ถึงคุณจะไม่พอใจแค่ไหนกับผลลัพธ์ก็ตาม แต่เด็กอัจฉริยะเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำเทรนด์โลกได้ น่าเสียดายที่เด็กมีศักยภาพจำนวนไม่น้อยถูกกลืนกินด้วยระบบการศึกษาแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จนบางคนกลายเป็น ‘ตัวปัญหาหลังห้อง’ เสมอ เพราะคุณครูรู้สึกหวาดกลัวทุกครั้งเมื่อควบคุมความอัจฉริยะของพวกเขาไม่ได้
ในปี 1968 นักจิตวิทยา Julian Stanley ได้รับเคสผู้ป่วยเด็กรายหนึ่งอายุ 12 ปี มีชื่อว่า Joseph Bates เขาแสดงสีหน้าเบื่อหน่ายที่ต้องตอบคำถามซ้ำซาก เหม่อลอย เกลียดการไปโรงเรียน เพราะทุกครั้งที่มีการสอบคณิตศาสตร์ เด็กหนุ่มจะทำคะแนนนำโด่งกว่าเด็กร่วมชั้นแบบขาดลอย หรือบางครั้งก็ประชดด้วยการส่งกระดาษข้อสอบเปล่า โดยไม่เขียนอะไรไปเลย เพียงแต่ให้เหตุผลที่ว่า “โจทย์มันง่ายเกินไป”
Julian Stanley ถูกชะตากับเด็กคนนี้เป็นพิเศษ เขาหว่านล้อมให้พ่อแม่ส่ง Joseph เรียนด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย John Hopkins แต่เรียนไปได้สักพัก Joseph ที่เด็กกว่าใครๆในชั้นเพียงอายุ 13 ปี ก็สามารถปราบเซียนรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด เขารู้ตัวแล้วว่าได้พบอัจฉริยะหาตัวจับอยากดุจเพชรเม็ดงามแล้ว จนต้องนิยามว่า ‘Student Zero’
และเหตุการณ์นี้เองเป็นตัวจุดกำเนิด งานวิจัยค้นหาความเป็นอัจฉริยะในเด็กที่มีชื่อเสียงที่สุด กินระยะเวลานานที่สุด และสร้างมาตรฐานการศึกษาพิเศษให้กับสังคมอเมริกันในปัจจุบันและในหลายๆ ประเทศทั่วโลก มีชื่อว่า ‘Study of Mathematically Precocious Youth (SMPY)’ โดยโปรแกรมจะติดตามเหล่าเด็กอัจฉริยะตั้งแต่ในช่วงวัยเด็กจวบจนพวกเขากลายเป็นผู้นำในสังคม ศึกษาว่าต้องทำอย่างไรให้พรสวรรค์เหล่านี้กลายเป็นพลังผลักดันสังคมต่อไป ความอัจฉริยะต้องใช้เชื้อเพลิงแบบไหนในการสุมไฟให้ลุกโชน
ค้นหาความเป็นเลิศระดับ 0.01 %
โปรแกรมเฟ้นหาอัจฉริยะ SMPY มีอายุอานามกว่า 45 ปี แต่ยังมีนักวิจัยรุ่นใหม่ๆเข้ามาผลัดมือเพื่อติดตามผลอยู่ตลอดเวลา (นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้ง Julian Stanley เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2005 แต่ปณิธานยังถูกต่อยอดอยู่เสมอ) เด็กที่อยู่ในโครงการจำนวนมากกว่า 5,000 ราย เติบโตไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ศิลปิน และนักสร้างนวัตกรรมระดับชั้นแนวหน้าของโลก
โปรแกรมนี้ผลิตงานวิจัยกว่า 400 ชิ้น และหนังสือจำนวนมาก เพื่อสร้างการรับรู้ถึง ‘เด็กอัจฉริยะ’ ที่แอบแฝงอยู่ในทุกๆ แวดวง เพื่อเป็นแนวหน้าในการศึกษา STEM วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ รวมไปถึงสายศิลปศาสตร์อื่นๆ ซึ่งมหาวิทยาลัย John Hopkins เป็นโต้โผ จนจัดตั้งหน่วยที่มีชื่อว่า ‘Center for Talented Youth’ โดยมีศิษย์เก่าอย่างผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook และ CEO ‘Mark Zuckerberg’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ‘Sergey Brin’ ศิลปินมากความสามารถ ‘Stefani Germanotta’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lady Gaga รวมไปถึงอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ ‘Terence Tao’ ซึ่งพวกเขาล้วนทำคะแนนติดอันดับสูงสุดที่คัดเลือกเพียง 1 เปอร์เซ็นต์จากการทดสอบอัจฉริยะเกินอายุ (Precocious age)
แต่สิ่งที่ Julian Stanley พยายามหาคำตอบไม่ได้แค่การเฟ้นหาเด็กอัจฉริยะมาประดับวงการเพิ่มมากขึ้น แต่เขาต้องการแก้ปริศนา ทำอย่างไรที่เราจะสามารถเลี้ยงดูความอัจฉริยะให้ตลอดรอดฝั่ง และช่วยสนับสนุนให้พวกเขามีทัศนคติเปลี่ยนโลกเพื่อส่วนรวม ซึ่งตลอดมาเราสอนวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีผิดๆ มาตลอด เด็กฉลาดจำนวนมากจึงมักคิดแต่เรื่องของตัวเอง ไม่สนโลก แต่มันควรถึงเวลาที่ต้องทำให้ถูกที่ถูกทาง
“ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่เด็กพวกนี้ล่ะที่ควบคุมสังคมของพวกเรา” นักจิตวิทยา Jonathan Wai คือหนึ่งในทีมวิจัยที่ศึกษาในโปรแกรมพิเศษนี้ ยืนยันว่าความสำเร็จในอาชีพที่เคยเชื่อมั่นกันว่า ‘มาจากการฝึกฝน’ แต่แท้จริงแล้วการตระหนักรู้ในช่วงวัยเด็กต่างหากที่กรุยทางสู่ความสำเร็จที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ ขุมทรัพย์เด็กฉลาด
จากงานวิจัยที่รวบรวมมาตลอด 45 ปีพบว่าความรู้ความเข้าใจจากความรู้เพียงแต่วิชาเรียน ไม่สามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพเด็กได้สมบูรณ์แบบ เหมือนมีรองเท้าไซส์เดียว แต่บังคับให้ทุกคนต้องสวมใส่ มันจึงคับเท้าและรองเท้าก็กัด
SMPY จึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความฉลาดทั่วไปในการพัฒนาเด็กอัจฉริยะ แต่พยายามเพิ่มความเข้มข้นทางด้านทักษะการรับรู้ที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละคน ในปี 1976 ทีมงานของ Stanley ทดสอบเด็กอายุ 13 ปีจำนวน 563 รายที่ขึ้นชื่อว่าอัจฉริยะ จากคะแนนสอบ SAT ที่คัดคะแนนสูงสุดเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยทดสอบความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Ability) และการความเชื่อมโยงวัตถุ จับคู่วัตถุที่ต่างองศาการมองเห็น หาจุดตัดกึ่งกลาง คาดเดาระดับน้ำเมื่ออยู่ในวัตถุทรงต่างกัน
ซึ่งเขาพบว่าการทดสอบ ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Ability) กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เหล่าเด็กอัจฉริยะเผยตัวได้มากกว่าการทดสอบด้วยองค์ความรู้ตัวไปหรือการสัมภาษณ์ปากเปล่า
จากนั้นมีการสำรวจพบว่า เด็กอัจฉริยะในอดีตที่เติบโตเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์ ที่มีอายุราว 33 ถึง 48 ปี จากการจดสิทธิบัตรหรือมีผลงานทางวิชาการที่ผ่านการ Peer Reviewed และตีพิมพ์ ส่วนใหญ่ตอนเป็นเด็กพวกเขาทำคะแนนระดับท็อปที่ 11% แต่เด็กที่ฉลาดด้วยความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ด้วย จะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นอีก 7.6 % เลยทีเดียว
หรือหมายความว่า เด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้นำที่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า และมีโอกาสสร้างนวัตกรรมเจ๋งๆ ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งวิชาการอย่างเดียวไม่สามารถมอบทักษะการมองโลกอย่างแตกต่างจากคนอื่นๆ ได้ สิ่งเหล่านี้รั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมองข้าม Spatial Ability ในเกือบทุกวิชา
เด็กจำนวน 95 เปอร์เซ็นต์ถูกกวาดต้อนเข้าระบบการศึกษาหลักที่เกลี่ยความรู้ความสามารถของแต่ละคนด้วยระดับความเข้าใจเพียงชุดเดียว เพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการองค์กรการศึกษา ทำให้เด็กเก่งจำนวนมากต้องทุกข์ทรมานและก้าวไปไม่ถึงจุดปลดล็อคทางศักยภาพที่แท้จริง
เลี้ยงเด็กฉลาด พ่อแม่ต้องช่างสังเกต
ที่ผ่านมาเรากระตุ้นเด็กฉลาดด้วยคุณภาพของวิชาการ ที่อัดทะยานเข้าไปในตัวเด็กในช่วงเวลาอันจำกัดจำเขี่ย พ่อแม่พยายามผลักดันให้ลูกค้นพบพรสวรรค์ด้วยกิจกรรมร้อยแปด ซึ่งแน่นอนสิ่งที่พ่อแม่ทำ กลายเป็นการสร้างปัญหาการเข้าสังคมของเด็กและทักษะการควบคุมอารมณ์ที่ด้อยไปจากคนอื่นๆ
ดังนั้นมันจำเป็นต้องสนับสนุนทั้งความสามารถและความสุขไปพร้อมๆกัน Camilla Benbow นักจิตวิทยาและอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Vanderbilt แนะนำสั้นๆ ถึงการทำความเข้าใจศักยภาพของเด็กๆที่บางครั้งพ่อแม่ก็ละเลย
- พาเด็กๆไปสัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย เพราะโรงเรียนไม่ใช่ทุกอย่างที่สอนองค์ความรู้ แม้คุณเองจะมองไม่เห็นแต่ทุกสิ่งเป็นความรู้ เด็กที่มีพรสวรรค์อาจจะจดจ่อกับอะไรบางอย่างที่อยู่เหนือความคาดหมาย คุณเพียงแค่พยายามสังเกตพฤติกรรมเหล่านั้นไว้
- เมื่อเด็กๆแสดงออกถึงความสนใจ หรือเห็นพรสวรรค์เล็กๆ ที่เขาแสดงออก หาโอกาสให้พวกเขาทำซ้ำ เพื่อพัฒนามันยิ่งขึ้นไป
- สนับสนุนให้พวกเขาเกิด Mindset เชิงบวกในสิ่งที่พวกเขากำลังพยายาม ไม่ใช่มุ่งเน้นที่ความสามารถ เมื่อเขาพยายามและล้มเหลว ทำให้พวกเขาเชื่อว่าหากพยายามอีกครั้ง มันจะได้ผลดีตามมา
- ความล้มเหลวเป็นส่วนสำคัญ แนะนำให้พวกเขามองความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เด็กมีพรสวรรค์จำนวนมาก ไม่สามารถรับมือความล้มเหลวแล้วเลิกทำสิ่งนั้นไปเลยกลางคัน ความล้มเหลวไม่ใช่ทางตัน มันแค่บอกให้คุณต้องเลี้ยวเป็น
- หลีกเลี่ยงการบอกว่าลูกตัวเองว่าเป็น ‘อัจฉริยะ’ หรือ ‘มีพรสวรรค์’ ต่อหน้าคนอื่น หรือบอกบ่อยจนเกินเหตุ มันสร้างภาระทางใจมากกว่า และกดดันให้พวกเขาเชื่อว่าตัวเองเกิดมาพิเศษกว่าคนอื่น (ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง) แต่ให้สนับสนุนเมื่อเขากำลังออกแรงพยายามจะดีกว่า
- ปรึกษาอาจารย์ประจำชั้นอย่างใกล้ชิด เด็กฉลาดมักเรียกร้องอิสรภาพในการเรียนรู้ ซึ่งบางครั้งมักแสดงออกเป็นพฤติกรรมเชิงลบ บั่นทอนบรรยากาศในห้องเรียน กลายเป็นปัญหาของครูและเพื่อน
- พาเด็กๆไปทดสอบศักยภาพตามโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้น ทั้งในเชิงวิชาการและสันทนาการ เด็กบางคนมีอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์เด็กร่วมด้วย ซึ่งยังมีหลายอาการทางอารมณ์ที่อาจเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ระยะยาว เหมือนอย่างที่ Joseph Bates ต้องเผชิญ โชคดีที่พ่อแม่พาเขาไปพบกับนักจิตวิทยาก่อน แทนที่จะคิดว่าลูกของพวกเขาเป็นเด็กมีปัญหา เพียง 17 ปี เขาสำเร็จปริญญาเอก ในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และจบด็อกเตอร์ที่มหาวิทยาลัย Cornell เพียงไม่นาน เขาก็รับตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเป็นผู้บุกเบิก ระบบปัญญาประดิษฐ์ในทศวรรษใหม่
โลกเรากำลังเผชิญปัญหาสภาวะอากาศแปรปรวน การก่อการร้าย วิกฤติพลังงาน โรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม เด็กรุ่นใหม่คือกำลังที่มีประสิทธิภาพในการต่อกรกับโจทย์ใหม่ๆ มันก็ดูน่าเศร้าไปหน่อยที่เด็กเก่งๆ ต้องอยู่ภายใต้ผู้ใหญ่ทัศนคติบอดๆ ที่คอยควบคุมทุกฝีก้าว ดังนั้นการจะมองให้เห็นถึงเพชรเม็ดงามที่คนอื่นมองไม่เห็น อาจจะต้องทำการบ้านกันพอสมควร
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0956797613478615
http://www.goodreads.com/book/show/19547812-beyond-intelligence
https://en.wikipedia.org/wiki/Julian_Stanley