คิดถึงอดีตกันรึเปล่า โลกมันแย่ลงเรื่อยๆ ทุกวันใช่ไหม ว่ากันตามสถิติแล้วอาจไม่ใช่เสียทั้งหมด
นักสร้างโฆษณาและนักการตลาดรู้ดีว่ามนุษย์จะโหยหาอดีตอยู่เสมอไม่ว่าอายุเท่าไหร่ นโยบายพาชาติกลับไปอดีตที่รุ่งเรืองขายดีเสมอ เพราะอดีตมักถูกทำให้สวยงามกว่าความเป็นจริง กระทู้นอสตัลเจียหวนอดีตระลึกความหลังสมัยเรายังเป็นวัยรุ่นหรือย้อนไปไกลกว่านั้นกลับมาฮิตอยู่เรื่อยๆ มโนว่าฉันเกิดในยุคนั้นยุคนี้ก็คงดี
เราแข่งกันขุดหาความทรงจำที่ลํ้าค่า ขนมนั้นที่เราชอบกิน เพลงเก่าที่เราชอบฟัง รูปเก่าที่เราคิดถึง หนังเรื่องนั้นที่เราเคยชอบดู ยุคนั้นแสนสวยงาม มนุษย์หลงรักอดีต ขุดหาของลึก ตามหาของแรร์
คนที่เกิดมาก่อนเราเขาชอบบ่นว่าสมัยก่อนนี้ดีกว่ามาก ทำไมสมัยนี้มันช่างอย่างนู้นอย่างนี้ไม่มีอะไรดีเสียเลย
กับดักของอดีต
‘นอสตัลเจีย (Nostalgia)’ เคยเป็นโรคทางจิตในศตวรรษที่ 19 มาจากรากภาษากรีก แปลว่าความเจ็บปวดจากการคิดถึงบ้าน เคยถูกระบุในมรณบัตรว่าเป็นสาเหตุการตาย ถูกเข้าใจผิดอยู่หลายปี จนเวลาผ่านไปจึงค่อยพบว่าอาการนอสตัลเจียนี้เป็นเรื่องปกติของโลกนี้ และมีผลดีกับจิตใจด้วยซํ้า
คำว่านอสตัลเจียค่อยๆ หมายถึงการย้อนวัยหวนอดีตที่แสนหอมหวานอบอุ่น ผลวิจัยพบว่าการคิดถึงอดีตสร้างความอบอุ่นขึ้นในร่างกายจริงๆ ช่วยให้ร่างกายทนทานขึ้นในห้องอุณหภูมิเย็น นอสตัลเจียช่วยปกป้องสุขภาพจิตใจ เรามีแนวโน้มจะจำแต่เรื่องดีๆ ในอดีต ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ในสังคม
แต่นอสตัลเจียก็มีผลให้ไม่ยอมลองความเป็นไปได้และประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะกลัวอดีตที่สวยงามจะหายไป
กับดักนอสตัลเจียคือ เมื่อคนรู้สึกว่าอดีตกำลังถูกคุกคาม พวกเขาพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งรักษามันไว้ ยอมแลกกับผลประโยชน์ในระยะยาว แลกกับการเติบโตเพื่อความคุ้นเคยและความรู้สึกปลอดภัย
มีคำเรียกเล่นๆ ไว้แซววัยรุ่นที่ย้อนรำลึกอดีตไม่จริงเป็นว่า ‘Protonostalgia’ หรือ ‘Psuedo Nostalgia’ คือเมื่อวัยรุ่นคนหนุ่มสาวมโนฝันถึงอดีตที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเอง บางครั้งฝันเลยไปถึงโลกในยุคที่ยังไม่เกิด มโนไปสมัยต่างๆ อดีตถูกบันทึกผ่านภาพถ่ายในนิตยสาร ภาพวาด ผ่านเรื่องเล่า บทละครที่ถูกทำให้ยุคต่างๆ สวยงามเกินจริง มองดูภาพถ่ายยุคเก่า 60s 70s 80s 90s ช่างสวยงาม อารมณ์และ stereotype ที่ถูกทำให้ง่าย ขายดีกว่าความจริงที่ยุ่งยากซับซ้อนเสมอ
อดีตไม่สวยเสมอไป
เราเริ่มศตวรรษนี้พร้อมกับความรุนแรง มีเหตุการณ์ 911 สะเทือนทั้งโลก การก่อการร้ายมากมาย สงคราม การสังหารหมู่ พาดหัวข่าวมีแต่คดีสะเทือนขวัญ ฆ่ากันตายแสนง่ายดาย มีผู้นำโลกที่ยังไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน เหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าโลกนี้มันช่างไม่น่าอยู่ ไม่ปลอดภัย หากถามว่าอยากย้อนเวลากลับไปในอดีตไหม? เชื่อเถอะว่าให้กลับไปจริงๆคงไม่อยาก
Steven Pinker ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาจาก Harvard University เขียนหนังสือเรื่อง Better Angel of Our Nature บิล เกตส์ยกให้หนึ่งในหนังสือที่อยากให้ทุกคนอ่านหลังเรียนจบ พยายามอธิบาย เล่าสถิติว่าในทั่วโลกนี้มีแนวโน้มจะสงบลงเรื่อยๆ ปลอดภัยและไร้สงครามขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มจะเป็นประชาธิปไตยขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก (ยกเว้นบางประเทศแถวๆ นี้) แม้พาดหัวข่าวจะดูไม่เป็นเช่นนั้น
หนังสือเปิดด้วยคำพูดของ L.P. Hartley ว่า “อดีตเป็นประเทศต่างด้าว ที่นั่น พวกเขาทำทุกสิ่งต่างไปจากเรา (ในวันนี้)” (The past is a foreign country, they do things differently there.)
ย้อนไปในศตวรรษที่ 16 กิจกรรมเพื่อความบันเทิงในปารีสคือการเผาแมว เหล่าบรรดาราชาและราชินีผู้มีศักดิ์ หัวเราะรื่นเริงหรรษาเมื่อสัตว์ไร้เดียงสาค่อยๆ ถูกเผาไหม้จนกลายเป็นถ่าน การทารุณเคยเป็นแหล่งบันเทิงยอดฮิต รวมถึงการล่าแม่มดปลิดชีวิตคนไปเป็นจำนวนหลักแสน อย่าให้เล่าถึงการประหาร เครื่องมือทรมานแบบต่างๆ ความรุนแรงที่ถูกชื่นชมยกย่องว่าเป็นความเด็ดขาด กล้าหาญ การข่มขืนหมู่เคยถูกใช้เป็นกลยุทธ์ทางสงคราม แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หายไปหมดจดจากโลก แต่ต้องทำลับๆ ซ่อนๆ มากขึ้น เพราะสังคมเราไม่ยอมรับความรุนแรงได้เหมือนเมื่อก่อน
กระทั่งยุค 60s 70s 80s ยอดนิยม ที่เราคิดถึงบ่อยเป็นพิเศษ ในอีกมุมของยุคนั้นมีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น 25-30 จุดทั่วโลก แม้ยุคนี้จะยังมีอยู่แต่ก็ลดลงมาก คร่าชีวิตคนน้อยกว่าสงครามศาสนา การล่าแม่มด และการฆ่ากันระหว่างเผ่าในยุคล่าสัตว์มากนัก
อย่ามองโลกจาก Headline
หลายคนอาจจะแย้งว่าไม่จริงอะ โลกสวยเหรอ อ่านข่าวมั่งมะ มีคดีฆ่าหั่นศพ ฆ่าข่มขืนทารุณ สังคมมันโหดร้ายมากนะ แต่ศ.พิงเกอร์เตือนใจว่า “เราไม่ควรจะวัดแนวโน้มของโลกจากการพาดหัวข่าว (headline) แต่ควรดูจากข้อมูลสถิติมากกว่า” การพาดหัวข่าวนั้นเพียงเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน เรารับรู้สัดส่วนจริงผิดเพี้ยนไป
เพราะต่อให้อาชญากรรมจะน้อยลงแค่ไหน ก็มีจำนวนมากพอที่จะบรรจุลงหน้าหนึ่งได้เสมอ
ผู้ทำข่าวย่อมต้องเลือกเรื่องที่พีคสุด ตื่นเต้นที่สุด ดึงความสนใจของเราได้มากที่สุด สำนักข่าวพยายามหยิบเรื่องที่ปัง ดึงดูด สร้างคลิกเบตที่น่าสนใจมาทำข่าว เพราะเขาอยู่รอดได้ด้วยจำนวนคนที่สนใจ ข่าวเกี่ยวกับความตาย อุบัติเหตุร้าย โศกนาฏกรรม หรือความรุนแรงในสังคมย่อมขายได้ เพราะทำให้คนตื่นตระหนก ระแวดระวัง และสนใจมากกว่าข่าวทั่วๆ ไป
สงครามค่อยๆ หายไปจากหลายๆ ที่ทั่วโลก แต่คงไม่มีใครลงข่าวว่า เฮ่ ปีนี้ประเทศนี้ไม่มีสงครามกลางเมืองแล้วนะ ปีนี้ไม่มีเหตุนองเลือดที่นี่แล้ว โรงเรียนนี้ไม่มีเด็กยิงกันตายนะ เพราะว่ามันไม่น่าตื่นเต้นไงล่ะ
ในทางสถิติ โลกนี้ดีขึ้นในหลายทาง
หากเราเกิดในยุคหิน เราจะมีอายุขัยเฉลี่ยเหลือเพียง 33 ปีเท่านั้น เด็กส่วนมากเกิดมามีโอกาสตายก่อนเข้าวัยรุ่น นอกจากนี้มนุษย์ยังฆ่ากันเองด้วยเครื่องมือต่างๆ เพื่อแย่งทรัพยากรอาหาร ในปี พ.ศ.2505 คนไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 57 ปี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 71 ปี ซึ่งน้อยกว่าคนเวียดนาม หากเราไม่ส่องดูข้อมูลก็จะไม่รู้เลย
Hans Rosling นักสถิติ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Gap Minder ออกมาพูดถึงแนวโน้มของสาธารณสุขทั่วโลกที่ดีขึ้น แต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโลกเยอะมาก แม้จะเป็นนักเรียนแพทย์ในสวีเดนก็เข้าใจโลกผิดไปในทางด้านความเป็นอยู่ โลกได้เปลี่ยนไปมากจากที่เขารับรู้และพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เวียดนามหลังสงครามเย็นในปี 2003 มีอายุขัยเฉลี่ยและขนาดครอบครัวเท่ากับอเมริกาในปี 1976 แล้ว หากเราไม่มองดูข้อมูล เราจะประเมินการเปลี่ยนแปลงในเอเชียและแอฟริกาตํ่าเกินไป
นอกจากนี้ อัตราการตายของเด็กยังลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปีละ 4% ในช่วงระหว่างปี 1990-2015 และด้วยการแพทย์ที่ดีขึ้น อายุของขัยคนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการจัดการกับโรคติดต่อได้ดีขึ้น เราสามารถแยกเซ็กซ์กับการมีลูกออกจากกันได้อย่างหมดห่วง การคุมกำเนิดที่ดีขึ้นทำให้การวางแผนครอบครัวดีขึ้น ก่อนหน้านี้มันอาจเคยเป็นเรื่องแปลกที่ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ แต่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน
แต่เท่านี้ยังไม่พอ เราต้องไปต่อ
‘วัณโรค (Tuberculosis)’ เคยเป็นโรคแห่งยุคโรแมนติก เรียกว่า White Death เพราะทำให้ตัวขาวซีด ผอมผ่าย คร่าชีวิตกวีและศิลปินแสนโศก มันปรากฏในบทกวี ภาพวาด และบทละคร เป็นโรคของคนหนุ่มสาวที่มีฐานะ คนฉลาดมีความสามารถ ศิลปินวาดภาพหญิงสาวสวยกำลังตายด้วยวัณโรคด้วยความหลงใหล ความตายก่อนวัยอันควรถูกทำให้ดูงดงาม นอกจากวัณโรคแล้ว ในยุคเรเนอซองยังมี ‘โรคซิฟิลิส (Syphilis)’ ที่ถูกมองว่าเป็นโรคแห่งความรักที่น่าอิจฉา เพราะมีโอกาสได้ร่วมรักสำส่อน
โชคดีที่มันไม่โรแมนติกอีกแล้วที่จะตายก่อนวัยอันควรด้วยโรคที่การแพทย์ปัจจุบันรักษาให้หายได้ กระทั่งโรคติดต่อร้ายแรงอย่างอีโบล่า เมื่อควบคุมได้และค่อยๆ หายไปจากหน้าข่าวก็ไม่ได้ถูกสนใจเท่าตอนที่มันระบาดรุนแรงตอนแรก
เมื่อข้อมูลสถิติของมวลชนถูกเก็บไว้ในคลังมุมอับลึกลับ ไม่ถูกนำมาใช้เท่าที่ควร นักเรียนและคนหนุ่มสาวยังประเมินมองโลกเป็นเวอร์ชั่นเดียวกับปีที่อาจารย์ของพวกเขาเกิด ทั้งที่โลกได้ขยับปรับเปลี่ยนไปมากแล้ว น่าเสียดายหากเราจะมองประเมินความก้าวหน้าของมนุษยชาติหลายๆ ด้านตํ่าไป
ถึงเวลาของ Realistic Optimism
หมดเวลาถกเถียงว่าเราควรจะมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย เราควรจะมองโลกตาม ‘ความเป็นจริง’ ซึ่งไม่ใช่ความจริงแท้เชิงปรัชญา แต่คือ ‘ความจริงที่อยู่บน Fact’ ที่ตรวจหาได้ง่ายขึ้นกว่ายุคสมัยไหนๆ ที่ผ่านมา ถกเถียงกันบนข้อมูลไม่ใช่เพียงความเห็นลมๆ ลอยๆ และข้อมูลควรถูกเข้าถึงได้ง่ายไม่หลับใหลอยู่ในหลืบ
รอสลิงยังบอกว่าเราควรจะเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนการแสดงความเห็นจากการคิดทึกทักมโนเอาเองมาเป็นการส่องดูความจริงผ่านสถิติมากขึ้น อยากให้ทุกคนมี ‘ความคิดเห็นที่มีพื้นฐานจากความจริง (Fact Base Opinion)’ เปลี่ยนนิสัยชอบมโนเป็น ‘การส่องดูข้อมูล (Dataset)’
เราศึกษาอดีตเพราะเป็นชุดข้อมูลที่สำคัญ เพราะเราต้องสร้างอนาคต กำหนดปัจจุบัน
จากการส่องดูความผิดพลาด ความสำเร็จ การเกิดมา และการดับไปของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจในกลไกของสังคม เราต่างยืนอยู่บนซากปรักหักพังและความสำเร็จของคนยุคก่อนเรา หากมีการเก็บสถิติที่เป็นระบบและเชื่อถือได้ เก็บความจริงและหลักฐาน เราก็ย่อมจะได้เห็นประเทศเราในเวอร์ชันที่ไม่โรแมนติกมากขึ้น
โลกวันนี้ไม่ได้สวยหมดจด อดีตก็ไม่สวยสักเท่าไหร่ การมองโลกแบบมีความหวังจะพัฒนาต่อไปไม่ใช่เพราะเราโง่หรือไร้เดียงสา แต่เพราะเราพบว่ามันจะดีขึ้นได้ในภาพรวมจากสถิติ
อย่าเอาเวลาไปรำลึกถึงอดีตจนติดค้างกับเมื่อวาน ตกหลุมพรางของอดีตที่กรองเก็บไว้แต่เรื่องดีๆ
อย่าติดกับวันที่ดีเก่าๆ เพราะเราต้องไปต่อ
เราไม่ได้อยู่ในโลกที่สมบูรณ์แบบ ประเทศของเราไม่ได้ดีที่สุดในโลก (อย่างน้อยก็ในทางสถิติ) หากเป็นซอฟต์แวร์ก็ยังมีบั๊กที่ต้องแก้ไขอีกเยอะมาก ไม่ได้อัพเกรดเป็น 4.0 กันได้ง่ายๆ เพียงคำพูด ต้องแก้ปัญหากันไปทีละจุด เราไม่สามารถดาวน์โหลดวิธีการของประเทศอื่นๆ มาใช้กับสังคมเราได้อย่างง่ายดาย อย่าโกรธรุ่นพ่อแม่และบรรพบุรุษว่าทำได้ดีแค่นี้เหรอ เพราะพวกเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนสมัยก่อนมาก และอย่าหมดหวังว่าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ เพราะพวกเราเดินมาไกลกว่าที่คิด แม้จะถอยหลังกลับไปบ้างก็ตาม
ไม่ได้หมายความว่าให้เราอยู่เฉยๆ มองดู ปล่อยโลกให้ดีขึ้นเองได้แหละ ไม่ต้องทำไรแล้ว แต่หมายความว่าสิ่งที่พวกเราได้ลงแรงกันไปไม่ได้ไร้ความหมาย หมดความหวังเสียทั้งหมด หลายๆ สิ่งซึ่งดูล้าหลังและไร้ความยุติธรรมที่ยังไม่หมดไป ต่อให้มีน้อยก็มีความหมายและควรพูดถึง แม้ลดลงแต่ถ้ายังเหลือก็ควรกำจัดให้หมดไป อยากจะเชื่อว่าอนาคตจะดีกว่าที่เป็นอยู่นี้อีก
แน่นอนว่าเราคงไม่ได้เกิดมาเพียงเป็นเครื่องจักรกลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเจริญให้ชาติแล้วตายจากกันไป
รอสลิงเตือนใจว่า “เราไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อเพิ่มค่า GDP ต่อหัว” เราไม่มีทางเข้าใจโลก ประเทศ และยุคไหนได้โดยไม่ดูตัวเลขและสถิติ ตัวเลขเป็นเรื่องน่าเบื่อ ชีวิตคนเบื้องหลังสถิติที่เปลี่ยนแปลงนั่นสิที่น่าสนใจ
หากสมัยของเรามีแต่วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวที่โหยหาอดีต ไม่อัพเดตปัจจุบันให้ตรงกับที่เป็น และมีผู้ใหญ่ที่ไม่มั่นใจในอนาคต อยากจะพาเราย้อนกลับไปในวันวานอยู่เรื่อยๆ แล้วในยุคเราจะมีอะไรให้จดจำและหวนหันกลับมามอง อย่าหลงเชื่อใครที่สัญญาว่าจะพาเรากลับไปอดีตอันสวยงาม (Glorious Past) ที่ดีกว่า เพราะสุดท้ายมันอาจไม่ดีจริงอย่างคำร่ำลือ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Study: Nostalgia Makes Us Warm, and Cold Makes Us Nostalgic
The Argument Against Nostalgia: Let’s Push Things Forward
What Are You Optimistic About?
The Better Angels of Our Nature: Why Violence Has Declined
Hans Rosling: Let My Dataset Change Your Mindset
How not to be ignorant about the world | Hans and Ola Rosling
The Romantic Images of Tuberculosis: A Cultural History of a Disease