ถ้าพูดถึง ‘มลพิษ’ คุณจะนึกถึงอะไรบ้าง ..ขยะ น้ำเสีย ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควันดำ สารเคมี สารโลหะหนัก ?
แต่ที่ซอยสุขุมวิท 55 หรือซอยทองหล่อ ย่ายธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร มีครอบครัวหนึ่งร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐว่า พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก ‘แสง’
ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ขนาด 10 คูหา ต้นซอยทองหล่อ ฝั่งถนนสุขุมวิท ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2564 เกิดความเปลี่ยนแปลงกับป้ายโฆษณาสินค้าขนาดใหญ่ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่อยู่อาศัยของพวกเขา มีผ้าดำขนาดใหญ่ปกคลุมป้ายโฆษณาเดิมที่เป็นป้ายภาพนิ่ง จนมาถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 ป้ายนี้ก็เปลี่ยนไป
จากป้ายโฆษณาที่เป็นภาพนิ่ง ใช้แสงจากโคมไฟส่องลงไปที่ป้ายเพื่อให้เห็นข้อความที่ต้องการโฆษณา ถูกแปรเปลี่ยนเป็นป้ายโฆษณาแบบ LED (Light – Emitting Diode) ขนาดยักษ์ มีความกว้าง 8 เมตร ยาว 32 เมตร คิดเป็นพื้นที่ 256 ตารางเมตร และเปลี่ยนจากการส่องแสงเข้าไปที่ป้าย เป็นการส่องแสงจ้าหลากสีสันออกมาจากป้าย วันละ 18 ชั่วโมง ตั้งแต่ 06.00 น. ไปจนถึง 24.00 น. ของทุกวัน
เราต่างก็รู้กันดีว่า ‘ซอยทองหล่อ’ คือแหล่งธุรกิจหรูในกลางเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นที่พักของทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ มีร้านอาหารหรู ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิงมากมายตั้งอยู่ที่นี่ และยังเป็นซอยเชื่อมเส้นทางระหว่างถนนสุขุมวิทกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ที่ตั้งของซอยทองหล่อจึงมีการจราจรคับคั่ง มีรถยนต์ผ่านมากมายในแต่ละวัน และผู้ที่เข้า-ออกซอยทองหล่อ ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ต้องการแนะนำตัวเองให้ลูกค้าได้เห็น
จุดนี้ จึงเป็นทำเลทองที่เหมาะกับการติดตั้งป้ายโฆษณา LED เพราะผู้ที่ทำธุรกิจให้บริการพื้นที่โฆษณาสามารถใช้จุดแข็งของซอยทองหล่อ จูงใจให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ซื้อพื้นที่เพื่อลงโฆษณาได้ง่าย
ที่สำคัญ ป้ายนี้ยังเป็นป้ายที่มีจุดทแยงมุม สามารถทำให้เห็นการโฆษณาได้ชัดเจน คล้ายเป็น 3D ได้อีกด้วย
แต่ปัญหาคือ ซอยทองหล่อยังเป็นที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก เมื่อป้ายถูกติดตั้งโดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของป้ายส่องแสงไปยังที่อยู่อาศัยฝั่งตรงข้าม ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบ ต้องทนอยู่กับแสงวิบวับที่เปลี่ยนไปมาวันละ 18 ชั่วโมง จนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ทำไม่ได้..แม้แต่การ ‘นอนหลับ’
อาคารพาณิชย์ขนาด 10 คูหาที่ได้รับผลกระทบ เป็นที่อยู่อาศัยมากว่า 30 ปี ของครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกมากกว่า 10 ชีวิต รวมถึงคนชราวัย 87 และ 89 ปี
หากเราไปยืนที่ใต้ป้ายโฆษณา LED ยักษ์ แล้วมองขึ้นไปที่ระเบียงของอาคารพาณิชย์หลังนั้น เราจะเห็นคล้ายเป็นอาคารที่ถูกปิดทึบ มองไม่เห็นระเบียง..ทั้งที่ทุกชั้นมีระเบียงยื่นออกมา
นั่นเป็นเพราะระเบียงทุกชั้นของอาคารที่อยู่ตรงข้ามกับป้ายโฆษณา LED ถูกขึงด้วยผ้าใบที่ใช้สำหรับคลุมอาคารก่อสร้าง
มีเหตุผลอะไร ที่เจ้าของบ้านหลังหนึ่ง จะต้องไปหาผ้าใบมาขึงที่หน้าบ้านตัวเอง ปิดบังระเบียงทุกชั้น บังวิว บังแสง บังลม ยอมให้บ้านมืด ยอมให้ร้อน
แต่เขาต้องทำเช่นนั้น เพราะถูกคุกคาม ถูกรุกล้ำด้วยสิ่งแปลกปลอม จากสิ่งประดิษฐ์ที่ผุดขึ้นมาอยู่ตรงข้ามบ้าน
เมื่อเข้าไปสำรวจภายในบ้าน จะพบว่า อาคารทั้งหลังต้องเปิดแอร์ทั้งวัน เพราะการถูกปกคลุมด้วยผ้าใบทำให้ลมไม่สามารถพัดเข้ามาได้ ในบ้านยังต้องเปิดไฟเกือบทั้งวันเพราะผ้าใบปิดกั้นแสงสว่างจากธรรมชาติจนหมดสิ้น
ชั้นที่เป็นห้องนอนต้องนำผ้าใบหนามาขึงกั้นเป็นชั้นที่ 2 เพราะการขึงเพียงชั้นเดียวยังไม่สามารถป้องกันแสงได้ การใช้ชีวิตในห้องนอนของตัวเอง จึงถูกปิดกั้นแสงสว่างและลมราวกับอยู่ในสถานกักกัน พื้นที่ที่เคยเป็นห้องทำงานก็ใช้งานไม่ได้ สมาชิกในบ้านที่เป็นแพทย์ต้องไปหาทำที่นั่งทำงานใหม่อยู่บนพื้นห้อง หลบมุมจากแสงวิบวัย เพื่อให้สามารถทำงานได้
พวกเขามีความผิดอะไร? จึงต้องมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองเช่นนี้เป็นเวลานานกว่า 5 เดือน ทำไมพวกเขาต้องยอมนำผ้าใบหนาๆ มาปิดบังหน้าระเบียงบ้านของตัวเอง
“แม่เราอายุ 80 กว่า ตกใจที่เห็นแสงแวบขึ้นมาจนตกบันได จากนั้นทั้งพ่อและแม่ก็ปวดหัวเพราะนอนไม่ได้ ตั้งแต่ป้ายเปิดใช้งานใหม่ๆ ประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 เราก็ไปร้องเรียนที่สำนักงานเขตวัฒนามาแล้ว หลังจากเขาตรวจสอบ ก็บอกเราว่า ป้ายถูกติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำผิดกฎหมาย และยังบอกว่าเราเป็นผู้เดือดร้อน เป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่ผ่านไปหลายเดือน ทางสำนักงานเขตวัฒนาก็ไม่เห็นแก้ปัญหาอะไร มีแต่ประสานให้เจ้าของป้ายมาเจรจา มาติดผ้าใบกันแสงให้
“กลายเป็นว่าเราต้องอยู่ในบ้านมืดๆ ร้อนๆ ทั้งที่เราเคยนั่งรับลม เคยทำกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัวที่ระเบียง ที่ดาดฟ้า กันได้อย่างสนุกสนาน มีช่วงหนึ่ง เขามาบอกว่าจะติดตั้งแผงกั้นแสงให้ ทำแบบมาให้เราเลือก พอเราเสนอกลับไปว่าต้องเป็นวัสดุที่ดีกว่านี้ เขาก็บอกว่าเกินงบประมาณของเขา ทำให้ไม่ได้”
“แล้วทำไมเราจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ใต้ผ้าใบพวกนี้ด้วย ทำไมเราถึงต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ทั้งที่เราเป็นผู้เสียหาย ถ้าแผงป้ายไฟโฆษณา LED เป็นต้นเหตุที่สร้างความเดือดร้อนให้เรา เจ้าหน้าที่รัฐก็ควรไปจัดการที่ป้าย ถ้าจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบกับเราไม่ได้ก็ต้องรื้อถอนออกไป ไม่ใช่เราที่ต้องมาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของเราเอง เราก็เลยยืนยันจุดยืนไม่ต้องการการเยียวยา ไม่ต้องการเงิน เรามีจุดยืนเดียวคือ ต้องรื้อถอนป้ายออกไปเท่านั้น” เจี๊ยบ (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวนี้ เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งหมด
ภายหลังการร้องเรียน มีเอกสารราชการจากสำนักงานเขตวัฒนาถูกส่งมาให้ครอบครัวผู้เดือดร้อนหลายครั้งหลัง
โดยเป็นเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ
ฉบับแรก ยืนยันว่า ป้ายโฆษณา LED ป้ายนี้ ติดตั้งโดยการดัดแปลงโครงอาคารเหล็กโดยไม่ได้รับอนุญาต ผิดกฎหมายควบคุมอาคาร ส่วนฉบับที่สอง ยืนยันผลการตรวจสอบด้วยว่า แสงจากป้ายเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตปกติของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
จนวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 สำนักงานเขตวัฒนา มีเอกสารส่งถึงเจ้าของป้ายโฆษณา LED ให้ดำเนินการแก้ไขเหตุ เดือดร้อนรำคาญให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จนเรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อหลายสำนักช่วงปลายปี พ.ศ.2564 ที่พ้นกำหนดเส้นตายในการแก้ไขปัญหาไปนาน ป้ายโฆษณา LED ก็ยังคงเปิดใช้งานได้ตามปกติ โดยเจ้าของบ้านยืนยันว่า ระหว่างนั้น แทบไม่ได้รับการติดต่อประสานใดๆ จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเลย มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหลังความเดือดร้อนถูกเสนอผ่านสื่อมวลชน คือป้ายเปลี่ยนเวลาปิดจาก 24.00 น. มาเป็น 22.00 น. แล้วก็ปรับมาเป็น 20.00 น. ในเวลาต่อมา และช่วงที่มีสื่อมวลชนมาทำข่าวบ่อยๆ ก็มีบางเวลาที่ลดความสว่างของแสงลง
ช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2564 การตอบโต้จึงเกิดขึ้น !
ป้ายไวนิลขนาดใหญ่เป็นภาพคนสวมหน้ากากอามัยคาดที่ดวงตาถูกติดตั้งขึ้นเพื่อประจันหน้ากับแสงจากป้ายโฆษณา LED ยังมีภาพสุนัขในบ้านที่ถูกแสงส่องกลายเป็นสีม่วงขึ้นควบคู่กัน พร้อมป้ายผ้าขนาดใหญ่ เขียนข้อความว่า “แสงจาก LED บริษัทยักษ์ใหญ่ติดตั้งผิดกฎหมาย ทำให้พวกเรานอนไม่ได้ ปวดหัว ไม่ยอมรื้อถอน” กลายเป็นภาพที่ถูกนำเสนอภาพสื่อ และถูกแชร์ออกไปในโลกออนไลน์จำนวนมาก พร้อมตั้งคำถามเดียวกันว่า ทำไมจึงปล่อยให้ป้ายโฆษณา LED ส่องแสงรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนอยู่ได้มาตั้งนาน
“เราทำให้บ้านหลังนี้สวมหน้ากาก ราวกับคนที่ต้องใส่หน้ากากป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เพียงแต่สิ่งที่อาคารหลังนี้ต้องป้องกันไม่ใช่ภัยจากไวรัส แต่เป็นภัยจาก ‘แสงวิบวับ’ เราต้องการสื่อสารให้ชัดเจนว่า คนในบ้านกว่า 10 ชีวิต ต้องได้รับผลกระทบ ถูกละเมิดสิทธิ แค่เราจะใช้ชีวิตปกติ เราก็ยังไม่ได้ได้รับสิทธินั้น และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ได้มาปกป้องประชาชน เราจึงต้องปกป้องตัวเอง” เจี๊ยบบอกถึงเหตุผลที่ต้องขึ้นป้ายดังกล่าว
‘บ้านที่ต้องสวมหน้ากาก สู้กับมลพิษทางแสง’ โด่งดังภายในวันเดียว
ผ่านไปเพียง 1 วัน หลังผู้เดือดร้อนตัดสินใจใช้วิธี ‘ประจาน’ เพื่อตอบโต้ เช้าวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2564 สุชัย พงษ์เพียรชอบ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตวัฒนามาด้วย พร้อมยืนยันว่า ป้ายโฆษณา LED ป้ายนี้ จะต้องรื้อถอนออกไป แต่ทางบริษัทขอเวลาในการดำเนินการหาผู้รับเหมา โดยบริษัทได้ประสานเพื่อจ่ายค่าปรับครั้งแรกไปแล้วเมื่อ 24 ธันวาคม พ.ศ.2564 และจะเปิดฉายโฆษณาไม่ได้อีก หากเปิดจะถือว่าฝ่าฝืน ต้องเสียค่าปรับวันละ 7,000 บาท และหากฝ่าฝืนครบ 3 ครั้ง จะมีความผิดต้องถูกฟ้องทางอาญา จากนั้น เจ้าของป้ายโฆษณา LED ว่าจะรื้อถอนป้ายออกไปภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
แม้ว่าเรื่องราวการต่อสู้ของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเมืองกับมลพิษทางแสงที่มาจากป้ายโฆษณา LED ในกรณีนี้ จะจบลงด้วยชัยชนะของผู้เดือดร้อน (หากป้ายถูกรื้อถอนออกไปจริง) และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในการต่อสู้ของผู้เดือดร้อนในกรณีอื่นๆ ที่อาจตามมาภายหลังด้วย
แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่า ‘ปัญหามลภาวะทางแสง’ กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหม่ของคนเมือง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพมหานครเท่านั้น และน่าสนใจว่า ประเทศไทยมีเครื่องมือทางกฎหมายที่พร้อมมือกับปัญหานี้มากแค่ไหน สามารถสรุปประเด็นปัญหาได้หลายประเด็น
ประเด็นแรก จากเดิมการติดตั้งป้ายโฆษณาเป็นเพียง ‘ป้ายภาพนิ่ง’ และอยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กฎหมายระบุเพียงให้การติดตั้งต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง ปลอดภัย โครงเหล็กรับน้ำหนักป้ายได้ กำหนดระยะห่างจากถนน แต่ไม่มีกฎหมายที่ระบุถึง ‘แสง’ ที่ส่องออกมาจากป้าย ต้องห่างจากที่พักอาศัยในระยะเท่าไหร่ ไม่มีกฎหมายกำหนดความแรงของแสง หรือแม้แต่ความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนที่อาจมีผลต่อการมองเห็นเมื่อได้รับแสงจากป้าย นี่อาจเป็นเรื่องที่ต้องนำไปหารืออย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า มองเห็นปัญหานี้แล้ว และจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานครในเดือนมกราคม พ.ศ.2565 นี้ทันที เพื่อดูว่า ต้องแก้ไขกฎหมายตรงไหนบ้างหรือไม่
ประเด็นที่สอง จะเห็นว่า ผู้เดือดร้อนต้องทนอยู่ในภาวะที่แสงส่องเข้าไปในที่อยู่อาศัยเป็นเวลานาน ไปจนถึงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 ทั้งที่สำนักงานเขตวัฒนามีผลการตรวจสอบมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 แล้วว่า ป้ายโฆษณา LED สร้างความเดือดร้อนรำคาญและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้อยู่อาศัย แต่กลับบอกว่า ไม่มีอำนาจในการสั่งระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ คือ ‘ไม่มีอำนาจในการสั่งให้หยุดฉายโฆษณา’ โดยอ้างว่า หากเจ้าของป้ายยินยอมเสียค่าปรับ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
นั่นทำให้เกิดประเด็นย่อยที่เป็นข้อถกเถียงตามมาอีก เพราะชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความที่ทำคดีสิ่งแวดล้อมมามากมาย มองว่า การระงับ ‘เหตุเดือดร้อนรำคาญ’ เป็นอำนาจเต็มของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยเปรียบเทียบกับปัญหามลพิษอื่นว่า หากพบโรงงานปล่อยน้ำเสียมายังแหล่งน้ำสาธารณะที่ประชาชนใช้ ในระหว่างการสั่งปรับปรุงหรือเปรียบเทียบปรับ เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องสั่งการให้หยุดการปล่อยน้ำเสียก่อน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อเนื่อง
ทนายความรายนี้จึงตั้งคำถามว่า ในกรณีของแสงจากป้ายโฆษณา LED หากยังไม่สามารถแก้ไขความเดือดร้อนได้ ก็ต้องมีคำสั่งให้หยุดการฉายโฆษณาก่อนหรือไม่ ไม่ใช่การเปรียบเทียบปรับรายวัน เพราะผู้เดือดร้อนยังคงได้รับผลกระทบอยู่
ประเด็นต่อมา คือ ‘ค่าปรับ’ ซึ่งกรุงเทพมหานครให้ข้อมูลว่า หากทางเจ้าของป้ายโฆษณา LED ยังยืนยันจะเปิดฉายโฆษณาต่อไป จะต้องเสียค่าปรับวันละ 7,000 บาท แต่เมื่อไปดูรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาของบริษัทแห่งนี้จากเอกสารเรตราคาค่าลงโฆษณาของบริษัทเอง เฉพาะที่ซอยทองหล่อ ได้คำนวณจำนวนรถผ่าน 109,742 คันต่อวัน หรือ 3,292,260 คันต่อเดือน อัตราการมองเห็นป้าย (eyeballs) ประมาณ 219,484 ครั้งต่อวัน หรือ 6,584,520 ครั้งต่อเดือน คิดเป็นเรตราคาค่าลงโฆษณาเดือนละ 100,000 บาทต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชนิด
และเมื่อคำนวณจากเวลาการฉายโฆษณา ก็พบว่า จะลงโฆษณาของผลิตภัณฑ์ได้ 13 ชิ้นต่อวัน ดังนั้นหากเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกันทั้งเดือน 13 ชิ้น หรือ คิดเป็นขั้นต่ำสุดว่ามีผลิตภัณฑ์เดียวกัน ลงฉายโฆษณาทั้งเดือน ป้ายจะมีรายได้อย่างน้อย 1,300,000 บาทต่อเดือน แต่เสียค่าปรับวันละ 7,000 บาท คิดเป็นเพียง 210,000 บาทต่อเดือน
ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นที่จุดใด ก็มีความเป็นไปได้ว่า การยอม ‘เสียค่าปรับให้รัฐ’ จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการยอมจ่ายค่าปรับให้ลูกค้าที่มาซื้อพื้นที่โฆษณา ทั้งที่ประชาชนยังได้รับผลกระทบต่อไป
นี่เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจากกรณีที่เกิดขึ้นที่ซอยทองหล่อเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังมีข้อร้องเรียนที่ซอยร่วมฤดี ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในคอนโดมีเนียม ไม่สามารถขึ้นป้ายประจานได้เหมือนที่ซอยทองหล่อ จึงยังรอการแก้ไข และยังมีเสียงสะท้อนอีกมากมายจากผู้ใช้รถใช้ถนนที่ถูกแสงแยงตาระหว่างขับรถ
‘มลพิษทางแสงจากป้ายโฆษณา LED’ จึงเป็น มลพิษที่ไม่ส่งกลิ่นเหม็น ไม่ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ อาจไม่ชัดเจนเหมือนมลพิษอื่นๆ แต่มันกลับส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตตามปกติของผู้คน รบกวนแม้แต่การพักผ่อน การนอน
นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของชุมชนเมืองในเวลาอันใกล้นี้ และอาจเป็นหนึ่งในประเด็นที่ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องนำเสนอวิสัยทัศน์ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร