‘พลาสม่า’ (plasma) ของเหลวสีออกเหลืองที่มีอยู่ในเลือดราว 55% ของคุณเป็นอีกหนึ่งความหวังเพื่อผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน พลาสม่าของคุณจะยิ่งมีค่าในมิติทางการแพทย์ นี่จึงทำให้สาธารณสุขทั่วโลกพยายามออกแคมเปญให้ผู้หายจากไวรัส COVID-19 กลับไปโรงพยาบาลอีกครั้ง โดยคราวนี้เปลี่ยนจากฐานะ ‘ผู้ป่วย’ เป็น ‘ผู้ช่วยเหลือ’ ด้วยการบริจาคพลาสมา
แพทย์จะเอาพลาสม่าคุณไปเพื่ออะไร? พลาสม่ามีความสำคัญขนาดไหน? ทั้งๆที่การบริจาคพลาสมา ถือเป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่มีอายุอานามก็ปาไปหลายปี หรือจะเรียกว่า ‘โบราณนานนับศตวรรษ’ ก็ว่าได้ เพราะโลกรู้จักการให้พลาสม่ารักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี ค.ศ.1918 แต่ในวิกฤตโลกระบาดปัจจุบันที่ผ่านมาเกือบร้อยปี เราก็ยังใช้วิธีนี้ในการรักษาอยู่ โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และไทยเองจึงต้องการพลาสม่าในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 อย่างเร่งด่วน
โปรตีนภูมิคุ้มกันในเลือดคุณ
ต้องย้อนกลับไปช่วงที่โรงพยาบาลในกวางตุ้ง ประเทศจีนกำลังเผชิญกับโรคระบาดก่อนหน้าอย่าง ไวรัสโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS) ที่ระบาดรุนแรงเมื่อ 17 ปีก่อน ห้องฉุกเฉินเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจเร่งด่วน ขณะนั้นโรงพยาบาลหลายแห่งในปักกิ่งใช้พลาสม่าที่มี antibodies ได้จากผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วเรียกว่า ‘น้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน’ (convalescent plasma) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดี
โดยจุดเด่นการรักษาด้วยน้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันนั้นคือ ความฉับไวในการพร้อมรักษา เพราะเมื่อการรอคอยยาและวัคซีนอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าวัคซีนตัวจริงจะถึงมือแพทย์ แต่พลาสมานั้นหากมีในสต็อกแล้ว ก็สามารถนำมาใช้ได้ทันที (เมื่อตรวจสอบแล้วว่าปลอดเชื้อก่อโรคอื่นๆ) ถือเป็นกระบวนการรักษาทดแทนชั่วคราว (stopgap measure) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้น้อยลง โดยเฉพาะผู้ป่วยในห้อง ICU เพราะหากการครองเตียงน้อยลง ระบบโลจิสติกส์ภายในของโรงพยาบาลจะมีที่ว่างพอระบายผู้ป่วยอื่นๆ และทำให้แพทย์ทำงานสะดวกขึ้น ไม่ให้เกิดภาวะแออัดในโรงพยาบาล
ในกรณีโรคระบาดปัจจุบัน COVID-19 ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA อนุญาตให้ใช้พลาสม่าเข้าร่วมในการรักษาได้ มี 2 โรงพยาบาลแรกในสหรัฐอเมริกาคือ Mount Sinai และ Albert Einstein College of Medicine ที่ได้เริ่มใช้รักษาด้วยพลาสม่าควบคู่กัน ขณะเดียวกันนักวิจัยจาก Albert Einstein College of Medicine พยายามศึกษาประสิทธิภาพในการใช้พลาสม่า โดยแบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจะเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่อาการไม่รุนแรงมาก นักวิจัยจะใช้พลาสม่าเข้าช่วยในการรักษาอาการแล้วสังเกตว่า ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างไรและใช้เวลาเท่าไหร่ที่โรคจะเข้าสู่ state ต่อไป กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรง นักวิจัยจะศึกษาว่าพลาสม่าจะช่วยชะลอการติดเชื้อได้ไหม ผู้ป่วยใช้เวลาเท่าไหร่ในการพักฟื้นในห้อง ICU และกลุ่มสุดท้าย คือคนที่สุขภาพดีอยู่แล้ว แต่มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น บุคคลการทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มนี้จะทดลองรับพลาสม่าเพื่อหมายจะให้เป็นมาตรการป้องกัน (preventive measure) แล้วศึกษาว่าอัตราการติดเชื้อจะเป็นอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้เมื่อทำการเก็บข้อมูลก็ใช้เวลาไม่มากนัก เพียง 1 เดือนก็อาจได้ผลสรุป และหากข้อมูลไปในทิศทางเชิงบวก การใช้พลาสม่าอาจเข้ามาทดแทนในการรักษาการแพทย์สมัยใหม่ได้
น้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (Convalescent plasma) มีคุณสมบัติสำคัญในการต่อต้านไวรัส เมื่อร่างกายของเราส่ง antibodies เป็นทัพหน้าพยายามต่อสู้กับไวรัสที่รุกราน แม้ไวรัสจะอ่อนแรงลงและถูกกำจัดออกจากร่างกายไปแล้ว แต่ antibodies ยังคงประสิทธิภาพในการต่อต้านอยู่อย่างน้อยที่สุด 3 เดือน ซึ่งหากนานไปกว่านี้ antibodies อาจลดประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ นี่จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่แพทย์ต้องได้รับพลาสม่าหลังจากที่คุณหายแล้วภายใน 3 เดือน แต่ผู้ประสงค์บริจาคจะต้องหายแล้วจาก COVID-19 และผ่านการกักตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 14 วันก่อนที่ จะจัดเป็นกลุ่ม qualify ที่จะมาบริจาคพลาสม่าที่โรงพยาบาล
การใช้พลาสม่าในการรักษาได้ผลที่ค่อนข้างดี เมื่ออาการของผู้ป่วยดีขึ้นในระยะ 48 ชั่วโมงหลังจากได้รับพลาสม่า ผู้ป่วยอาการ ICU หลายคนหายใจได้เองได้ และไม่ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจ ทำให้แพทย์มีทางเลือกมากขึ้น เพราะการรอคอยวัคซีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการแข่งกับเวลาและการระบาดที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
กลไกของ antibodies ในร่างกายมนุษย์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมหัศจรรย์ และที่สำคัญคือ สามารถถ่ายทอดให้กันได้ เราสามารถนำภูมิคุ้มกันของคนสุขภาพดีให้กับผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ องค์ความรู้นี้ถือว่ามีมานานตั้งแต่ปี ค.ศ.1890 ที่ผู้ป่วยโรคคอตีบ (Diphtheria) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtherriae ที่คนหายดีสามารถส่งให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่อสู้ และเหตุการณ์อีกครั้งถือเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สามารถช่วยผู้คนนับล้านให้รอดชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ที่เกิดจากเชื้อไวรัส H1N1 ในปี ค.ศ.1918 ได้สำเร็จ
แต่ก็ใช่ว่าการให้พลาสม่าจะเป็นกระสุนเงินที่แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ สารภูมิคุ้มกันในพลาสมาเองมีหลายชนิด แต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน ผู้บริจาคพลาสม่ามีสารเหล่านี้หลายตัวในเลือด เมื่อผู้ป่วยได้รับพลาสม่า ก็ยังบอกได้ยากว่า สารภูมิคุ้มกันตัวไหนที่มีประสิทธิภาพในการรักษาดีที่สุด แต่ละคนก็มีภูมิคุ้มกันไม่เหมือนกัน จึงทำให้แต่ละถุงจึงเหมือนการสุ่มอยู่เหมือนกันที่ผู้ป่วยจะได้ Batch ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด และการกระตุ้นภูมิด้วยพลาสม่าเองก็ยังมีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการอักเสบที่ปอดและอาจเกิดภาวะภูมิแพ้ต่างๆได้
ในช่วงที่โรคอีโบลาระบาดในแอฟริกา การรักษาด้วยพลาสม่าถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้หลายประเทศพ้นวิกฤต เนื่องจากพลาสม่ามีคุณสมบัติ ต่อต้านเชื้อโรค และช่วยในการแข็งตัวของเลือด เพราะโรคอีโบลามักมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เลือดไหลไม่หยุด ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกง่าย หากมีบาดแผลหรือเลือดออก เลือดจะหยุดยาก จึงจำเป็นต้องให้พลาสม่าเพื่อเพิ่มปริมาณปัจจัยการแข็งตัวของเลือด
แม้เป็นศาสตร์ที่ใช้รักษามานานกว่าศตวรรษ ในปัจจุบันการให้พลาสม่ายังเป็นทางเลือกในสถานการณ์จวนตัวที่ต้องแข่งกับเวลา เราควรมีทางเลือกดีกว่าไม่มีเลย ซึ่งปัจจุบันกระบวนการเก็บพลาสม่าจากผู้ให้บริจาคมีความปลอดภัยสูง อย่างกรณี ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสม่า ของสภากาชาดไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตยาตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดีในการผลิตยา (GMP) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเภสัชตำรับของยุโรป (European Pharmacopeia) มีกำลังผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสม่าสูงถึง 200,000 ลิตรต่อปี
โดยเน้นพลาสม่า 3 ชนิดคือ Factor VIII (แฟคเตอร์ 8) ใช้รักษาโรคเลือดออกง่ายหยุดยากทางพันธุกรรม Immunoglobulin (อิมมูโนโกลบูลิน) ใช้รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง และชนิดที่ 3 Albumin (อัลบูมิน) ใช้รักษาโรคเรื้อรังที่มีภาวะขาดสารอัลบูมินในกระแสเลือด
ดังนั้นหากคุณสนใจเป็นผู้บริจาคพลาสม่า อาจต้องมีคุณสมบัติสำคัญคร่าวๆ คือ อายุ 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปี ผู้ชายควรมีน้ำหนัก 55 กิโลกรัมขึ้นไป และ ผู้หญิงน้ำหนัก 60 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถบริจาคที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ครั้งและต้องไม่เว้นระยะการบริจาคนานเกิน 6 เดือน
ก่อนไปบริจาคอาจจะต้องงดอาหารไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เพื่อไม่ให้ ถ้าผลของค่าไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์สูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากนั้นพลาสมาที่ได้จะถูกแช่แข็ง (fresh frozen plasma, FFP) จะถูกเก็บรักษาไว้ในธนาคารเลือด หากมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ พลาสม่าจะถูกนำมาละลายเพื่อให้แก่ผู้ป่วยต่อไป
คนหายป่วยจึงมีโอกาสเป็นผู้ช่วยเหลืออีกครั้งผ่านศาสตร์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าลี้ลับและซับซ้อนเป็นอันดับที่ 2 รองจากสมองของคุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Immune responses in COVID-19 and potential vaccines: Lessons learned from SARS and MERS epidemic
Effectiveness of convalescent plasma therapy in severe COVID-19 patients
Convalescent plasma as a potential therapy for COVID-19