ร้านไหนขายหน้ากากอนามัยบ้าง? สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไร? รักษาตัวที่ไหน? ก่อนพบเชื้อเดินทางไปไหนมาบ้าง?
ในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาด นอกจากปัญหาเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาด หรือการติดเชื้อ ประชาชนต่างก็ตื่นตระหนก มีคำถาม และข้อสงสัยเต็มไปหมด ซึ่งหลายครั้งข้อมูลก็มีเข้ามามากมาย หลากหลาย ซึ่งจริงบ้าง เท็จบ้าง ตีกันไปหมด จึงไม่แปลกที่ประชาชนอย่างเราๆ จะแพนิก และสับสนกันได้
แต่หลายประเทศ ที่มีระบบการจัดการ และการทำงานของรัฐที่เป็นระเบียบ ก็ได้นำ Open Data มาเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และรับมือกับโรคระบาดนี้ ซึ่งมีทั้งข้อมูลของผู้ติดเชื้อ ประวัติการเดินทางของผู้ป่วย ข้อมูลการรักษา ไปถึงสถานที่ซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรค ที่ทำให้ประชาชนได้รับสารอย่างถูกต้อง และมีเครื่องมือป้องกันกับการติดเชื้อนี้
ติดเชื้อกี่ราย หายแล้วกี่คน อาการเป็นอย่างไรกันบ้าง การอัพเดทข้อมูลผู้ติดเชื้อของสิงคโปร์
หนึ่งในข้อมูลที่หลายคนอยากรู้ คือ ข้อมูลของผู้ติดเชื้อในประเทศ ที่นอกจากว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่แล้ว หลายครั้งเราก็อยากจะรู้ว่า ข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับอาการ และรายละเอียดของผู้ป่วยคนนั้นๆ ด้วย ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ก็มีเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำขึ้นมาโดยมีรายละเอียดผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่พบในประเทศ
ในเว็บฯ นี้ นอกจากมีข้อมูลเบื้องต้นอย่างวันที่พบเชื้อ เพศ อายุ และเชื้อชาติของผู้ป่วยแล้ว ยังมีข้อมูลอย่างโรงพยาบาลที่เข้ารับรักษา และสถานที่เขาไปเยือนก่อนพบเชื้อ ซึ่งนอกจากข้อมูลของผู้ป่วยแล้ว ทางรัฐบาลยังแสดงภาพรวมของผู้ติดเชื้อในประเทศว่ามีผู้ป่วยกี่ราย และอาการอย่างไรบ้างด้วย โดยมีทั้งกราฟแท่ง และชาร์ตให้ได้เห็นพัฒนาการกันด้วย
สิงคโปร์ ยังมีการจัดทำคลัสเตอร์ที่แสดงความเชื่อมโยงของผู้ป่วยแต่ละราย ว่าติดเชื้อมาจากไหน จากใคร เพื่อแบ่งแยกกลุ่มความสัมพันธ์ผู้ติดเชื้อด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ https://sgwuhan.xose.net ซึ่งเป็นเว็บไซต์แสดงแผนที่ผู้ติดเชื้อ ว่าพบผู้ติดเชื้อที่จุดไหน และมีรายละเอียดเบื้องต้นของผู้ป่วย โดยที่แผนที่ยังโยงให้เห็นว่า ผู้ติดเชื้อเดินทางไปที่ไหน ผ่านเส้นทางไหนมาก่อนจะถูกพบว่าติดเชื้อ ทั้งยังโยงความสัมพันธ์ให้เห็นว่า ผู้ติดเชื้อคนไหน เกี่ยวข้องกันอย่างไรด้วย
เว็บไซต์นี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่นำข้อมูล Open Data ของกระทรวงสาธารณสุข มาแสดงเป็นแผนที่ ทั้งก่อนเข้าเว็บไซต์ยังมีการแจ้งเตือนว่า สามารถรับข้อมูลเพิ่มเติม และแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข และจากรัฐบาลโดยตรงด้วย
รัฐบาลสิงคโปร์ ยังมีการนำเสนอข้อมูลอื่นๆ เพื่อการป้องกันการติดเชื้ออีก ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของรัฐ ซึ่งรวมถึงข้อมูลความเข้าใจผิด ข่าวลือที่ไม่เป็นจริง ในขณะที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) และหน่วยงานเทคโนโลยีของรัฐบาล (GovTech) ยังได้สร้างแชทบ็อทขึ้นมาให้บริการประชาชน เพื่อให้ข้อมูล ข่าวสาร และอัพเดทสถานการณ์ต่างๆ ด้วย
ไต้หวัน กับการเปิดข้อมูลร้านขายหน้ากากอนามัย
แม้ว่าผู้นำ หรือเจ้าหน้าที่จะบอกว่าหน้ากากอนามัยไม่ขาดแคลน และราคาไม่แพง แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของหลายๆ คนตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ก็ยังคงสวนทาง และเป็นการพูดถึงว่า หน้ากากหายาก สอดคล้องกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เริ่มออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ความขาดแคลนหน้ากากอนามัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ไทย แต่หลายประเทศเองก็เริ่มประสบกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรนี้
ที่ไต้หวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล ออเดรย์ ถัง และทีมวิศวกรบริษัท Goodideas-Studio ได้เข้ามาดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ และพัฒนาแผนที่ดิจิทัลเรียลไทม์ “Instant Mask Map” (即時口罩地圖) ที่จะแสดงตำแหน่งของร้านค้าที่ยังมีหน้ากากอนามัยขาย และจำนวนสต็อกที่มีอยู่
เว็บไซต์: https://mask.pdis.nat.gov.tw
โดยในแผนที่จะมีหมุดที่แสดงร้านค้าที่มีหน้ากากอนามัยขาย และสีบนหมุดจะแสดงถึงจำนวนสินค้าที่มีอยู่ โดยสีเทาหมายถึง หน้ากากหมด สีชมพู คือเหลือ 20% หรือน้อยกว่านั้น, สีเหลือง คือเหลือ 20-50% , สีเขียว คือมีสินค้ามากกว่า 50% ขึ้นไป และสีน้ำเงิน คือ แสดงทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น ตัวแผนที่นี่ ยังจะแสดงชื่อร้าน, โลเคชั่น เวลาเปิด-ปิด ข้อมูลการติดต่อ และข้อมูลว่าหน้ากากทั้งในแบบผู้ใหญ่ และเด็ก เหลือเท่าไหร่ด้วย
แอปฯ ติดตามสถานที่ผู้ป่วย และ GPS ที่เช็กการกักตัวของเกาหลีใต้
มาถึงเกาหลีใต้ ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมาแรง และพุ่งสูงขึ้นเป็นรองเพียงแค่ประเทศต้นทางอย่างจีน แม้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เชื้อแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกาหลีก็เป็นประเทศหนึ่งที่ใช้ Open Data และเทคโนโลยีต่างๆ เช่นแอปพลิเคชัน ในการรับมือ และจัดการกับการป้องกันการแพร่เชื้อด้วย
โดยเกาหลีใต้ ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันที่ใช้ข้อมูลสาธารณะช่วยให้ผู้ใช้สามารถดูว่า พวกเขาอยู่ใกล้กับที่ที่ผู้ป่วย COVID-19 ถูกยืนยัน ทั้งยังสามารถดูวันที่ที่ผู้ป่วยได้รับการยืนยันด้วยข้อมูลด้านประชากรศาสตร์เกี่ยวกับผู้ป่วยและประวัติสถานที่บางส่วนของพวกเขา ซึ่งหนึ่งในแอปฯ เหล่านี้ มีแอปฯ ที่ชื่อว่า ‘Corona 100m’ ที่จะแจ้งเตือนผู้ใช้ หากพวกเขากำลังเข้าใกล้ระยะ 100 เมตร (328 ฟุต) จากจุดที่ผู้ติดเชื้อเคยไปเยือนมา
นักพัฒนาแอปฯ เล่าว่า แอปฯ ติดอันดับ 1 ในรายการดาวน์โหลดมากที่สุดประจำสัปดาห์ใน Google Play ของประเทศ ทั้งยังมีการติดตั้งเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ครั้งทุกๆ ชั่วโมง ซึ่งหลังจากเปิดตัวมา 3 สัปดาห์ แอปฯ ของเขาถูกดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 1 ล้านครั้งเลยด้วย
ไม่เพียงแค่แอปฯ สำหรับประชาชนในการดูข้อมูลผู้ติดเชื้อ แต่ในการตามตัวผู้ติดเชื้อเอง เกาหลีใต้ก็มีเว็บไซต์รายงานการแพร่กระจายของเชื้อ จากข้อมูล Open Data ซึ่งมีการติดตามสถานที่ที่ผู้ติดเชื้อไปในรอบ 10 วัน และแสดงออกให้เห็นเป็นช่วงๆ เช่น จุดสีแดงคือ จุดที่ผู้ป่วยไปในรอบ 24 ชั่วโมง เป็นต้น พร้อมรายงานอัพเดทสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่เรื่อยๆ
เว็บไซต์ coronamap : https://coronamap.site/
เกาหลีใต้เอง ยังมีแอปฯ ที่พัฒนาโดยหน่วยงาน และภาครัฐ เช่น ‘KMA Corona Fact’ โดยสมาคมการแพทย์เกาหลี ที่นอกจากอัพเดทจำนวนผู้ป่วย ผู้เข้าข่ายติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตในเกาหลีใต้แล้ว ยังมีข้อมูลของผู้ป่วยในจีน และในองค์การอนามัยโลก รวมถึงสามารถอ่านงานวิจัยที่เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาได้ด้วย หรือ แอปฯ ‘Self Diagnosis’ โดยกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ที่ใช้กับผู้ที่เดินทางมาจากจุดเสี่ยงที่มีการระบาดของไวรัส ซึ่งกำหนดให้คนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เหล่านี้โหลดแอปฯ เพื่อให้รัฐจัดการกับผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วด้วย
และในช่วงที่ประชาชนจำนวนมากต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังระยะฟักตัวของไวรัสเอง เกาหลีใต้ ยังใช้แอปฯ ที่เชื่อมกับระบบ GPS เพื่อมาตรวจสอบว่า ผู้ที่ต้องถูกกักตัวนั้น อยู่ในบ้าน หรือสถานที่กักกันจริง ซึ่งหากพวกเขาออกจากตำแหน่งที่กำหนดไว้ ระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนด้วย
3 ประเทศนี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ Open Data ของรัฐ ในการเข้ามาช่วยจัดการ และรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะเริ่มเผยแพร่ และให้บริการกับประชาชนไม่ได้เลย หากรัฐไม่เปิดเผยข้อมูล และจัดการฐานข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นระบบ
ซึ่งมองประเทศอื่นแล้ว ก็ทำเอาย้อนมามองประเทศเราว่า ในช่วงสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งบางประเทศมีสถานการณ์ที่วิกฤตกว่าเรามาก แต่การจัดการ และการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับรู้นั้น เรารู้จากทางไหนบ้าง และข้อมูลเหล่านี้ ที่จะสร้างความเข้าใจ และการป้องกันตัวเองของประชาชนมีการเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ได้มากแค่ไหน ?
อ้างอิงจาก