามควบคุมราคาให้รถส่วนบุคคลทั่วไปมีราคาไม่ควรเกิน 5 แสนบาท เมื่อจำหน่ายจริงและหากเป็นที่นิยมแล้ว
ใครชนะ : รถพลังไฟฟ้า
ยกที่ 5 : สถานที่ให้บริการ
รถพลังงานไฟฟ้าเข้าถึงพลังงานได้ง่ายดาย ปลอดภัย สถานีให้บริการน้ำมันสามารถเพิ่มจุดชาร์จไฟฟ้าในสถานที่ได้เลยโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลัก และในต่างประเทศเริ่มมีจุดชาร์จพร้อมให้บริการแล้ว การติดตั้งจุดชาร์จเพิ่มเติมทำได้ง่าย แม้แต่บ้านคุณเองก็สามารถติดตั้งจุดชาร์จในลานจอดรถได้ ในราคาที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้
แล้วพลังงานไฮโดรเจนล่ะ? ปกติแล้วเป็นวัตถุไวไฟสูงมาก ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หากรั่วไหลไปสามารถสร้างอันตรายได้
ไฮโดรเจนเป็นความกังวลหนึ่งในโลหะวิทยา เพราะไฮโดรเจนสามารถทำให้โลหะหลายชนิดเปราะได้ ซึ่งทำให้การออกแบบสายท่อ ถังเก็บยากขึ้น การเคลื่อนย้ายไปสถานที่ต่างๆ ต้องเก็บในสถานะก๊าซและเปลี่ยนให้เป็นของเหลวเพื่อเติมรถยนต์ ซึ่งกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน มีราคาสูง คุณคงไม่อยากมีถังเก็บไฮโดรเจนอันเท่าโอ่งไว้ที่บ้านตัวเองหรอกนะ
ใครชนะ : รถพลังไฟฟ้า
ยกที่ 6 : การบำรุงรักษา (Maintenance)
ทั้งรถพลังงานไฮโดรเจนและรถพลังงานไฟฟ้าต่างมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยมาก นำมาสู่ความเรียบง่าย (แต่เกิดจากการออกแบบอันซับซ้อนภายใน) จึงไม่ต้องซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่บ่อยๆ ไม่เหมือนรถยนต์สันดาปที่มีสิ้นส่วนเป็นร้อยๆ ชิ้นเคลื่อนไหลตลอดเวลาที่ต้องหมั่นดูแล (ถึงคราวเปลี่ยนก็อาจกระเป๋าฉีกแน่นอน)
ใครชนะ : เสมอกัน
ยกที่ 7 : ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental impact)
รถพลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจนล้วนเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตามโครงข่ายกริดไฟฟ้าบ้านเราส่วนใหญ่ก็ยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอยู่ ทั้งคู่ไม่ปล่อยมลพิษต่ออากาศ และไม่สร้างมลภาวะทางเสียง เมื่อรถทั้ง 2 พลังงานโลดแล่นบนถนนมันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม
สรุป ผู้ชนะ คือรถพลังงานไฟฟ้า เพราะสำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ในประเด็นความคุ้มค่าและความพร้อมในอนาคตเป็นที่ตั้ง รถไฟฟ้าจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้
รถพลังงานไฟฟ้ามีลีลาที่น่าประทับใจกว่า มันเข้าถึงง่าย ไม่เรียกร้องอะไรจากพวกเรามากนัก เหมือนนักมวยอาชีพที่ชินเวทีต่อยมาตั้งแต่เด็ก วินัยเยี่ยม มีแม่ไม้ลูกไม้พอหอมปากหอมคอ ในปัจจุบันมีรถพลังงานไฟฟ้าให้เลือกถึง 50 รุ่นจากบริษัทหลายประเทศ ขณะที่รถพลังไฮโดรเจนมีเพียง 3 รุ่นเท่านั้นที่วางจำหน่ายขณะนี้ คือ Toyota Mirai , Hyundai ix35 FCEV และ Honda Clarity ส่วนใหญ่เป็นรถฝั่งญี่ปุ่นมากกว่า
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ฝั่งเป็นนักชกที่รักสิ่งแวดล้อม และไม่ทิ้งปัญหามลภาวะไว้เบื้องหลัง ลองจินตนาการดูว่า ในอนาคตท้องถนนแม้จะเต็มไปด้วยยวดยาน แต่คุณสามารถหายใจได้อย่างเต็มปอด คนรักรถจะมีสถานะเป็นคนรักโลกด้วยเต็มปากก็คราวนี้ล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก