โรงพยาบาลขอปิดห้องฉุกเฉินชั่วคราว
จากสภาวะเตียงไม่พอ สู่คำประกาศของหลายโรงพยาบาลที่ต้องปิดให้บริการห้องฉุกเฉินชั่วคราว ทำให้เราต่างกังวลกันว่า ถ้าห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นพื้นที่รับคนไข้หลากหลายรูปแบบ ต้องปิดลงแม้เพียงชั่วคราว แปลว่าระบบสาธารณสุขของไทยเข้าขั้นวิกฤตหนักสุดๆ แล้วใช่ไหม แล้วอย่างนี้ชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 และผู้ป่วยโรคอื่นๆ จะเป็นยังไงต่อ ?
The MATTER ชวนไปฟังเสียงคุณหมอและพยาบาลที่ต้องรับมือกับโรคระบาด ในภาวะที่สาธารณสุขของไทยใกล้จะล้มลงนี้ เพื่อให้เข้าใจว่า หากปล่อยให้วิกฤตนี้ดำเนินต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น และต้องทำอย่างไรให้เราผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้
ทำไมต้องปิดห้องฉุกเฉิน?
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายโรงพยาบาลที่ต้องปิดรับผู้ป่วยกันไปบ้าง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เตียงรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ และมีผู้ป่วยต้องรอเตียงอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างกรณีของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งออกมาประกาศเมื่อวันที่ 4กรกฎาคมว่า
“ขณะนี้แผนกฉุกเฉิน (ER) ของโรงพยาบาลมีผู้ป่วยที่ต้องดูแลจำนวนมากเกินกว่าที่จะรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินทุกระดับได้ จึงขอปิดบริการแผนกฉุกเฉินชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้”
ไม่เพียงแต่โรงพยาบาลศิริราชที่งดรับผู้ป่วย ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลวชิรพยาบาลต้องปิดปิดห้องตรวจเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน (ปิดวันเดียว) และโรงพยาบาลตากสินที่ต้องงดรับคนไข้ทุกกรณีในวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติด COVID-19 ที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร
สถานการณ์การปิดรับผู้ป่วยชั่วคราวนี้ สะท้อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอกกลางปี 2021 ที่มียอดผู้ติดเชื้อเยอะกว่าครั้งที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่พุ่งแตะเกือบหมื่นรายในแต่ละวัน
ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ การมาของเชื้อกลายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น ตามที่ทุกคนรู้กันดีว่า COVID-19 ได้กลายพันธุ์แตกแขนงออกไปหลายสาย และไทยเองก็เคยพบสายพันธุ์ที่น่ากังวลตามที่ WHO ประกาศไว้ทั้ง 4 สายพันธุ์แล้ว โดยก่อนหน้านี้ สายพันธุ์ที่ถูกพูดถึงมากก็คือ สายพันธุ์อัลฟา (พบครั้งแรกที่อังกฤษ) แต่ตอนนี้ สายพันธุ์ที่กำลังเป็นประเด็นอย่างมากก็คือ สายพันธุ์เดลตา (พบครั้งแรกที่อินเดีย)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าในช่วงระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลตามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาแล้ว 32.2% กระจายไปใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สายพันธุ์อัลฟาที่ว่ากันว่าแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 50% ก็ยังไม่สู้สายพันธุ์เดลตา ซึ่งถูกประเมินแล้วว่า แพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาประมาณ 60% และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังบอกอีกว่า เชื้อไวรัสสามารถลอยตัวอยู่ในอากาศ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายได้ แม้ไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยตลอดเวลา
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยอดผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกนี้จะพุ่งสูงขึ้น จนล้นทะลักระบบสาธารณสุขของไทย แถมวัคซีนที่มีในปัจจุบัน ก็มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อต้องเจอกับสายพันธุ์นี้
และเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) ก็กล่าวว่า ตอนนี้ ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ จำนวนมาก เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลตา แต่สายพันธุ์เดลตากลับพบน้อยลง ซึ่งแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประเมินคร่าวๆ ว่า เริ่มพบสายพันธุ์เดลตาประมาณช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แถมยังมีรายงานว่าสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้เร็วนี้ จะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อได้ 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์
“ตอนนี้เราจะเห็นตัวเลข 1,000 ขึ้นเป็น 2,000 เป็น 4,000 ถ้าสมมติเราคาดการณ์ไปในสัปดาห์หน้าอาจจะยังขึ้นได้ถึง 10,000 (รายต่อวัน)”
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พบเยอะขึ้นนี้ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์ และแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช ให้สัมภาษณ์กับเราว่า การไม่มีมาตรการควบคุมโรคที่ดีพอ จึงกลายเป็นว่า เมื่อผู้ป่วยเยอะก็จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลมากขึ้น และล้นเกินจากศักยภาพที่สาธารณสุขเตรียมไว้
สถานการณ์หนักเกินรับ กระทบการรักษาในทุกโรค
ประเด็นก็คือ ผู้ติดเชื้อที่เยอะขึ้นนี้ มีจำนวนหนึ่งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ก็กระทบกับการรักษาประชาชน
นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า การปิดห้องฉุกเฉิน ทำให้คนไข้ต้องเฉลี่ยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นแทน เช่น โรงพยาบาล ก. ปิด คนไข้ก็ต้องไปโรงพยาบาล ข. ทำให้โรงพยาบาล ข. มีคนแน่นขึ้น
“พอบุคลากรในห้องฉุกเฉินติดเชื้อ ก็ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลดลง ขณะเดียวกันบางทีก็มีผู้ป่วย COVID-19 ที่รอเตียงค้างอยู่ในแผนกฉุกเฉิน ทำให้ห้องฉุกเฉินไม่สามารถใช้งานอย่างอื่นได้”
นพ.นิธิพัฒน์ อธิบายต่อว่า พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้โรงพยาบาลรับคนไข้ล้นเกิน เมื่อมีคนไข้ COVID-19 มาที่ห้องฉุกเฉิน ก็จำเป็นต้องรับตัวไว้ในโรงพยาบาล แต่ในโรงพยาบาลยังเต็มอยู่ ก็จำเป็นต้องให้รอค้างอยู่ที่ห้องฉุกเฉินก่อน เพื่อรอเคลียร์เตียง
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ก็ยังมีเหมือนเดิม ไม่ได้ลดลง เพราะอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด อย่างโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย สมองขาดเลือด โรคปอดอักเสบจากเชื้ออื่นๆ หรือคนไข้แผลเบาหวานกำเริบก็ยังมีมาอยู่ตลอด
“สิ่งที่สะท้อนออกมาในการปิดห้องฉุกเฉินก็คือ ถ้าไม่ควบคุม COVID-19 ให้ดี ก็คงจะทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ใช่ COVID-19 ได้รับผลกระทบไปด้วย”
พอถามว่า มีกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเยอะไหม คุณหมอก็ตอบว่า กรณีนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ในหลายโรงพยาบาล ทั้งจุฬาฯ ศิริราช รามาฯ ต่างก็มีแพทย์-พยาบาลที่ติดเชื้อแห่งละนิดหน่อย แต่เมื่อติดเชื้อทีก็ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วย
“เพราะถ้ามีคนนึงติด ก็ต้องสอบสวนต่อว่า มีใครอยู่ใกล้เขาไหม ต้องกักตัวคนอื่นอีกเหมือนกัน มันไม่ได้จบแค่นั้น เวลาติดคนนึง มันมีคนถูกกักตัวต่ออีก 10-20 คน”
ขณะที่ แพทย์ห้องฉุกเฉินท่านหนึ่ง (ขอสงวนชื่อ) ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจกับเราว่า บุคลากรทางการแพทย์เอง ก็ไม่สามารถป้องกันได้ทุกเคสขนาดนั้นเพราะบางคนมาด้วยอาการอื่น อย่างเคสของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ ที่ต้องตรวจ COVID-19 ก่อนผ่าตัด แล้วกลายเป็นว่า ติด COVID-19 แบบไม่รู้ตัว
“เจ้าหน้าที่ทยอยติดกันไปเรื่อยๆ ตอนแรกคิดว่าวัคซีนพอจะป้องกันได้ แต่เราได้ตัวที่ป้องกันไม่ได้มา และการที่เจ้าหน้าที่ติด 1 คน แสดงว่ามีอีกหลายคนต้องหยุดทำงานไป”
เขาเล่าต่อว่า ตอนนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธไม่รับคนไข้เพื่อตรวจหาเชื้อแล้ว เพราะนโยบายว่าตรวจเจอไหนนอนที่นั่น พร้อมยกตัวอย่างว่า อย่างคนไข้ที่มีสิทธิ์อยู่โรงพยาบาล ก.แต่โรงพยาบาล ก. บอกว่าตรวจไม่ได้ เตียงเต็ม ก็ไม่ใช่แค่ไม่ให้นอนรักษา แต่แปลว่า ไม่รับตรวจด้วย คนไข้จึงต้องไปตรวจที่อื่นแทน ซึ่งก็เตียงเต็มด้วยเช่นกัน กลายเป็นว่า แต่ละโรงพยาบาลคาดการณ์จำนวนคนไข้ไม่ได้เลย
คุณหมอเล่าด้วยว่า ทุกวันนี้ต้องเริ่มทยอยปฏิเสธการตรวจคนไข้แล้ว ซึ่งเป็นที่น่าอึดอัดใจในการทำงานมากๆ และพอรู้ว่าบุคลากรเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ ก็ไม่กล้ากลับบ้าน ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ซึ่งตอนนี้มีพ่อแม่เพื่อนของเขาบางราย ที่ฉีด sinovac 2 เข็ม และติด COVID-19 ลงปอดเหมือนกัน
เมื่อถามว่า การปฏิเสธรับตรวจคนไข้ เกิดขึ้นเฉพาะคนไข้ที่มาขอตรวจ COVID-19 หรือตรวจกลุ่มโรคอื่นๆ ด้วย คุณหมอก็ตอบว่า “ทั้งคนไข้ที่ขอตรวจ COVID-19 และตรวจโรคอื่น ตอนนี้เราต้องเริ่มปฏิเสธการตรวจโรคกันแล้ว ถ้าผู้ป่วยอาการดี มีสิทธิ์ที่อื่น ก็แนะนำให้ไปตรวจตามสิทธิ์ที่มี ซึ่งอาจโดนปฏิเสธได้เหมือนกัน”
เสียงจากแพทย์ฝึกหัดที่ต้องทำงานในช่วงวิกฤตคนหนึ่ง (ขอสงวนชื่อ) เล่าให้เราฟังว่า การที่ปิดห้องฉุกเฉินนี้ ทำให้ต้องโหลดผู้ป่วยไปที่ OPD (Out-Patient-Department) หรือแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งเครื่องมือบางอย่างไม่พร้อมเท่าห้องฉุกเฉิน
แพทย์คนดังกล่าวเล่าว่า แผนก OPD เป็นแผนกที่ผู้ป่วยจะมาติดตามการรักษา หรือมารับการรักษาที่ไม่เร่งด่วน แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ด่วนจริงๆ เช่น trauma หัวใจหยุดเต้น ก็มีโอกาสเสียที่ชีวิตที่แผนก OPD สูง
“โรงพยาบาลเราปิดไปแค่ 1 วัน เพราะว่าบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไปเกือบ 10 คน แต่ปิดแค่ 1 วัน ผู้ป่วยก็ท่วมท้นมากแล้ว”
เขาเล่าต่อว่า บางคนฉุกเฉินจริงๆ ก็ต้องไปที่โรงพยาบาลอื่นแทน ซึ่งมีความเสี่ยงว่าโรงพยาบาลที่เขาย้ายไปนั้น อาจจะไม่รับผู้ป่วย เพราะว่าโรงพยาบาลนั้นก็เกินกำลังมากแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีโรงพยาบาลไหนที่อยากปิดแผนกใดแผนกหนึ่งหรอก แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ สุดท้ายก็ต้องทำ
พอถามว่า การปิดไป 1 วัน สร้างความหนักหนากับสถานการณ์ในตอนนี้อย่างไรบ้าง? แพทย์คนนี้ก็เล่าว่า การปิดแผนกฉุกเฉิน สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์โดยรวมที่ย่ำแย่เต็มทน นอกจากคนไข้จะแย่แล้ว บุคลากรที่ต้องดูแลคนไข้อีกทีก็แย่ไปด้วยเหมือนกัน เพราะบุคลากรต้องดูแลคนไข้เยอะมาก การปิดห้องฉุกเฉินเพื่อทำความสะอาด ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมาก เพราะมันไม่ได้ป้องกันหรือจัดการมาให้ดีตั้งแต่แรก
“พูดจริงๆ นะ การปิดห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลคือสถานการณ์ไม่ไหวแล้ว คนไข้จะไปอยู่ไหน ขึ้นวอร์ดมารักษาก็ไม่ได้ OPD ก็รักษาไม่ครอบคลุม”
พญ.ลลนา ก้องธรนินทร์ หรือหมอเจี๊ยบ ก็ออกมาแชร์ประสบการณ์ทำงานในฐานะหมอห้องฉุกเฉิน ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า การระบาดครั้งนี้หนักหน่วงกว่าครั้งก่อน นอกจากผู้ป่วย COVID-19 จะไม่มีเตียงแล้ว เคสอื่นๆ อย่างอุบัติเหตุ และคนไข้เจ็บหนักที่อันตรายถึงชีวิตก็พลอยลำบากไปด้วย
“ไม่กี่วันมากนี้ มีคนไข้อาเจียนพุ่งเป็นเลือด หัวใจหยุดเต้น การที่หมอจะกระโดดเข้าไปช่วยชีวิตปั๊มหัวใจทันทีเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่สามารถทำได้ ต้องไปใส่ชุด PPE ก่อน และยังมีรายละเอียดในขั้นตอนการรักษาอื่นๆ อีกหลายอย่างมากขึ้น”
“คนทำงานก็กดดันด้วยเวลาที่ต้องเร่งรีบ และด้วยปริมาณเคส บางครั้งผู้ป่วยและญาติไม่เข้าใจคิดว่ามัวทำอะไรอยู่ ทำไมไม่รีบมารักษา แต่ขณะนั้นพวกเราทุกคนกำลังเตรียมความพร้อมป้องกันเพื่อเข้าไปช่วยชีวิตผู้ป่วยอย่างปลอดภัย ล่าสุด เพื่อนร่วมงานเจี๊ยบ น้องพยาบาลเป็นลมในชุด PPE ระหว่างกำลังทำงาน”
หมอเจี๊ยบเล่าต่อว่า ห้องแยกโรคป้องกันการแพร่เชื้อที่ใช้สำหรับผู้ป่วย COVID-19 มีจำกัด ไม่พอกับจำนวนผู้ป่วย จนคนไข้ COVID-19 ต้องมานอนรักษาอยู่ด้านนอก ทำได้เพียงเว้นระยะห่างระหว่างเตียง แต่ก็ไม่มีพื้นที่มากนัก ผู้ป่วยใกล้เคียงและเจ้าหน้าที่ก็เสี่ยงติดเชื้อตาม เพราะห้องแยกโรคเต็มหมด
“เจี๊ยบเจอเคสคนไข้อายุมากกว่าเจี๊ยบแค่ปีเดียว ไม่มีโรคประจำตัวอื่นใดๆ แต่ก็เป็นหนักจนเสียชีวิตลำพังบนเตียง ไม่มีโอกาสร่ำลาใคร ญาติพี่น้องไม่สามารถเข้ามาพบได้ ลองนึกว่าถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวหรือคนใกล้ตัวของตัวเองจะทรมาณใจขนาดไหน”
เช่นเดียวกับ พยาบาลจากโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง (ขอสงวนชื่อ) ซึ่งเล่าให้เราฟังว่า ในสถานการณ์นี้ มีคนไข้ COVID-19 และคนไข้ปกติต้องรอตรวจ รอเตียงแอดมิท อยู่ที่ห้องฉุกเฉินจำนวนมาก แต่ผู้บริหารก็ไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเอง
“ผู้ปฏิบัติงานมีความเสี่ยงจากการสัมผัสเสี่ยงสูงก็ไม่มีการให้กักตัว เพราะจะไม่มีคนทำงาน บุคคลากรในห้องฉุกเฉินตอนนี้เหนื่อย และท้อแท้มาก เหนื่อยทั้งกายและใจ ไม่ได้รับความเห็น ใจและความดูแลจากผู้บริหาร ไม่แจ้งแนวทางการแก้ปัญหาให้ทราบ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ”
ยิ่งกว่านั้น เธอยังเล่าถึงเงินที่ได้จากการทำงานหนักในช่วงนี้ว่า การดูแลผู้ป่วย COVID-19 จะได้ค่าตอบแทนเพียงแค่ 125 ต่อคน ขัดแย้งกับเวลาทำงานที่ทำคนเดียวไม่ไหว ต้องเข้าอย่างน้อย 2 คน แต่กลับเบิกเงินได้แค่คนเดียว 125 บาท และคนไข้บางคนก็ต้องนอนในห้องฉุกเฉินกว่า 2 วัน การทำงานเหมือนแผนกผู้ป่วนใน แต่แผนกผู้ป่วยในเบิกได้เวรละ 1,000 และเบิกทุกคนที่ขึ้นเวรนั้นๆ ทำให้เธอรู้สึกไม่ยุติธรรมอย่างมาก
“ไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ภาระงานมากขึ้นกว่าเดิมมาก ทำงานยากขึ้นกว่าเดิม ขาดการดูแล ถูกทอดทิ้งจากผู้บริหาร ขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน”
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของสหรัฐฯ เรื่อง ผลกระทบต่อการปิดแผนกฉุกเฉินในช่วงที่ COVID-19 ระบาด ศึกษาจากคนไข้ 94,360 ราย โดยมีผู้ป่วยไม่เร่งด่วน 36,327 ราย และผู้ป่วยกรณีเร่งด่วน 10,116 ราย พบว่า อัตราการเสียชีวิตของกลุ่มที่ไม่เร่งด่วนอยู่ที่ 2.0% สำหรับผู้ป่วยที่เผชิญกับการปิดห้องฉุกเฉิน ซึ่งมากกว่าอัตราของผู้ป่วยกรณีไม่เร่งด่วน ที่ไม่เจอกับการปิดห้องฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ที่ 1.6%
ขณะเดียวกัน ในกลุ่มที่เร่งด่วนนั้น อันตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เจอกับการปิดห้องฉุกเฉินอยู่ที่ 8.7% มากกว่าผู้ที่ไม่ต้องเจอกับการปิดห้องฉุกเฉินซึ่งอยู่ที่ 7.4% แปลว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะมากขึ้น หากต้องปิดห้องฉุกเฉินในช่วงวิกฤต COVID-19
จะพ้นวิกฤตนี้ได้ยังไง?
แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากปิดห้องฉุกเฉิน แต่ด้วยสถานการณ์ที่วิกฤตหนัก ทำให้แพทย์และพยาบาลติดเชื้อ จนห้องฉุกเฉินต้องปิดไป
นพ.นิธิพัฒน์ มองถึงทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ว่า มาตรการที่ได้ผลดีที่สุด คือการควบคุมโรคไม่ให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น นี่เป็นทางออกอย่างตรงไปตรงมาที่สุด และถ้าไม่แก้ไขด้วยวิธีนี้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
คุณหมอยังเสริมด้วยว่า หากยังไม่รีบแก้ไข สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือ ทุกคนจะเสียผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะคนไข้ทั่วไปก็จะได้รับการรักษาที่ไม่ดี โรงพยาบาลก็จะแน่น ดูอึดอัด หมอพยาบาลก็จะเหนื่อยล้า ประสิทธิภาพไม่เต็มที่
“รวมๆ แล้วก็ทำให้ระบบการแพทย์แย่ลง ดูแลคนไข้ได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม ทั้งคนไข้ COVID-19 และที่ไม่ใช่ผู้ป่วย COVID-19”
ขณะที่ พยาบาลคนเดิม เสริมถึงแนวทางแก้ไข ในฐานะผู้ที่ต้องทำงานอยู่หน้าด่านว่า รัฐบาลต้องมีนโนบายที่จัดการได้ชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งเรื่องการจัดหาซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและแจกจ่ายให้ทั่วถึงโดยเร็ว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อให้มีระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมบอกว่า ในส่วนของประชาชน ก็ต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติที่เหมาะสมและไม่ปกปิดข้อมูล
ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป เธอก็มองว่า จะทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้นไปอีก การเข้าถึงการรักษาก็จะล่าช้ามากขึ้น จากผู้ป่วยสีเขียวจะกลายเป็นสีเหลืองและสีแดงมากขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ถ้ามีแนวทางที่ดี ได้รับการเข้าถึงการรักษาที่เร็วกว่านี้จะทำให้ผู้ป่วยอาการไม่หนักมาก
เพื่อจะควบคุมโรค สิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องมีก็คือ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ในการต้าน COVID-19 และเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อเร็วๆ มานี้ กลุ่มหมอไม่ทน และภาคีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐจัดสรรวัคซีนชนิด mRNA ให้กับบุคลากรการแพทย์ เพราะเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกัน COVID-19 สายพันธุ์เดลตาได้ ต่างกับวัคซีนเชื้อตายยี่ห้อ Sinovac ที่ภาครัฐจัดให้บุคลากรการแพทย์ฉีดก่อนหน้านี้
“การขอวัคซีนชนิด mRNA ให้กับบุคลากรการแพทย์ เพราะเรากลัวว่าถ้าบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าติด COVID-19 ไปมากๆ จะทำให้ไม่มีคนมาคอยรักษาประชาชนทั่วไปที่เจ็บป่วย ไม่ใช่แค่ผู้ป่วย COVID-19 เท่านั้น ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย ส่งผลกระทบเป็นทอดๆ จนอาจทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศล่มได้” นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขกล่าวกับ The MATTER
นพ.สันติ ยังเล่าในรายการมาเถอะจะคุยว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายใหม่ จัดหาวัคซีนเข้ามาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อยากให้บุคลากรทางการแพทย์หน้าด่านและประชาชนปลอดภัยมากกว่านี้ ซึ่งจะเป็นไปได้ หากรัฐบาลนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
“ถ้าหมอปลอดภัย พยาบาลปลอดภัย บุคลากรทางการแพทย์ทุกส่วนที่สัมผัสกับเชื้อปลอดภัย เราก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว ปิดวอร์ด ปิด ER เราก็รักษาคนไข้ รันระบบได้ต่อ ไม่ต้องเกิดสภาวะอย่างทุกวันนี้ที่รักษาไปก็ต้องปิดไปบ้าง กลับมาเปิด ก็ต้องปิดอีก ประชาชนที่ป่วยด้วยโรคอื่นก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะเขาต้องใช้ทรัพยากรเหมือนกัน”
ขณะที่หมอเจี๊ยบทิ้งท้ายในโพสต์ไว้ว่า สถานการณ์ในตอนนี้หนักมาก และขอเป็นอีกหนึ่งเสียงในฐานะแพทย์และประชาชนคนหนึ่ง ขอวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงให้ประชาชนทุกคนอย่างเร็วที่สุด
“เพราะแต่ละวินาทีที่ช้าไปคือชีวิต หมอทุกคนอยากเห็นคนไข้ได้กลับบ้านไปหาคนที่เขารัก”
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก