สมญานาม ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของประเทศไทยกำลังถูกท้าทาย
บางคนอาจส่ายหน้าปฏิเสธว่าจะไปจริงได้ยังไง เพราะเดินออกจากบ้านมาก็เจอร้านอาหารมากมาย ตลาดสดหรือก็มีอาหารการกินขายให้เพียบ แต่เราขอบอกตรงนี้เลยว่าจริง! อ้างอิงจากรายงานของแบงค์ชาติที่ว่าขณะนี้ประเทศเรากำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เพราะจำนวนเกษตรกรชาวไทยลดลงถึงปีละ 4 แสนคน! แถมอายุเฉลี่ยยังมากขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำอาชีพเกษตร เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติของวงการเกษตรไทยก็คงได้
จำนวนเกษตรกรที่ลดลงไม่เพียงทำให้อุตสาหกรรมเกษตรมีปัญหา แต่ยังกระทบถึงเรื่อง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ (Food Security) ด้วยเหมือนกัน เพราะเมื่อผลิตอาหารได้น้อย อาหารจึงราคาแพง การเข้าถึงอาหารคุณภาพดีก็จะยิ่งยาก โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าปริมาณอาหารของโลกควรเพิ่มขึ้นราว 70 เปอร์เซ็นให้ทันกับประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ล้านคนภายในปี 2050 โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกาใต้ เอเชียและเอเชียตะวันออก
The Problem is…
ยุ่งยาก เหนื่อยหนัก แถมผลผลิตยังคาดเดาไม่ได้ คือปัญหาดั้งเดิมที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นเกษตรกรเหมือนในอดีต โดยเฉพาะเรื่องการดูแลผลผลิตให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้นั้นเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยองค์ความรู้มหาศาล ยังไม่รวมปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากสารเคมี การขาดแคลนแหล่งน้ำ และปัญหาทรัพยากรทางธรรมชาติที่ถูกทำลาย เช่น ดินไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก หรือหน้าดินพัง ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาแก้ไม่ตกที่กดทับเกษตรกรไทยมานาน จากการประเมินโดยแบงค์ชาติพบว่ารายได้ของเกษตรกรนั้นคิดเป็น 9 เปอร์เซ็นของประเทศ นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับฉายา ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ที่เรา ภูมิใจกันมาหลายสิบปี
What we’re gonna do
การทำเกษตรยังคงไม่หยุดนิ่งแม้โลกจะก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีแล้วก็ตาม ยิ่งกว่านั้นยังเรียกได้ว่าเทคโนโลยีกลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญของการทำเกษตรยุคสมัยใหม่ก็ว่าได้ ด้วยความสะดวก มีมาตรฐาน และความง่ายในระดับสั่งการได้ผ่านปลายนิ้ว ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้นจนเกษตรกรยิ้มออก
โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า Internet of things หรือคือการควบคุมความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ แสงอาทิตย์ และปัจจัยสำคัญในการปลูกพืชต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นในการแสดงผล การตั้งค่า การเก็บข้อมูล เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ
และเหล่านี้เองที่จะกลายเป็นแรงดึงดูดสำคัญให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการทำเกษตรมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของการ ‘กลับบ้าน’ เพื่อเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ต่อยอดองค์ความรู้การทำเกษตรจากคนรุ่นก่อนให้งอกงาม ช่วยลดช่องว่างระหว่างภาคเกษตรและภาคสังคมลงได้ในอนาคต
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘ดีแทคฟาร์มแม่นยำ’ ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องทดลองที่ฟาร์มแตะขอบฟ้า จังหวัดสุพรรณบุรี ของคุณปิยะ กิจประสงค์ เรียบร้อยแล้ว โดยเขาเองเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผันตัวจากพนักงานออฟฟิศสู่การ “กลับบ้าน”