ไม่ว่าเมื่อไหร่การขึ้นไปสำรวจอวกาศนอกโลก ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้คนอยู่เสมอ
เช่นเดียวกับภารกิจปล่อยยานอวกาศขึ้นสู่ท้องฟ้าของ NASA เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเรียกเสียงฮือฮา และความสนใจจากผู้คนได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่สหรัฐฯ ได้กลับมาส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง
แล้วการส่งมนุษย์ ขึ้นสู่อวกาศครั้งนี้มีความหมายอย่างไร อีกไม่นานแล้วใช่ไหม ที่มนุษย์จะได้ไปท่องเที่ยวอวกาศกันเป็นเรื่องปกติ? The MATTER ชวนทุกคนมาพูดคุยกับ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ Spaceth.co ที่นำเสนอเรื่องราวในแวดวงอวกาศ เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับภารกิจในครั้งนี้กัน
ภารกิจของ NASA และ SpaceX การร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน
ก่อนอื่น ขอเล่าภารกิจในครั้งนี้ให้ฟังคร่าวๆ ก่อนว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ทางอวกาศอีกครั้ง เมื่อ NASA ส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังอวกาศจากสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ ด้วยภารกิจที่มีชื่อว่า ‘Demo-2’
เป้าหมายของภารกิจนี้ คือการส่งลูกเรือไปช่วยสนับสนุนการทำงานบนสถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐฯ ส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศจากประเทศตัวเองครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อกรกฎาคม ปี ค.ศ.2011 ในโครงการ Space Transportation System (STS) หรือระบบการขนส่งอวกาศเพื่อลำเลียงนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศโดยใช้กระสวยอวกาศ (Space Shuttle) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 ก่อนจะต้องระงับไปชั่วคราวหลังจากเกิดอุบัติเหตุขึ้นหลายครั้ง
หลังจากนั้นมา เวลาที่สหรัฐฯ จะส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศ ก็ไม่สามารถพาขึ้นไปจากประเทศตัวเองได้ แต่ต้องพึ่งพายานอวกาศ Soyuz ของรัสเซียแทน
ณัฐนนท์ เล่าว่า โดยปกติแล้วในแต่ละปี NASA จะต้องเสียเงินหลายหมื่นล้าน เพื่อจ้างให้รัสเซียส่งนักบินอวกาศให้ เพราะตั้งแต่ปี 2011 ที่ NASA ปลดระวางการใช้งานกระสวยอวกาศ สหรัฐฯ ก็ไม่มีจรวดและยานอวกาศสำหรับใช้เองมาโดยตลอด
“แต่ความฉลาดของ NASA อยู่ตรงที่พวกเขามองเห็นว่า การสำรวจอวกาศในระยะยาวมีความยั่งยืนของมัน โดยการที่เอกชน ธุรกิจ และคนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเต็มที่ ไม่จำกัดอยู่แค่หน่วยงานรัฐบาล ก็เลยเกิดเป็นโครงการ ‘Commercial Crew’ ขึ้นมา”
หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ NASA พยายามปั้นให้เอกชนสามารถสร้างยานอวกาศและจรวดได้เอง ในขณะเดียวกัน ก็สร้างตลาดให้เกิดการแข่งขันโดยใช้เรื่องของผลประโยชน์และรายได้ ที่พร้อมจะดึงให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว
แต่การส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ NASA ไม่ได้ปฏิบัติการเพียงลำพัง เพราะได้รับความร่วมมือจาก SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศชื่อดังมาร่วมมือด้วย โดยณัฐนนท์มองว่า การที่ NASA และ SpaceX ร่วมมือกันนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นว่ายุคของการสำรวจอวกาศโดยเอกชนมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ
“ก่อนหน้านี้เราอาจจะเห็นยานของ Virgin Galactic ซึ่งเป็นยานที่ท่องอวกาศแบบวงโคจรย่อย (Sub-Orbital) และเป็นยานเอกชนลำแรกที่พามนุษย์ขึ้นสู่อวกาศแบบ Sub-Orbital แต่ในเที่ยวบินของ SpaceX Crew Demo 2 นี้ ก็เป็นการส่งยานไปยังวงโคจรต่ำของโลก”
นอกจากนี้ ณัฐนนท์เล่าด้วยว่า การขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ยังสามารถเทียบจอดเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ ทำให้ SpaceX กลายเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในตอนนี้ ที่ให้บริการกับสถานีอวกาศนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งยาน Dragon 1 ที่สำเร็จไปตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 และยาน Dragon 2 รุ่นล่าสุดที่เพิ่งถูกส่งขึ้นไป
สิ่งที่จะตามมาหลังจากภารกิจในครั้งนี้
การปล่อยจรวดในครั้งนี้ เรียกความสนใจจากผู้คนได้เป็นอย่างมาก ทั้งคนที่สนใจในเรื่องราววิทยาศาสตร์ และบริษัทต่างๆ ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยณัฐนนท์บอกว่า สิ่งที่น่าจับตามองคือ คู่แข่งรายสำคัญอย่าง Boeing บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานและยุทโธปกรณ์
“เราได้เห็น Boeing ทดสอบยาน Starliner ในเที่ยวบินไร้มนุษย์ไปในเดือนกุมภาพันธที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ ทำให้ตอนนี้ถ้าวัดกันแบบไทม์ไลน์ ก็ต้องบอกว่า Boeing นั้นตาม SpaceX อยู่เกือบ 1 ปีเต็ม”
ส่วนบริษัทอื่นๆ อย่าง Blue Origin ที่กำลังทดสอบจรวดและยานอวกาศ New Shepard ซึ่งยังคงเป็นแบบวงโคจรย่อย คือ ขึ้นไปแบบโพรเจกไทล์แต่ยังโคจรรอบโลกไม่ได้ ซึ่งทำให้ณัฐนนท์มองว่า ตอนนี้ SpaceX นำบริษัทอื่นๆ อยู่มากพอสมควร
ขณะเดียวกัน ณัฐนนท์ก็อธิบายว่า เป้าหมายต่อจากนี้คือการทำให้ยาน Dragon 2 นี้ ผ่านการใช้งานไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะในช่วงนี้ SpaceX กำลังเร่งพัฒนาตัวยานอวกาศ Starship ที่จะถูกใช้ในการขนส่งระหว่างโลกกับดวงจันทร์ในโครงการ Artemis ในปี ค.ศ.2024
“ล่าสุด SpaceX ก็ได้รับเงินทุนไปอีกก้อนหนึ่ง เรียกได้ว่า SpaceX เก็บทุกภารกิจที่ NASA มีโครงการจ้างเอกชนเลยก็ว่าได้”
อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้คนตื่นเต้นกับภารกิจในครั้งนี้ ก็เป็นเพราะการร่วมมือจาก SpaceX บริษัทที่ทำธุรกิจด้านท่องเที่ยวอวกาศ ซึ่งคาดว่าเที่ยวบินแรกที่จะพาผู้คนไปเที่ยวชมอวกาศของยาน Crew Dragon จะเริ่มในปลายปีหน้า หรือปี ค.ศ.2022
ตอนนี้ มีการคาดการณ์ว่า ค่าเดินทางไปกับ SpaceX เที่ยวหนึ่งจะตกอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,500 ล้านบาท และมีระยะของการอยู่ในอวกาศนานราว 3-5 วัน ซึ่งถือว่า นี่อาจกลายเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นได้
นอกจากนี้ เป้าหมายในการสำรวจอวกาศอีกอย่างของมนุษย์ คือการตามหาแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ที่จะให้เราไปสร้างอาณาเขตได้ โดยดวงดาวที่เป็นเป้าหมายในตอนนี้ก็คือ ดาวอังคาร ซึ่ง NASA ให้เหตุผลไว้ว่า ภารกิจที่ใช้หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร พบหลักฐานการมีอยู่ของ ‘น้ำ’ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้ ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่เจอหลักฐานว่านอกจากโลกของเราแล้ว จะมีที่ไหนที่มีสิ่งมีชีวิตอื่นอาศัยอยู่บ้าง ดังนั้น ดาวอังคารจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของภารกิจสำรวจอวกาศ
ณัฐนนทน์ เล่าว่า เราต้องจับตาดูกันว่า โครงการ Artemis โครงการอวกาศที่อยู่ภายใต้การดูแลโดยองค์การ NASA นั้น จะไปได้สวยแค่ไหน เพราะ NASA ก็มองว่า นี่ปัจจัยสำคัญในการดันโครงการไปดาวอังคาร โดยถึงขนาดเรียกโครงการ Artemis ว่า เป็นโครงการที่ ‘กลับสู่ดวงจันทร์ เพื่อเริ่มการเดินทางไปดาวอังคาร’
ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามที่น่าสนใจอยู่เช่นกัน หลังจากที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) CEO ของบริษัทเทคโนโลยีด้านอวกาศ SpaceX ออกมาเปิดเผยแผนล่าสุดในการพามนุษย์ไปเยือนดาวอังคาร ซึ่งระบุว่า ภายในปี ค.ศ.2050 อาจพาคนขึ้นไปดาวอังคารได้มากถึง 1 ล้านคน ด้วยการสร้างยานอวกาศสำหรับขนส่งมนุษย์ไปดาวอังคารให้ได้ 100 ลำต่อปี หรือ 1,000 ลำใน 10 ปี โดยคำนวณจากช่วงเวลาที่ดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกๆ 26 เดือน
แล้วมนุษย์จะได้ไปดาวอังคาร ภายในปี ค.ศ.2050 จริงไหม?
ณัฐนนท์มองว่า มัสก์มักมีแผนที่น่าสนใจมากๆ แต่ก็ย้ำว่านาฬิกาของมัสก์ ไม่ได้เที่ยงตรงมากนักโดยที่ Gwynne Shotwell กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการของ SpaceX ยังออกมารับตรงนี้เองใน TED เมื่อปี 2018
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับความคืบหน้าในการสร้างยาน BFR แล้ว แผนของ Elon Musk ก็ยังคงพูดได้ยากว่าจะทันเวลา เพราะปกติการเดินทางไปยังดาวอังคารจะมีช่วงเวลา Golden time ทุกๆ 2 ปี ทำให้การปล่อยยานจะมักปล่อยในช่วง 2 ปีเว้น 2 ปี แต่ในช่วงนั้นอาจจะปล่อยถี่ๆ ก็ได้
“แล้วปี ค.ศ. 2050 เราก็คงได้เห็นคนไปอยู่บนดาวอังคารจำนวนมาก แต่จะถึงหนึ่งล้านคนไหมก็ต้องรอดู”
นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ก็มีอีกหลายประเทศที่กำลังพัฒนาภารกิจสำรวจอวกาศอยู่ อย่างรัสเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ต้องพึ่งพารัสเซียในการส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศอย่างที่เล่าไป แต่เมื่อที่ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ รัสเซียก็จะกลับมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ อีกครั้ง
สอดคล้องกับความเห็นของณัฐนนท์ ที่กล่าวว่า รัสเซียนั้นเป็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านอวกาศ นำโดยรัฐวิสาหกิจ Roscosmos ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงนำอยู่ในหลายๆ ด้าน แต่ที่แน่ๆ เลยก็คือ รัสเซียจะมีรายได้ในการสำรวจอวกาศลดลงจากการที่อเมริกาส่งจรวดเองได้แล้ว
“ส่วนเรื่องการเดินทางไปดาวอังคาร ฝั่งรัสเซียยังไม่มีการประกาศอย่างยิ่งใหญ่เท่ากับ NASA แต่ก็คาดว่าน่าจะมีการวางแผนอยู่เหมือนกัน”
ส่วนประเทศอื่นๆ ณัฐนนท์เล่าว่า อีกหนึ่งประเทศที่น่าหยิบมาพูดก็คือจีน เพราะเพิ่งประสบความสำเร็จในการส่งจรวด Long March 5B ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินทางไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารของนักบินอวกาศจีน
รวมถึง จีนเองก็มีแผนในการส่งสถานีอวกาศสำหรับทำงานวิจัยแห่งใหม่ขึ้นไปบนวงโคจร เหตุผลก็เพราะว่าจีนนั้นถูกประเทศพันธมิตรของสถานีอวกาศนานาชาติกีดกันในการทำงานร่วมกัน ทำให้จีนเป็นชาติมหาอำนาจชาติเดียวที่ ‘ไม่มีบทบาท’ ในสถานีอวกาศนานาชาติ ยิ่งมีเรื่อง COVID-19 เข้ามา ก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯ กับจีนดูจะตึงเครียดกันมากขึ้นทุกวันๆ
ประเทศไทยอยู่จุดไหนในภารกิจสำรวจอวกาศ?
แม้จะยังไม่มีบริษัทในไทยที่จะส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังถือว่ามีส่วนร่วมกับภารกิจนี้อยู่บ้าง ซึ่งณัฐนนท์ก็เล่าถึงโครงการ Commercial Payload ที่ SpaceX ได้รับเงินทุนจาก NASA ซึ่งทำให้ตอนนี้ มีงานวิจัยของคนไทยขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติไม่ต่ำกว่า 3 โครงการแล้ว
“ถึงประเทศไทยเองจะไม่มีความร่วมมือกับ NASA โดยตรง แต่เราก็มีชาติพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและหน่วยงาน JAXA แล้วเมื่อปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นเพิ่งสนับสนุนงานวิจัยของนักวิจัยไทยจาก สวทช. ให้ติดไปกับยาน Dragon ของ SpaceX ซึ่งก็เป็นผลผลิตจากโครงการ Commercial Payload นี่แหละ”
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา งานศิลปะของคนไทย ‘ไข่มุกจันทรา’ ก็เพิ่งถูกส่งไปกับยาน Dragon ของ SpaceX ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือ International Art Payload ที่ MIT จัดขึ้นมา แล้วงานของคนไทยก็ได้ถูกคัดเลือกขึ้นไป สิ่งนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้นของการสำรวจอวกาศโดยเอกชน ซึ่งทำให้การส่งสิ่งของไปอวกาศนั้นราคาถูกลงมหาศาล
ยังไม่นับรวมโครงการอวกาศอื่นๆ เช่น ความพยายามในการส่งทุเรียนไปทดสอบเรื่องกลิ่นในอวกาศด้วยจรวด New Shepard ของ Blue Origin
นอกจากนี้ ณัฐนนท์บอกด้วยว่า ตอนนี้ Spaceth เอง ก็กำลังจะมีผลงานการส่ง Payload ขึ้นสู่อวกาศด้วยเช่นกัน โดยยังไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่แอบทิ้งคำใบ้เอาไว้ว่า จะเป็นงานที่หลอมรวมระหว่างวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ชีววิทยา ปรัชญา และเสียงดนตรี เข้าด้วยกัน ซึ่งงานพวกนี้ทำโดยกลุ่มนักวิจัยไทยและเด็กมัธยม-มหาวิทยาลัยด้วย
“ปัจจุบัน เราได้เห็นบริษัทอวกาศเกิดขึ้นในไทยขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Mu Space, Space Zab, Astroberry เราได้เห็นภาครัฐพยายามสร้างแผนโร้ดแมพต่างๆ มากมาย ส่วนตัวมองว่าปัจจัยสำคัญก็คือ การทำงานร่วมกันและการมีเป้าหมายร่วม เพราะถ้าต่างคนต่างจะทำ ต่างหาเงินทุนสนับสนุนกันเอง ก็ไปกันคนละทิศคนละทาง”
ถึงอย่างนั้น การไปอวกาศของคนไทยก็อาจจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วนัก เพราะไทยยังไม่มี Space Agency แบบ NASA ของสหรัฐฯ หรือ JAXA ของญี่ปุ่น ทำให้เราไม่มีคนคอยกำหนดโร้ดแมพไว้อย่างชัดเจน ซึ่งณัฐนนท์ก็แสดงความเห็นว่า ลำพังแค่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐก็อาจจะไม่ได้มองแบบรอบด้านขนาดนั้น
“อย่าง Artemis ที่จะไปดวงจันทร์ NASA ประกาศมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี แต่เราเพิ่งมาเห็นหลายๆ ฝ่ายมาเริ่มวางแผนกัน ซึ่งตอนนี้หลายประเทศเขาก็ไปไกลกันแล้ว”
ท้ายที่สุด ณัฐนนท์ทิ้งท้ายไว้ว่า ความสำเร็จของภารกิจ Dragon Demo 2 นั้น ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของชาติใดชาติหนึ่ง แต่มันจะเปิดทางสู่ความร่วมมือหลายๆ อย่าง โดยที่เขาเชื่อว่า อีกไม่เกิน 3-4 ปี งานวิจัยไทยจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศอีกหลายชิ้นด้วยยาน Dragon 2 นี่ รวมถึงไทยอาจจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการไปร่วมโครงการ Artemis ของ NASA
เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย เราก็อาจจะตกขบวนอวกาศนี้ไปได้
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก