“สตรีมักยากที่จะจัดการ หากท่านปล่อยให้พวกเขาอยู่ใกล้ชิดเกินไป สตรีของท่านจะกลายเป็นคนไม่เชื่อฟัง แต่หากท่านเว้นระยะห่างเกินไป สตรีของท่านจะขุ่นเคืองใจ นำความลำบากให้อีก”
ขงจื้อ : คัมภีร์หลุนอวี่ ว่าด้วยการครองเรือน
แม้ขงจื้อจะไม่ได้ประดิษฐ์ความลำเอียงทางเพศ พอๆ กับการเป็นต้นแบบการปกครองปิตาธิปไตย ที่แน่ๆ เขาเองก็ไม่ใช่ ‘ออริจินัล’ เมื่อความเข้มข้นทางอำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่ ล้วนอัดแน่นตั้งแต่มนุษย์บุกเบิกสังคมผ่านอาหารการกิน โดยเฉพาะ ‘เนื้อ’ แหล่งอาหารสำคัญที่อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ ที่ต้องแลกมาด้วยอีกชีวิต จำเป็นต้องใช้พละกำลังเพื่อเข้าถึง ทำให้ความเป็นชายถูกนำเสนอผ่านการบริโภคเนื้อมาแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวอาจหาคำตอบได้จากโครงกระดูกของบรรพบุรุษมนุษย์นี้เอง
แม้จะผ่านกาลเวลาอย่างยาวนานกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่และยุคสำริด ยังมีเนื้อเยื่อและคอลลาเจนสะสมอยู่ จากการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ 175 รายที่ขุดพบในประเทศจีน ด้วยวิทยาศาสตร์ปัจจุบันทำให้พิสูจน์หาค่าคาร์บอน จนสามารถระบุได้ว่า มนุษย์โบราณเหล่านี้บริโภคอะไรเป็นอาหารหลัก โดยเฉพาะร่องรอยของ ‘ไนโตรเจน’ ที่พอจะสืบทราบได้ว่า เมนูสำคัญสำหรับพวกเขามีเนื้อสัตว์รวมอยู่ด้วยไหม
ในจีนช่วงยุคหินใหม่หรือเมื่อ 10,000 ปีก่อน มนุษย์เพศหญิงและเพศชายล้วนบริโภคเนื้อกับธัญพืช (ส่วนใหญ่เป็นข้าวฟ่าง) ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมมนุษย์ก้าวสู่กสิกรรมครั้งบุกเบิก ผู้หญิงและผู้ชายมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตอาหาร ทำให้ทั้งสองเพศบริโภคอาหารที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อสิ้นสุดยุคหินใหม่ เข้าสู่ยุคสำริดในประเทศจีน (ราว 20,000 – 1,700 ก่อนคริสตกาล) มนุษย์เริ่มปลูกข้าวสาลีแทนข้าวฟ่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้ลายเซ็นคาร์บอนในกระดูกเปลี่ยนแปลงไป
จากการวิเคราะห์ทางสรีระวิทยาพบว่าในช่วง 771 – 221 ก่อนคริสตกาล ผู้ชายยังกินเนื้อและข้าวฟ่างอยู่ แต่ผู้หญิงมีร่องรอยการกินเนื้อลดลง และถูกแทนที่ด้วยข้าวสาลีจนเป็นอาหารหลัก กระดูกผู้หญิงจึงบ่งบอกอาการโรคกระดูกพรุนและมีสัญญาณภาวะทุพโภชนาการในวัยเด็ก หรือหมายความว่า เด็กผู้หญิงในช่วงปฐมวัยได้รับการปฏิบัติที่ด้อยกว่าเด็กชายพอสมควรเมื่อเข้าสู่ยุคสำริด
นักมานุษยวิทยาบางคนมีทฤษฎีว่า ผู้ชายครอบครองสมดุลแห่งอำนาจอย่างชัดเจน เมื่อพวกเขาทำความรู้จักกับ ข้าวสาลี โค และบรอนซ์ ซึ่งเป็นทรัพยากรใหม่แกะกล่อง ที่สามารถสะสมเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งได้ เปิดโอกาสให้ผู้ชายได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของและมีอำนาจอย่างชอบธรรมในการปราบปรามผู้หญิง ส่วนความรุนแรงเองก็เป็นเครื่องมือยอดนิยมเช่นกัน
ในช่วงปลายยุคสำริดของจีนเต็มไปด้วยความร้อนแรงของสงคราม จนถูกเรียกว่า ‘ยุครณรัฐ’ (Warring States) เป็นสงครามรวมชาติของจิ๋นซีฮ่องเต้ครั้งสำคัญสุดของจีน เกิดขึ้นเมื่อ 230 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อพยายามรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งแต่ก็ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ ความยิ่งใหญ่จากการรวมชาติจะเกิดไม่ได้หากขาดกองทัพและกำลังทหาร
ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้ชาติตระกูลนักรบเป็นศักดิ์พิเศษในสังคม อันเป็นความทะเยอทะยานของราชวงศ์จีนโบราณในการรวมใจผู้ชายที่กระหายจะควบคุมทรัพยากรใหม่ๆ ไว้ด้วยกัน ผู้หญิงจึงต้องถูกจัดระเบียบ รับผลพลอยได้จากทรัพยากรที่ด้อยกว่าและคงที่ ดังนั้นข้าวสาลีจึงเหมาะสมกับผู้หญิง ส่วนเนื้อสัตว์มักถูกส่งไปยังส่วนกลางเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนเลี้ยงดูกองทัพ
อำนาจความเป็นชายและเนื้อสัตว์ยังส่งอิทธิพลในศตวรรษที่ 20 เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบังคับใช้กฎหมายลดการบริโภคเนื้อในภาคประชาชน (ทั้งในกลุ่มประเทศตะวันตกและเอเชีย) เนื้อสัตว์จะถูกปันไปยังกองทัพ ทำให้ผู้หญิง เด็ก มักอยู่คู่กับความหิวโหย และกลายเป็นภาพจดจำในหน้าประวัติศาสตร์โลกมากกว่า
แม้แต่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เองก็ยังเป็นธุรกิจที่ถูกครอบงำด้วยผู้ชายส่วนใหญ่ ข้อมูลจาก Meatingplace.com สำรวจบริษัทเนื้อวัวชั้นนำ 8 แห่ง มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ผู้หญิงนั่งตำแหน่งบริหาร เช่นเดียวกับธุรกิจยาและเทคโนโลยี ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมาคุมบังเหียนมากนัก ส่วนในมุมมองสุขภาพเอง ผู้ชายก็เป็นกลุ่มที่บริโภคโปรตีนเนื้อสัตว์ที่มากเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่า ราว 110 กรัม จากที่แนะนำ 56 กรัม โดยเฉพาะเนื้อแดง (Red Meat) เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพเรื้อรัง มะเร็ง โรคหัวใจ โรคตับ
อนาคตอาหารคลื่นลูกใหม่จากกระแส ‘เนื้อหลอดแก้ว’ In Vitro meat (IVM) กำลังตื่นตัวอย่างมากในต่างประเทศ เมนูเนื้อสัตว์ยุคต่อไปจะเป็นเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองน่าจะแพร่หลายในระดับอุตสาหกรรมภายใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้านี้ ความตระหนักถึงมลภาวะสารตกค้างจากการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคเร่งให้เกิดธุรกิจเนื้อ IVM ที่มากกว่าเดิม
‘ก็น่าลองนะ’ คนส่วนใหญ่ราว 65 เปอร์เซ็นต์ และมักเป็นผู้ชาย อยากลองเนื้อหลอดแก้ว แต่เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่คิดว่าจะเปลี่ยนจากบริโภคเนื้อสัตว์จากฟาร์มมาเป็นเนื้อจากห้องทดลองอย่างถาวร แต่มีประเด็นน่าสนใจคือ มีคนราว 4 เปอร์เซ็นต์ อยากลองเนื้อ IVM ที่เป็น ม้า สุนัข หรือแม้กระทั่งแมว (แม้จะไม่มีใครมีโครงการทำเนื้อเหล่านี้ก็ตาม)
แม้ว่าการกินเนื้อมักแสดงออกถึง ‘ความแมน’ และชายชาตรี แต่ก็มีผู้ชายจำนวนมากอยากกินเนื้อ IVM และมีทัศนคติเชิงบวก ในขณะผู้หญิงยังไม่มั่นใจนัก
หาก ‘เนื้อ’ ปลูกได้ราวข้าวสาลีเฉกเช่นครั้งที่เราค้นพบองค์ความรู้กสิกรรม ความเป็นชายเองจะลื่นไหลอยู่ไหม
การทบทวนความหมายของ ‘ความเป็นชาย’ ยังทำให้เห็นว่า เพศชาย/ผู้ชาย/ความเป็นชาย ไม่ได้ดำรงอยู่เป็นด้านตรงข้ามกับ เพศหญิง/ผู้หญิง/ความเป็นหญิงเสมอไป ตามสมมติฐานของทฤษฎีเพศศาสตร์และบทบาททางเพศ ความเป็นชายเองก็เป็นสิ่งที่ซับซ้อนอยู่มาก
การบริโภคเนื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนจะประสบความสำเร็จในการเข้าถึงอำนาจทางสังคม ดังนั้น ‘ความเป็นชาย’ จึงไม่ได้เท่ากับการมีอำนาจ หากแต่ความเป็นชายเป็นพื้นที่ที่ผู้ชายรวมทั้งผู้หญิงจากชนชั้นต่างๆ เข้ามาบริหารตัวตนภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ‘ความเป็นชาย’ ว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ไร้เอกภาพและพร้อมที่จะเปลี่ยนสภาพได้ตลอดเวลา เราจะเห็น ‘ความเป็นชาย’ ที่ไม่ผูกติดกับเพศชายและผู้ชายแล้ว รวมทั้งไม่ผูกติดกับอุดมการณ์แบบรักต่างเพศและระบบปิตาธิปไตยอีกต่อไป และอาจจะไม่ผูกติดกับเนื้อสัตว์อีก
ความลื่นไหลทางเพศกับรสนิยมอาหารในปัจจุบันไปไกลมากกว่ายุคหินใหม่หรือยุคสำริดมาก
แม้คุณจะแคร์ความเป็นชายหรือไม่ก็ตาม เนื้อยังเป็นอาหารเลิศรสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่กินบ้างตามโอกาสและสถานภาพของกระเป๋าตังค์
อ้างอิงข้อมูลจาก
Protein Consumption and Bone Fractures in Women