ถ้าให้คุณลองนึกใบหน้าของแฟนคนแรกของคุณที่คิดว่าผูกพันมากที่สุดแล้ว ลองหลับตานิ่งๆ นึกใบหน้าเขาหรือเธอ ค่อยๆ ลืมตาขึ้นแล้วถามตัวเองว่า คุณแน่ใจแค่ไหนว่าใบหน้าในความทรงจำนั้นจะเป็นเวอร์ชั่นเขาหรือเธอที่ใกล้เคียงกับในปัจจุบันมากที่สุด? ถ้ายังไม่มีแฟน ลองนึกถึงห้องนอนที่คุณเคยอยู่ตอนวัยกระเต๊าะ ในห้องนั้นมีสิ่งของอะไรบ้าง คงมีหลายสิ่งในห้องที่ค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลาและความทรงจำ
ในสมองของเรามี ‘ดวงตา’ อยู่ดวงหนึ่งที่คอยจับจ้องอดีต บันทึกเก็บรักษาภาพเหล่านั้นไว้ในสมอง และจัดเรียงไว้เหมือนภาพโพลาลอยด์หนีบซ้อนๆ กันในห้องมืด รอคอยให้คุณเข้าไปทบทวนภาพความจำในห้อง
แต่หลายคนกลับไม่มีดวงตาเพื่อเรียกดูภาพเหล่านั้นราวกับ ‘ตาบอด’ (blind) แม้เราจะจำชื่อเพื่อนได้ นึกถึงวีรกรรมห่ามๆ ที่ทำร่วมกันได้ แต่บางครั้งก็กลับนึกรูปทรงใบหน้าพวกเขาไม่ออก ซึ่งภาวะนี้อาจจะเกิดขึ้นกับทุกคนก็ได้ แต่บางคนอาจมีอาการหนักกว่าขนาดที่ว่านึกหน้าตาของ ‘ผลส้ม’ ไม่ได้ก็ยังมี ดังนั้นหากประสาทวิทยาสามารถไขความลับของจินตนาการที่มืดบอดนี้ได้ อาจช่วยให้เราทำความเข้าใจกลไกลของสมองและความทรงจำอันพิลึกกึกกือมากขึ้น
การสูญเสียความสามารถในการเรียกภาพจากความทรงจำ มีการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ เรียกว่าภาวะ aphantasia โดยศาสตราจารย์ อดัม ซีแมน (Adam Zeman) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Exeter เป็นผู้นิยามความหมายนี้ครั้งแรกในปีค.ศ. 2015 หลังจากเขาได้พบกับผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้ารับการผ่าตัดเกี่ยวกับโรคหัวใจ เมื่อคนไข้ฟื้นขึ้นมากลับสูญเสียทักษะในการเรียกดูภาพจากอดีต เขาไม่สามารถสร้างภาพ (Visualize) ขึ้นมาในจินตนาการได้ เมื่อนอนหลับก็มองอะไรไม่เห็นจากในความฝัน เป็นสิ่งที่ไม่มีรูปมีร่าง แม้ดวงตาจริงๆ ทั้ง 2 ดวงจะใช้งานมองเห็นได้ปกติ แต่ดวงตาจินตาการกลับมืดบอดสนิท คนไข้เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่าน เพราะทักษะการอ่านจำเป็นต้องใช้ทักษะในการมองเห็นและความทรงจำร่วมด้วยเช่นกัน
ภาวะที่พิลึกพิลั่นนี้สร้างความเจ็บปวดต่อจิตใจไม่น้อย แต่สำหรับอดัมแล้ว ปรากฏการณ์นี้สร้างความมหัศจรรย์ให้กับวงการประสาทวิทยาได้หลายมิติ เขาจึงนิยามด้วยคำศัพท์ว่า aphantasia โดยหยิบยืมมาจากคำของนักปรัชญาอริสโตเติลที่มีความหมายว่า ‘mind’s eye’ (ดวงตาของจิตใจ)
ทีมวิจัยทดลองให้คนไข้ที่มีภาวะ aphantasia อธิบายสิ่งของหรือวัตถุง่ายๆ เช่น “ต้นสนหน้าตาอย่างไร” คนไข้กลับตอบว่า “มีสีเขียวเข้มๆ และสีน้ำตาล” น่าสนที่เขาตอบมาเช่นนี้จากความจำ ไม่ใช่จากการที่เคยเห็นในอดีต ไม่สามารถวาดรูปต้นสนออกมาได้ เมื่อนำคนไข้ไปตรวจกิจกรรมสมองด้วยเทคนิค positron emission tomography (PET) พบว่าสมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำและการสร้างภาพนั้นไม่ตอบสนอง นักวิจัยจึงนำเรื่องราวนี้ไปเผยแพร่ในวารสาร Discover ปรากฏว่า มีคนติดต่อเข้ามาหาทีมวิจัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่อ้างว่ามีภาวะใกล้เคียงกับ aphantasia จนมีอาสาสมัครตบเท้าเข้ามามากถึง 12,000 ราย ภายใน 2 ปี (เฉพาะในสหราชอาณาจักรฯ เท่านั้น) กลายเป็นว่า aphantasia มีความหลากหลายกว่าที่คาด มีคนจำนวนหนึ่งที่เป็นตั้งแต่กำเนิด อีกกลุ่มมีอาการหลังจากประสบอุบัติเหตุรุนแรง และอีกไม่น้อยที่เป็นหลังจากเผชิญภาวะจิตใจปั่นป่วน เช่น โรคซึมเศร้า หรืออาการหวาดวิตก แต่สิ่งที่คล้ายๆ กันคือ คนที่มีอาการ aphantasia มักไม่ค่อยฝัน หรือเกิดจินตนาการใดใดระหว่างนอนหลับ
กลุ่มอาสาสมัครได้เข้าร่วมการสแกนสมอง พบว่า สมองส่วนที่มีอิทธิพลให้เกิดภาวะ aphantasia คือโครงข่ายประสาทส่วน กลีบสมองข้าง (parietal lobes) และ กลีบสมองหน้า (frontal lobes) อันเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ที่ควบคุมการตัดสินใจ ความทรงจำใช้งาน (working memory) ความทรงจำระยะยาว (long term memory) ซึ่งมีความเป็นไปได้หลายประการที่สมองทั้ง 2 ส่วนจะทำงานไม่เข้าขากัน มีตัวอย่างของคนไข้ผู้หนึ่ง เมื่อทีมวิจัยนำภาพใบหน้าคนมาให้ดู คนไข้ผู้นี้สามารถมองเห็นปกติ บอกได้ว่าบุคลิกลักษณะคนนี้เป็นอย่างไร แต่เขาไม่สามารถบอกได้ว่าภาพคนนี้เป็นใคร ทั้งๆ ที่เป็นภาพญาติตัวเองแท้ๆ กิจกรรมสมองบอกได้ว่าเขาพยายามจะจินตนาการถึงชายผู้นี้ แต่สมองอีกส่วนไม่สามารถไปกู้ความทรงจำมาได้ ทำให้เขาบอกว่า ‘ไม่รู้จัก’ แบบไม่ค่อยแน่ใจตัวเองนัก ซึ่งในกรณีคนไข้รายนี้สูญเสียการเชื่อมโยงของสมอง 2 ส่วนไประหว่างที่ผ่าตัดหัวใจและเกิดอาการชักกะทันหัน อันน่าจะมีส่วนทำให้กิจกรรมประสาทผิดพลาด
กระนั้นเองยังไม่มีงานตีพิมพ์ที่ระบุถึงการศึกษาระยะยาวกับคนที่เป็น aphantasia ตั้งแต่กำเนิด ส่วนใหญ่เพิ่งมาเริ่มศึกษากันกับคนไข้ที่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ทั้งสิ้น โดยมีสมมติฐานว่าอาการ aphantasia อาจส่งต่อได้ผ่านพันธุกรรม หรือน่าจะเกิดได้กับคนที่ร่วมเนื้อเชื้อไขเดียวกับคนที่เป็นอาการผิดปกติทางการมองเห็น aphantasia ยังเป็นอาการปริศนา มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาค่อนข้างน้อย และไม่ปรากฏชื่อ term อยู่ยาวนานหลายปี เพราะคนไข้ตัวจริงไม่ปรากฏตัว (หรือจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น) ในกรณีที่ไม่ได้อาการหนัก หลายคนยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยเลี่ยงไปใช้ผัสสะอื่นแทน เช่น การได้กลิ่น ฟังเสียง หรือจดจำเป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ‘kinaesthetic’ เพราะยังมีผัสสะอื่นๆที่ทดแทนด้วยกันได้ นอกจากมี ‘mind’s eye’ (ดวงตาของจิตใจ) แล้ว มนุษย์ยังมี ‘mind’s ear’ (หูของจิตใจ) และ ‘mind’s nose’ (จมูกของจิตใจ) อีกต่างหาก หลายคนอาจมีปัญหากับความจำ แต่อีกหลายคนเมื่อใช้ผัสสะอื่นทดแทนก็ยังช่วยให้จดจำได้
แพทย์ยังไม่จัดว่า aphantasia เป็น disorder ที่ต้องเข้าการรักษาทันที แต่เป็นอีกมิติหนึ่งของผัสสะประสบการณ์ของมนุษย์ แม้ว่าคุณจะไม่สามารถสร้างภาพจากจินตนาการ แต่ยังมีกลิ่น เสียง ผิวสัมผัส ที่ยังสามารถนำไปใช้ทำงานสร้างสรรค์อื่นๆ ได้
เราต่างใช้กลยุทธ์ในการรับประสบการณ์บนโลกนี้แตกต่างกัน คุณอาจจะมีอาการ aphantasia ที่ดวงตาของจิตใจอาจมืดไปบ้างอย่างไม่รู้ตัว แต่การ ‘เห็นทุกอย่าง’ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจโลกใบนี้ทั้งหมด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Lives without imagery –congenital aphantasia Adam Zemana, Michaela Dewarb, Sergio Della Sala