เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนที่มีอาการกลัว (Phobia) เข็ม แมงมุม การบิน ความสูง และสุนัข เพราะแอปพลิเคชัน ‘oVRcome’ แอปฯ จากนิวซีแลนด์ที่ใช้งานผ่านเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) อาจช่วยบำบัดรักษาอาการเหล่านี้ได้
แอปฯ นี้จะช่วยบำบัดรักษาอาการกลัวโดยวิธี ‘Exposure Therapy’ ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว และมีจุดประสงต์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยต้านทานสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น
นี่ไม่ใช่แค่คำโฆษณาเฉยๆ เพราะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอทาโก นิวซีแลนด์ ได้ศึกษาวิจัยจนพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการรักษาด้วยแอปฯ ‘oVRcome’ ผ่าน VR สามารถช่วยให้ผู้คนต่อสู้กับอาการ Phobia ได้จริง และเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ผ่านวารสาร Australian and New Zealand Journal of Psychiaty
ผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีทั้งหมด 109 คน และใช้เวลาในการเข้าร่วม 6 สัปดาห์ ซึ่งการวิจัยนี้มุ่งรักษาอาการ Phobia 5 อย่างที่พบได้บ่อย ได้แก่ เข็ม แมงมุม การบิน ความสูง และสุนัข ระหว่างการวิจัย ผู้เข้าร่วมจะต้องใส่แว่น VR ซึ่งจะฉายวีดีโอถึงสิ่งที่พวกเขากลัว และวีดีโอจะไต่ระดับความน่ากลัวจากเล็กน้อยไปจนถึงสถานการณ์ที่น่ากังวลมากขึ้นตามลำดับ
แน่นอนว่านี่ไม่อันตราย และก่อนเข้าร่วม ผู้เข้าร่วมวิจัยจะต้องบันทึกระดับความวิตกกังวลก่อน–ระหว่าง–หลังดูวีดีโอ และจะสามารถข้ามไประดับถัดไปเมื่อระดับความกังวลของพวกเขาต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว
ในช่วงแรกของการทดลอง นักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมมีค่าเฉลี่ยความกลัวอยู่ที่ 26-40 ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ว่าหวาดกลัวปานกลางถึงรุนแรง แต่หลังจบการทดลอง ตัวเลขนั้นก็ลดลงอยู่ที่ 7 เท่านั้น ทั้งยังพบด้วยว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยมีอาการหวาดกลัวลดลง 75% หลังใช้โปรแกรมรักษา 6 สัปดาห์
ด้าน ดร.คาเมรอน ลาเซย์ (Cameron Lacey) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอทาโก ผู้เป็นหัวหน้านักวิจัยในการทดลอง เผยว่า แอปฯ นี้ประสบความสำเร็จในการบำบัดอาการ Phobia และช่วยลดอาการหวาดกลัวได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
“ผู้เข้าร่วมบางราย รายงานความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญถึงการเอาชนะอาการ Phobia ได้หลังทดลองใช้งาน โดยมีรายหนึ่งที่มั่นใจพอที่จะจองวันหยุดพักผ่อนในต่างประเทศ ขณะที่อีกรายเข้าแถวรอรับวัคซีน COVID-19” ลาเซย์ กล่าว
สำหรับใครที่อยากทดลอง แอปฯ นี้วางจำหน่ายแล้ว นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาเพื่อรักษาอาการอื่นๆ ด้วย เช่น โรควิตกกังวลทางสังคม โรคซึมเศร้า เป็นต้น
อ้างอิงจาก
https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/00048674221110779?journalCode=anpa