‘เวลา’ กำลังจะหมด คุณอยู่ตรงไหนของเวลา?
หากคุณมีเวลาชีวิตเหลืออีก 5 ปี การรู้หรือไม่รู้ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้ชีวิตของคุณไหม เมื่อฉุกคิดแล้วไอเดียอะไรที่สว่างวาบขึ้นมาเป็นอันดับแรกสุด จดมันไว้ เพราะความคิดที่แล่นเพียงวูบเดียวก็มีผลต่อการใช้ชีวิตอันจำกัดของคุณ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Socioemotional Selectivity Theory
เวลาเยียวยาแผลใจ แต่ขณะเดียวกันมันก็กัดกร่อนใจให้เป็นผุยผง
เวลาในนาฬิกาข้อมือ มักเดินไม่ตรงกับเวลาในหัว
เวลาไม่เคยคอยใคร แต่ในช่วงขณะอันระทึกใจ มันกลับนิ่งงัน
เวลาเป็นเรื่องส่วนตัวดุจจังหวะการเต้นหัวใจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นของส่วนรวม เพื่อเตือนให้ผู้คนไม่หลงลืมคืนวัน
พวกเราล้วนเป็นทาสโดยตรงของเวลา แต่ละคนมักนิยามความหมายของเวลาแตกต่างกัน บางคนอาจมีเวลามากไปจนต้องฆ่าทิ้ง ส่วนอีกคนกลับมีเวลาน้อยนิด จนต้องวิงวอนร้องขอเพิ่ม
การรับรู้ว่าอนาคตกำลังคืบคลานเข้ามาเป็นผัสสะสำคัญที่กำหนดให้คุณมีแรงผลักดัน (motivation) ในการลงมือทำอะไร เมื่อไหร่ เท่าไหนถึงจะเพียงพอต่อกำลังและแรงที่ต้องทุ่มเท เพราะทุกการกระทำล้วนมีการแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ
ลองคิดว่าคุณมีงานอยู่ในมือที่ต้องเสร็จก่อนบ่ายนี้ งานกองมหึมาที่ไม่รู้จะเริ่มยังไง คุณจ้องมองมันด้วยสายตาเรียบเฉย หรือกำลังคิดวิเคราะห์จะเริ่มทำเมื่อไหร่ เสร็จกี่โมง มีอะไรที่ต้องเสร็จภายในวันนี้บ้าง ชิ้นไหนเป็นงานเร่งร้อนลวกมือ หรืองานไหนที่ไม่สลักสำคัญ สามารถโยนทิ้งไปด้ไม่เห็นเป็นไร
ความจริงแล้วขอบเขตของเวลาที่งานต้องส่งก่อนบ่าย เป็นการรับรู้ (sense) มิติของเวลาที่ไม่ต่างจากการรู้ว่า ตัวเราเหลืออายุขัยเท่าไหร่ ทำให้เราต้องทำอะไรสักอย่างกับเวลาที่เหลืออยู่
การรับรู้เวลาที่เหลืออยู่เป็นหนึ่งในกรอบทฤษฏีที่เรียกว่า Socioemotional Selectivity Theory หรือการที่เรากำหนดจุดมุ่งหมายของชีวิตเมื่อเรารับรู้ถึงความจำกัด ซึ่งการประเมินของคุณล้วนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทั้งชีวิต ไม่ได้คงที่ ตอนเป็นเด็กคุณอาจมีจุดมุ่งหมายเล็กๆ เพียงหนึ่งอย่าง แต่พอโตขึ้นก็ค่อยๆ พบข้อจำกัดทางด้านเวลาและทรัพยากรจึงต้องปรับเปลี่ยนจุดมุ่งหมายนั้นไป
ช่วงวัยรุ่นอาจฝันว่าจะเที่ยวให้ครบทั้ง 7 ทวีป แต่เมื่อเติบโตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น คุณกลับเห็นว่ามีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าตัวเอง เริ่มเผชิญปัญหาสุขภาพ กำลังวังชาเรียกกลับมาไม่ได้เหมือนเก่า ห่วงอนาคตของลูกหลาน จากความฝันที่อยากเที่ยวรอบโลก อาจเหลือแค่เที่ยวเกาะเกร็ดสักรอบก็พอ หรืออาจเลือกไม่ไปไหนเลยเพื่อสานสัมพันธ์กับครอบครัว บางคนอุทิศช่วงเวลาสุดท้ายให้กับสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน เพราะเขารู้ตัวว่ากำลังเหลือเวลาอยู่อีกไม่นาน
พอลงเอยเช่นนี้ หลายคนรู้สึก ‘ฝันสลาย’ สูญเสียแรงผลักดันในการมีชีวิต แย่กับตัวเอง วัยรุ่นหรือลูกหลานอาจรู้สึกเบื่อหน่ายที่พวกผู้ใหญ่ทั้งหลายละทิ้งความฝันไปเสียแล้ว แถมยังไม่เข้าอกเข้าใจอะไรพวกเขาเลย
อย่างไรก็ตาม ไม่มีความผิดใดๆในการใช้ชีวิตภายใต้เงื่อนไขของเวลา แต่การจะใช้ให้คุ้มค่าคือการลับคมทักษะชีวิตให้สอดคล้องกับเวลาที่เหลืออยู่ เพราะการประเมินว่าอยู่ได้ไม่นานทำให้รู้ว่าเวลามีค่า ดังนั้นการบริหารจัดการสุขภาพและจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทฤษฏี Socioemotional Selectivity Theory ไม่ได้เกิดปุบปับกับใครคนหนึ่งแบบทันทีทันใด ไม่ได้เกิดกับคนแก่อย่างเดียวตามที่ทุกคนเข้าใจ แต่จะเกิด ณ ช่วงขณะหนึ่งของชีวิตเมื่อมีปัจจัยเร่งเร้า เช่น ช่วงใกล้จะเรียนจบคุณอาจมุ่งมั่นทำธีสิสให้เสร็จเคียงคู่กับรักษาความสัมพันธ์กับแฟนไปพร้อมๆ กัน เมื่อเรียนจบทั้งคู่จะยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ได้ มากกว่าเลือกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้สนิทสนมมากนัก ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็ต้องไปหาทิศทางของตัวเองอยู่ดี
หรืออีกกรณีมักเกิดขึ้นกับคนที่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคร้ายแรง มีชีวิตอีกไม่นาน Socioemotional Selectivity Theory จึงเกิดขึ้นไม่ใช่ภายใต้กรอบของอายุหรือวัย แต่เป็นการระลึกได้ว่า ‘คุณเหลือเวลาอีกเท่าไหร่’ การคิดคำนวณเวลาที่เหลือ และความเป็นไปได้ในอนาคตจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ใช้ตัดสินใจ
ลองนึกเล่นๆ ว่า หากคุณมีเวลาชีวิตเหลืออยู่อีก 1 สัปดาห์ และคุณต้องใช้เวลาร่วมกับคน 5 คน คุณจะเลือกอยู่ใกล้ชิดกับใครบ้าง แล้วทำอย่างไรถึงจะนัดเจอได้ครบทุกคน?
เวลาไม่ได้เป็นของใคร มันอาจจะไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง แต่ประสบการณ์ของมนุษย์นั้นเข้ามาจับคอนเซ็ปต์ของเวลาจากการศึกษาอิทธิพลของธรรมชาติ สิ้นปี เข้าฤดูกาลใหม่ วันคล้ายวันเกิด สถานภาพทางการเงินที่ไหลไปตามไตรมาส หรือเส้นตายของงานที่ต้องส่ง อย่างไรก็ตามการรับรู้ถึงเวลาที่ใกล้หมด ทำให้คุณไม่สามารถสนใจได้ทุกสิ่งอย่าง
หากพรุ่งนี้คุณรู้ตัวว่ามีเวลาชีวิตเหลืออีก 5 ปี การรู้กับไม่รู้ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้ชีวิตของคุณเช่นไร เมื่อฉุกคิดแล้วไอเดียอะไรที่สว่างวาบขึ้นมาอย่างแรกที่สุด จดมันไว้ ความคิดชั่วแล่นมีผลต่อการใช้ชีวิตอันจำกัด นี่คือสิ่งที่คุณเริ่มประเมินแล้วอย่างง่ายๆ จาก Socioemotional Selectivity Theory
หรือถ้าหากไม่ฮาร์ดคอร์ขนาดนั้น ลองเลือกว่ามี 2-3 สิ่งที่ต้องทำให้เสร็จก่อนสิ้นปี อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้มันไม่สำเร็จบ้าง ลดปัจจัยรบกวนต่างๆ ลงในระหว่างวัน คนส่วนใหญ่ทำงานเต็มเวลา อาจมีเวลาว่างแค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน รวมๆ แล้วแค่เพียง 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เราจะใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนิดนี้อย่างไร อาจให้เวลากับงานอดิเรก พักผ่อนบ้าง หรือพบปะกับคนที่คุณพร้อมจะมอบเวลาอันมีค่าให้
เวลาที่มากไม่ได้เป็นเครื่องการันตีความสุข แต่การรู้ว่าเวลามีอยู่เพียงน้อยนิด ทำให้เราหาความสุขที่คุ้มค่ากว่าในขณะยังมีลมหายใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Carstensen, L.L. (2006). The influence of a sense of time on human development. Science, 312,
Carstensen, L. L., Isaacowitz, D., & Charles, S. T. (1999). Taking time seriously: A theory of socioemotional selectivity. American Psychologist, 54, 165-181.