มนุษย์ส่วนใหญ่รักสัตว์และไม่ได้มีใจคอโหดร้าย แต่ก็ยังต้องการกินเนื้อพวกมันอยู่ดี! หากคุณรู้สึกแย่ก็ไม่ต้องแปลกใจ งานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า มนุษย์มีกลยุทธ์รับมือ ‘ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ ในเชิงจิตวิทยานี้มาตั้งแต่เริ่มอารยธรรมยุคแรกๆ
เบคอน หมูคุโรบุตะ ไส้กรอกเยอรมันเแน่นๆ เนื้อย่างโคขุนติดมัน (อะไรอีกล่ะที่คุณชอบ?)
แค่คิดถึงของเหล่านี้บนเตาร้อนฉ่า น้ำลายก็สอแล้ว การตระหนักรู้ของเราพยายามเบี่ยงเบนความรู้สึกว่า เนื้อเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสัตว์มาก่อน UN เคยจัดอันดับ เนื้อหมู ว่ามีการบริโภคมากที่สุดในโลก คิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อทั้งหมด โดยเฉพาะชาวจีนที่กินมากถึง 100 ปอนด์ ต่อคนต่อปี!
แต่ในหลายสังคมอย่างอิสลามและยิวกลับไม่กินหมู เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์สกปรก และอีกหลายๆ คนก็ไม่กินมัน เนื่องจากความน่ารักบ้องแบ๊ว หากจะบอกว่า ‘หมูโง่’ ที่เอาแต่กินกับนอนก็ไม่ถูกนัก จากการศึกษาพฤติกรรมหมู พวกมันสามารถรับฟังคำสั่งได้ดี กดปุ่มหรือใช้เครื่องมือเปิดปิดกรงได้ราวกับสุนัข (นักวิจัยถึงขั้นพบว่า พวกมันฉลาดพอที่จะเล่นเกมง่ายๆ กับมนุษย์ได้)
The Meat Paradox
เราต่างหลงใหลในรสชาติเนื้อสัตว์ แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากรับรู้การตายอันน่าสงสารของพวกมัน ทำให้มนุษย์ออกจะสับสนในตัวเองอยู่ไม่น้อย วงการจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘The Meat Paradox’ (ภาวะย้อนแย้งการกินเนื้อ) เราหลายคนจึงตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะอร่อยกับเนื้อ โดยที่ไม่ต้องพรากชีวิตสัตว์ นวัตกรรมหลายชิ้นจึงพยายามอุดช่องโหว่นี้ โดยการเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลองเพื่อการบริโภคแทนเนื้อสัตว์จริง หรือการนำพืชมาแปรรูปให้มีรสใกล้เคียงเนื้อสัตว์ อย่างการนำเห็ดมาทำแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งกระบวนแก้ปัญหาก็ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ เพื่อให้สาวกเนื้อกินอย่างสาแก่ใจโดยไม่ต้องรู้สึกผิดมากนัก แต่กำลังผลิตแบบ Mass Scale ยังช้าเป็นเต่าคลานเมื่อเทียบกับความต่างการบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ยต่อปีของมนุษย์
วัฒนธรรมและการอำพราง
เราบิดเบือนความไม่สบายใจด้วยการใช้วัฒนธรรมและการอำพรางมันด้วยกลไกทางภาษา
ในปี 2015 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพยายามอธิบายว่าทำไมเราถึง ‘เลือก’ กินสัตว์บางชนิดและสงวนบางชนิดไว้ โดยนักจิตวิทยา Matthew Ruby จากมหาวิทยาลัย Pennsylvania โดยสรุปเป็นหัวข้อใหญ่ๆ 4 ข้อที่เรียกว่า ‘the 4Ns’
- Natural – เรามีวิวัฒนาการมาให้กินเนื้อตามธรรมชาติ
- Normal – เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็กินกัน
- Necessary – มีความจำเป็นต้องกิน เพราะเป็นแหล่งพลังงาน
- Nice – ก็มันอร่อยนี่!
หลังจากแนวคิด ‘the 4Ns’ ได้รับการตีพิมพ์ก็ได้รับเสียงตอบรับอันหลากหลาย ส่วนหนึ่งว่าทฤษฎีนี้ยังมีจุดบอดอยู่มาก และถูกโจมตีว่างานวิจัยนี้มีแนวคิดอันเป็น ‘อคติ’ ซึ่งเป็นเพียงการย้ำแนวคิดที่เรามีมาแต่เดิมก่อนแล้ว (คล้ายกรณีคนสูบบุหรี่จัด ที่ไม่เชื่อว่าบุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด)
แต่ประเด็นทางวัฒนธรรมก็เป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเหตุผลที่เราไม่เอาเนื้อหมาวางบนจาน ก็ล้วนมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิม ชาวทิเบตกินเนื้อหนอนในขณะที่เชื่อว่า ไก่ หมู วัว เป็นสัตว์สกปรก
นักมานุษยวิทยาคนสำคัญอย่าง Frederick Simoons และ Marvin Harris มีแนวคิดว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ของมนุษย์ถูกกำหนดด้วยหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ในชุมชนที่มนุษย์อาศัยมีสายพันธุ์ของสัตว์ชนิดใดบ้าง เราใช้มันด้วยวัตถุประสงค์อะไร มีการแลกเปลี่ยนกับเผ่าอื่นๆอย่างไร (ม้าที่ใช้แรงงานไถกลบทุ่ง ก็ไม่ถูกมองเป็นอาหาร) และสัตว์บางสายพันธุ์ก็เป็นอัตลักษณ์ประจำเผ่าที่ได้รับการยกย่องบูชา และการกินสัตว์เหล่านี้ถือเป็นลางไม่ดี อย่างเช่น ชนเผ่าต่างๆในแอฟริกา ซึ่งแต่ละเผ่าจะมีข้อห้ามยุ่บยั่บเต็มไปหมด เนื่องจากความแตกต่างของการใช้สัญลักษณ์ประจำเผ่า
การเลี่ยงด้วยภาษา ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่มนุษย์ใช้แยกแยะสัตว์ที่ใช้บริโภค ซึ่งเรียกว่า ‘Linguistic Camouflaging’ (การอำพรางทางภาษาศาสตร์) ที่ชัดเจนมากคือ ภาษาอังกฤษ ที่เรียกเนื้อสัตว์ว่า Bacon Beef Pork Venison แทนการเรียกว่า Pig Meat, Cow Meat, Dear Meat ในสังคมญี่ปุ่นช่วงศตวรรษที่ 18 ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน พวกเขาเรียกเนื้อม้าว่า Cherry เนื้อกวาง Maple และ เนื้อหมูป่า Peony แต่ปัจจุบันก็เสื่อมความนิยมลงไปบ้างแล้ว
สัตว์บางชนิดเราไม่บริโภคมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งส่งผ่านให้อีกสังคมหนึ่ง ด้วยข้อห้ามที่มีหลายปัจจัยทั้งด้านการประกอบพิธีกรรม การใช้แรงงาน พื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมมีสัตว์แต่ละชนิดมีส่วนร่วม คราวนี้เราลองมาแจกแจงดูว่าเนื้อสัตว์แต่ละประเภทมี ใครนิยมและไม่นิยมกินมันบ้าง!
ใครกิน – มีรายงานว่าแมวกว่าล้านตัวถูกทำเป็นอาหารในจีน ประเทศแคเมอรูนเชื่อว่า เนื้อแมวจะนำมาซึ่งโชคลาภ และในพื้นที่ชนบทบางแห่งของสวิตเซอร์แลนด์ก็ยังกินเนื้อแมวเหมียวอยู่
ใครไม่กิน – คนทั่วโลกนิยมเลี้ยงแมวเป็นสัตว์เลี้ยงและเป็นสมาชิกของครอบครัว ทำให้การกินแมวเป็นเรื่องต้องห้ามและการฆ่าแมวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคม
ใครกิน – คนทั่วโลกส่วนใหญ่นิยมบริโภคเนื้อไก่ นับเป็น 31% ของเนื้อสัตว์ที่บริโภคทั้งหมด
ใครไม่กิน – บางชนเผ่าในแอฟริกาและชุมชนบางแห่งในเอเชียไม่กินไก่เพราะถือโชคลาง กระดูกไก่ใช้ประกอบพิธีกรรม และบูชายันต์ต่อวิญญาณ ชาวอินเดียและทิเบตส่วนหนึ่งไม่นำไก่ไปประกอบอาหาร เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์ไม่สะอาด
ใครกิน – เนื้อวัว ถูกยกให้เป็นเนื้อยอดนิยม (เป็นรองแค่เนื้อหมูและไก่) จากคนทั่วโลกเนื่องจากมีรสดี
ใครไม่กิน – ศาสนาฮินดูไม่อนุญาตให้สาวกกินหรือฆ่าวัว เพราะถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของศาสนา
ใครกิน – หลายสังคมยังบริโภคเนื้อสุนัขเป็นวัฒนธรรม ทั้ง จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ และบางจังหวัดของไทย แต่ความนิยมค่อยๆ ลดลงแล้ว ในเขตปกครอง ‘กว่างซีจ้วง’ ของจีน ยังมีการกินเนื้อสุนัขเพื่อเฉลิมฉลองประจำปี สุนัข 10,000 ตัวถูกนำมาประกอบอาหาร เพราะเชื่อว่าเนื้อสุนัขนำมาซึ่งโชคและสุขภาพที่ดี
ใครไม่กิน – ทั่วโลกให้ตำแหน่ง ‘เพื่อนที่ดีของมนุษย์’ สุนัขถูกมองว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว ทำให้การกินสุนัขเป็นเรื่องผิดและยอมรับไม่ได้ แม้ในกลุ่มประเทศที่เคยบริโภคสุนัขก็ลดความนิยมลงเช่นกัน เนื่องจากกระแสคนนิยมเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ใครกิน – แมลงเป็นของอร่อยในแถบเอเชีย เม็กซิโก และอูกานดา แต่ปัจจุบันคนเริ่มหันมากินแมลงสูงขึ้น เนื่องจากการถกเถียงด้านคุณค่าโภชนาการที่มากกว่าเนื้อไก่ เลี้ยงง่าย ปล่อยมลภาวะน้อย
ใครไม่กิน – ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ยังไม่เปิดใจบริโภคแมลง แม้เอเชียจะกินมาก่อนเป็นพันๆ ปี เนื่องจากมองว่ารูปลักษณ์สัณฐานของแมลงไม่ชวนให้เจริญอาหาร
ใครกิน – ชาวยุโรปและชาวเอเชียนิยมกินเนื้อม้า อย่าง ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมัน และคาซัคสถาน เนื้อม้ามีโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำและหลายคนยังหลงใหลเนื้อม้าในการทำสเต็ก
ใครไม่กิน – ม้าใช้เป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์และหลีกเลี่ยงการบริโภคมัน อย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และ ไอร์แลนด์ ประเทศเหล่านี้ใช้ม้าเป็นพาหนะในอดีต ลัทธิแพแกนใช้ม้าในการประกอบพิธีกรรม และความนิยมในการบริโภคลดลงเมื่อศาสนาคริสต์เริ่มแผ่ขยายสู่ยุโรปช่วงศตวรรษที่ 6
ใครกิน – เนื้อหมูมาเป็นอันดับหนึ่งที่มนุษย์บริโภคมากที่สุด โดยการจัดอันดับของ UN
ใครไม่กิน – ศาสนาอิสลามและยิวถือว่าการบริโภคหมูเป็นสิ่งต้องห้าม นักประวัติศาสตร์มองว่าข้อบังคับทางศาสนาที่หมูเป็นสัตว์สกปรกและเป็นพาหะของเชื้อโรค อีกประเด็นที่มีการวิพากษ์ความเชื่อนี้ อาจมาจากในอดีตที่หมูเป็นสัตว์เลี้ยงยากในแถบตะวันออกกลางอันแห้งแล้ง ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของข้อห้ามดังกล่าว
ความไม่สบายอกสบายใจในการบริโภคเนื้อสัตว์ทำให้มนุษย์พัฒนาการรับรู้ใหม่ๆ เช่น การเรียกร้องให้ผู้ทำปศุสัตว์ต้องเลี้ยงอย่างมีเมตตา ไม่กักขังในพื้นที่คับแคบ และสังหารด้วยวิธีการที่ทารุณน้อยที่สุด โดยไม่ให้เห็นร่องรอยของการทรมานทางร่างกาย และมีการจัดเก็บซากอย่างเป็นระบบ ซึ่งการประชาสัมพันธ์แนวใหม่ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์พยายามลดการนำเสนอภาพนองเลือดให้น้อยลงมากที่สุดก่อนถึงมือผู้บริโภค
และอีกกลยุทธ์หนึ่งคือ ‘อย่าคิดว่ามันมาจากสัตว์’ โดยการจำแนกระหว่างสัตว์เพื่อการบริโภคและสัตว์เลี้ยงอย่างชัดเจน มีตัวอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย คืองานวิจัยปี 2011 ของ Brock Bastain จากมหาวิทยาลัย Queensland ลองให้อาสาสมัครเขียนเรียงความ 2 หัวข้อ
- ปัจจัยอะไรที่ทำให้สัตว์มีความใกล้เคียงกับมนุษย์
- ปัจจัยอะไรที่ทำให้มนุษย์เหมือนสัตว์
เมื่อเราใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางแล้ว เรามีแนวโน้มจะจำแนกสัตว์อื่นเป็นอาหาร (ข้อ 2) มากกว่า เพราะเราไม่ได้ตระหนักว่าสัตว์มีความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับมนุษย์เสียเท่าไหร่
ถึงแม้คุณจะเป็นคนที่บริโภคเนื้อเป็นนิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณมีใจคอโหดร้ายอำมหิต เพราะพฤติกรรมล้วนอยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมขนาดใหญ่ แต่ข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ อุตสาหกรรมจากการปศุสัตว์ ใช้พลังงานและสร้างมลภาวะมากกว่า การลดการบริโภคเนื้อให้น้อยลงเป็นทางเลือกที่ดีของสุขภาพในระยะยาว
การถกเถียงระหว่างมนุษย์ทานเนื้อกับมนุษย์ผู้อุทิศตนเพื่อมังสวิรัติยังไม่มีทางลงเอยง่ายๆ
ลองนึกว่าทุกคนต้องนัดมาร่วมโต๊ะกินข้าวพร้อมๆ กันสิ
นี่มันสงครามดีๆ นี้เอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Who’s Laying about not eating meat
Scientific American MIND July/August 2016 – Marta Zaraska