หลายคนคิดว่าการกลั่นแกล้งจะเกิดขึ้นในสนามเด็กเล่น ลานหมู่บ้าน หรือในรั้วโรงเรียนประถมอะไรทำนองนั้น และก็คงมีแค่เด็กน้อยฟันแท้ยังไม่ขึ้นเท่านั้นที่แกล้งกันจนร้องไห้ขี้มูกโป่ง
ถ้าคิดอย่างนั้นก็ผิดถนัด! เพราะผู้ใหญ่วัยทำงานจวบจนรุ่นอาวุโสวัยกล้วยไม้…ใกล้ม้วย ก็ยังเอ็นจอยกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมงานและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยๆ ลงมือลงไม้บ้างให้เห็น จนถึงขั้นคุกคามทางเพศ เพื่อบีบให้พวกเขาออกจากตำแหน่งหน้าที่การงานด้วยความไม่ชอบธรรม
ที่สำคัญ ประเด็นเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครยอมเปิดเผย เพราะเหยื่อกลัวโดนเปิดโปง เสียประวัติ และถูกเด้งออกจากตำแหน่ง ยิ่งองค์กรมีชื่อเสียงและนับหน้าถือตาเท่าไหร่ พวกเขาก็จะจัดเก็บเรื่องชอกช้ำของคุณให้เป็นความลับที่สุด
ทำให้การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน (Workplace bullying) กลายเป็นของตาย เป็นเรื่องน่าอาย เป็นเรื่องที่ต้องบังคับให้อีกฝ่ายยอมโอนอ่อนตามน้ำ และปัญหาทุกอย่างถูกเตะไปไว้ใต้พรมในโครงสร้างขององค์กรที่เหมือนเครื่องจักรกล
คุณไม่มีทางมีความสุขได้จากการถูกเอารัดเอาเปรียบ นักจิตวิทยาเป็นกังวลเช่นกัน เพราะในช่วง 10 ปีมานี้มีรายงานการกลั่นแกล้งสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย และช่องทางออนไลน์ก็เป็นอีกเครื่องมือที่พวกเราใช้ละเมิดพื้นที่ส่วนตัวซึ่งกันและกันได้มากกว่าเดิม
มีบรรยากาศติดพิษอะไรบ้างที่เป็นสัญญาณว่าคุณกำลังตกเป็นเป้าแผนสกปรกครั้งนี้ แล้วจำเป็นหรือที่องค์กรจะยอมรับพฤติกรรมกลั่นแกล้งราคาถูกให้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร?
ปล่อยข่าวลือ และส่งสายสืบเรื่องส่วนตัว
“แกๆ รู้ป่ะ น้องเลขาฯคนใหม่ กูเห็นแอบไปนอกรอบกับบอสเว้ย ผัวก็มีเหอะเรื่องของเรื่อง”
ข่าวฉาวเป็นอาหารจานโปรด และประวัติที่คุณเคยสาธยายไว้ใน News Feed คือ ซากตัววิลเดอบีสต์อันโอชะกลางทุ่งหญ้าสะวันนาที่เหล่าสัตว์กลุ่มกินซากต่างโปรดปราน ใครๆ ก็อยากเอาเรื่องของคุณไปเล่าต่อหรือบิดเบือนให้ออกรสออกชาติ (ก็เจ้าคนเล่ามันไม่ได้อยู่ในเรื่องนี่) ดังนั้น ‘ข่าวลือ’ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องโกหกพกลม เพราะเมื่อมันแพร่ระบาดไปแล้ว มันก็มีพลังพอที่จะทำให้คนทั้งตึกมองคุณด้วยสายตาที่ต่างออกไป
ข่าวลือ มักใช้ช่องว่างจากการขาดการสื่อสารภายในสำนักงาน ละเลยผู้ปฏิบัติงาน และการแข่งขันกันเองระหว่างทีมภายใน กดดันให้อีกฝ่ายต้องล้วงความลับและทำลายความเชื่อถืออีกฝ่าย เพื่อลดประสิทธิภาพการทำงาน (Counterproductive)
หรือในช่วงที่เกิดปัญหาการเงินในองค์กร มักมีข่าวลือเป็นคลื่นใต้น้ำสั่นคลอนจิตใจคนทำงาน ไม่แปลกที่หลายๆ บริษัทสูญเสียคนทำงานไปเรื่อยๆ คล้าย ‘ภาวะสมองไหล’ ที่มีจุดเริ่มต้นเพียงต้องการ Discredit คนใดคนหนึ่ง
ข่าวลือระบาดได้ดีกว่าโรคที่เกิดจากไวรัสเสียอีก
พูดโจมตีงาน ด้วยคำหยาบคาย
“ทำงานกันกระจอกเหมือนเด็กอมมือ”
เรามักมองผู้นำสายโหดที่พูดจาโผงผางและตรงไปตรงมาว่า ‘ทำงานเก่งและมีความเป็นผู้นำ’ แม้การวิพากษ์วิจารณ์จะมีความจำเป็นต่อการพัฒนา แต่ต้องถามกันตรงๆ ว่า มันจำเป็นหรือที่จะต้องบดขยี้กันด้วยถ้อยคำอันเจ็บปวด การด่าทอและประชดประชนไม่ควรมองเป็นเรื่องปกติในสถานที่ทำงาน
รูปแบบการใช้ภาษา กำหนดวัฒนธรรมองค์กรของคุณ หากมีคน 2 คนเริ่มรู้สึกโอเคที่จะวิพากษ์ด้วยคำหยาบ ไม่นานคนในแผนกก็คิดว่ามันโอเคเช่นกัน คำหยาบมักติดปากและแพร่ระบาดหากคุณไม่ได้ควบคุมมันให้ถูกกาลเทสะ
การพูดกระตุ้นให้เกิดไฟในการทำงาน (Motivating) ต่างจากการด่าทอ (Insulting) มันอยู่คนละมิติกัน
เพราะการสร้างกำลังใจก่อให้เกิดพลังเชิงบวก ต้องให้ความสำคัญแก่คนฟัง พวกเขาต้องรู้สึกดีและนำไปปรับปรุงต่อได้ แต่การด่าทอมุ่งเน้นไปที่การทำลายความเชื่อมั่นต่องาน และละความตั้งใจในที่สุด
คำหยาบสร้างรอยยิ้มได้ ถ้าคุณพูดมันถูกจังหวะ ดูสีหน้าคนรอบๆ ตัวคุณก่อนจะพ่นอะไรออกมา
เปลี่ยนแผนงานบ่อย ใจโลเล
แม้ชีวิตคือความไม่แน่นอน แต่จะมาให้เปลี่ยนทุกๆ สัปดาห์ หรือทุกๆ 3 วัน ก็ไม่ไหว การประชุมแต่ละครั้งจบลงโดยไม่ได้อะไรคืบหน้าเลย แผนเป๋ไปเป๋มาเหมือนงูโดนตีหลัง ตอนแรกคุณอาจสงสัยว่าจริงๆ แล้วเป็นเพราะรูปแบบงานสายนี้หรือเปล่า แต่สักพักคุณเริ่มรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นหลายครั้งไร้ความหมาย
การเปลี่ยนแปลอย่างต่อเนื่องทำให้คุณต้องปรับตัวให้เร็ว ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตส่วนตัว
ท้ายสุดคือลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่า กำลังทำงานนี้ไปทำไม อะไรคือจุดประสงค์ที่แท้จริง และลืมไปแล้วว่าต้องแลกอะไรไปบ้าง
ให้งานที่เกือบเป็นไปไม่ได้
งานยากไม่เคยฆ่าคน แต่คนนี้ล่ะจะฆ่ากันเอง
จู่ๆ พวกเขาก็อยากให้คุณเล่นเกมนักสืบกับงานที่ต้องจบเดดไลน์ให้ได้อีก 2 วัน คุณเห็นความเป็นไปได้น้อยเหลือเกิน ที่สำคัญพวกเขาเก็บงำข้อมูลสำคัญบางอย่างไว้โดยไม่บอกคุณสักคำ ภายใต้ข้อจำกัดของเวลา สัญญาณที่กดดันเหล่านี้บีบให้คุณไม่สามารถทำงานต่อได้เสร็จ
เมื่อเกิดความล้มเหลวขึ้นมา มักมีคุณต้องรับผิดชอบคนเดียวเสมอ มันสั่นคลอนชื่อเสียงที่ได้สั่งสมมา (แน่นอนคนทั่วไปมักมองที่ ‘ชิ้นงาน’ มากกว่า ‘กระบวนการ’ อยู่แล้ว)
การบีบคั้นในหน้าที่เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้บริหารสายดุ ใช้ควบคุม Workflow
แพทย์และนักเขียน Eddie Erlandson เรียกผู้บริหารกลุ่มนี้ในหนังสือของเขาว่า พวกมีอาการ ‘Alpha Male Syndrome’ ที่ชื่นชอบการแข่งขัน กดดันทีม และสั่งงานยากๆ เพื่อหวังให้ลูกน้องพัฒนา แต่กลายเป็นว่าพวกเขาสร้างบรรยากาศอลหม่านแสนสาหัสให้กับบรรยากาศการทำงานโดยรวม ทำให้เผลอกลายเป็นพวกกลั่นแกล้งคนในองค์กร
กดดันทางไกลด้วยช่องทางการสื่อสารออนไลน์
“ตี 3 ยังสั่งงานผ่านไลน์ แล้วบอกจะเอาเช้านี้ เฮ้อ”
Telepressure หรือภาวะกดดันจากทางไกล จะเป็นคำที่คุณเห็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จากการพัฒนา Application สื่อสารที่ทำให้คุณอยู่กับหน้างานตลอดเวลา แม้ในเวลาหลังเลิกงานหรือช่วงวันหยุด ผู้ร่วมงานยังถล่มคุณด้วยกองงานไม่หยุด
การบังคับให้คุณ Overworking เป็นสัญญาณของการกลั่นแกล้งและคุกคาม ในระดับคลื่นใต้น้ำ
อย่างในกรณี หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้มากกว่า 80% มีสมาร์ทโฟนเพื่อใช้ทำงาน ทำให้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการถูกรุกล้ำมากที่สุดในโลก เมื่อคู่กับวัฒนธรรมองค์กรที่ให้คนทำงานหนักไว้ก่อน จึงก่อให้เกิดระบบที่ละเมิดสิทธิ์พนักงาน มีหลายบริษัทใช้โซเชียลมีเดียและข้อความทางโทรศัพท์ในการสั่งงาน โดยไม่สนเวลา หรือความเครียดสะสมของพนักงาน และหากทุกคนคิดว่ามันยอมรับได้
ผู้ว่าจ้างและองค์กรจะใช้งานในช่วงสุดสัปดาห์หรือหลังชั่วโมงการทำงาน โดยไม่มีการจ่ายค่าแรง ให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา
เกาหลีใต้จึงเริ่มพิจารณากฎหมายที่จะห้ามเจ้านายรบกวนพนักงานขณะอยู่บ้าน หลังจากมีเสียงร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับภาระเรื่องชีวิตการทำงานที่ไม่สมดุล
ทำร้ายร่างกาย
เป็นเรื่องยากที่มนุษย์ต้องมาอยู่รวมกันในที่ใดนานๆ ในพื้นที่ปิดกรอบสี่เหลี่ยมเดิมๆ ทุกวัน ซ้ำไปซ้ำมา
ความเบื่อหน่ายและสภาพแวดล้อมบีบคั้น กระตุ้นสัญชาตญาณทำลายล้างได้เป็นอย่างดี ความเครียดของคนมักหมักหมมจนกลายเป็นความขัดแย้ง และลงเอยด้วยความรุนแรง ทั้งความต่างด้านพื้นเพนิสัย ความเชื่อของกลุ่ม และความต่างกันของวัฒนธรรม เมื่อถึงจุดที่มันถูกกดไว้นานๆ มันก็ระเบิดออก แค่นั้นเอง
การทำร้ายร่างกายแทบไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจน ทุกคนเหมือนภูเขาไฟที่ต้องระเบิดแน่ๆ แต่แค่ไม่รู้ว่าตอนไหน
มีงานวิจัยพบว่า การทำร้ายร่างกายกันในที่ทำงาน ราว 24% เกิดจากปัญหาส่วนตัวล้วนๆ เกลียดขี้หน้ากัน หรือแม้คู่กรณีจะไม่ได้ทำงานที่เดียวกันแล้วยังสามารถบุกมาทำร้ายคนที่ทำงานเก่าได้ การทำร้ายร่างกายมักเชื่อมโยงไปสู่ ภัยอื่นๆ ที่ร้ายแรงขึ้น อย่างการข่มขืนและการคุกคามทางเพศด้วยรูปแบบต่างๆ
กรณีทำร้ายร่างกายในบริษัท มักบ่งบอกกระบวนการรับมือขององค์กรนั้นๆ ว่าสามารถจัดการความขัดแย้งได้ดีแค่ไหน บริษัทมักได้รับผลกระทบจากการลางานไม่มีกำหนด ต้องหาคนมาทำงานแทน จัดจ้างทนายและชุดทีมกฎหมายมาสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นหากเกิดการฟ้องร้อง
อย่ายอมให้ใครมาล่วงละเมิดร่างกายของคุณตั้งแต่ช่วงแรกๆ สร้างกฎที่คุณจะปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และอย่ายอมเจ็บตัวฟรีจากเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
คุกคามทางเพศ
ปัญหาใหญ่ของการทำงาน เมื่อคนต่างเพศต้องทำงานภายใต้หลังคาเดียวกัน ข้ามวันข้ามคืน บรรยากาศที่กดดันบีบคั้นให้คนที่คุณเคยไว้ใจ มือเริ่มไม่อยู่กับตัว พูดจาแทะโลม และพยายามกระชับพื้นที่ใกล้ชิดคุณเกิน จนไม่มีช่องว่างให้ถอย
การคุกคามทางเพศน่าหนักใจ เพราะจากรายงานของหน่วยงาน Workplace Bullying Institute หรือ (WBI) รายงานว่า 8 ใน 10 ของการกลั่นแกล้งล้วนเกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศ และมีคนอเมริกันราว 37% เคยถูกล่วงละเมิดในที่ทำงาน
ในทางสากลแบ่งประเภทการล่วงเกินทางเพศเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
Quid Pro Quo Harassment นายจ้างยื่นข้อเสนอให้ลูกจ้างนำมาซึ่งความสุขหรือความพึงพอใจในเรื่องเพศ ขอมีเซ็กซ์ด้วย ยอมให้จับต้องสัมผัสร่างกาย โดยเสนอผลประโยชน์เป็นการตอบแทน ขึ้นเงินเดือนให้ เลื่อนตำแหน่ง ได้สิทธิเข้ารับการฝึกอบรม แต่หากลูกจ้างไม่ยินยอมจะได้รับผลร้าย เช่น ถูกลงโทษทางวินัย กลั่นแกล้งโยกย้ายหน้าที่ ไม่ให้ทำงานล่วงเวลา
Hostile Environment Harassment สภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในการทำงานที่ไม่เป็นมิตร ก่อให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายใจโดยมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น การติดภาพหญิงในสภาพโป๊เปลือยไว้ในสถานที่ทำงาน การเขียนข้อความเรื่องเพศไว้ในที่ทำงาน การนำภาพลามกอนาจารไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือสรีระร่างกายของลูกจ้างหญิงอย่างเปิดเผย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2551 มาตรา 16 แก้ไขข้อบกพร่องเดิม โดยบัญญัติใหม่ว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง” จะเห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่สามารถแก้ปัญหาประการแรก แต่ในประการที่สองยังมีช่องว่างอยู่
นักวิจัยด้านธุรกิจเชิงกลยุทธ์ อย่าง Sandy Hershcovis และ Julian Barling จากมหาวิทยาลัย Manitob และ Queen ร่วมมือกันศึกษาบรรยากาศสำนักงานที่ส่งพลวัตรต่อการทำงานของลูกจ้าง โดยมีกรณีศึกษาราว 111 เคส
พวกเธอพบว่า คนทำงานกว่าครึ่ง เคยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน และโดนล่วงละเมิดทางเพศ นั่นส่งผลให้คนมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เครียดกับงาน ใช้อารมณ์มากขึ้น และอยากลาออกหลายต่อหลายครั้ง
แต่เมื่อพยายามไปพึ่งกฎหมายที่มีอยู่ ก็มักไม่ครอบคลุม ทำให้ประเด็นการกลั่นแกล้งในสำนักงานตีตกไปเป็น แค่เรื่อง ‘การกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล’
หากคุณรู้สึกว่ากำลังโดนกลั่นแกล้ง แน่นอนว่าคุณไม่ใช่เพียงคนเดียวในบริษัท อย่าให้ความอับอายปิดกั้นตัวคุณจากคนอื่นๆ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบสามารถสร้างพลังพันธมิตรที่ดีได้ หากคุณเริ่มสื่อสารและเข้าอกเข้าใจกัน
ไม่มีใครเป็นผู้แพ้ตลอด และพวกชอบรังแกก็อยู่ได้ไม่นานนักในตำแหน่งที่เขาหวงแหน