ปลาบลูแทงค์ปนเปื้อนสาร ‘ไซยาไนด์’ จากวิธีการจับอันทารุณ
หลายปีก่อนการ์ตูนสุดหรรษาของ Pixar เรื่อง Finding Nemo ออกฉายปี 2003 ทำให้คนทั่วโลกแห่กันไปซื้อ ‘ปลานีโม่’ กันถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ ทุกคนหวังจะได้ครอบครองเอาปลาสุดฮิตมาว่ายเล่นในตู้ปลาที่บ้าน (ปลานีโม แท้จริงคือ ‘ปลาการ์ตูน’ Clownfish) กดดันให้พ่อค้าหัวใส (แต่นิสัยไม่ดี) ต้องจับปลาการ์ตูนจากธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของพวกเราให้ทันกับกระแส แต่งานนี้ขอยกความดีความชอบให้ความก้าวหน้าทางวิทยาการ เพราะปัจจุบันเราสามารถเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนได้เป็นอย่างดี ลดการรบกวนน้องนีโม่ตามธรรมชาติ ทำให้เราพอผ่านวิกฤตได้อย่างถูไถ
แต่เหยื่อรายต่อไปอาจเป็นน้อง ‘ดอรี่ขี้ลืม’ เมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘Finding Dory’ ที่เปิดตัววันแรกที่ 136 ล้านเหรียญฮิตติดลมบนไปเลย อาจทำให้นักเลี้ยงปลาทั่วโลกอยากจะได้ ‘ปลาบลูแทงค์’ (Blue Tang) หรือ ‘ปลาขี้ตังเบ็ดฟ้า’ มาประดับบารมีอีกหรือไม่
แต่คุณรู้ไหมว่า กระบวนการจับปลาบลูแทงก์ในธรรมชาติ สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างเจ็บแสบ จนคุณจินตนาการแทบไม่ออกเลยทีเดียว
ปลาบลูแทงค์เป็นที่นิยมในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม หากินตามแนวปะการัง มันจึงมีความจำเป็นต่อระบบนิเวศทางท้องทะเลตัวสำคัญ จำนวนปลาบลูแทงค์สามารถชี้วัดความสมบูรณ์ของแนวปะการังในแถบนั้นๆ ได้ด้วยซ้ำ
แต่นักวิชาการยืนยันว่า ปลาบลูแทงค์ส่วนใหญ่ (รวมถึง ดอรี่ขี้ลืม) ถูกจับมาจากบ้านเกิดตามธรรมชาติ ด้วยวิธีการอันทารุณ เมื่อมนุษย์ใช้สารไซยาไนด์เพื่อทำให้พวกมันหยุดหายใจ
ในตลาดธุรกิจปลาตู้ของอเมริกา มีปลาจำนวนกว่า 11 ล้านตัว ถูกจับมาจากแนวปะการังมหาสมุทรแถบอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ ญี่ปุ่น ซามัว นิวแคลิโดเนียและเกรตบาร์ริเออร์รีฟ แม้การจับปลาเหล่านี้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องจับด้วยวิธีที่ไม่ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่มนุษย์ก็ยังคงพยายามหาประโยชน์จากธรรมชาติเข้าตัวอยู่ดี เพื่อให้จับปลาได้ครั้งละมากๆ พวกเขาใช้ระเบิดและสารพิษไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นการทุ่นแรง
จับปลาด้วย ‘พิษ’
การตกปลาด้วยไซยาไนด์มีราคาถูกและง่ายดายอย่างที่สุด พ่อค้าจะว่าจ้างชาวประมงให้ดำน้ำไปยังแนวปะการังซึ่งเป็นบ้านอันสงบสุขของปลาบลูแทงค์และปลาสายพันธุ์อื่นๆ พวกเขาจะเอาไซยาไนด์ใส่ขวด แล้วบีบใส่แนวปะการัง ดอกไม้ทะเล หรือไม่ก็ตัวปลาโดยตรง หากอยากได้จำนวนมากๆ ก็จะใช้วิธีปั๊มไซยาไนด์จากเรือลงสู่ทะเลไปเลย
อย่างที่คุณรู้ ‘ไซยาไนด์’ (Cyanide) สามารถฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว เข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง สารพิษจะยับยั้งการหายใจของเซลล์ แต่ชาวประมงสายโปรฯหน่อยจะอยู่เหนือน้ำขณะบีบไซยาไนด์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับสารพิษ (แต่คิดว่าจะรอดเหรอ ถ้าทำมาหากินแบบนี้ทุกวัน)
สำหรับปลาบลูแทงก์แล้ว สารไซยาไนด์จะทำให้พวกมันหยุดหายใจ มีอาการมึนงง และลอยตัวให้โดนจับง่ายๆ แต่ปลาขนาดเล็กจะตายทันที แม้พวกมันจะรอดในช่วงถูกจับ แต่ก็มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะตายระหว่างขนส่ง หรือตายคาตู้เลี้ยงของคุณในอีกไม่กี่เดือน เพราะไซยาไนด์สามารถสะสมในร่างกายสิ่งมีชีวิตได้นาน และมันก็ทำให้ชีวิตของปลาคุณ Fucked Up ได้ทั้งชีวิตเลย
นอกจากมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำแล้ว ไซยาไนด์ยังร้ายกาจต่อแนวปะการัง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว ปลาอื่นๆ ที่หากินในปะการังก็จะได้รับผลกระทบไม่น้อย และเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้เลี้ยงปลาทั่วไปจะสังเกตได้ว่าปลาของพวกเขาปนเปื้อนสารไซยาไนด์ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาในสัตว์น้ำจึงจะทราบจากปริมาณไซยาไนด์ที่ปนเปื้อนในตู้เลี้ยง เมื่อปลาขับถ่ายสารพิษออกมาปะปนกับน้ำ
งานวิจัยจากองค์กรไม่แสวงหากำไร For the Fishes ทดลองว่าปลาตู้ที่วางขายทั่วไปปนเปื้อนสารไซยาไนด์อย่างไร พวกเขาจึงซื้อปลาจำนวน 89 ตัว จากร้านขายปลาสวยงามทั่วอเมริกา และเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำ พบว่าปลาจำนวนกว่าครึ่งปนเปื้อนสารไซยาไนด์ แต่สำหรับปลาที่ได้จากแหล่งเพาะเลี้ยงกลับไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษที่ว่านั้น ความคืบหน้าของงานวิจัยชิ้นนี้กำลังเตรียมสรุปต่อคณะ International Coral Reef Symposium ที่ฮาวาย เพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ในปี 2008 สถาบัน National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA ระบุว่าปลาตู้เกือบ 90% ใช้วิธีการจับที่ผิดกฎหมายรวมถึงการใช้สารไซยาไนด์ด้วย วิธีการแก้ปัญหาที่ดูมีอนาคตคือการพัฒนา ‘ชุดตรวจสอบสารไธโอไซยาเนต (Thiocyanate)’ จากมูลขับถ่ายของปลา ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายในกลุ่มผู้เลี้ยงปลาตู้ทั่วไป นักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานที่มีอำนาจในการจัดการกับปัญหาจับปลาทะเลเถื่อน และชี้ชัดไปยังแหล่งใหญ่ที่ส่งออกปลาผิดกฎหมายได้
“ถ้าผู้บริโภคอยากเลี้ยงปลาจากแนวปะการัง พวกคุณก็ต้องร่วมกันหาทางออกให้กันและกัน” Craig Downs ผู้บริหารอาวุโสจาก Haereticus Environmental Laboratory in Clifford ผู้หยิบยกประเด็นปลาบลูแทงก์กล่าว
หากตอนนี้คุณจะเลี้ยง ‘นีโม่’ ก็ไม่มีใครห้าม แต่ขอให้ละน้อง ‘ดอรี่’ ไว้สักตัวก่อนดีกว่า เพราะหากคุณไม่ชัวร์จริงๆ ว่าปลาเหล่านี้มาจากแหล่งไหน คุณเองก็มีส่วนรับผิดชอบความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในท้องทะเลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ท้ายสุด นอกจากดอรี่จะหาพ่อแม่ไม่เจอ มันอาจจะไม่เจอปลาชนิดใดๆ อีกเลย เพราะแนวปะการังอันสงบสุขเปลี่ยนเป็นสุสานขาวโพลนไปแล้ว เสียใจด้วยนะดอรี่
อ้างอิงข้อมูลจาก
Bridging Science to Policy
Breeding Dory
https://www.hakaimagazine.com/article-long/breeding-dory
For Fish
http://www.forthefishes.org/