เช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คนไทยถึงกับตื่นเต้นกับการค้นพบครั้งสำคัญ เมื่อสำนักข่าวไทยทุกหัวรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่า “โรงพยาบาลไทยสามารถแก้ปัญหาโลกแตกได้แล้ว ด้วยการสวดมนต์!”
โรงพยาบาลรัฐชื่อดังในย่านรังสิต (เด็กธรรมศาสตร์เรียกกันติดปากว่า ‘โรงบาลซาร่า’ เพราะอะไรคงต้องถามเด็ก มธ.เอา) ผุดไอเดียให้ผู้ป่วยที่รอหมอ ทำการสวดมนต์แผ่เมตตาเพื่อมีจิตใจสงบ ไม่หงุดหงิด สุขภาพจิตของผู้ป่วยดีขึ้นระหว่างรอแพทย์ตรวจ ดีกว่าการนั่งเฉยๆ
หัวหน้างานการพยาบาลยืนยันว่า หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ‘ปัญหาข้อร้องเรียนไม่มีอีกเลย’ แสดงว่าการจัดคิวโรงพยาบาลทำสำเร็จแล้ว? หรือเพียงแค่ ‘เราไม่ได้ยินเสียงบ่น’
มันเหมือนกับคุณหิวมากๆ แต่คุณไม่รับฟังเสียงท้องร้อง วันหนึ่งคุณก็เป็นโรคกระเพาะ แต่คุณดันเอาพลาสเตอร์มาแปะที่หน้าแข้งแทน
ทำอย่างไรเราจะมอง ‘เสียงรบกวน’ เป็น ‘สัญญาณเตือน’
และเป็นไปได้ไหมที่พวกเราจะเข้าถึงสิทธิ์การรับบริการขั้นพื้นฐาน ที่เป็นมากกว่าการสวดมนต์และรอคอย
บททดสอบความอดทน?
เราไม่อยากวิพากษ์การทำงานอันยากลำบากของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานภายใต้ข้อจำกัด แต่ขณะเดียวกันสุขภาพก็เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร ยังไงคุณก็ต้องขอความช่วยเหลือจากหมอและพยาบาลวันยังค่ำ (ยกเว้นคุณจะให้หมอผีแถวบ้านร่ายมนต์รักษา)
แต่ทำไมการรอแพทย์คือ บททดสอบความอดทน อย่างนั้นล่ะ?
คิวที่ยาวเหยียด มาเช้ามืดได้ตรวจเย็น หมอไม่ว่าง โดนแซงคิว ความโกลาหลในโรงพยาบาลจึงเป็นภาพติดตา หากไม่เจ็บปางตายจริงๆ คุณคงไม่อยากใช้เวลาทั้งวันในโรงพยาบาลกันหรอก
และเป็นไปไม่ได้เลย หากสังคมขนาดใหญ่จะดำรงอยู่ได้โดยไม่มีโรงพยาบาล ซึ่งเป็นโครงสร้างอันสลับซับซ้อน ที่ล้วนต้องการแรงขับเคลื่อนจากทุนทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง เงินกลับไม่ใช่ของหาง่ายสำหรับโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของภาครัฐ
โรงพยาบาลบางแห่งมีแพทย์ประจำและแพทย์เฉพาะทางเพียง 100 คน แต่ต้องรองรับผู้ป่วย 2,000 คนต่อวัน (และใน 100 คนก็ไม่พร้อมตรวจได้ทุกคนอีก) ไหนจะมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาในสภาพร่อแร่เป็นตายเท่ากัน ทำให้แพทย์และพยาบาลเป็นอาชีพที่ต้องอึดถึกทน และหวิดจะป่วยหนักว่าคนไข้เสียอีก แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรอคิวที่ยาวนานสะท้อนถึงระบบการให้บริการของโรงพยาบาลที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งมักเป็นปัญหาใหญ่ของโรงพยาบาลรัฐในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งพยายามจัดการปัญหาอย่างจำกัดจำเขี่ย
แต่การแก้ปัญหารอคิวที่ยาวนานด้วยการสวดมนต์หรือทำสมาธิ ก็ดูเป็นทางออกที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับพวกเราเท่าไหร่
สวดมนต์ ไม่ได้เวิร์คสำหรับทุกคน
การทำจิตให้สงบด้วยสมาธิและสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดี แต่มันกลับแก้ปัญหาไม่ได้ทุกอย่าง มีงานวิจัยเผยว่า บางครั้งพวกเราก็ Overrated สมาธิอย่างเกินจริงไปหลายจุด
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย John Hopkins ลงมือวิเคราะห์ว่า มีงานวิชาการชุดใดบ้างที่พยายามศึกษาสมาธิที่มีบทบาทในการลดความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้า แต่งานวิจัยส่วนใหญ่กลับมีช่องโหว่และไม่สามารถอ้างอิงอย่างเป็นรูปธรรมนัก
Madhav Goyal หัวหน้าทีมวิจัยทำการ ‘รีวิว’ ผลสัมฤทธิ์ทางการแพทย์ของงานวิจัยด้านสมาธิจำนวน 47 ชุดในปี 2012 พบว่ามีงานวิจัยเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์เป็นที่ยอมรับ
งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine พบว่า การทำสมาธิและสวดมนต์สามารถลดความเจ็บปวด วิตกกังวลและโรคซึมเศร้าโดยมีประสิทธิภาพในระดับเดียวกับยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressant Drugs) แม้ผลการศึกษาจะเป็นที่ยอมรับ แต่ผลสัมฤทธิ์กลับขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่ทำสมาธิ ณ ขณะนั้น ยังขาดการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ทำให้งานศึกษาประโยชน์ของสมาธิยังมีหลักฐานอยู่น้อยมาก และการขอทุนทำวิจัยยังขาดเงินจากผู้สนับสนุน
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ จึงไม่กล้าเคลมว่ามันเวิร์คสำหรับทุกคน เหมือนกับการไล่คนเป็นโรคซึมเศร้าให้ไปนั่งสมาธิ เข้าวัดฟังธรรม ซึ่งมันอาจไม่ได้ผลดีกับทุกคนอย่างที่เชื่อกัน
ดังนั้นการให้ผู้ป่วยทุกคนที่รอแพทย์ ทำสมาธิหรือสวดมนต์โดยหวังผลลัพธ์เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ (แถมผู้ป่วยไม่ได้นับถือศาสนาพุทธทุกคนด้วยสิ)
โรงพยาบาลทั่วโลกประสบปัญหาคอขวดนี้เช่นกัน แต่มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะใช้ฐานข้อมูลของผู้ป่วยในการลดปัญหาเข้าคิวที่ยาวนาน และแก้ไขอคติของผู้ป่วยที่มีต่อบุคลากรในโรงพยาบาล “เวลาของหมอมีค่ามากกว่าเวลาของผู้ป่วย”
การแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยวิธีการเดียว (One-Size-Fits-All Solution) อาจไม่ใช่ทางเลือกดีนัก โรงพยาบาลหลายแห่งจึงหยิบแนวคิดการทำคิวแบบอุตสาหกรรมการบินมาปรับใช้ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาบ่อยจะปฏิสัมพันธ์กับระบบคีออสอัติโนมัติ (Automated kiosk) โดยไม่ต้องนั่งรอเรียก มีการออกแบบระบบ TAG หรือเหรียญตรา มอบให้กับผู้ป่วยที่มาติดต่อพกติดตัวไว้ โดยพยาบาลสามารถระบุตำแหน่งคนไข้ในพื้นที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องรอเข้าคิว ลดปัญหาความแออัดและความเครียดของพยาบาลและผู้ป่วยที่ต้องกระจุกตัวในจุดเดียวเป็นเวลานาน
และความท้าทายของโรงพยาบาลคือการบอกให้ได้ว่า คนไข้จะต้องใช้เวลารอนานแค่ไหน ผลวิจัยสำรวจว่า คนไข้ยินดีที่จะรอ ก็ต่อเมื่อพวกเขารู้เวลาคร่าวๆ ว่าจะได้พบแพทย์เมื่อใด
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ออกมาให้โจทย์กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เรื่องการปรับปรุงบริการแผนกผู้ป่วยนอกให้ลื่นไหลและรวดเร็ว โดยเบื้องต้นผู้ป่วยต้องไม่รอนานเกิน 120 นาที ก็นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายและโหดหินไม่น้อย
เรายอมรับว่าปัญหานี้ไม่ได้แก้กันได้ง่ายๆ และไม่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด เพราะทุกเสียงรบกวนที่ได้ยิน เป็นสัญญาณเตือนสู่การเปลี่ยนแปลง
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.scientificamerican.com/article/is-meditation-overrated