คุณไปโรงพยาบาลกี่โมงเพื่อให้ได้คิวตรวจ เคยเจอการโดนพูดจาไม่ดีใส่จากการไปรับการรักษาตามสิทธิไหม?
ประสบการณ์การไปโรงพยาบาลรัฐ เป็นเรื่องที่ผู้คนชอบมาแชร์กันอยู่เสมอ หลายครั้งมักเป็นการบ่นถึงปัญหาที่พบเจอในระบบสุขภาพ เช่น ต้องหอบร่างไปหาหมอที่โรงพยาบาลไกลบ้าน เนื่องด้วยปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสถานพยาบาลท้องถิ่น จนทำให้แพทย์ต้องมากระจุกตัวกันอยู่ในเมืองใหญ่ หรือการรอคิวนานนับวัน เมื่อใช้สิทธิรักษาฟรี เพื่อให้ได้ตรวจเพียง 5 นาทีแล้วจบ
ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์เองก็พบเจอกับปัญหา ทั้งเรื่องภาระงานที่มากล้นจนเกินพอดีทำให้หมอและพยาบาลล้วนเหนื่อยล้า ซึ่งอาจกลายเป็นอารมณ์ไม่พอใจที่ทำให้ผู้รับการรักษามองว่า ถูกบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตัวไม่ดีด้วยไปอีก
The MATTER ขอรวมเสียงคนที่เคยเข้ารับการรักษาพยาบาลและพบเจอเรื่องราวต่างๆ เพื่อมาแชร์ให้เห็นถึงปัญหาในมุมของคนไข้กัน
ชูชู อายุ 26 ปี
“เราต้องพายายไปลอกตาที่โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งถ้าใครไม่เคยไปก็คงงงมากว่าจะต้องไปทางไหน เพราะโรงพยาบาลรัฐมีหลายขั้นตอนมาก ต้องเดินไปนู่นนี่ มีระบบประกันสังคม บัตรทอง แบบจ่ายเอง แยกชั้นแยกตึกกันไป”
ชูชูมองว่า บุคลากรในโรงพยาบาลก็พูดจาไม่ค่อยดี ราวกับไม่พอใจตลอดเวลา ถอดแบบกันมาเป็นหลักสูตร ซึ่งหากเทียบกับเอกชนแล้วจะเห็นว่าต่างกันมาก แต่เอกชนก็มีค่าใช้จ่ายแพง
“จริงๆ เราเคยพายายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่มันมีความผิดพลาดเรื่องการรักษา แม่ก็เลยมองว่า ให้ไปโรงพยาบาลรัฐดีกว่า ด้วยความเชื่อว่ามีหมอเก่งๆ เยอะ คราวนี้เลยได้รู้ซึ้งถึงความต่างระหว่างโรงพยาบาลเอกชนที่กินน้ำส้มไม่ถึงชั่วโมงกลับ กับโรงพยาบาลรัฐที่ไม่มีที่นั่ง ยืนปวดแข้ง รอไปทั้งวัน”
“ส่วนเรื่องลอกตาก็ต้องรอหมอ ยิ่งเป็นหมอพิเศษก็ยิ่งรอนาน พอหมอตรวจเสร็จก็ต้องมานั่งรอยาอีก เรียกว่าทั้งวันนั้นไม่ต้องทำอะไร มีหน้าที่รออย่างเดียวจริงๆ ไป 7 โมง เสร็จ 4 โมง แล้วคนแก่อ่ะ นั่งรถเข็น ปวดใจอยู่นะ ข้าวก็หิว แต่ไม่กล้ากินที่โรงพยาบาล กลัวเชื้อโรค ไหนจะความลำบากในการเดินไปเดินมาของคน จะให้ออกมากินก็กลัวเลยคิว โดนวีนอีก”
แต่จะให้ยายของเธอย้ายกลับไปโรงบาลเอกชน ยายก็ไม่ยอม เพราะเขากลัว ฝังใจ เธอจึงต้องหาโรงพยาบาลที่คิดว่าโอเค สามารถให้รักษายายได้แทน
“มีอีกกรณีคือตอนที่ตาป่วยเป็นสโตรก ตาขยับตัวไม่ได้ ช่วง COVID-19 เราเลยไม่ได้ไปเยี่ยม พยาบาลเป็นคนดูแล พอตากลับบ้านมามีแผลเต็มตัวเลย เรารู้ว่าพยาบาลเขางานเยอะแหละ เลยไม่มีเวลาพลิกตัว แต่แล้วจะต้องไง ตอนไปบางทีก็พูดจาไม่ดี แค่บอกว่าขอแพมเพิร์ส แต่โดนอารมณ์แบบไล่ญาติกลับเลย”
มากิ อายุ 23 ปี
“เราเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ รู้ครั้งแรกตอนเข้าห้องฉุกเฉิน วันที่เจอคือต้องเจาะเลือด ดูผล และยืนยันแล้วว่าเป็น ทุกอย่างจบได้ในวันนั้นเลย แต่พอจะไปหาหมอแบบรักษาประจำจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หมดเลย คือ ต้องไปหาหมออายุรกรรม ที่เป็นหมอกลางที่จะคอยมาคัดกรองก่อนว่า เราเป็นโรคอะไร แล้วจะส่งต่อไปหาหมอแผนกไหน รอคิวเป็นเดือนกว่าจะได้หาหมอกลาง จากนั้นก็รอคิวอีกประมาณ 1-2 เดือน ถึงได้หาหมอเฉพาะทางไทรอยด์จริงๆ”
มากิกล่าวว่า เวลาจะหาหมอที ต้องไป 2 วัน วันแรกคือไปเจาะเลือดเฉยๆ ที่ก็เสียเวลาครึ่งเช้าไปเลย ต้องไปเจาะเลือดก่อนล่วงหน้าประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วก็ต้องไปหาหมออีกทีนึง สรุปก็คือหาหมอ 1 ครั้ง เสียเวลาประมาณ 2 วัน เท่ากับต้องลางาน-ลาเรียนบ่อยๆ แถมบอกเป็นโรงพยาบาลรัฐก็ย้ายไปหานอกเวลาราชการไม่ได้ ยกเว้นจะจ่ายเงินเพิ่ม ยังไงก็ต้องลา
“ไปทีนึงก็ต้องรอหลายชั่วโมง ในวันเจาะเลือดก็ต้องรีบไปแต่เช้าเพื่อให้ได้คิวแรกและเสร็จธุระไวที่สุด จะได้ไปเรียนต่อตอนบ่ายทัน หรือในวันที่จะพบหมอ ก็ต้องถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ 6.00-7.00 น. ซึ่งจะได้ตรวจประมาณ 11.00-12.00 น. แล้วแต่ดวง กว่าจะกลับถึงบ้านก็บ่ายๆ พอดี วันนั้นทั้งวันแทบไม่ได้ทำไรเลย ระหว่างรอก็คือ ช่วงชั่วโมงแรกๆ ที่รอก็จะกล้าไปกินข้าว ไปทำนู่นนี่แหละ”
มากิกล่าวอีกว่า ช่วงที่ใกล้จะได้เวลาตรวจเธอยิ่งไม่กล้าไปไหนเลย เพราะเคยลุกไปเข้าห้องน้ำ กลับมาเขาก็ข้ามคิว ไม่ได้รอ ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่ก็พยายามไม่ไปไหนอีกหลังจากนั้น
นอกจากนี้ ยังเคยเจอเจอพยาบาลกับบุคลากรทางการแพทย์ดุใส่ ซึ่งมากิใช้คำว่า ‘ดุทุกแผนก ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ทั่วไปชั้นหนึ่งที่คอยตรวจสอบสิทธิ์ ทำบัตร ยันพยาบาลที่คอยดูแลคนไข้’ อย่างที่เธอเคยเจอโดยตรงคือ เวลาไม่รู้อะไรแล้วไปถาม บางคนก็จะชอบด่าแบบใส่อารมณ์
“ตอนเราเจาะเลือดครั้งแรก เรากลัวเข็ม เราก็บอกเขาไป แล้วเขาก็ดุเราว่าจะกลัวทำไม แล้วแขนเราหาเส้นเลือดยาก เหมือนพยาบาลหาไม่เจอ เขาก็เลยเจาะ แล้วก็เค้นหาเส้นเลือดทั้งๆ ที่เข็มยังคาแขนเรา เราก็ร้องไห้และเกร็งจัดเพราะกลัวมากๆ เขาก็ดุเรา แล้วก็พูดทำนองว่า จะร้องทำไม ร้องไปก็ไม่ได้หาเจอ อยู่นิ่งๆ จะเกร็งทำไม อย่าเกร็งสิ เสียงดังๆ ใส่เรา ทั้งที่เราแบบ นั่งน้ำตาไหลเป็นทางเลย โมโหมาก อยากย้อนเวลากลับไปต่อสู้”
“จริตเวลาเรียกคนไข้พบหมอ เรียกคนไข้ทำอะไรสักอย่าง ของพยาบาล ถ้าเข้าไปฟังเองจะรู้เลยว่ามันมีความเหวี่ยงวีนราวกับเราไปขอรักษาฟรีอยู่ในนั้น มันไม่ค่อย friendly กับคนไข้เท่าไหร่ โดยเฉพาะกับคนสูงวัยที่ป้ำๆ เป๋อๆ”
มากิเล่าว่า สิทธิรักษาที่เธอใช้ในตอนนั้น คือสิทธิ 30 บาทที่ได้ในฐานะนิสิตจุฬาฯ ซึ่งทำให้เธอไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสักบาท แต่ก็แลกกับการต้องไปพบเจอสิ่งที่เธอเล่ามา
มามาโคโค่ อายุ 28 ปี
มามาโคโค่ เล่าว่า วันนั้นเธอไปโรงพยาบาล 2 ที่พร้อมกัน ทั้งรัฐและเอกชน ทำให้เห็นความชัดเจนมากว่าทั้งสองแบบต่างกันตรงไหน ของโรงพยาบาลรัฐ เข้าไปแล้วหลงทาง ผังโรงพยาบาลทำให้คนดูงง แล้วพอเป็นโรงพยาบาลรัฐก็ไม่มีใครคอยเข้ามาถามว่าจะไปทางไหน ขณะที่ของเอกชน บางที่จะทำรวมทุกแผนกในตึกเดียว ดูตรงลิฟต์ก็รู้ว่าต้องไปไหน ซึ่งต่างจากของรัฐที่บางทีก็ต้องไปตึก คอ หู จมูก ซึ่งอยู่คนละทาง
เธอเล่าว่า ก่อนจะไปเจอหมอ เธอได้ปรึกษากับหมอในแอพฯ นึงมาก่อน แล้วพอเล่าให้พยาบาลฟัง น้ำเสียงที่เขาใช้ก็เหมือนดูถูกว่า เธอไปหาหมอเถื่อน พอเล่าอาการให้ฟัง พยาบาลก็แสดงท่าทีเหมือนเธอแพนิกไปเอง
“เราไม่รู้ว่าจะไปแผนกไหน เขาส่งเราไปอายุรกรรม ก่อนจะส่งไปนรีเวท ไปถึงก็บอกว่าคิวก็เต็ม เราก็ไม่คิดจะรอแล้ว เลยไปโรงพยาบาลเอกชนเลย เพราะไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะได้ตรวจไหม แล้วก็คิดว่า คลินิกนอกเวลาก็ต้องเสียเงินเหมือนกัน เลยไปเสียให้เอกชนดีกว่า จาก 10 โมงถึงบ่าย 2 กว่าแล้ว”
แต่เอกชนก็แลกมาด้วยราคาที่แพงกว่า เธอเสริมว่า ตอนไปตรวจที่โรงพยาบาลรัฐ เสียแค่ค่าตรวจปัสสาวะ 100-200 บาท แต่ถ้าไปเอกชนก็มีค่าเหยียบโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 300 รวมค่าหมอต่างๆ อีก ซึ่งเท่ากับว่าต้องเตรียมเงินไปเลยอย่างน้อยหลักพัน
เมริส อายุ 25 ปี
“เราปวดท้องหนักเวลาประจำเดือนมา เลยอยากไปตรวจ อยากลองใช้สิทธิประกันสังคมดูด้วย เพราะรู้ว่าถ้าไปตรวจแบบไม่ใช้สิทธิค่าตรวจจะค่อนข้างแพง อยู่ที่ 3,000-4,000 บาท สิทธิประกันสังคมเราก็อยู่ที่โรงพยาบาลที่เคยไปหาเป็นประจำอยู่แล้ว เลยคิดว่า อาจจะนานหน่อย แต่ก็คงไม่ถึงขั้นรอไม่ไหว”
“เราไปถึงประมาณ 9.30 น. ได้บัตรคิวลำดับ 20 ต้นๆ หลังจากนั้นยังมีอีกหลายคิว ตอนนั้นคิดว่าคงจะตรวจอะไรเสร็จประมาณบ่ายสอง เราพกหนังสือไปด้วยเล่มนึงก็นั่งอ่านไประหว่างรอ ปรากฏว่า อ่านจนจบเล่มแล้วก็ยังไม่ได้ตรวจ ข้าวเที่ยงก็ไม่ได้กิน เพราะไม่กล้าลุก กลัวเลยคิวตัวเอง”
เมริสเล่าว่า คิวมันรันมาจนเหลืออีก 1 คิวก็จะถึงตาเธอแล้ว แต่มันก็ค้างอยู่ตรงนั้นเป็นชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้านั้น เธอเห็นเดินออกมาบอกพยาบาลหน้าห้องว่าอะไรสักอย่าง แล้วคนไข้คนก่อนหน้านั้นก็เหมือนต้องส่งไปตรวจที่แผนกอื่นต่อ ตอนแรกก็เธอไม่ได้คิดอะไร แต่พอมันนานเข้าเธอก็ชะเง้อไปมองในห้องตรวจ ซึ่งไม่มีหมออยู่เลย จากนั้นเมริสก็นั่งรออยู่พักใหญ่กว่าหมอก็วิ่งกลับมา แล้วผู้ช่วยก็เรียกเลขคิวเธอเข้าไปตอนเกือบ 16.00 น.
“ตอนแรกก็เซ็งที่ต้องเสียเวลาไปทั้งวัน พอได้เข้าไปเจอหมอ ประโยคแรกที่หมอพูดคือ ‘ขอโทษนะคะที่ให้รอนาน พอดีวันนี้หมออีกคนลา’ ได้ยินแล้วเราคิดในใจว่า เราไม่ได้โกรธหมอเลย แต่รู้สึกแย่ด้วยซ้ำที่หมอคนเดียวต้องตรวจคนไข้ทั้งหมดในวันนั้นให้ได้ แถมข้างนอกห้องยังมีคนรอตรวจอีกเพียบ”
“หมอค่อนข้างตรวจละเอียด มีอัลตราซาวด์ให้ ใช้เวลาราวๆ 15-20 นาที เสร็จแล้วให้ไปรอรับยา ตอนเดินออกมาเราได้ยินพยาบาลเรียกคิวถัดไป ก็สงสารหมอเหมือนกันนะ ถ้าระบบโรงพยาบาลมันดีกว่านี้ ต่อให้หมออีกคนลาไป หมอคนนี้ก็คงไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้หรือเปล่า”
เปป้า อายุ 26 ปี
“เราเคยไปทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เราใช้สิทธิประกันสังคม ปัญหาก็คือว่าต้องเช้าแบบเช้ามากๆ เพื่อที่จะรอพบหมอให้ได้ทันในวันนั้น แบบที่ไม่ได้มีนัดล่วงหน้า จะต้องไปก่อนตี 5 ถึงจะได้คิวพบหมอช่วง 12.00-13.00 คือ เสียเวลาไป 6-7 ชั่วโมงในการนั่งรอหมอเฉยๆ” เปป้า วัย 26 ปีกล่าว
เปป้าเล่าว่า ต้องใช้เวลาตรวจประมาณ 5 นาที แต่ก็อยู่ที่เรา ถ้าเราถามหมอ เขาก็ให้เวลานะ อย่างของเธอโดนให้ไป CT scan ต่อ ก็เลยมีโอกาสถามไถ่ แต่ผลสแกนไม่ได้ออกมาวันนั้นด้วย หมอจะนัดมาใหม่อีกทีเพื่อให้ไปฟังผลตรวจ
“หมอบอกว่า ปกติ CT scan จะต้องรอคิวประมาณ 1-2 เดือน แต่ของเรายังโชคดีที่ได้เร็ว ประมาณ 2 อาทิตย์ก็ได้แล้ว”
“เราต้องพก power bank, iPad แล้วก็หูฟัง ให้พร้อมจำศีลระหว่างรอหมอ 7 ชั่วโมง”
“ตอนเราไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เรายังมีประกันสุขภาพอยู่ แล้วมันเร็วมาก กระบวนการ 7 ชั่วโมงของโรงพยาบาลรัฐสามารถเสร็จได้ภายในครึ่งชั่วโมงได้เลย แล้วเขาตอบเราได้เลยด้วยว่า มีปัญหาเพราะอะไร”
แต่ที่เธอต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลรัฐ ก็เป็นเพราะว่าประกันสุขภาพของเธอหมดแล้ว หากจะรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนต่อ ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก อย่างการ CT scan ก็น่าจะต้องเสียอย่างต่ำ 2,000-3,000 บาท ทำให้เปป้าต้องมาใช้สิทธิประกันสังคมแทน ถึงอย่างนั้น ด้วยเวลาที่เสียไประหว่างรอก็ทำให้เธอเริ่มคิดที่จะกลับไปซื้อประกันสุขภาพ เพื่อให้ได้ใช้สิทธิในโรงพยาบาลเอกชนอีกครั้งแทนแล้ว
ปอ อายุ 65 ปี
ปอเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ คืนหนึ่งอาการกำเริบฉุกเฉินแล้วต้องไปโรงพยาบาลด่วน ภรรยาจึงรีบเรียกรถพยาบาล ทีแรกอยากให้ไปโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาประจำ แต่ตัวเขาคิดว่าไปโรงพยาบาลที่มีตัวเองสิทธิก็ได้
“สิทธิบัตรทองอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐเล็กๆ แห่งหนึ่ง ต้องเริ่มจากตรงนั้น ทีแรกครอบครัวจะให้ไปเอกชน แต่ก็กลัวเรื่องค่าใช้จ่าย แล้วก็คิดว่าถ้าไปใช้สิทธิบัตรทองเดี๋ยวเขาส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นในสัญญา แล้วเขาก็ส่งไปโรงพยาบาลใหญ่ที่มีศูนย์ดูแลโรคนี้โดยเฉพาะ”
ปอเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งเขาเล่าว่า กับลูกเขาก็เคยโทรไปถามโรงพยาบาลให้ว่า ถ้าอยากให้ลูกได้รักษาที่โรงพยาบาลนี้แบบใช้สิทธิรักษาได้ฟรี เขาก็แนะนำว่าต้องมีใบส่งตัว ทำเรื่องมาที่โรงพยาบาลนี้ก่อน แล้วค่อยส่งตัวต่อไปอีกโรงพยาบาลให้ได้
เขาเล่าว่าค่อนข้างประทับใจกับการทำงานฉุกเฉินของสิทธิรักษาและโรงพยาบาล กทม.ทั้งหลาย แต่ถึงอย่างนั้น เวลาไปตรวจตามนัดก็ต้องไปแต่เช้า ประมาณ 5.00-6.00 น.เพื่อให้ได้คิวเร็วๆ ถ้าได้คิวเร็วก็จะได้ตรวจเลือดช่วง 8.00 น. เข้าพบหมอและตรวจเช็คเสร็จภายใน 11.00 น. ซึ่งก็ถือว่าเร็วอยู่พอสมควร
ขณะที่ ญาติๆ ของเขาซึ่งอยู่ต่างจังหวัด ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ ต้องมาค้างคืนใกล้ๆ โรงพยาบาลก่อน แล้วจึงออกจากที่พักแต่เช้าเพื่อไปให้ได้คิวเร็ว ผ่านกระบวนการขั้นตอนเยอะ แม้การรักษาจะดี แต่กระบวนการที่หลายขั้นตอนนี้ก็ถือเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน