สำหรับบางคน จุดตัดสินใจก้าวใหญ่ก้าวแรกในชีวิต ก็คือการต้องคิดว่า จะเข้าเรียน ‘สายวิทย์’ หรือ ‘สายศิลป์’ บางคนชอบเรียนวิทยาศาสตร์ ไปพร้อมกับการเรียนศิลปะ อยากจะเรียนทั้งสองอย่างควบคู่ไปด้วยกัน แต่ก็ต้องเลือกซักทางตามที่การศึกษาขีดเส้นมาให้
ซึ่งเมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างกลายเป็นออนไลน์ มีระบบการทำงานของ AI หุ่นยนต์เก่งเทียบเท่าเราขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังมีการถกเถียงกันว่า สายวิทย์ หรือสายศิลป์อะไรสำคัญกว่า สายไหนเรียนแล้วไม่ตกงาน จนกระทั่งสายศิลป์หรือมนุษย์ศาสตร์อาจจะตายแล้วในยุคดิจิทัล
ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อาจารย์ภาคภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้พูดกับเราถึงมนุษย์ศาสตร์ในโลกยุคดิจิทัลว่า สายศิลป์จะไม่มีวันตาย และจะมีส่วนต่อการพัฒนา AI มากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงการพูดคุยเรื่องระบบการศึกษาของการแยกสายศิลป์ สายวิทย์ในโรงเรียน ว่าในอนาคตนี้ การแบ่งแยกศาสตร์ยังจำเป็นไหม
เป็นคนที่เรียนสายศิลป์มา แต่ทำไมหันไปสนใจเรียนทั้งด้านสถิติ และเรื่อง Data science
ตอนเด็กๆ เป็นเด็กสายศิลป์ ชอบภาษา และวรรณคดีมาก ตอนนั้นที่ได้ทุนไปเรียน เราก็คิดว่าจะไปเรียนด้านนี้กลับมา แต่เผอิญที่มหาวิทยาลัย เขามีโปรแกรมเรื่อง AI, Cognitive Science และ Computer Science ที่ค่อนข้างแข็งแรงมาก มีคนไปลงเรียนเยอะ
เราเลยลองไปเรียนบ้างแล้วรู้สึกชอบมาก เราก็ไปเจอศาสตร์คือ Computational linguistics หรือ Natural language processing ก็คือการใช้เทคโนโลยีทางภาษา ตอนปี 3 เราก็รู้สึกว่าอันนี้แหละใช่เลย เพราะรวมความสนใจทางภาษา มารวมกับคอมพิวเตอร์ และทำให้มันเจ๋งได้
เรียกว่าก็ต้องเปลี่ยนสายนิดนึงใช่ไหม
จะว่าอย่างนั้นก็เกือบจะใช่ เพราะงานของผมตอนนี้มันออกไปทางคอมพิวเตอร์เยอะก็จริง แต่ก็มีงานอีกส่วนนึง อีก 50% ที่เราจะต้องลงไปดูข้อมูลเรื่องภาษาเอง เช่นว่าเราจะใช้ทฤษฎีอะไรไปจับกับมัน เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาได้ ถ้าเราจะให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ ความรู้สึกของข้อความ จะมีวิธีการวิเคราะห์มันยังไง ถ้าเกิดเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราก็ถ่ายโอนไปยังอัลกอริทึ่มคอมพิวเตอร์ให้เข้าใจได้ ดังนั้นผมจึงคิดว่า มันยังมีความครึ่งๆ ทั้งสองสายอยู่
ต้องปรับตัวอะไรเยอะไหม จากตอนแรกที่ตั้งใจมาเรียนด้านศิลป์ แต่ไปเรียนกึ่งๆ สายวิทย์แทน
จริงๆ ตอนนั้นเรียนสายศิลป์ไป ก็เผอิญพอจะรู้แบบเลขอยู่บ้าง การแก้ปัญหาก็พอจะได้ และที่นั่นไม่มีกำแพงกั้นจริงๆ ว่าคุณสายศิลป์ หรือสายวิทย์ คุณเข้ามาในมหาวิทยาลัย เรียนได้ทุกอย่างเลย เพราะเขารู้ว่าบางคนก็เจอ passion เร็ว บางคนก็เจอช้า เขาเปิดโอกาสจริงๆ
เราเองก็ปรับตัวเยอะเหมือนกัน เพราะในมหาวิทยาลัยมีคนเก่งๆ เยอะ คนที่ต้องการมาต่อยอดสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว บางคนเขียนโค้ดเป็นตั้งแต่อายุ 12 ปี เราในตอนนั้นอายุจะ 20 ปีแล้วก็ต้องไปแข่งกับเขาเหมือนกัน ส่วนเรื่องวิชาอย่างคณิตศาสตร์เราก็เรียนตามทันกันหมด ถ้ามีคนเปิดโอกาสให้เราได้เรียน ผมว่าเราเรียนกันได้ทั้งนั้น มันอยู่ที่ว่า เราจะพร้อมเปิดรับสิ่งนั้น คิดว่าเราเรียนได้ จิตใจ สมอง ความฉลาดของเรามันต้องเติบโตไปเรื่อยๆ มันอยู่ที่ attitude ของเราด้วย
ในฐานะที่อาจารย์สนใจสายวิทย์ การกลับมาทำงานอยู่ในคณะสายศิลป์เป็นยังไงบ้าง
มันเป็นคณะสายศิลป์โดย signature ของมัน ว่าคณะนี้ต้องเรียนภาษา วรรณคดี แต่จริงๆ มันมีหลากหลายกว่านั้น ทั้งภูมิศาสตร์ ปรัชญา ภาษาศาสตร์ ผสมกันอยู่บ้าง แต่ผมว่ามันดีตรงที่ว่าเราก็ทำงานข้ามสาขากันได้ เอาสิ่งที่เราสนใจ เทคนิคของเรามาทำงานกับสาขาอื่น
เช่น ตอนนี้ ผมทำงานกับอาจารย์ภาคภาษาไทย ซึ่งเขากำลังศึกษาเรื่องการอุปมา อุปไมย การเปรียบเทียบ ผมก็มองว่าทางภาคภาษาศาสตร์ก็มีเทคนิคของเรา ในการตรวจหาการอุปมาอุปไมย และคัดกรองคำอุปมา อุปไมยมาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อที่จะวิเคราะห์ง่ายๆ วิเคราะห์เชิงประมาณได้ด้วย ก็มีการคุยกันในลักษณะนี้ ทำให้ศาสตร์มันไปได้เร็วมากขึ้น ผมว่าอันนี้เป็นข้อดีมากกว่า
จากการที่อาจารย์เรียนทั้งสองสายมา คิดวิชาสายศิลป์ หรือมนุษยศาสตร์ ยังจำเป็นไหมในโลกยุคดิจิทัล
ผมว่าสายศิลป์มันเป็นอะไรที่ไม่มีวันตายจริงๆ เพราะสายศิลป์มันคือมนุษย์ศาสตร์ มันเกี่ยวกับมนุษย์ เราก็ยังเป็นมนุษย์อยู่วันยันค่ำ เราจะใช้เทคโนโลยีขนาดไหนก็ตาม
จริงๆ เรียกว่าข้อมูลทางมนุษยศาสตร์มันเปลี่ยนไปมากกว่า แต่ก่อนมันอยู่ในหนังสือ นิตยสาร เวลาจะไปหาข้อมูลอะไร ก็ต้องไปหาในจดหมายเหตุ นิตยสารเก่าๆ แต่ตอนนี้ข้อมูลเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์ แต่มันก็ยังคงเป็นข้อมูลทางมนุษยศาสตร์ชุดเดิม เผลอๆ มีบทบาทมากกว่าเดิมด้วย เพราะสมัยก่อน ใครจะเขียนหนังสือ จะต้องเป็นนักข่าว นักเขียน ต้องผ่านการกลั่นกรอง ผ่านสำนักพิมพ์ แต่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เขียนได้แล้ว
ถ้ามนุษยศาสตร์มีบทบาทมากขึ้น ก็ต้องใช้คนมากขึ้นในการมานั่งอ่านข้อมูล หรือการสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งมันกลายเป็นอาชีพที่ไม่มีใครนึกมาก่อนว่าจะมาถึงขนาดนี้ เดี๋ยวนี้องค์กรไหนๆ ก็จะมี Social Media Manager, Content Manager เพื่อจะได้เอ็นเกจกับคนที่มาฟอลโลว์ กับลูกค้า ให้ได้ติดตามข่าวสารกับองค์กรของเรา นี่มันเป็นอาชีพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และมันขยายตัวด้วยซ้ำมากกว่าจะตายไป ผมว่าอะไรๆ ที่ยังต้องดีลกับมนุษย์อยู่ ผมว่ามนุษย์ศาสตร์ก็ยังไม่ตาย
แล้วทำไมถึงมีวาทกรรมว่า สายศิลป์จะตายเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา
เพราะว่าคนที่มองแบบนั้น คือคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยี แต่จริงๆ แล้วองค์กรไหน ทำงานแนวไหนก็ตาม ก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์อยู่ แม้จะมีผลิตภัณฑ์ มีเทคโนโลยีที่เลิศหรูมาก ยังไงก็ต้องมีฝ่าย marketing, content หรือ PR ซึ่งพวกนี้มันก็ยังเป็นมนุษยศาสตร์
ต้องอาศัยทักษะเกี่ยวกับการเขียน เขียนให้เร็ว เพราะเดี๋ยวนี้ก็ต้องเร็วขึ้น เขียนให้น่าสนใจ การรับ input การอ่าน เพราะข้อมูลมันเยอะขึ้น ก็ต้องหาคนที่อ่านได้เร็ว วิเคราะห์ได้เร็ว ผมว่าอันนี้จริงๆ มันเป็นสกิลที่มองไม่เห็น เช่น บางคนอ่านหนังสือชั่วโมงนึงได้ 10 หน้า แต่อีกคนอ่านได้ 60 หน้า แต่ก็ไม่มีใครมารู้ มาเทียบกัน ว่าใครอ่านเร็วกว่ากัน ใครอ่านได้กระจ่างกว่ากัน จะมารู้กันจริงๆ ก็ตอนบริบทของการทำงาน
ในโลกที่กำลังเป็นยุคดิจิทัล มักมีการมองว่า การเรียนสายมนุษยศาสตร์ มีโอกาสตกงานมากกว่าสายวิทย์ หรือถูกมองว่าไม่จำเป็นเมื่อเทียบกับสายวิทย์
ถ้าพูดว่าสายศิลป์จะตกงานมากกว่า ผมว่าเราต้องพูดกันด้วยสถิติจริงๆ มากกว่า คนที่เรียนสายวิทย์ มันจะมีความเข้มงวดที่ตายตัว ที่เห็นผลงานออกมา เช่นถ้าเรียนวิศวะ ต้องสร้างตึกให้ได้ ไม่งั้นจะไม่ได้ใบประกอบ แต่ในขณะที่คนเรียนสายศิลป์จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการศึกษาของตัวเองสูง เพราะอาจารย์มันไม่มีทางมาเช็คตัวนักเรียนได้อย่างละเอียด ว่าอ่านหนังสือกระจ่างแค่ไหน เข้าใจมากเข้าไหน หรือเช็คคำตอบได้ถูกอย่าง ในขณะที่บางอย่างเองก็ไม่มีถูกผิดตายตัว
สมมติเขียน essay เกี่ยวกับหนังสือเล่มนึง คุณก็อาจจะอ่านมาแค่ครึ่งเล่ม และเขียนให้พอผ่านไปได้ มันก็ทำให้เอาตัวรอดไปได้เยอะ ส่วนทางสายวิทย์ ถ้าคุณคำนวณผิดก็คือผิด ดังนั้นก็จะมีคนที่รอดไปในทางสายศิลป์เยอะ แต่ว่าไม่มีสกิลที่จะไปทำงานได้จริง
ซึ่งถ้ามองในเชิงของอาชีพ มันเป็นอาชีพที่แตกต่างกันมากกว่า แต่ยังไงในตลาดแรงงานก็ต้องมีทั้งสองสาย
พูดถึงโลกยุคดิจิทัล ก็ต้องพูดถึงหุ่นยนต์ หรือ AI ถ้าสายวิทย์มีหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ และสายศิลป์จะมีส่วนร่วม หรือบทบาทได้อย่างไร
เดี๋ยวนี้เวลาพูดถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เราจะพูดเรื่องนวัตกรรมว่ามันจะเป็นส่วนสำคัญ ถ้าเรานึกถึงอาชีพในอนาคตว่าจะมาจากนวัตกรรมจริง ผมว่าความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์จะมีประโยชน์มาก เช่น ถ้าเกิดเราจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมา เราต้องหาว่า โจทย์ของสังคมคืออะไร และมันจะมาแก้ไขปัญหาอะไรของสังคม ซึ่งถ้าไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้ ค้นคว้าเรื่องพวกนี้ เราก็จะไม่รู้ว่ามันมีปัญหาอะไร
สมมติเราสร้างซอฟต์แวร์ที่มันมีความเป็นสังคมขึ้นมา คนต้องมีโต้ตอบกัน ต้องมีคนให้คอนเทนต์ อย่างเช่นเฟซบุ๊ก ถ้าเราไม่มีนักมนุษยศาสตร์เราอาจจะไม่รู้ว่า fake news มันเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นถ้ามีนวัตกรรม มันก็ต้องมีการเกี่ยวข้องด้านสังคมตามมา ผมว่าความรู้มนุษยศาสตร์จะมาช่วยตรงนี้
หรือบางด้าน อาจจะไม่ใช่แค่มาเสริม แต่กลายเป็นแกนหลัก เช่นด้านภาษา ถ้าเราอยากให้เครื่องมันเข้าใจความหมายของคำ ความหมายของประโยค ในระดับที่สามารถแปลเป็นอีกภาษานึงได้ หรือในระดับที่ตอบคำถาม โต้ตอบกับมนุษย์ได้ ก็ต้องใช้ทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์ ซึ่งคนที่ศึกษาเรื่องนี้ ก็คือนักภาษาศาสตร์ ว่ามี ความหมายในระดับไหนบ้าง ทั้งระดับคำ ระดับประโยค กลุ่มคำ และที่เป็นบทสนทนา ที่เราจะได้เห็นว่า ถ้าจะทำให้เครื่องเข้าใจความหมาย มันต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง
หรือถ้าจะสร้างโปรแกรม ให้สามารถโต้ตอบ เช่น งานบริการลูกค้าให้ตอบคำถามง่ายๆ เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับบทสนทนาว่ามันมีทิศทางไหนได้บ้าง เช่น เวลาตอบคำถาม เราไม่จำเป็นต้องตอบด้วยประโยคบอกเล่า แต่เราตอบด้วยประโยคคำถามได้ เช่น ถามทำไมหรอ นี่ก็เป็นคำตอบได้เหมือนกัน
อาจารย์มองว่ามีโอกาสที่นักมนุษยศาสตร์จะสามารถเติมเต็ม AI ให้ใกล้เคียง ‘มนุษย์’ อย่างเราได้เลยไหม
ผมว่านักมนุษยศาสตร์จะเป็นบทบาทสำคัญเลย อย่างแรก เราพูดว่าอยากให้ AI เป็นมนุษย์มากขึ้น ‘มนุษย์คืออะไร ?’ อันนี้เป็นคำถามแรกที่เราต้องรู้จุดหมายก่อน แล้วใครละ ที่ศึกษาว่ามนุษย์คืออะไร ก็มนุษยศาสตร์ นักปรัชญา วรรณกรรมต่างๆ
ถ้าพูดว่ามนุษย์ต้องมีความทรงจำ ต้องมีความสัมพันธ์กับอดีตของตนเอง ต้องมีอารมณ์ มีการความรู้สึกสำคัญไหม อารมณ์ หรือความรู้สึกต้องแสดงออกยังไง มันก็เห็นแง่มุมแล้วว่า ถ้าเราต้องการให้ใกล้เคียงความเป็นมนุษย์ต้องทำยังไง
แล้วตัวอาจารย์ในฐานะที่ศึกษาด้านนี้มา อาจารย์มองว่ามันมีโอกาสไหม ที่ AI จะเป็นเหมือนมนุษย์ใกล้เคียงแบบเราๆ มาทำงานด้วยกันเลยได้ไหม
อันนี้เราก็ต้องคุยกันก่อนอีกว่า ‘มนุษย์คืออะไร?’ ถ้าสมมติเราบอกว่า ‘มนุษย์’ สามารถพูดคุยตอบโต้และมีปัญญา สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผมว่ามันก็มีความเป็นไปได้ แต่ว่าเมื่อไหร่ก็เป็นอีกคำถามนึง ที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบจริงๆ เพราะว่าถ้าพูดถึงความเป็นมนุษย์ มนุษย์มันมีหลายมิติจริงๆ มีหลายบทบาท
ถ้าเราพูดถึง AI ในบทบาทอย่างเช่น พนักงานบริการลูกค้า, ประชาสัมพันธ์ หรือไม่ก็พนักงานต้อนรับ ถ้าเกิดว่าเราสร้าง AI ขึ้นมา แล้วมันสามารถทำตามงานของมันได้ 100% เราคิดว่านั่นมนุษย์หรือยัง มันก็ยังไม่ใช่ซะทีเดียวใช่ไหม แต่เขาก็สามารถเติมเต็มตามบทบาทของเขาได้ ถ้าเกิดเราพูดในแง่เป็นมนุษย์ในบทบาทพวกนั้น ผมว่าก็ใกล้แล้ว
แต่ถ้ามนุษย์ในแบบของ Her ที่คุยกันได้ทุกเรื่อง ทำได้ทุกอย่าง มีอดีต มีการรับรู้อดีตของอีกฝ่าย มีอารมณ์ มีเพื่อน มีสังคมเหมือนมนุษย์ ก็แล้วแต่ว่าเราจะนิยามว่ามนุษย์เป็นแบบไหน แต่แบบนั้นผมว่าก็ยังไกล
บางทีเราพูดเรื่อง AI คนก็จะพูดว่ามันจะเหมือนมนุษย์ จะมาคุกคามเราหรือเปล่า จริงๆ แล้วเราควรจะต้องกลัวมันไหม
มันก็มีแง่มุมของความน่ากลัว ถ้าเกิดเอาไปใช้ในการทหาร ซึ่งจริงๆ ตอนนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าเราไม่ได้เห็น มันไม่ได้มาทิ้งระเบิดแถวนี้ เช่นโดรนสไตรค์ ที่มีมาเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งมันก็คือ AIที่บินและไปทิ้งระเบิดเอง แล้วบินกลับมา และเดี๋ยวนี้ก็มีบริษัทโรบอท ที่มีแขนมีขา โยนของไปแล้วรับได้ สู้ป้องกันตัวเองได้ ถ้าเกิดเอาไป apply ในแง่การทหารมันก็น่ากลัวเหมือนกัน
แต่จริงๆ อย่างโดรน เราก็เอาไปใช้ส่งของก็ได้ จะได้ไม่ต้องจ้างคนขับรถ แต่จะเอาไปทิ้งระเบิดมันก็ได้เหมือนกัน อยู่ที่ใช้มันแบบไหน ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ที่มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ต้องตามให้ทัน ถ้าเทคโนโลยีมาระดับนี้แล้ว กฎหมายก็ต้องไปให้ทัน
อย่างนี้ก็ต้องมีเรื่องจริยธรรมกับ AI ด้วยใช่ไหม
ใช่ครับ อันนี้ก็เป็นสาขาการวิจัยที่นักปรัชญาเขาคุยกัน ที่จะพูดถึงเรื่องของศีลธรรม ความดี และความชั่วคืออะไร? ประเด็นนี้มันไม่ได้ไกลขนาดนั้นแล้ว เช่น รถยนต์ไร้คนขับ ถ้ามันไปชนใครขึ้นมา ปกติแล้วเราต้องพูดถึงเรื่องเจตนา ผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่เราเคยคิดกันขึ้นมา และมันได้ผลกับบริบทเก่าๆ มันอาจจะไม่เวิร์กแล้ว จะต้องทำไง ต้องโทษบริษัทที่ทำ คนที่ซื้อรถ หรือคนที่กดปุ่มบังคับ
แล้วในด้านตลาดแรงงาน มันมีความน่ากลัวในด้านที่จะมาแย่งงานเราไหม
ผมว่าเทคโนโลยีมันก็มาแย่งงานของเราอยู่เรื่อยๆ นะ เช่น การซักผ้า แต่ก่อนมันเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ พอต่อมาก็มีเครื่องซักผ้ามา ซึ่งมันเป็นเทคโนโลยีที่เราเกิดมามันก็มีอยู่แล้ว มันก็เป็นเทคโนโลยีที่มาแย่งงานคนซักผ้าไป แล้วเราคนทั่วไปก็ยังมีงานทำกันอยู่ เพียงแต่ว่างานที่เราไม่อยากทำมันหายไปเรื่อยๆ
ตอนนี้เรามีการขี่มอเตอร์ไซค์ส่งของ ถ้าต่อไปเราใช้โดรนบินส่งของจากโกดังไปที่อื่นๆ งานตรงนี้ก็จะหายไป ผมว่ามันเป็นการทำให้ตลาดงานเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มากกว่า ก็จะมีอาชีพใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ มีคนที่คอยดูแลโดรนพวกนี้ หรือเป็นคนที่คอยเช็คสินค้าจริงๆ ว่าคนที่ได้รับสินค้าพอใจจริงๆ ไหม ผมว่าเวลาที่คิดนวัตกรรม จะคิดในลักษณะว่าปัญหาของมันคืออะไร อะไรที่คนไม่ได้อยากทำ แล้วจะไปแก้ในส่วนนั้นมากกว่า
หรืออย่าง ‘การแปล’ เดี๋ยวนี้เราเห็นว่า google translate มันเก่งมากเลย อีกหน่อยนักแปลจะตกงานไหม ผมมักจะได้คำถามนี้ประจำ ซึ่งผมว่ามันก็ไม่ขนาดนั้น ถ้าเกิดแปลหนังสือ หนังสือมันอยู่กับเราตลอดไป ยังต้องมีคนมานั่งอ่านอยู่ดี มาเช็ค output ของมัน มีเวลาไปลงรายละเอียดกับการแปลมากขึ้นมากกว่า ไม่เหมือนการแปลทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กโพสต์ หรือแคปชั่นอินสตราแกรมที่เดี๋ยวก็หายไป
บทบาทของนักแปลอาจจะไม่ใช่การมาแปลทีละประโยค แล้วพิมพ์ๆ แต่อาจจะเป็น translate editor คือมา edit ให้มันสอดคล้องกับภาษาต้นฉบับจริงๆ ผมว่างานมันจะเปลี่ยนไป แต่คนก็ยังมีงานทำ มันแค่จะเปลี่ยนไปเป็นอีกรูปแบบนึง และชีวิตมันจะสบายขึ้น เพราะสมัยนี้ คนก็หันไปใช้เครื่องซักผ้ากันเยอะ ขนไปหยอดเหรียญ หรือตู้ซักผ้ากันมากขึ้น มันจะเป็นแบบนี้มากกว่า
เราคุยกันเรื่องหุ่นยนต์ AI จะมาเป็นเหมือนมนุษย์มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ระบบการศึกษาไทยก็ผลิตเด็กให้ออกมาเป็นเหมือนหุ่นยนต์มากขึ้น อาจารย์มองว่าเป็นเพราะอะไร
ถ้าพูดถึงในระดับมัธยม กระทรวงการศึกษาฯ จะกำหนดมาว่า ผู้เรียนจะต้องทราบ 1 2 3 4 มีจุดประสงค์อะไรบ้าง ทุกคนเรียนหลักสูตรเดียวกัน เหมือนกันหมด ซึ่งอันนี้ผมว่ามันควรจะมีความยืดหยุ่นกว่านี้ เชื่อใจครูผู้สอนมากกว่านี้ ว่าจะเลือกเนื้อหาที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละท้องที่จริงๆ และก็ให้อิสระกับทั้งผู้สอนและผู้เรียนในการเลือก
ผมเคยไปเรียนไฮสคูลที่อเมริกาก่อนเข้ามหาลัย ระบบที่นั่นไม่ได้มีแบ่งสายวิทย์-ศิลป์ คุณจะเลือกเรียนฟิสิกส์กับเคมี แล้วไม่เรียนชีวะก็ได้ ไปเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์แทน เค้าก็จะมีตัวเลือกให้ เช่น มี 7 ตัวเลือก ให้เด็กเลือกเรียน 4 ตัว ทำให้เด็กได้มีโอกาสค้นคว้าหน่อย
ในวัยเด็กมัธยมจะมีความรู้สึกมากเรื่องนี้ ว่าต้องเรียนสายวิทย์เพราะพ่อแม่อยากให้เรียน แต่จริงๆ อยากเรียนภาษาญี่ปุ่นมากเลย แต่ก็ไม่อยากเรียนสายศิลป์ มันเหมือนกับการตัดเสื้อมา 2 ไซส์ ศิลป์ กับวิทย์ ตัวไหนก็ไม่พอดีทั้งนั้น ก็เลยยอมสักตัว ผมว่าอันนี้มันก็เป็นผลเสีย
เพราะว่าความเป็นมนุษย์มันมีความหลากหลาย ทุกคนมีความสนใจเป็นของตัวเอง แต่ปรากฎว่าเราตัดการศึกษาให้เหลือไม่กี่ทางเลือก 4-5 ทาง
มหาวิทยาลัยอาจจะดีหน่อย ทางเลือกเยอะขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาส่วนหนึ่ง เช่นบางหลักสูตรก็ขีดมาเป๊ะ ว่าให้มีวิชาเลือกแค่ 1 ตัว อยากจะไปเรียนรู้ความสนใจอื่นๆ ก็ไม่มีโอกาส ต้องเรียนวิชาที่ผู้ใหญ่บังคับมาว่าต้องเรียนตามนี้หมด ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ผมว่ามันต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นคว้าอะไรข้างนอก บางคนอาจจะมีความสนใจอะไรของตัวเองแล้ว ที่มหาวิทยาลัยยังไม่ตอบโจทย์เขา แต่เขายังต้องการวุฒิการศึกษาอยู่
มันมีอาชีพอย่างอื่นอีกมากมายที่ไม่ได้ตรงกับคณะไหนเลย แล้วถ้าเกิดคนอยากไปทำอาชีพนั้นจะให้เรียนคณะไหน เขาก็ต้องเลือกสักอย่าง แล้วเราจะไปโทษเขาว่าทำไมไม่ตั้งใจเรียน ผมว่ามันก็ไม่ได้ สรุปผมว่าการศึกษามันต้องมีความยืดหยุ่น หรือความไว้ใจว่ามีระบบขึ้นมาว่า เด็กไปทำอะไรอย่างอื่นที่สร้างสรรค์ ไปสร้างทักษะอื่นที่เขาสนใจจริงๆ ในขณะนั้น
เราต้องสอนให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อการศึกษาของตนเอง เพราะมันไม่มีกฎข้อไหนที่จะไปบังคับเด็กได้จริงๆ ถ้าเด็กจะเท เขาก็เท อยู่กับว่าเทแล้วเขาไปทำอะไร บางคนก็เทไป มีร้าน มีกิจการออนไลน์แล้ว ถ้าเขาเจอ passion ของเขาแล้ว เขาจะเรียนคณะไหนก็ได้เขาก็ไปทำได้ ถ้าเกิดคุณรู้จักการแก้ปัญหา มีหัวธุรกิจ ทำโซเชียลได้ คุณก็ทำได้แล้ว
ตอนต้นอาจารย์พูดว่า มันยังมีกำแพงกั้นระหว่างเด็กวิทย์ เด็กศิลป์ เพราะว่าการศึกษาบ้านเรามันบีบว่าเด็กวิทย์ก็ต้องเรียนวิทย์ เด็กศิลป์ก็ต้องเรียนแต่ศิลป์เลยหรือเปล่า
มันเหมือนเป็น persona ว่าคนบนโลกนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท เด็กศิลป์ กับเด็กวิทย์ ฉันต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าฉันเป็นเด็กศิลป์ฉันจะต้องมี 1 2 3 4 เหมือนกับเพื่อน คือต้องเกลียดเลข ดีใจที่ไม่ต้องเรียนเลขแล้ว กลายเป็น persona ที่เขารับมา และกลายเป็นว่าสังคมเราแบ่งออกเป็น 2 ชุดนี้
ซึ่งน่าเสียดาย เพราะผมก็โดนแบบนี้มาเหมือนกัน ตอนนั้นเราก็ดีใจ ไม่ต้องเรียนเลข แต่พอเราได้ไปเรียนอะไรที่มันเจ๋งๆ ที่มหาลัย เรากลับคิดว่า ทำไมเราต้องไปปิดกั้นตัวเองขนาดนั้น ทำไมไม่เปิดกว้างกว่านั้น ตอนนั้นเราเรียนสายศิลป์เราก็สนุกนะ เราได้เรียนวิชาเลือกแบบ กฎหมาย ได้เรียนเรื่องรัฐธรรมนูญ จริงๆ เด็กสายวิทย์บางคนเขาก็สนใจวิชาแบบนี้ แต่เขาไม่มีโอกาสมาเลือกเรียนได้
ผมว่าการแบ่งออกมาเป็น 2 ซีกแบบนี้ มันมีผลต่อทั้งด้านปฏิบัติ และทางสังคมด้วยว่า เด็กจะเอา persona ไหนสวมเข้ามาที่ตัว ทำให้เด็กที่ถ้าให้เรียนเลขก็อาจจะเรียนได้ ต้องเกลียดเลข เพราะมองว่าตัวเองอยู่สายศิลป์แล้ว
แสดงว่าอาจารย์มองว่า การที่แบ่งวิทย์ ศิลป์ชัดเจน แทนที่จะทำให้เด็กคนพบตัวเองเร็วขึ้น กลับทำให้เด็กค้นพบตัวเองยากขึ้นด้วยใช่ไหม
ใช่ ผมว่าช่วงมัธยมสำคัญนะ ควรจะให้โอกาสเขาหาสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ แต่เรากลับมีการจำกัดแค่นั้น จริงๆ ผมก็เห็นว่าเทรนด์นี้มันก็เริ่มมา แต่ก็เป็นโรงเรียนชั้นนำที่เขามีทรัพยากรตรงนี้ ว่าให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ว่าแพทย์ เรียนอะไรกันบ้าง หรือเรียนเป็นดีไซเนอร์ จะมีวิชาเลือกให้เด็กเห็น ซึ่งตรงนี้ผมว่าเป็นเรื่องดี ที่สังคมไทยเริ่มเล็งเห็นปัญหาแล้วว่าหลักสูตรที่ให้มา ไม่ได้ฟิตกับเด็กทุกคนหมด มันอาจจะฟิตแค่กับบางคน
กระแสช่วงนี้ในการศึกษาไทย มักผลักดันให้เด็กได้เรียน STEM (วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์) อาจารย์ว่าเพียงพอไหม
STEM ก็ควรรู้ แต่ก็ไม่ใช่รู้แค่นี้อย่างเดียว ต้องรู้อย่างอื่นด้วย ผมว่า STEM มันมากกว่าเนื้อหา มันคือทักษะ มันไม่ค่อยมีศาสตร์ไหนหรอกที่สอนให้คนแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นเป็นตอน การตั้งสมมติฐาน จะทดลองอะไร มันเป็นทักษะที่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้วยระเบียบวิธีนั้น
แต่ผมว่ายังไงก็ตามทักษะอื่นๆ เช่นการเขียน การคิด การอ่าน ทำอาชีพไหนก็ต้องใช้ สักวันก็ต้องมีการเขียนรีพอร์ท พรีเซนต์งาน หรือไปเจรจาสัญญา มันก็มีทักษะพวกนี้ ที่หลายครั้งในการทำงาน HR ก็จะเรียกร้องคุณสมบัติที่เป็น soft skill ตรงนี้ ซึ่งวิชาพวกมนุษยศาสตร์สามารถให้ได้
ผมว่ามันสำคัญทั้งสองอย่าง คนที่ทำงานไปทางสายศิลป์ ก็ควรรู้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ รู้วิธีในลักษณะนั้น รู้วิธีการประยุกต์กฎ รู้ตรรกะ ผมว่าสำคัญหมด STEM ก็สำคัญ และควรจะสำคัญมาตั้งนานแล้ว และก็ไม่ควรจะสำคัญมากขึ้นไปกว่าก่อนด้วย เพราะผมว่าศาสตร์อื่นก็สำคัญหมดจริงๆ
อาจารย์มองว่า จะบาลานซ์ยังไงให้สายวิทย์กับสายศิลป์สมดุลกัน ผสานกันได้ ไม่ให้ศาสตร์ไหนมันด้อยไปกว่ากัน
ผมคิดว่า output ของแต่ละศาสตร์มันต่างกัน ด้าน output ของทางวิทยาศาสตร์มันเจ๋ง มันเห็นได้ มีเทคโนโลยีเช่น เลเซอร์ มีโดรน มีหุ่นยนต์ แต่ output ของสายศิลป์มันเป็นอะไรที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน มันคือหนังสือที่เขียนได้ดี บทกลอนที่เพราะ เพลงที่เพราะ อยู่ที่ว่าเราจะไปพรีเซนต์ หรือต่อยอดยังไง
เดี๋ยวนี้ เด็กมัธยมเขาก็เขียนนิยายกัน ไปโพสต์ลงบล็อก ได้เห็นคอมเมนต์คน ผมว่ามันก็เป็นอะไรที่เจ๋ง ที่ในรุ่นผมมันไม่มีช่องทางอะไรแบบนี้มาก่อน ผมว่าถ้าทำให้มันไม่ด้อยไปกว่ากัน มันต้องมีการโชว์เคสถ้าเด็กชอบแต่งเพลง ทำเพลง อาจจะลงยูทูป ใครๆ ก็เป็นยูทูปเบอร์ได้ หรือถ้าเขียนหนังสือเก่ง เดี๋ยวนี้ก็สามารถไปตีพิมพ์ในเน็ต โชว์เพื่อนได้ ผมว่าผลผลิตฝ่ายศิลป์มันก็มีความคลาสสิคของมัน ที่ไม่ว่ายุคไหนเราก็ยังกลับมาฟังอยู่
ฝั่งวิทย์สิ เด็กมัธยมมันเป็นอะไรที่ยากกว่าที่จะถึงจุดนั้น แต่เค้าก็อาจจะสร้างรถบังคับด้วยเสียง หรืออาจจะเขียนแอพฯ ใช้เองก็ได้ ผมว่ามันอยู่กับวิธีที่แต่ละสายได้โชว์เคสออกมา
อย่างนี้ จะมีวิธีลดกำแพงกั้นระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์ยังไง
ผมว่ากำแพงมันอยู่ที่คำว่าสายวิทย์-สายศิลป์ที่เขาต้องเลือกตั้งแต่ตอนอยู่ม.ปลาย ทำให้ข้ามไปไม่ได้ ถ้าให้ลดกำแพง ที่ฝั่งมหาวิทยาลัยก็มีการพูดถึงเยอะเหมือนกัน แต่เราเองก็ยังไปถึงขนาดนั้นไม่ได้ ที่จะให้เหมือนระบบในอเมริกาเลย เช่น เข้ามาที่มหาวิทยาลัย ไม่ต้องมีคณะ อยากไปเรียนคณะไหนก็เข้าไปเก็บหน่วยกิจให้ครบเป็นเอก แล้วก็จบ
เช่นถ้าคุณอยากจะทำธุรกิจ ก็อาจจะดีถ้าได้เรียนรู้เรื่องการเขียนแอพฯ ถ้าสนใจทางด้านนักข่าว ก็ควรจะรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไว้บ้าง เพื่อจะเป็นพื้นฐานในการรายงานเรื่องนั้น เรื่องนี้ ผมว่าถ้ามันมีการเปลี่ยนโครงสร้างให้ผู้เรียนได้สามารถเลือกได้จริงๆ ก็จะเป็นการทลายศาสตร์ได้อย่างนึงแล้ว
ทางหลักสูตรของมัธยมก็เหมือนกัน ส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ที่มีการแยกสายแบบนี้ ผมว่าน่าจะมีให้เลือกได้มากกว่านี้ อาจจะไม่ใช่เลือกเสรีหมด แต่ว่ามีตัวเลือกให้ได้เลือกในระดับนึง แล้วมันจะไม่มีแล้วใช่ไหมคำว่า เด็กวิทย์ เด็กศิลป์ เช่น ถ้าไปสอบหมอ อาจจะไม่ต้องใช้เคมีตลอด 3 ปีก็ได้ อาจจะใช้เคมีแค่ 2 ปี แล้วเขาสามารถมีเวลาไปเรียนวิชาอื่นๆ ที่เขาสนใจได้
แล้วในด้านของการทำงานล่ะ
จริงๆ มีหลายอาชีพที่ข้ามศาสตร์อยู่แล้ว เช่น ‘product manager’ ในบริษัทแนวเทคโนโลยี หรือบริษัทที่ตำแหน่งนี้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เยอะ คนอาชีพนี้ต้องผสมศาสตร์เยอะจริงๆ ต้องรู้ธุรกิจ ตลาด ว่าผลิตภัณฑ์เราเป็นของคนกลุ่มไหน ต้องรู้เทคโนโลยี ดีไซน์ ต้องทดลองผลิตภัณฑ์ ต้องพรีเซนต์งาน คืออาชีพพวกนี้ หายากเพราะต้องหาคนที่รู้รอบจริงๆ จนกำแพงระหว่างวิทย์กับศิลป์มันไม่มีแล้ว
งานของผมทุกวันนี้ ก็มีคนถามเยอะว่าทำไมมาอยู่คณะอักษรฯ ทำไมไม่ไปอยู่วิศวะ ผมก็ไม่เคยถามตัวเองเหมือนกัน เพราะคิดว่าเส้นแบ่งมันเบลอหมดแล้ว ซึ่งบางทีเวลาเราสอนวิชาเกี่ยวกับ AI เทคโนโลยีให้เด็กอักษรฯ บางทีเราก็คิดว่ามันไม่ยาก จนลืมว่าสำหรับพวกเขามันเป็นเรื่องของสายวิทย์ แต่สำหรับผมมันผสมกันจนไม่มีกำแพงกั้นแล้วจริงๆ
สุดท้ายแล้ว ที่เราคุยกันมา ไม่ว่าเรื่องโลกยุคดิจิทัล หรือ AI อาจารย์ว่าการศึกษาได้เตรียมพร้อมให้เด็กรับมือกับเรื่องพวกนี้พอแล้วหรือยัง
พอออกนอกระบบแล้ว มหาวิทยาลัยก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้น ต้องนึกถึงมากขึ้นว่าจะบริการสังคมยังไง เพราะสังคมเป็นคนนำผู้เรียนมาให้เรา ผมว่าเมืองไทยไม่น้อยหน้า เริ่มมีเกือบทุกอย่างที่มหาวิทยาลัยต่างชาติมี ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่มีการผสมศาสตร์ หรือการเรียนทางไกลแบบออนไลน์ ที่ไม่ใช่แค่เรียน แต่มีการทำโปรเจ็กต์ แบบฝึกหัดด้วย รวมถึงคอร์สระยะสั้น ฝึกสกิลต่างๆ ก็เริ่มมีมากขึ้น
คนไทยก็ตื่นตัวสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว และการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนไปเพื่อไปตอบโจทย์ตรงนั้นจริงๆ อาชีพใหม่ๆ ก็กำลังมา บางอย่างก็มาแล้วด้วย และอาชีพเก่าๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไปช้าๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ